'บัณฑูร ล่ำซำ':ฟื้นฟูป่าน่าน ปชช.มีจิตสำนึกมากขึ้น เเต่ยังไม่หยุดตัดไม้
‘เจ้าสัวบัณฑูร’ นำคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่ ‘น้ำตกสะปัน’ สัมผัสความสมบูรณ์ป่าต้นน้ำน่าน หลังหลายแสนไร่ถูกถางปลูกข้าวโพด เผยผลคืบหน้าแก้ปัญหา ชาวบ้านมีจิตสำนึกมากขึ้น แต่ไม่หยุดตัดไม้ เหตุไม่รู้จะทำอะไรกิน วอนรัฐบาลขับเคลื่อนนโยบายจริงจัง ยันใช้ กม.เถรตรงไม่ได้
เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) นำคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่สำรวจน้ำตกสะปัน ในเขตอุทยานแห่งชาติขุนน่าน พื้นที่บ้านสะปัน หมู่ที่ 1 ต.ดงพญา อ.บ่อเกลือ จ.น่าน เพื่อให้สัมผัสกับสภาพป่าไม้ที่เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำน่าน
ภายหลังสภาพป่าต้นน้ำเสื่อมโทรม โดยสถิติพบว่า ป่าน่านหายไปปีละ 5 หมื่นไร่ และ 5 ปีหลังสุด มีอัตราการสูญเสียป่าเร็วขึ้นปีละ 1-1.5 แสนไร่ เนื่องจากเกษตรกรไม่มีที่ดินทำกิน จึงบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติปลูกข้าวโพด อย่างไรก็ตาม ได้ร่วมมือกับภาคเอกชนร่วมฟื้นคืนผืนป่า (อ่านประกอบ:ส่องโมเดล ‘คืนป่าน่าน’ หนึ่งในความเพียรพยายามอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ)
นายบัณฑูร กล่าวว่า ต.ดงพญา หมายความว่า ป่าใหญ่ และเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำน่าน ไหลลงไปเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา สัดส่วน 40% ฉะนั้นจึงเป็นประเด็นสำคัญ ซึ่งปีที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้บรรจุเข้าเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาป่าต้นน้ำ จ.น่านและเชียงใหม่ แต่ยอมรับว่า ไม่ง่ายที่จะแก้ไข เพราะชาวบ้านตัดไม้ เนื่องจากความยากจน
“พื้นที่ จ.น่าน 85% เป็นป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งตามกฎหมายแตะต้องไม่ได้แม้แต่ต้นเดียว แต่ความกดดดันในการดำรงชีวิตตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้ขณะนี้ถูกถางเตียนแล้วอย่างน้อย 25%” ผู้บริหาร ธนาคาร กสิกรไทย กล่าว และว่า อัตราการสูญเสียนี้หยุดไม่ได้ง่าย ๆ ที่จะให้เกิดความสำนึกไม่ถางป่า ปลูกข้าวโพด ที่มีระบบรองรับชัดเจน เพราะไม่รู้จะทำอะไรกิน
นายบัณฑูร กล่าวต่อว่า รัฐบาลจึงต้องเข้าใจ ไม่ใช่จะมาไล่จับ เพราะเป็นคนจนทั้งนั้น แตกต่างจากกรณีนายทุนบุกรุกป่า ที่ต้องใช้วิธีจัดการอีกรูปแบบหนึ่ง แต่กรณี จ.น่าน จะใช้กฎหมายเถรตรงไม่ได้ เพราะรัฐจะมีปัญหากับชาวบ้าน ที่สำคัญ พื้นที่ดังกล่าวเคยเป็นที่ตั้งถิ่นฐานมาก่อนประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติ
ดังนั้นการแก้ไขปัญหาให้สำเร็จ ต้องเข้าใจว่า เรื่องนี้เกี่ยวกับโลกทุนนิยม ต้องหาพืชหรือวิชาชีพอื่นให้ชาวบ้าน มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จะได้ไม่มีความกดดันต้องถางป่า ซึ่งความจริงป่าที่หายไปต้องเอาคืนมาด้วยซ้ำ แต่ถามว่า เมื่อเอาคืนมาแล้ว ชาวบ้านจะทำมาหากินอะไร จึงต้องหาพืชหรือวิชาชีพใหม่ให้ก่อน แล้วผืนป่าจะค่อย ๆ คืนกลับมา
“การคืนผืนป่า โดยการปลูกป่า ไม่มีความหมายอะไร เพราะปัญหาไม่ได้อยู่กับการปลูกป่า แต่อยู่กับการที่ไม่มีผืนป่าคืนมาให้ปลูก จะไปปลูกที่ไหน เพราะกลายเป็นไร่ข้าวโพดหมดแล้ว ถือเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนมาก ต้องทำความเข้าใจ โดยไม่แก้ไขเรื่องปลูกต้นไม้อย่างเดียว แต่ต้องหาอาชีพให้ชาวบ้านมีกินมีใช้ด้วย”
ผู้บริหาร ธนาคาร กสิกรไทย กล่าวอีกว่า เราต้องการป่า จ.น่าน คืน เพราะเป็นป่าต้นน้ำประเทศ ถ้าข้างบนมีปัญหา ข้างล่างก็มีปัญหา และต้นไม้ที่ปลูกก็ต้องเป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ สามารถดูดซึมซับน้ำได้ เหมือนบริเวณน้ำตกสะปัน ในอุทยานแห่งชาติขุนน่าน ไม่ใช่ปลูกต้นไม้ขนาดเล็ก แล้วบอกว่าปลูกป่าแล้ว ไม่ใช่อย่างนั้น
ทั้งนี้ ในส่วนของความก้าวหน้า พบว่า ชาวบ้านมีจิตสำนึกมากขึ้น แต่ยังไม่สามารถหยุดยั้งการถางป่าได้ ทุกรัฐบาลจึงต้องดำเนินนโยบายอย่างต่อเนื่อง ด้วยการให้ความสำคัญในเชิงทรัพยากรทุกด้าน อย่างไรก็ตาม บริเวณพื้นที่โดยรอบป่าต้นน้ำยังมีความสมบูรณ์ แตไม่ระวัง มีโอกาสที่ความยากจน ไม่พอกิน จะทำให้ชาวบ้านต้องถางป่า และในที่สุด ป่าต้นน้ำจะหายไป .
อ่านประกอบ:ซีพีโดดร่วมฟื้นคืนป่าน่าน ‘ศุภชัย’ยอมรับบกพร่องระบบตรวจย้อนกลับ
รวมพลังขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 'ฟื้นฟูป่าเมืองน่าน' สนองพระราชดำริพระเทพฯ'
สมเด็จพระเทพฯ เปิดงาน ‘รักษ์ป่าน่าน ปี 2’ ฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรม
ยุทธศาสตร์รักษ์ป่า จ.น่าน 'บัณฑูร' เเนะกระจายอำนาจให้ชุมชนจัดการตนเอง
ภารกิจเข็นครก รักษ์ป่าน่าน ปีที่ 2 "เจ้าสัวบัณฑูร" บอกวันนี้ยังไม่ชนะ-ไม่แพ้