ฝ่ายหนุนมั่นใจ"อธิการฯเอแบค"ไม่โกง! นัดรวมพลยื่นหนังสือสกอ.โต้ข้อมูล"ดร.สุทธิพร"
ฝ่ายสนับสนุน "ภราดา บัญชา" นัดร่วมพล ยืนหนังสือเลขาฯ สกอ. โต้ข้อมูล "ดร.สุทธิพร" ชี้มติสภาฯ อัสสัมชัญ ออกคำสั่งตั้ง กก.สอบ "อธิการฯ เอแบค" พร้อมให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ สถาปนาตนเองรักษาการแทน ส่อเป็นการระทำที่ลุแก่อำนาจ ฝ่าฝืนกม.
จากกรณี ดร.สุทธิพร ปทุมเทวาภิบาล รักษาการอธิการบดี มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ หรือ เอแบค เข้ายื่นหนังสือต่อสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เพื่อติดตามการอุทธรณ์คำสั่งอันเป็นการฝ่าฝืนมติสภามหาวิทยาลัยในประเด็นที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยคนปัจจุบันถูกตั้งคณะกรรมการสวบสวนในหลายประเด็นและมีคำสั่งให้พักงานชั่วคราว แต่กลับเมินมติสภาฯ แถมยังสั่งห้ามเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยงดให้ความร่วมมือกับตนในการปฏิบัติงานตามหน้าที่ นั้น
(อ่านประกอบ : "ดร.สุทธิพร" ดับเครื่องชน ยื่น สกอ. สอบปม "อธิการฯ" ฝ่าฝืนมติสภาฯเอแบค)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับแจ้งว่า ในช่วงเวลา 10.00 น. วันที่ 13 กรกฎาคม 2558 ทางกลุ่มคณาจารย์มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ นําโดยคณบดี คณาจารย์ องค์การนักศึกษา กลุ่มศิษย์ปัจจุบันและศิษย์เก่า และกลุ่มเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ จะเข้ายื่นหนังสือถึง เลขาธิการคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) เพื่อหารือข้อสงสัยต่างๆ เกี่ยวกับอํานาจในการลงนามการออก คําสั่งสภามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ฉบับที่ 4-8 ซึ่งมองว่าเป็นการลุแก่อํานาจในการแต่งตั้ง ดร. สุทธิพร ปทุมเทวาภิบาล กระทําการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญทําได้หรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นจะถือว่าเป็นการแอบอ้างตนเองและถือเป็นการผิดตามกฎหมายหรือไม่ อย่างไร
"การยื่นหนังสือนี้มิได้เพิ่งเริ่มเป็นการเคลื่อนไหวของกลุ่มคณาจารย์และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดําเนินกิจการของมหาวิทยาลัยหากแต่มีการรับทราบภายในมาระยะหนึ่งแล้ว การรวมตัวเพื่อให้กําลังใจท่านอธิการมา ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2558 หลังจากนั้นกลุ่มคณบดีและกลุ่มนักศึกษาได้เข้าพบนายกสภามหาวิทยาลัย และได้รับการยืนยันจากนายกสภาซึ่ง คือ ประธานมูลนิธิเซนต์คาเบรียล ว่า ภราดาบัญชา แสงหิรัญ มิได้มีความผิดอะไรเลย ตามที่มีกรรมการบางคนกล่าวอ้างในที่ประชุม ซึ่งถือเป็นความเสียหายต่อชื่อเสียงของท่าน” ทีมประสานงานประชาคมเอแบค ระบุในหนังสือชี้แจงที่แจ้งต่อสื่อมวลชนระบุ
