- Home
- Thaireform
- สารคดีเชิงข่าว
- ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- ส่องโมเดล ‘คืนป่าน่าน’ หนึ่งในความเพียรพยายามอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ
ส่องโมเดล ‘คืนป่าน่าน’ หนึ่งในความเพียรพยายามอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ
ธ.กสิกรไทย ดึงซีพีร่วมกิจกรรม คืนป่าน่าน หนึ่งในความเพียรพยายาม ‘รักษ์ป่าน่าน’ ตั้งเป้าคืนพื้นที่ 300 ไร่ อ.ภูเพียง หากสำเร็จ เตรียมขยายพื้นที่อื่น ‘บัณฑูร ล่ำซำ’ หนุนผู้นำชุมชน-กองทัพ-ผู้นำศาสนา-รัฐบาล-เอกชน ร่วมมือ
นับเป็นความก้าวหน้าของโครงการรักษ์ป่าน่านที่เป็นรูปธรรม เมื่อ ‘เจ้าสัวบัณฑูร ล่ำซำ’ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย ใช้เวลาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2557 ที่มีการจัดโครงการประชุมวิชาการเรื่อง ‘รักษ์ป่าน่าน’ ขึ้นครั้งแรก ลงพื้นที่ร่วมกับภาคีเครือข่ายพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้นำชุมชนและคนในท้องถิ่น เพื่อรวบรวมแนวคิดแก้ไขปัญหาการทำลายป่า จ.น่าน
จากการเก็บสถิติตลอดหลายปีที่ผ่านมา พบว่า มีป่าหายไปปีละ 5 หมื่นไร่ และ 5 ปี หลังสุด กลับพบอัตราการสูญเสียป่าเร็วขึ้นเฉลี่ยปีละ 1-1.5 แสนไร่ เนื่องจากเกษตรกรไม่มีที่ดินทำกิน ทำให้ต้องรุกพื้นที่ป่าสงวนปลูกพืชเชิงเดี่ยว โดยเฉพาะข้าวโพด และเมื่อมีความต้องการมากขึ้น ทำให้ป่าเสื่อมโทรม ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ป่าต้นน้ำน่าน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีปริมาณสูงถึงร้อยละ 40
อย่างไรก็ตาม ด้วยความเพียรพยายามจากทุกภาคส่วน จึงนำมาสู่หลักสูตรคืนผืนป่าขั้นต้น หากประสบความสำเร็จก็จะเป็นต้นแบบให้แก่พื้นที่อื่นในจังหวัดน่านต่อไป ภายใต้กิจกรรม “คืนป่าน่าน หนึ่งในความเพียรพยายาม ‘รักษ์ป่าน่าน’” โดยเจ้าสัวบัณฑูร มองว่า ที่ผ่านมาเรื่องนี้ไม่มีการถกกันในระดับสูง ยกเว้นระดับล่างเท่านั้น เพราะการแก้ไขปัญหาต้องลึกซึ้งและกว้างขวางนั่นเอง
(สภาพเขาหัวโล้น อ.ภูเพียง ถูกตัดถางเปลี่ยนเป็นไร่ข้าวโพด)
“การให้คนช่วยกันปลูกป่าไม่ยาก ที่ยากคือไม่มีป่าให้ปลูก เพราะที่ดินทำกินถูกนำไปใช้สอยเรื่องอื่นแล้วไม่คืนกลับมา โดยคนทุกระดับ ทำให้ความเป็นป่าหายไป ซึ่งยังไม่มีการแก้ไขปัญหาอะไรเลย ป่ายังสูญเสียเหมือนเดิมทุกอย่าง เพราะปัจจัยการสูญเสียของป่านั้นยังมีอยู่ครบในระบบชีวิตพลเมืองของประเทศ แต่ยังดีกว่าไม่ได้ทำ เหมือนเมื่อ 10 ปีก่อน ที่ไม่มีใครสนใจผืนป่าแห่งนี้ถูกทำลาย”
