"ที่ดินของครอบครัว แต่รร.เป็นของชุมชน" จุดยืนก่อนอุทธรณ์คดีปอเนาะญิฮาด
วันนี้ช่วงสายๆ มีข่าวว่า อัยการจังหวัดปัตตานีนัดแถลงข่าวกรณีศาลสั่งยึดที่ดินโรงเรียนญิฮาดวิทยา หรือ ปอเนาะญิฮาด อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี
มีการคาดการณ์กันว่า อัยการจังหวัดอาจแถลงในประเด็นเกี่ยวกับกฎหมายฟอกเงินที่นำมาสู่คำสั่งศาลแพ่งให้ริบที่ดินปอเนาะญิฮาด เพราะกลายเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในพื้นที่ชายแดนใต้
คดีนี้ ศาลแพ่งมีคำพิพากษาเมื่อ 15 ธันวาคม 2558 คดีหมายเลขดำ ฟ.26/2556 ให้ที่ดินอันเป็นที่ตั้งของโรงเรียน เลขที่ 699 หมู่ 4 ตำบลตะโละกาโปร์ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี เนื้อที่ 14 ไร่ 1 งาน 42 ตารางวา ตกเป็นของแผ่นดิน ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เนื่องจากเป็นทรัพย์สินที่สนับสนุนการก่อการร้าย
เหตุผลที่ศาลมีคำสั่ง คือ ที่ดินผืนนี้เป็นทรัพย์สินที่สนับสนุนการก่อการร้าย ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เนื่องจากใช้เป็นสถานที่ฝึกของนักรบในขบวนการแบ่งแยกดินแดน ขณะที่ นายดูนเลาะ แวมะนอ อดีตครูใหญ่ของโรงเรียน ก็ถูกทางการฟ้องร้องกล่าวหาในคดีก่อการร้ายและกบฏแบ่งแยกดินแดน
แต่ฝ่ายครอบครัวแวมะนอ นำโดย นางยาวาฮี และ นายบัลยาน แวมะนอ ภรรยาและลูกชายของนายดูนเลาะ แย้งว่าที่ดินอันเป็นที่ตั้งของปอเนาะญิฮาด ซึ่งมีเอกสารสิทธิ์ น.ส.3 เป็นมรดกที่ตกทอดถึงยาวาฮีและพี่น้องรวม 5 คน ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของนายดูนเลาะซึ่งเป็นเขยเข้ามาแต่งงานกับนางยาวาฮีเท่านั้น
เมื่อที่ดินไม่ใช่ของนายดูนเลาะ แม้นายดูนเลาะจะถูกกล่าวหาหรือตกเป็นจำเลยในคดีก่อการร้ายหรือกบฏแบ่งแยกดินแดนก็ตาม ฉะนั้นทรัพย์สินคือที่ดินผืนนี้ ย่อมไม่ใช่ทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิด หรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด เนื่องจากนางยาวาฮีและพี่น้องคนอื่นๆ ที่มีชื่ออยู่ในเอกสารสิทธิ์ น.ส.3 ไม่ได้ตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยด้วย
กลายเป็นเหตุผล 2 ด้านที่ขัดหรือแย้งกันโดยสิ้นเชิง!
ขยายอุทธรณ์-จัดกิจกรรมกับชาวบ้าน
ช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมกราคม มีข่าวจากฝ่ายความมั่นคงว่า มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม (MAC) ได้จัดเสวนาร่วมกับประชาชน ที่บ้านท่าด่าน หมู่ 3 ตำบลตะโละกาโปร์ อำเภอยะหริ่ง เพื่อหารือกรณีศาลแพ่งพิพากษายึดที่ดิน 14 ไร่เศษ ที่ตั้งโรงเรียนญิฮาดวิทยาให้ตกเป็นของแผ่นดิน โดยใช้สถานที่ของมัสยิดแห่งหนึ่งในการจัดเสวนา
ต่อมา นายบัลยาน แวมะนอ บุตรชายของนายดูนเลาะ เปิดเผยกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า แนวทางการต่อสู้คดีในตอนนี้คือ ได้ขอขยายเวลาอุทธรณ์ออกไปจนถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2559 ซึ่งศาลก็อนุญาต
ส่วนที่มีข่าวมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจัดกิจกรรมกับชาวบ้านนั้น เป็นเรื่องจริง งานเสวนาเป็นลักษณะทำความเข้าใจในเรื่องของคดี โดยมีศิษย์เก่าของโรงเรียนมาร่วมรับฟังด้วย เพราะผู้ที่ทราบเรื่องยังคงไม่เข้าใจคำพิพากษาของศาล ประกอบกับปอเนาะเป็นแก้วตาดวงใจของทุกคน และเห็นใจครอบครัวแวมะนอที่ถูกกระทำ
ที่ดินของครอบครัวแต่โรงเรียนเป็นของชุมชน
“เราบอกตลอดว่าที่ดินเป็นของครอบครัว แต่สมบัติและทรัพย์สินบนที่ดินทั้ง 14 ไร่ เป็นการบริจาค (วากัฟ) ของชาวบ้านและชุมชนในพื้นที่ เรื่องอุทธรณ์จึงเป็นวาระของคนในพื้นที่ ทางศิษย์เก่าได้ไปรวมกลุ่มและร่วมพูดคุยกับทางชุมชนเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดร่วมกัน แต่จะเป็นอย่างไรต้องยอมรับสภาพที่เป็นไปตามกฏหมาย” นายบัลยาน กล่าว
