- Home
- South
- ข่าวทั่วไปศูนย์ข่าวภาคใต้
- พลิกกฎหมายฟอกเงิน ค้นเหตุผลศาลสั่งริบที่ดิน "ปอเนาะญิฮาด"
พลิกกฎหมายฟอกเงิน ค้นเหตุผลศาลสั่งริบที่ดิน "ปอเนาะญิฮาด"
กลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะจากครอบครัว "แวมะนอ" กรณีศาลแพ่งมีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ ฟ 26/2556 ให้ที่ดินอันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนญิฮาดวิทยา หรือ ปอเนาะญิฮาด อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี เนื้อที่ 14 ไร่เศษ ตกเป็นของแผ่นดิน
เหตุผลที่ศาลมีคำสั่ง คือ ที่ดินผืนนี้เป็นทรัพย์สินที่สนับสนุนการก่อการร้าย ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เนื่องจากใช้เป็นสถานที่ฝึกของนักรบในขบวนการแบ่งแยกดินแดน ขณะที่ นายดูนเลาะ แวมะนอ อดีตครูใหญ่ของโรงเรียน ก็ถูกทางการฟ้องร้องกล่าวหาในคดีก่อการร้ายและกบฏแบ่งแยกดินแดน
ข้างฝ่ายครอบครัวแวมะนอ นำโดย นางยาวาฮี และ นายบัลยาน แวมะนอ ภรรยาและลูกชายของนายดูนเลาะ แย้งว่าที่ดินอันเป็นที่ตั้งของปอเนาะญิฮาด ซึ่งมีเอกสารสิทธิ์ น.ส.3 เป็นมรดกที่ตกทอดถึงยาวาฮีและพี่น้องรวม 5 คน ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของนายดูนเลาะซึ่งเป็นเขยเข้ามาแต่งงานกับนางยาวาฮีเท่านั้น
เมื่อที่ดินไม่ใช่ของนายดูนเลาะ แม้นายดูนเลาะจะถูกกล่าวหาหรือตกเป็นจำเลยในคดีก่อการร้ายหรือกบฏแบ่งแยกดินแดนก็ตาม ฉะนั้นทรัพย์สินคือที่ดินผืนนี้ ย่อมไม่ใช่ทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิด หรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด เนื่องยากนางยาวาฮีและพี่น้องคนอื่นๆ ที่มีชื่ออยู่ในเอกสารสิทธิ์ น.ส.3 ไม่ได้ตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยด้วย
กลายเป็นเหตุผล 2 ด้านที่ขัดหรือแย้งกันโดยสิ้นเชิง!
จากการตรวจสอบข้อกฎหมายตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ซึ่งมีการปรับแก้มาแล้ว 5 ครั้ง พบว่า ได้มีการบัญญัตินิยามคำว่า "ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด" ตามกฎหมายฟอกเงินเอาไว้ดังนี้
(1) เงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำซึ่งเป็นความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน หรือจากการสนับสนุนหรือช่วยเหลือการกระทำซึ่งเป็นความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน และให้รวมถึงเงินหรือทรัพย์สินที่ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้หรือสนับสนุนการกระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน
(2) เงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการจำหน่าย จ่าย โอนด้วยประการใด ๆ ซึ่งเงินหรือทรัพย์สินตาม (1) หรือ
(3) ดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินตาม (1) หรือ (2)
ทั้งนี้ ไม่ว่าทรัพย์สินตาม (1) (2) หรือ (3) จะมีการจำหน่าย จ่าย โอน หรือเปลี่ยนสภาพไปกี่ครั้ง และไม่ว่าจะอยู่ในความครอบครองของบุคคลใด โอนไปเป็นของบุคคลใด หรือปรากฏหลักฐานทางทะเบียนว่าเป็นของบุคคลใด
สำหรับความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา ถูกบัญญัติไว้เป็น "ความผิดมูลฐาน" ลำดับ 8 จาก 21 ความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ
จากนิยามดังกล่าว จะเห็นได้ว่า "ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด" ตาม"กฎหมายฟอกเงินนั้น มีความหมายกว้างกว่า "ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด" ตามประมวลกฎหมายอาญาทั่วไป ซึ่งมุ่งไปที่ตัวทรัพย์อันเป็นความผิดในตัวเอง และทรัพย์ที่ผู้กระทำผิดมีไว้หรือได้มาจากการกระทำความผิดเท่านั้น
สำหรับการดำเนินการของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กับ "ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด" นั้น กฎหมายบัญญัติไว้ว่า หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าอาจมีการโอน จำหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินใดที่เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ให้คณะกรรมการธุรกรรมมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้นไว้ชั่วคราวมีกำหนดไม่เกิน 90 วัน และในกรณีจำเป็นหรือเร่งด่วน เลขาธิการ ปปง.จะสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินตามวรรคหนึ่งไปก่อน แล้วรายงานต่อคณะกรรมการธุรกรรมก็ได้ (มาตรา 48)
ในกรณีที่ปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าทรัพย์สินใดเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ให้เลขาธิการ ปปง.ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการพิจารณาเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินโดยเร็ว (มาตรา 49)
ส่วนการต่อสู้คดีของผู้ที่อ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้น กฎหมายผลักภาระการพิสูจน์ให้กับผู้ที่อ้างตัวเป็นเจ้าของทรัพย์สิน โดยมาตรา 50 ระบุว่า ผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่พนักงานอัยการร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 49 อาจยื่นคำร้องก่อนศาลมีคำสั่งตามมาตรา 51 (คืนทรัพย์สิน) โดยแสดงให้ศาลเห็นว่า
(1) ตนเป็นเจ้าของที่แท้จริง และทรัพย์สินนั้นไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด หรือ
(2) ตนเป็นผู้รับโอนโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน หรือได้มาโดยสุจริตและตามสมควรในทางศีลธรรมอันดีหรือในทางกุศลสาธารณะ
อย่างไรก็ตาม ในมาตรา 51 วรรค 3 กฎหมายก็เขียนล็อคเอาไว้ว่า หากผู้อ้างว่าเป็นเจ้าของหรือผู้รับโอนทรัพย์สินตามมาตรา 50 เป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงินมาก่อน ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบรรดาทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือได้รับโอนมาโดยไม่สุจริต แล้วแต่กรณี
แหล่งข่าวจากสำนักงาน ปปง.เปิดเผยว่า การยื่นคำร้องขอให้ศาลแพ่งมีคำสั่งให้ทรัพย์ ซึ่งเป็นที่ดินที่ตั้งของโรงเรียนญิฮาดวิทยา ตกเป็นของแผ่นดินนั้น ปปง.ให้น้ำหนักไปที่การเป็นทรัพย์ที่ "ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ หรือสนับสนุนการกระทำความผิดมูลฐานฟอกเงิน" ซึ่งเป็นหลักการตามกฎหมายฟอกเงิน โดยเฉพาะการป้องกันการฟอกเงินเพื่อสนับสนุนการก่อการร้าย ส่วนทรัพย์นั้นจะเป็นของใคร เป็นสาระสำคัญน้อยกว่าการที่ทรัพย์นั้นได้ถูกใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด
"กรณีที่ดินของปอเนาะญิฮาด ปปง.มีหลักฐานว่าพื้นที่ตั้งของโรงเรียนถูกใช้เป็นสถานที่ฝึกนักรบของขบวนการแบ่งแยกดินแดน หลักฐานตรงนี้ชัดเจนมาก มีทั้งการฝึกและอยู่อาศัย จึงเข้าหลักเกณฑ์ของกฎหมายว่าด้วยการเป็นทรัพย์ที่ถูกใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ หรือสนับสนุนการกระทำความผิด"
"ส่วนข้อต่อสู้ของผู้ร้องคัดค้าน (ภรรยาและญาติของนายดูนเลาะ) ต้องพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าตนเป็นเจ้าของที่แท้จริง และทรัพย์นั้นไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ฉะนั้นการต่อสู้แต่เพียงว่านายดูนเลาะไม่ได้มีชื่อในเอกสารสิทธิ์ น.ส.3 แต่เป็นครอบครัวของฝ่ายภรรยา ยังไม่เพียงพอ ต้องพิสูจน์ให้ศาลเห็นด้วยว่า ทรัพย์นั้นไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด และยังต้องพิสูจน์ว่าไม่ได้รู้เห็นกับการกระทำความผิดนั้นด้วย" แหล่งข่าวจาก ปปง.ระบุ
ดูเหมือนการต่อสู้คดีที่ดินปอเนาะญิฮาดของครอบครัวแวมะนอ หากมีการยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาล จะไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เสียแล้ว!