เขาระบุถึงการดำเนินนโยบายในรัฐบาลปัจจุบัน แม้จะไม่มาจากการเลือกตั้ง แต่พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้ผลักดันให้โครงการนำร่องรักษาป่าต้นน้ำเป็นเรื่องสำคัญระดับชาติ โดยนำร่อง จ.น่าน และเชียงใหม่ ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนที่เรื่องดังกล่าวจะถูกหยิบยกขึ้นเป็นโครงการระดับสูง หากรัฐบาลไม่ตื่นตัวก็ช่วยอะไรไม่ได้ ปลูกป่ากันก๊อก ๆ แก๊ก ๆ ไม่มีทางทัน เพราะยังมีปัจจัยให้ตัดไม้อยู่
สิ่งสำคัญจะช่วยให้ป่าคืนสู่ธรรมชาติได้ ต้องให้เกษตรกรคืนพื้นที่บุกรุกไป แต่ธรรมชาติของมนุษย์ไม่มีทางยอม หากมีที่ดินทำกินน้อยลง เพราะที่มีอยู่ก็ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพแล้ว ดังนั้นต้องเปลี่ยนแปลงวิธีทำมาหากินให้สามารถให้ประโยชน์แก่ชีวิตเท่าเดิมหรือมากขึ้น เพื่อให้ชีวิตดีขึ้นบ้าง ไม่ใช่ยากจน การปลูกพืชเชิงเดี่ยวแบบเดิมจึงไม่มีทางไปถึงจุดนั้นได้ นอกจากปลูกพืชชนิดอื่นด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม จำหน่ายในช่องทางที่ดีกว่าเดิม
(เจ้าสัวบัณฑูร บรรยายพิเศษ ถึงที่มาโครงการฯ)
เจ้าสัวบัณฑูร บอกว่า ต้องอาศัยความร่วมมือตั้งแต่ระดับผู้นำท้องถิ่น หมู่บ้าน ตำบล ชี้ให้เห็นการร่วมมือกันในทางที่ถูกต้องจะให้ผลดีระยะยาวแทนความสะดวกเข้าว่า ที่ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน แม้กระทั่งรัฐบาลยังไม่ทราบปัญหาเหล่านี้ด้วยซ้ำ ดังนั้นผู้นำจึงเป็นปัจจัยหมายเลข 1 ในการดึงคนไม่คิดสั้น
นอกจากนี้ผู้นำศาสนาก็มีส่วนสำคัญ ดังเช่น จ.น่าน ถือว่า ‘ภิกษุ’ มีบทบาทมากในการดึงจิตใจของคน รวมถึงรัฐบาลต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อใช้ในการเกษตรตลอดปี โดยสร้างอ่างเก็บน้ำ ไม่ใช่สร้างเขื่อน หากสามารถดักน้ำได้ครบทุกอ่าง เมื่อถึงฤดูแล้งก็นำมาใช้ได้
ผู้บริหาร ธ.กสิกรไทย กล่าวว่า สำหรับกองทัพมีบทบาทในการพัฒนาพื้นที่ต่าง ๆ มาก เพราะกองทัพไทยมีลักษณะพิเศษมากกว่าประเทศอื่น คือ นอกจากการป้องกันประเทศแล้ว ยังช่วยพัฒนาท้องที่ เนื่องจากมีกำลังคน ยุทโธปกรณ์ และงบประมาณจำนวนหนึ่ง สามารถนำมาใช้ได้
สุดท้าย ‘ภาคเอกชน’ ซึ่งเมื่อก่อนไม่เคยกระดิกเลย ทำอย่างเดียว คือ ปลูกป่า ถ่ายรูป ลงหนังสือพิมพ์ แต่ไม่เคยรู้ว่า เมื่อปลูกป่าแล้วเหลือรอดกี่ไร่ ทำเพียงปลูกเพื่อความสบายใจ ทำบุญ กลับบ้าน ซึ่งนับเป็นการเขี่ยเพียงผิวของปัญหาเท่านั้น ดังนั้นจึงมีความสำคัญ โดยช่วยในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานขนาดเล็กอย่างฝาย
