คุยกับนพ.บรรจง มไหสวริยะ "เราต้องการให้คน(มหิดล)ของเรา ดีและเก่ง"
"...คนไม่ฉลาดทำความเสียหายไม่รุนแรง แต่คนฉลาดคิดอะไรบางอย่างที่เป็นภัย จะอันตรายรุนแรงมาก ม.มหิดล จึงได้ตระหนักต้องทำให้ทุกคนเก่งและดี โดยนำ ‘ดี’ เป็นตัวตั้ง ก่อนจะ 'เก่ง'..."
หลังเกิดเหตุ ทพญ.ดลฤดี จำลองราษฎร์ อดีตอาจารย์ภาควิชาทันตกรรมสำหรับเด็ก คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.มหิดล ได้ทุนไปศึกษาปริญญาโท และปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา แต่ต่อมาไม่กลับมาชดใช้ทุนรัฐบาล
กลายเป็นประเด็นที่ทำให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดลเปิดแถลงข่าวชี้แจงเรื่องราวความเป็นมา รวมไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และหน่วยงานที่ให้ทุนทั้งหมด ปฏิรูปการให้ทุนการศึกษาทั้งระบบ
"สัดส่วนผู้ทำผิดสัญญาชดใช้ทุนมีจำนวนน้อยมาก" ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ รองอธิการบดี ม.มหิดล ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) โดยเขากล่าวย้ำอยู่หลายรอบ เมื่อถูกถามถึงสถิติจำนวนผู้รับทุนของรัฐบาลและทำผิดสัญญา ในส่วนของมหาวิทยาลัยมหิดล
ก่อนจะยกกรณีผู้รับทุนที่ไม่กลับมาชดใช้ทุนในประเทศไทย เนื่องจากแต่งงานกับชาวต่างชาติเมื่อเขาไม่ประสงค์กลับมาชดใช้ทุน สามีก็ไม่มาอยู่ด้วย หากต้องแยกทางกัน ให้เลือกระหว่างเห็นแก่ประเทศชาติกับอนาคตไม่มีโอกาสแต่งงานใหม่ คุณจะทำอย่างไร ศ.นพ.บรรจง ตั้งคำถามกลับ ก่อนจะให้แง่คิดว่า
“คำตอบของมนุษย์ปุถุชนทุกคน เมื่อกลับมาชดใช้ทุนไม่ได้ตามสัญญา ก็ต้องจ่ายเงินชดใช้แทน ส่วนชีวิตครอบครัวต้องดำเนินต่อไป ฉะนั้นพื้นฐานเริ่มต้นแล้ว ไม่มีใครไม่อยากกลับมาชดใช้ทุน เพียงแต่ใครจะทราบว่า อีก 20 ปี ข้างหน้า จะเกิดอะไรขึ้น
ปัญหาของกรณีทันตแพทย์คนดังกล่าว อยู่ที่เงินก้อนโต! โดยปกติบุคคลที่ไปศึกษาในต่างประเทศระยะเวลาไม่นาน ค่าใช้จ่ายในหลักสูตรจะไม่สูง แต่กรณีอดีตอาจารย์ทันตแพทย์รายนี้ ได้มีการขยายเวลาการศึกษา ทำให้ค่าใช้จ่ายในหลักสูตรสูงขึ้น ดังนั้นเมื่อผิดสัญญาจึงต้องชดใช้ทุน 3 เท่า”
ส่วนการหาทางช่วยเหลือในช่วงที่ผ่านมา ทั้งการให้ชดใช้ทุนจากมาปฏิบัติหน้าที่ ชดใช้เป็นตัวเงิน กับการให้สอนผ่านออนไลน์ หรือสอนทางไกลได้นั้น ศ.นพ.บรรจง มองว่า ก็เป็นความต้องการหาทางออกช่วยเหลือทุกคน แต่เมื่อทำหนังสือหารือไปที่กระทรวงการคลัง และกรมบัญชีกลาง ได้รับคำตอบว่า ไม่สามารถผ่อนผันลักษณะนี้ได้ และไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ จึงไม่สามารถขอผ่อนผันลักษณะนี้ได้
"ผมมองว่า การทำแบบนี้เป็นดาบสองคม อาจส่งผลเสียได้ อาจมีการลอกเลียนแบบไม่กลับมาชดใช้ทุนได้ในอนาคต เมื่อผู้รับทุนคนอื่นๆ เห็นว่า อ่อ มีวิธีการชดใช้ทุนรูปแบบใหม่ อาจทำให้ผู้ขอรับทุนคนอื่นๆ เลือกทำงานในต่างประเทศแทน
