- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- ซีพีโดดร่วมฟื้นคืนป่าน่าน ‘ศุภชัย’ยอมรับบกพร่องระบบตรวจย้อนกลับ
ซีพีโดดร่วมฟื้นคืนป่าน่าน ‘ศุภชัย’ยอมรับบกพร่องระบบตรวจย้อนกลับ
ธ.กสิกรไทย จับมือซีพี นำร่อง 4 หมู่บ้าน ต.เมืองจัง อ.ภูเพียง จ.น่าน คืนผืนป่าน่าน 300 ไร่ ‘บัณฑูร ล่ำซำ’ เผยดึงภาคเอกชนร่วมมือ หวังคนทั้งประเทศได้รับประโยชน์ ด้าน 'ศุภชัย เจียรวนนท์' ยอมรับที่ผ่านมาไม่เคยตรวจสอบเเหล่งที่มาผลผลิต
วันที่ 22 สิงหาคม 2558 ธนาคารกสิกรไทย ร่วมกับ จ.น่าน เเละภาคีเครือข่าย แถลงข่าว ปรากฏการณ์คืนผืนป่า ภายใต้กิจกรรม คืนผืนป่า หนึ่งในความเพียรพยายาม ‘รักษ์ป่าน่าน’ ณ โรงเรียนศรีนครน่าน อ.ภูเพียง จ.น่าน
นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ภายหลังรัฐบาลชุดปัจจุบันรับโครงการรักษ์ป่าต้นน้ำของประเทศเป็นเรื่องสำคัญ นำมาสู่ความร่วมมือในทุกภาคส่วน เพื่อฟื้นฟูและรักษาป่าต้นน้ำที่สำคัญของไทย นำร่อง 2 จังหวัด คือ จ.เชียงใหม่ และน่าน ซึ่งทั้งสองจังหวัดเป็นป่าต้นน้ำที่สำคัญ นั่นคือ แม่น้ำเจ้าพระยา โดยในส่วน จ.น่าน จะมีการคืนผืนป่าในพื้นที่ ต.เมืองจัง อ.ภูเพียง จำนวน 300 ไร่
ทั้งนี้ แม้ตัวเลขจะน้อยแต่มีนัยยะยิ่งใหญ่มาก เพราะไม่ใช่การปลูกป่าเฉย ๆ แต่ต้องการพิสูจน์ว่า ทุกคนสามารถคืนผืนป่าได้ โดยไม่บังคับ เพราะการบังคับจะไม่สำเร็จ ไม่สร้างสรรค์ และนำไปสู่ชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนได้ เพื่อสุดท้าย ไทยจะได้รับผลประโยชน์จากการมีป่าต้นน้ำที่มีปริมาณพอสมควรที่รักษาความชุ่มชื้น ทั้งในจังหวัดป่าต้นน้ำและพื้นที่อื่น ๆ ซึ่งการคืนป่า 300 ไร่ ไม่ใช่ตัวตัดสินว่าเล็กหรือใหญ่ แต่ตัวตัดสิน คือ รูปแบบทำได้และสามารถขยายผลไปสู่วงกว้างในทุกพื้นที่ โดยความร่วมมือของหลายฝ่าย
“ปัจจุบันการปลูกป่ามักเป็นกิจกรรมที่ชอบทำ แต่ภาพการปลูกป่ายังไม่มีคำตอบชัดเจน ทั้งนี้ ป่าสงวนแห่งชาติมีปริมาณคงเหลือดิ่งลงไปเรื่อย ๆ อันเกิดจากปัจจัยรุกเร้า ฉะนั้นปลูกป่าไม่ยาก แต่ยากต้องหาป่ามาปลูก หมายถึง หาที่ทำมาหากินให้คน ขณะเดียวกันต้องหาป่าด้วย”
(ไร่ข้าวโพด อ.ภูเพียง จ.น่าน)
ประธานกรรมการฯ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวต่อว่า คนในพื้นที่ยังติดกับดักวงจรการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ซึ่งปลูกไปไม่ได้รับผลตอบแทนที่ดีมากนัก และเมื่อมีปากท้องต้องเลี้ยงมากขึ้น พื้นที่เดิมจึงไม่เพียงพอ จึงต้องขยายพื้นที่ทำกินเพิ่ม โดยรุกพื้นที่ป่าไปเรื่อย ๆ ดังนั้น ปัจจัยรุกเร้าพื้นฐาน คือ ไม่มีความสามารถเลี้ยงชีพอย่างพอเพียง ทำให้ต้องขยายพื้นที่การเพาะปลูก และต่างเห็นพ้องว่า ไม่มีใครอยากอยู่กับเกษตรกรรมแบบเดิม แต่เมื่อไม่มีกำลัง ความรู้ และเครื่องมือเบื้องต้น เอกชนจึงมีส่วนสำคัญ แต่ต้องพูดให้เป็น เพื่อลงมาช่วยให้การคืนผืนป่า