ในหนังสือฉบับนี้ ยังระบุด้วยว่า ทั้งนี้ คณะกรรมการมูลนิธิเซนต์คาเบรียล ผู้เป็นผู้รับใบอนุญาตในการประกอบกิจการ ได้รองรับการปฏิบัติหน้าที่ที่ถูกต้อง ซื่อตรง มีคุณธรรมของภราดา บัญชา แสงหิรัญ มาตลอด นอกจากนี้ เหล่าคณาจารย์ยังได้รับทราบถ้อยแถลงการณ์ของภราดามาร์ติน โกมลมาศ อธิการบดีกิตติคุณ ที่มีการเรียกร้องต่อคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยถึงการตั้งข้อกล่าวหาต่อท่านอธิการบดี ซึ่งท่านเห็นว่าเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการลุแก่อํานาจในการตั้งข้อกล่าวหาอธิการบดี การจัดทําคําสั่งแต่งตั้งรักษาการอธิการบดีโดยมิชอบ ทั้งๆที่ หลังจากการประชุมตามที่ดร.สุทธิพรอ้างถึงนั้น นายกสภาได้ทําหนังสือถึง สกอ.ไปแล้วเกี่ยวกับกรณีการแต่งตั้งตําแหน่งรักษาการกระทําการแทนอธิการบดี ซึ่งในขณะที่ กําลังรอ สกอ. วินิจฉัยกลับมานั้น ก็ปรากฎว่ามีคณะกรรมการบางคนลุแก่อํานาจ กระทําการต่างๆ โดยมิชอบ
ดังนั้น เหล่าคณาจารย์ จึงต้องการชี้แจงถึงความเคลื่อนไหวของประชาคมมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญต่อข่าวที่มีการเผยแพร่ออกทางสื่อมวลชนอันจะทําให้สาธารณชนเกิดความเข้าใจผิดและเกิดผลเสียต่อชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยต่อไปได้
ในฐานะผู้ปฏิบัติงานในองค์กร และผู้มีส่วนได้เสียกับมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญนั้น เห็นด้วยกับเนื้อหาข่าวบางส่วนที่รายงานว่า “อยากให้สังคมไทยตระหนักถึงเรื่องการทํางานที่ตรงไปตรงมา ความซื่อสัตย์สุจริตและการมีศีลธรรมจริยธรรมประจําใจในการปฏิบัติหน้าที่ให้มากขึ้น” (สํานักข่าวอิศรา, 10 ก.ค. 58) ซึ่งผู้ปฏิบัติงานและผู้มีส่วนได้เสียของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญมีความเชื่อมั่นในการทํางานที่ตรงไปตรงมาของอธิการบดีภราดา บัญชา แสงหิรัญ เชื่อมั่นในการบริหารจัดการที่ถูกต้องตามครรลองครองธรรม มีคุณธรรมและจริยธรรม เป็นแบบอย่างในการบริหารงานที่ดี และเป็นที่รักของลูกศิษย์ตลอดชีวิตการทํางานของท่าน
หากสิ่งที่สังคมต้องตระหนักก็คือ ข้อเท็จจริงที่ว่า ดร.สุทธิพร ปทุมเทวาภิบาล คือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับโครงการจัดซื้ออุปกรณ์การฝึกบินจําลอง โดยเป็นตัวกลางประสานระหว่างบริษัทต่างชาติกับมหาวิทยาลัยมาตั้งแต่ต้น เป็นผู้ขายหุ้นให้แก่มหาวิทยาลัยและได้เงิน Premiem ไป 20% เป็นที่เรียบร้อย แล้ว ทั้งนี้ การรับซื้อหุ้นของทางมหาวิทยาลัยก็มิได้กระทําการผิดอะไรเพราะเป็นการทําตามคําแนะนําของ สกอ. ที่แนะนําให้มหาวิทยาลัยเป็นผู้ดําเนินการเอง ดังนั้น ความไม่โปร่งใสและความไม่ชอบมาพากล จึงควรตั้งข้อสังเกตถึง ดร.สุทธิพร ปทุมเทวาภิบาล ด้วย ในฐานะผู้ริเริ่มโครงการดังกล่าว
คณาจารย์ ผู้ปฏิบัติงาน และ นักศึกษาทั้งศิษย์ปัจจุบันและศิษย์เก่า รับทราบข่าวเท็จที่เผยแพร่ทางสื่อมวลชนมาโดยตลอดด้วยความไม่สบายใจ อย่างไรก็ตาม เป็นความจริงตามเนื้อหาข่าวที่รายงานถึงรายละเอียดหนังสือของดร.สุทธิพร ปทุมเทวาภิบาล ที่ยื่นถึงสกอ.ว่า ได้เกิดความขัดแย้งในการบริหารจัดการ