การทำอะไรบางอย่างเพื่อแก้ปัญหาหนึ่ง ต้องมองให้รอบด้านว่า เราจะสร้างปัญหาใหม่ในอนาคตหรือไม่ สมมติยกประโยชน์ให้ผู้ขอรับทุน สามารถชดใช้ทุนด้วยการสอนผ่านระบบออนไลน์ เชื่อว่า ทุกคนจะเฮโลปฏิบัติตาม เมื่อเป็นเช่นนั้นเราจะทำอย่างไร กลายเป็นการสร้างปัญหาเปิดช่องทางใหม่หรือไม่”
รองอธิการบดี ม.มหิดล ให้มุมมองอีกว่า การจะมองประเด็นปัญหาเหล่านี้ อย่าแก้ปัญหาอย่างเดียว แต่ต้องมองด้วยว่า สิ่งที่แก้ปัญหานั้น สร้างปัญหาใหม่ในอนาคตและจะยุ่งยากกว่าเดิมหรือไม่ พร้อมแสดงความมั่นใจจะไม่มีวิธีการชดใช้ทุนรูปแบบอื่นอีก นอกจากที่ปรากฎในสัญญาปัจจุบัน
ส่วนที่มีการระบุสัญญาการชดใช้ทุนไม่เป็นธรรม ศ.นพ.บรรจง ชี้ชัดว่า สัญญาดังกล่าวมีมานานแล้ว หากผู้ขอรับทุนไม่ยอมรับในสัญญาก็ให้คนอื่นรับทุนแทน เพราะมีอีกหลายคนอยากได้ และพร้อมจะกลับมาชดใช้
ส่วนที่ ม.มหิดล ถูกมองว่า การดำเนินคดีกับการผู้รับทุนไปศึกษาต่างประเทศและไม่ชดใช้ทุนเป็นไปอย่างล่าช้า ปล่อยให้เกือบหมดอายุความนั้น ศ.นพ.บรรจง ชี้แจงว่า มหาวิทยาลัยดำเนินการมาตลอดเป็นระยะ เมื่อทราบว่า เธอลาออก ก็ได้ดำเนินการเรียกชดใช้ทุนภายใน 30 วัน ซึ่งกระบวนการเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2547 หากปล่อยให้คดีหมดอายุความ 10 ปี ภาระจะตกอยู่กับมหาวิทยาลัย และเจ้าหน้าที่ดำเนินการ ต้องชดใช้เงินที่เหลือให้รัฐบาลแทนทั้งหมด
กรณีที่เกิดขึ้นเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของนักเรียนทุนไม่กลับมาชดใช้ ซึ่งที่ผ่านมายังมีอีกหลายกรณี เพียงแต่ไม่ปรากฎเป็นข่าว และเพื่อไม่ให้ผลกระทบเกิดขึ้นกับผู้ค้ำประกันอีก จึงมีการเปลี่ยนให้ผู้ค้ำประกันต้องเป็นพ่อ แม่ ญาติพี่น้อง เท่านั้น ด้วยเห็นว่า "กรรมใดก็ตามจากตัวผู้กระทำ ผลกระทบคนในเครือญาติ ควรได้รับก่อนคนภายนอกเสมอ"
เมื่อถามว่า ผู้รับทุนไม่กลับมาชดใช้ทุนที่เกิดขึ้นหลายกรณี บ่งชี้ถึงการขาดจิตสำนึกที่ดีหรือไม่ ศ.นพ.บรรจง ได้ยกตัวอย่าง ทุนเล่าเรียนหลวง (King's Scholarship Students) ไม่มีสัญญาผูกมัดให้ต้องกลับมาชดใช้ทุน แต่ใช้พันธะทางใจ ส่วนจะเบี้ยวหรือไม่เบี้ยว ไม่รู้ ซึ่งนับว่า ทุนนี้มีคุณค่าและเป็นเกียรติอย่างสูง มีเพียง 2 คนเท่านั้น ที่จะได้รับทุนไปศึกษาในศาสตร์แต่ละด้าน
ส่วนทุนอื่น ๆ เพื่อการพัฒนาทรัพยากรบุคคล โดยรวมแล้วมีหลายพันทุน เขาเห็นว่า หากใช้พันธะทางใจอย่างเดียว ก็ไม่แน่ใจ จึงต้องสร้างกฎระเบียบ เมื่อไม่สามารถกลับมาชดใช้ทุนได้ ให้จ่ายเงินเป็นเบี้ยปรับแทน
"เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า เมื่อไปเรียนในต่างประเทศจะไม่มีแฟนชาวต่างชาติ ของแบบนี้เกิดขึ้นได้ ฉะนั้นจึงไม่มีใครกล้าการันตี 100%"
เมื่อถามถึงการพัฒนากำลังคนในอนาคตของ ม.มหิดล ศ.นพ.บรรจง บอกว่า ศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยมุ่งไปในอนาคต คือ ศาสตร์ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการเป็นหัวหอกนำผู้อื่น ฉะนั้นการเล่าเรียนในประเทศอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการเป็นผู้นำได้ จึงต้องแสวงหาสถาบันวิชาการเป็นเลิศในแต่ละด้านของต่างประเทศ
