นายก ส.ศิษย์เก่าจี้ดาว์พงษ์ทบทวนคำสั่งคุมเอแบคหวั่นแทรกแซงกระบวนการตรวจสอบทุจริต
นายกสมาคมศิษย์เก่าจี้บิ๊กตู่-ดาว์พงษ์ ทบทวนคำสั่งใช้ม.86 คุมเอแบค หวั่นทำลายชื่อเสียงมหาวิทยาลัย และบรรทัดฐานกระบวนการตรวจสอบทุจริต
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรารายงานว่าเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2559 ดร.อุดม หงส์ชาติ นายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตัวแทนกรรมการสภามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญเสียงส่วนใหญ่ ออกแถลงการณ์เรียกร้องถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการให้ทบทวนคำสั่งใช้มาตรา 86 เข้าควบคุมมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
ดร.อุดม หงส์ชาติกุล กล่าวว่า เราต้องการเรียกร้องให้มีการตรวจสอบการบริหารงานของคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญเพื่อสร้างความโปร่งใส่และยึดหลักธรรมาภิบาล และเห็นว่าการใช้มาตรา 86 เข้าควบคุมม.อัสสัมชัญนั้นขัดต่อนโยบายของรัฐบาลในการปราบปรามการทุจริต เนื่องจากแก้ปัญหาไม่ตรงจุด เพราะฝ่ายตรวจสอบไม่ยอมให้มีการดำเนินการใดๆภายใต้กฎหมาย โดยเฉพาะเรื่องการจัดซื้อเครื่องFlight Simulator ที่กรรมการสภามหาวิทยาลัยได้ตั้งข้อสังเกตถึงการดำเนินการที่ไม่โปร่งใสของฝ่ายบริหารที่มีความไม่ชอบมาพากลในหลายประเด็นจนนำไปสู่การสืบสวนหาข้อเท็จจริงและพบประเด็นการทุจริตประพฤติมิชอบ
นายกสมาคมศิษย์เก่าม.อัสสัมชัญ กล่าวอีกว่า การดำเนินงานของสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ที่ผิดพลาดและมีความเสียหายเกิดขึ้นกว่า40ล้านบาท การกู้ยืมเงินจากโรงเรียนในเครือมูลนิธิฯ หลายครั้งโดยไม่ขออนุมัติสภามหาวิทยาลัย รวมถึงล่าสุดได้รับข้อมูลเกี่ยวกับความเสียหายจากกรณีปล่อยกู้ และที่ดิน 500 ล้านบาท โครงการVirtual Realityจำนวนกว่า85ล้านบาท ซึ่งไม่เคยแจ้งสภามหาวิทยาลัยนอกจากนี้เมื่อมีขั้นตอนการตรวจสอบเกิดขึ้น คณะกรรมการสอบสวนอธิการบดีกลับไม่ได้รับความร่วมมือจากฝ่ายอธิการบดีเลย อีกทั้งยังมีการท้าทายต่อกฎหมายบ้านเมืองด้วยการไม่เคารพคำสั่งศาลและกระทำการที่ขัดต่อมติที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เป็นเหตุนำไปสู่การเผชิญหน้าของฝ่ายตรวจสอบและฝ่ายที่ถูกตรวจสอบตามที่เป็นข่าว
“สภามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญรู้สึกเสียใจอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจบังคับใช้มาตรา86กับมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เพราะเราถือว่าการกระทำนี้เป็นการทำลายชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ทำลายกระบวนการตรวจสอบการบริหารสถาบันอุดมศึกษาเอกชน อีกทั้งยังขัดต่อนโยบายของรัฐบาลในการเอาจริงเอาจังในเรื่องการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นปัญหารุนแรงของสังคมไทย และในองค์กรที่เป็นสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นเสมือนเบ้าหลอมที่จะสร้างคนสู่สังคม จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ภาคส่วนอื่นๆ และไม่มีข้อยกเว้นใดๆ”
ดร.อุดม ระบุว่า กรณีของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน กรรมการสภามหาวิทยาลัยพบเห็นสิ่งผิดปกติในการบริหาร เมื่อขอตรวจสอบข้อมูลก็มีการบิดเบือน หลีกเลี่ยงจากทางอธิการบดี และฝ่ายบริหารตลอด นอกจากนี้การดำเนินการของสภามหาวิทยาลัยก็ถูกขัดขวางจากนายกสภามหาวิทยาลัย ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความพยายามที่จะทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้มีการตรวจสอบ การกระทำที่ไม่โปร่งใส ไม่มีธรรมาภิบาล และไร้ซึ่งจริยธรรมในครั้งนี้ส่งผลโดยตรงต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ รวมถึงมูลนิธิเซนต์คาเบรียล และของโรงเรียนในเครือ ซึ่งเป็นสถาบันที่ดูแลโดยนักบวช
“เมื่อความเห็นต่างกัน ก็ควรต้องยึดอะไรบางอย่าง ซึ่งในกรณีของสภามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ก็ต้องยึดถือกฎหมาย มติสภา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคำสั่งศาล จึงขอเรียกร้องให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อความถูกต้อง ให้ความเป็นธรรมแก่กรรมการสภาฯ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความตั้งใจและรับผิดชอบ คนที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อตรง ผู้ที่ถูกไล่ฟ้องอย่างไม่เป็นธรรม มิเช่นนั้นแล้ว ท้ายที่สุดผู้ที่ตั้งใจดี ปฏิบัติดี ก็จะเหนื่อยล้าต้องถอยไป ปล่อยให้สิ่งที่ไม่ถูกต้องเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า”
อ่านประกอบ:"ดาว์พงษ์" ตั้งกก.คุมเอแบค มี "สุรพล นิติไกรพจน์- กฤษณพงศ์ กีรติกร" ร่วมด้วย
ดร.สุทธิพร ปทุมเทวาภิบาล ค้านใช้ม.86ยึดเอแบค วอนรมว.ศธ.รับรองสถานะ
พลิก ม. 86 พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน ปี 46 ก่อน 'ดาว์พงษ์' ใช้อำนาจคุมเอแบค
เจรจา 2 ฝ่ายล่ม ปธ.มูลนิธิเซนต์คาเบรียลฯ ยันจุดยืน กก.สภาเอแบคทุกคนลาออก
ม.เอแบควอนสื่องดใช้รักษาการอธิการบดีกับสุทธิพร ปทุมเทวาภิบาล