มติ กกอ.เสนอ"ดาว์พงษ์"เข้าคุม"เอแบค" ขู่ถ้าไม่สงบ เจอยึดใบอนุญาต
กกอ.มีมติเสนอ 'ดาว์พงษ์' ใช้ ม.86 (4) วรรรคสอง แก้ขัดแย้ง ม.เอแบค ด้านปลัดศึกษาฯ ชี้หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยอม-ความขัดแย้งไม่จบ เตรียมยึดใบอนุญาตสถานศึกษา จนกว่าจะตกลงกันได้
เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2558 ที่สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาแห่งชาติมีการประชุมคณะกรรมการอุดมศึกษาแห่งชาติ (กกอ.) ซึ่งมีการพิจารณาการแก้ไขปัญหาของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ(เอแบค) ภายหลังเกิดเหตุต่อต้านอธิการบดีคนใหม่จนสุ่มเสี่ยงต่อความรุนแรง โดยมีรศ.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ ประธานคณะกรรมการอุดมศึกษาแห่งชาติ เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นางสาวอาภรณ์ แก่นวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอุดมศึกษา และมีดร.กฤษณะพงศ์ กีรติกร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการเข้าให้ข้อมูลด้วย
ภายหลังการประชุมกว่า 2 ชั่วโมงครึ่ง รศ.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ ในฐานะประธานการประชุมให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ว่า เนื่องจากปัญหาที่ปรากฎในสื่อมวลชนที่มีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของสถาบันอุดมศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยเอแบคเป็นสถาบันเก่าแก่ และเกิดปัญหาความขัดแย้งในการทำหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยและผู้บริหารทำให้เป็นอุปสรรคต่อการจัดการเรียนการสอนที่จะมีขึ้นในการเปิดภาคเรียนในวันที่ 11 มกราคม 2559 จึงจำเป็นต้องมีมาตรการแก้ไขให้สามารถจัดการศึกษาต่อไปได้ เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อสังคมโดยรวม
ดังนั้นคณะกรรมการจึงมีมติร่วมกันเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในการดำเนินการดังนี้
1.ดำเนินการไกล่เกลี่ยตามวิธีการที่รัฐมนตรีได้ดำเนินการอยู่แล้ว หรือ
2.นำมาตรา 86 (4) และวรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติสถาบันอุดดมศึกษาเอกชน พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติมมาบังคับใช้
โดยมาตรา86(4) ระบุว่าสภาสถาบัน กรรมการสภาสถาบัน อธิการบดี คณาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนหรือ นักศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนดําเนินการอันเป็นภัยอยางร้ายแรงต่อความมั่นคงหรือ ความปลอดภัยของประเทศ วัฒนธรรมของชาติ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของ ประชาชน ให้รัฐมนตรีโดยคําแนะนำของคณะกรรมการมีอํานาจสั่งใหสถาบันอุดมศึกษาเอกชนอยู่ใน ความควบคุมของสํานักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และให้รัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนขึ้นมาคณะหนึ่งประกอบด้วยกรรมการไม่น้อยกว่า 5 คน แต่ไม่เกิน 15 คน ทำหน้าที่แทนสภาสถาบันและให้ประกาศคำสั่งควบคุมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนในหนังสือพิมพ์รายวันภาษาไทยมีกำหนดเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 วัน
“ถ้าหากรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการเลือกใช้ทางเลือกที่ 2 คือนำมาตรา 86(4) มาใช้ คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นก็จะรีบเข้าไปจัดการไปหาให้เร็วที่สุด และจะรีบคืนการบริหารให้กับมหาวิทยาลัยเอแบคทันที ที่ความขัดแย้งยุติและเกิดความสงบเรียบร้อยแล้ว
ขณะที่รศ.นพ.กำจร ตติยะกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า วันนี้นายกฤษณะพงศ์ กีรติกร อดีตรมช.ศธ.ได้เข้ามารายงานและให้ข้อมูลว่าพบความไม่ชอบมาพากลในปัญหาความขัดแย้ง แต่ไม่พบว่ามีการทุจริต ซึ่งในส่วนนี้ที่กำลังตรวจสอบอยู่ก็จะดำเนินการต่อไป สำหรับคำแนะนำของกกอ.ที่ให้ใช้มาตรา 86(4) ในกรณีที่ไม่สามารถไกล่เกลี่ยปัญหาได้นั้นจะขัดแย้งกับคำสั่งศาลคุ้มครองชั่วคราวหรือไม่นั้นต้องบอกว่าเป็นคนละเรื่องกัน คำสั่งศาลคุ้มครองคือเรื่องปัญหาความขัดแย้งภายในมหาวิทยาลัย ขณะที่แนวทางปฏิบัติที่กกอ.แนะนำนั้นเป็นการให้อำนาจรัฐมนตรีในการเข้าไปช่วยแก้ไขความขัดแย้ง
“หากทางสภามหาวิทยาลัยเอแบคเห็นว่าไม่อยากให้ทางกระทรวงศึกษาธิการเข้าไปยุ่งหรือเข้าไปจัดการภายในมหาวิทยาลัยเขาก็สามารถที่จะขออุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน แต่กรณีจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อสภามหาวิทยาลัยและผู้บริหารมีความปรองดองเกิดขึ้นแล้ว”
ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวอีกว่า สำหรับมติที่ประชุมของกกอ.นั้น ได้รายงานไปยังรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ เรียบร้อยแล้ว ส่วนท่านจะใช้แนวทางใดในการจัดการปัญหาเป็นดุลยพินิจของท่าน อย่างไรก็ตามในเร็วๆนี้ จะเรียกคู่กรณีทั้ง 2 ฝ่ายเข้ามาพูดคุยเพื่อไกล่เกลี่ยอีกครั้งหนึ่ง หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยอมหรือไม่สามารถตกลงปัญหาได้ก็จะทำการยึดใบอนุญาตสถานศึกษาจนกว่าจะตกลงกันได้
“หลังจากนี้ไปรัฐมนตรีถือว่ามีอำนาจแล้วหากกกอ.ให้คำแนะนำให้ใช้ม.86(4) วรรคสอง คือมีอำนาจเข้าไปดูเข้าไปจัดการ ถ้าวันนี้ใครยังดื้ออยู่ เราก็จะบอกว่าจะใช้ไม้เรียวแล้วนะ ถ้าไม่ฟังตามที่บอกก็ต้องลงโทษ”