“เราส่งนักเรียนไปหนึ่งคน สิ่งที่คาดหวัง คือ นักเรียนคนนั้นต้องกลับมาพร้อมความรู้และเครือข่ายจากคนที่เป็นเลิศ ซึ่งเรียนในสถาบันนั้น”
ปัจจุบันแต่ละคณะของมหาวิทยาลัยมหิดลจะมีความต้องการกำลังคนแตกต่างกันไปตามความจำเป็น
ขณะที่มุมมองต่อการพัฒนาคนของประเทศไทย ศ.นพ.บรรจง มองว่า เวลานี้สังคมมนุษย์มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปมาก สนใจวัตถุนิยมมากขึ้น ทำให้การสัมผัสไออุ่นของความเป็นมนุษย์ลดลงไป ไม่มีความรู้สึก รู้หนาว รู้ร้อน หรือความเอื้ออาทรต่อกัน แตกต่างจากวัตถุอย่างคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ สามารถสั่งได้ตลอด เป็นลักษณะปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งไม่มีชีวิตเพิ่มมากขึ้น
“การปฏิสัมพันธ์โดยตรง จับมือกัน มองหน้ากัน เห็นอารมณ์การแสดงออก ความรู้สึกเอื้ออาทร เห็นสายตาความทุกข์ร้อน ที่ปรากฎตรงหน้าลดน้อยลง มิหนำซ้ำความเข้มข้นของความรู้สึกที่จะดึงศาสนาบ่มเพาะจิตใจ ความเชื่อเรื่องบุญกรรม หิริโอตัปปะ รู้ผิดชอบชั่วดี ยังน้อยลงมากกว่าคนในอดีตด้วย
ฉะนั้น มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้ให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้มาก เพราะเราไม่ได้พัฒนาคนให้เก่งเพียงด้านศาสตร์เท่านั้น แต่จำเป็นต้องพัฒนาให้มี "จิตสำนึก" ต่อภาระหน้าที่ด้วย ผู้บริหารทุกคนน้อมนำคำสอนของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ให้ยึดประโยชน์ส่วนร่วมเป็นกิจที่หนึ่ง มาปฏิบัติ บ่มเพาะบุคลากรในสถาบันทุกคน
คนดีพัฒนาให้เก่งได้ไม่ยาก แต่คนเก่งแล้วไม่ดี อันตรายมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนเก่งที่มีความคิดตรงข้าม หาประโยชน์ส่วนตน น่ากลัวมาก”
ศ.นพ.บรรจง กล่าวย้ำทิ้งท้าย ก่อนจบการสนทนาว่า คนไม่ฉลาดทำความเสียหายไม่รุนแรง แต่คนฉลาดคิดอะไรบางอย่างที่เป็นภัย จะอันตรายรุนแรงมาก ม.มหิดล จึงได้ตระหนักต้องทำให้ทุกคนเก่งและดี โดยนำ ‘ดี’ เป็นตัวตั้ง ก่อนจะ 'เก่ง' ...
อ่านประกอบ:ผู้บริหาร ม.มหิดล แจงไม่นิ่งนอนใจคดีทพญ.หนีทุน-4 ผู้ค้ำฯ จ้างทนายสหรัฐฯ ฟ้องเป็นสิทธิ
เปิดคำฟ้องคดีล้มละลาย ‘หมอฟันหนีทุน’ พบยอดหนี้พุ่ง 48 ล้าน
สามี ‘ดลฤดี’ ขู่ผู้ค้ำฯ หากฟ้องไม่ได้อะไร เตรียมยื้อคดี
"มหิดล" เล็งฟ้องล้มละลาย ทันตแพทย์หนีชดใช้ทุน ก่อนหมดอายุความ 14 ก.พ.
สกอ.สรุปภาพรวม 10 โครงการ 'ทุน' พัฒนาอาจารย์ พบ 'ผิดสัญญา' อื้อ
คำสอนสุดท้ายจาก'อ.อารยา' ถึงศิษย์ชื่อ 'ดลฤดี'-ผู้ค้ำราย4 ใช้หนี้แทน2แสน
"อิศรา" ค้นคำพิพากษาคดี 'ทันตแพทย์ มหิดล' เบี้ยวทุน ไฉนต้องชดใช้ 30 ล.
ล่าข้ามโลก! เผยโฉมที่ทำงานอดีตอ.สาวมหิดล ในฮาวาร์ด หลังหนีทุนไม่กลับปท.