เขาบอกอีกว่า การยื่นอุทธรณ์ที่ทำได้ล่าช้า เพราะญาติที่มีชื่อในเอกสารสิทธิ์ที่ดินอยู่คนละที่กัน หาเวลามาเจอกันยาก แต่ก็ต้องให้มาพูดคุยตกลงพร้อมกัน อยากให้เรื่องนี้เสร็จเร็วๆ เพราะทุกข์ใจเหมือนกัน ไม่รู้ว่าเราจะเจออะไรอีก
“หลังจากที่มีนักข่าวมาทำข่าว จากนั้น 1-2 วัน นายอำเภอ ผู้กำกับการตำรวจ และผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจในพื้นที่ได้มาแนะนำให้ไปขอความช่วยเหลือจากทางศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) แต่ในเมื่อเราเป็นคู่กรณีกันแล้วทำไมต้องไป เพราะเจ้าหน้าที่เป็นฝ่ายเริ่มก่อน และยิ่งแปลกใจที่มีเจ้าหน้าที่มาเร่งให้ครอบครัวไปอุทธรณ์เร็วๆ ทั้งๆ ที่เขาทำเรื่องไว้ ก็รอดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับครอบครัวเราอีกต่อไป” ลูกชายของดูนเลาะ แวมะนอ ระบุ
ด้าน ทนายอับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ ผู้อำนวยการมูลนิธิทนายความมุสลิม กล่าวว่า สาเหตุของการทำกิจกรรมกับชาวบ้าน เพราะชาวบ้านไม่เข้าใจเรื่องราวที่เกิดขึ้น จึงขอให้ทางนักกฏหมายและทนายความเข้าไปให้ความกระจ่าง
“เราไปทำความเข้าใจเรื่องกฏหมาย ให้ชาวบ้านได้รับทราบข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นสั่งให้ยึดที่ดิน แต่ยังสามารถอุทธรณ์ได้ ส่วนจะอุทธรณ์หรือไม่อยู่ที่ญาติ หากริบที่ดินจริง ที่ดินก็ต้องตกเป็นสมบัติของรัฐที่จะกระทำอย่างไรก็ได้ตามเจตจำนงของรัฐ อาจให้ครอบครัวแวมะนออยู่ต่อ แต่ต้องพัฒนา ซึ่งปอเนาะเป็นของชุมชน เรื่องการวากัฟเป็นหลักทางศาสนา ต้องให้ผู้รู้ทางศาสนามาอธิบาย” นายอับดุลกอฮาร์ ระบุ
วิเคราะห์ ก.ม.ฟอกเงินโยงยึดปอเนาะญิฮาด
ก่อนหน้านี้ “ศูนย์ข่าวอิศรา” เคยนำเสนอสกู๊ปพิเศษเรื่อง พลิกกฎหมายฟอกเงิน ค้นเหตุผลศาลสั่งริบที่ดิน "ปอเนาะญิฮาด"เพื่ออธิบายประเด็นข้อกฎหมายที่ศาลใช้ในการพิจารณาและมีคำพิพากษาริบที่ดินปอเนาะญิฮาดให้ตกเป็นของแผ่นดิน
สรุปว่า นิยามของ "ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด" ตามกฎหมายฟอกเงิน มีความหมายกว้างกว่า "ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด" ตามประมวลกฎหมายอาญาทั่วไป ประกอบกับข้อมูลจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ระบุว่า การยื่นคำร้องขอให้ศาลแพ่งมีคำสั่งให้ทรัพย์ ซึ่งเป็นที่ดินที่ตั้งของโรงเรียนญิฮาดวิทยา ตกเป็นของแผ่นดินนั้น ปปง.ให้น้ำหนักไปที่การเป็นทรัพย์ที่ "ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ หรือสนับสนุนการกระทำความผิดมูลฐานฟอกเงิน" ซึ่งเป็นหลักการตามกฎหมายฟอกเงิน โดยเฉพาะการป้องกันการฟอกเงินเพื่อสนับสนุนการก่อการร้าย ส่วนทรัพย์นั้นจะเป็นของใคร เป็นสาระสำคัญน้อยกว่าการที่ทรัพย์นั้นได้ถูกใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด
ด้วยเหตุนี้ ข้อต่อสู้ของผู้ร้องคัดค้าน (ภรรยาและญาติของนายดูนเลาะ) ต้องพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าตนเป็นเจ้าของที่แท้จริง และทรัพย์นั้นไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด อีกทั้งพวกตนก็ไม่ได้รู้เห็นกับการกระทำความผิดนั้น การต่อสู้แต่เพียงว่านายดูนเลาะไม่ได้มีชื่อในเอกสารสิทธิ์ น.ส.3 แต่เป็นครอบครัวของฝ่ายภรรยา ยังไม่เพียงพอ
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 บัลยาน แวมะนอ
2 โรงเรียนปอเนาะญิฮาด
อ่านประกอบ :
1 พลิกกฎหมายฟอกเงิน ค้นเหตุผลศาลสั่งริบที่ดิน "ปอเนาะญิฮาด"
2 "ชาวบ้าน-รัฐ"ยื่นมือช่วยครอบครัวแวมะนอ หลังปอเนาะญิฮาดถูกยึด
3 "ลูกชายดูนเลาะ"รับไม่ได้ หลังศาลแพ่งสั่งริบที่ดิน"ปอเนาะญิฮาด"อ้างโยงก่อการร้าย