หากแต่ความขัดแย้งที่กล่าวอ้างนั้นเป็นความขัดแย้งระหว่าง ดร.สุทธิพรและกรรมการบางคนเท่านั้น ซึ่งหากพิจารณาตามแนวคิดเรื่องบทบาทของกรรมการสภามหาวิทยาลัยโดย ศ.นพ. วิจารณ์ พานิช ที่ได้เสนอแนวทางของกรรมการสภาว่าต้องสร้างมิตรภาพหรือความเป็นสมาชิกของชุมชนที่มี เป้าหมายอันยิ่งใหญ่อันเดียวกัน คือกํากับดูแลให้สถาบันอุดมศึกษารับใช้สังคมได้ตามวิสัยทัศน์และพันธกิจที่กําหนด (จดหมายข่าวธรรมาภิบาลมหาวิทยาลัย ปี ที่ 3 ฉบับที่ 4, 2554) จะเห็นได้ว่า ความระสํ่าระสายในองค์กรที่เกิดขึ้น ก็มาจากเหตุของการตั้งข้อกล่าวหาต่อท่านอธิการบดีภราดา บัญชา แสงหิรัญ อย่างไม่เป็นธรรม แต่งตั้งตนเองเป็นรักษาการซึ่งถือเป็นการคุกคามให้เกิดความรู้สึกไม่มั่นคงในการทํางานของคนในองค์กร
ดังนั้น การยื่นหนังสือของเหล่าคณาจารย์และผู้เกี่ยวข้องในวันจันทร์ที่ 13 ก.ค. นี้ จึงต้องการหารือในฐานะผู้ปฏิบัติงานในองค์กร ว่าเหตุใดเรื่องเหล่านี้จึงเกิดขึ้นจากคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นกรรมการที่ได้รับเชิญมาจากท่านอธิการบดีเองและนายกสภา เห็นชอบเพื่อเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่จะแนะนําแนวทางด้านการศึกษาให้มีความก้าวหน้าทันต่ออารยะประเทศ
หากแต่การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการสภากลับกระทําในสิ่งที่เป็นผลเสียต่อมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของสถาบันการศึกษาอันทรงเกรียติและเป็นที่ยอมรับของนานาชาติเฉกเช่นมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญเช่นนี้
ในหนังสือยังระบุด้วยว่า เป็นเรื่องที่น่าตั้งข้อสังเกตและควรเป็นกรณีศึกษาอย่างยิ่งต่อมหาวิทยาลัยเอกชนที่อื่นๆ ถึงการสรรหากรรมการสภามหาวิทยาลัย ในกรณีนี้ท่านนายกสภาซึ่งเป็นตัวแทนผู้ถือใบอนุญาต (มูลนิธิเซนต์คาเบรียล) รับรองการทํางานที่โปร่งใส และ ถูกต้องของภราดาบัญชา แสงหิรัญ นอกจากการปฏิเสธเสียงทัดทานการตั้งข้อกล่าวหาอย่างไม่ เป็นธรรมของเจ้าของผู้รับใบอนุญาต ยังขับไล่ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างถูกต้อง สถาปนาตําแหน่งขึ้นมาเช่นนี้ การสงสัยที่ว่ามีความไม่โปร่งใสหรือที่ใช้คําว่า “โกง” ตามพาดหัวข่าวก็น่าจะจริง แต่ไม่ใช่ท่านอธิการบดีภราดา บัญชา แสงหิรัญ แน่นอน
ต่อมาเวลา เวลา 12.00 น. กลุ่มคณะบดีมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ นายขจร จิตสุขุมมงคล รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) เพื่อขอให้ สกอ. พิจารณาการกระทำที่ผิดต่อข้อกฎหมายของคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย ตามที่ปรากฎในหนังสือร้องเรียน
เมื่อผู้สื่อข่าวขอสัมภาษณ์กลุ่มคณะบดีมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ที่เข้ายื่นหนังสือดังกล่าว ได้รับการปฎิเสธ พร้อมระบุว่า ทางมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญจะมีการประชุมชี้เเจงต่อสื่อมวลชนเอง โดยจะเเจ้งวันเวลาในการประชุมชี้เเจงของทางมหาวิทยาลัยมาให้ทราบในภายหลัง