“พื้นที่นำร่อง ต.เมืองจัง อ.ภูเพียง ปี 2530 มีพื้นที่ป่าสงวน 29,485 ไร่ ปี 2556 มีพื้นที่ป่าสงวนจริงเหลือ 17,975 ไร่ ใน 26 ปี ป่าสงวนถูกตัดไป 11,510 ไร่ หรือร้อยละ 39.03 และจะนำร่องใน 4 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 4, 5, 7 และ 8 มีพื้นที่จับจองทำกินมาก่อนแล้วรวม 734 ไร่ จาก 32 ครัวเรือน จะคืนทั้งสิ้น 300 ไร่ ส่วนที่เหลืออีกกว่า 400 ไร่ ต้องให้เกษตรกรทำมาหากิน” นายบัณฑูร กล่าวในที่สุด
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับแนวทางความร่วมมือของภาคเอกชนในการร่วมคืนผืนป่าน่านนั้น มีดังนี้ 1.สนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืช/สัตว์สร้างผลผลิตมาตรฐานสูง 2.ถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีการผลิตครบวงจร 3.สนับสนุนอุปกรณ์เครื่องมือด้านการเกษตร 4.พัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรที่เพียงพอตลอดปี 5.ส่งเสริมการตลาด/ออกแบบผลิตภัณฑ์/หีบห่อ/ขนส่ง 6.สนับสนุนเงินดำรงชีพในเบื้องต้น รับซื้อผลผลิตการเกษตร และรับประกันรายได้ และ 7.เงินอุดหนุนเพื่อการฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรม
(ศุภชัย เจียรวนนท์ ผู้บริหารซีพี ร่วมปลูกต้นไผ่ ณ อ.ภูเพียง จ.น่าน)
ด้านนายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการบริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ในฐานะภาคเอกชนที่เข้ามาสนับสนุนโครงการคืนผืนป่าน่าน กล่าวว่า จะเข้ามาช่วยในเรื่ององค์ความรู้ และการตลาด ซึ่งข้าวโพดเป็นพืชที่เพาะปลูกได้ง่ายในฤดูแล้ง แต่การจะทำให้เกษตรกรเปลี่ยนอาชีพการเพาะปลูก เพื่อลดการทำลายพื้นที่ป่านั้น ต้องหาทางเลือกให้ โดยซีพีพร้อมสนับสนุนเรื่องเหล่านี้ โดยเฉพาะองค์ความรู้ด้านพืชและปศุสัตว์ ซึ่งเราน่าจะมองได้ชัดเจนทั้งในและต่างประเทศว่าต้องการอะไร
“ถ้าเราจะให้เกษตรกรมีทางเลือกอื่นและลดการเพาะปลูกข้าวโพด จะต้องหารายได้ที่มีความมั่นคงสำหรับชีวิตให้ และหากทดลองสำเร็จก็จะต้องขยายผลต่อไป” ประธานกรรมการบริหารฯ ซีพี กล่าว
นายศุภชัย ยังระบุถึงบริษัทฯ มักถูกมองจากคนบางกลุ่มว่าเป็นต้นเหตุของการทำลายพื้นที่ป่าน่าน โดยการจัดซื้อข้าวโพดทำอาหารสัตว์นั้น ซีพีไม่ใช่ผู้ซื้อข้าวโพดรายใหญ่ของประเทศ มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 25 แต่ไม่อยากเอ่ยชื่อบริษัทนั้น อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ผ่านมา บริษัทยอมรับไม่ได้ตรวจสอบแหล่งที่มาของผลผลิต หรือการจัดซื้อที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่มักมองเฉพาะคุณภาพข้าวโพดเป็นหลัก
ต่อไปนี้ซีพีจะต้องตระหนักภาพรวมให้มากขึ้น และเชื่อว่าหากซีพีปรับภายใต้แนวทางตามคำแนะนำของมูลนิธิรักษ์ป่าน่านก็จะทำให้เอกชนรายอื่น ๆ ปรับตัวด้วย ทั้งนี้ ภาคเอกชนทุกรายคงไม่ตั้งใจให้เกิดกรณีลักษณะนี้ ส่วนพ่อค้าคนกลางก็ไม่เห็นภาพรวม ถ้าภาคเอกชน พ่อค้าคนกลาง และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่มีส่วนในการให้การสนับสนุน ร่วมมือวางแผนกันจะสำเร็จได้ .
(สภาพป่าน่านเสื่อมโทรม เมื่อปี 2557)