“ภาคเอกชนสามารถบริจาคเงินบางส่วนพัฒนาประเทศได้ แต่ต้องจัดโครงสร้างชี้แจงผู้ถือหุ้น ต้องพูดให้เป็น และถ้าสมมติให้เงินจำนวนนี้มาเป็นเชื้อ ทำให้มีส่วนคืนผืนป่าของไทย จะต้องสร้างโครงสร้างหักภาษีได้ชอบธรรม” เขากล่าว และว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ต้องคิดวิธีการเพาะปลูกอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนภาคเอกชนคิดวิธีจำหน่ายผลผลิตไม่ให้โดนกินเรียบตั้งแต่ต้น โดยต้องช่วยเกษตรกรขายให้ได้ราคาขั้นหนึ่ง มิเช่นนั้นจะไม่เพียงพอ
(จากซ้าย:ศุภชัย เจียรวนนท์, บัณฑูร ล่ำซำ กำลังฟังบรรยายจากผู้ว่าฯ จ.น่าน)
เจ้าสัวบัณฑูรหยิบยกตุ๊กตานำร่องพื้นที่แรก ต.เมืองจัง อ.ภูเพียง โดยจะนำร่องใน 4 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 4, 5, 7 และ 8 ซึ่งมีพื้นที่จับจองทำกินมาก่อนแล้วรวม 734 ไร่ จาก 32 ครัวเรือน และจะคืนทั้งสิ้น 300 ไร่ ส่วนที่เหลือ 434 ไร่ ต้องให้เกษตรกรทำมาหากิน
ทั้งนี้ พื้นที่ดังกล่าวเดิมมีการสูญเสียพื้นที่ป่าจำนวนมาก โดยปี 2530 มีพื้นที่ป่าสงวน 29,485 ไร่ ปี 2556 มีพื้นที่ป่าสงวนจริงเหลือ 17,975 ไร่ ใน 26 ปี ป่าสงวนถูกตัดไป 11,510 ไร่ หรือร้อยละ 39.03
เขาบอกว่า ระหว่างนี้ต้องมีเจ้าภาพ!!! เพื่อช่วยให้เกษตรกรกล้าคืนที่ดินทำกินบางส่วน โดยปีแรกที่มีการเปลี่ยนการเพาะปลูกระยะเริ่มต้น จะให้เงินช่วยเหลือ และปีที่ 2, 3 และ 4 จะปลูกพืชชนิดใดที่ดีกว่าข้าวโพดในพื้นที่มีน้อยลง หากจะปลูกกาแฟ ต้องรอถึง 5 ปีกว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ฉะนั้นต้องมีคนเลี้ยง ซึ่งกรณีนี้ภาคเอกชนสามารถเข้ามาร่วมมือได้ ถ้าอยากช่วยประเทศ พูดง่าย ๆ คือ ต้องมีคนควักสตางค์ เพื่อเลี้ยงและเปลี่ยนชีวิต ทำให้เกษตรกรมีความรู้ ค้าขายได้
...แม้ความฝันไม่ง่าย แต่ถ้าไม่ฝันแบบนี้ เกษตรกรจะติดอยู่ในปลักแบบเดิม และทุกคนจะแพ้กันหมด เกษตรกรก็แพ้ ประเทศก็แพ้ เพราะป่าถูกตัดไปเรื่อย ๆ
(ทหารร่วมปลูกป่าคืนธรรมชาติ จ.น่าน)
เจ้าภาพรายแรกที่กระโดดเข้ามา คือ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ซึ่งเจ้าสัวบัณฑูรลงทุนไปพูดคุยกับเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ผู้บริหารระดับสูงของซีพีด้วยตัวเอง ก่อนอีกฝ่ายจะตกปากรับคำด้วย
เขาบอกว่า ซีพีจะเข้ามาช่วยเหลือทุกอย่าง ทั้งเงินสนับสนุนให้มีพอกินช่วงเปลี่ยนแปลง เทคโนโลยีทางการเกษตร ซึ่งเป็นบทบาทของภาคเอกชนที่สร้างสรรค์ รวมถึงการสร้างตลาดรองรับ ทำให้ครบวงจร จะได้ไม่ต้องย้อนกลับไปทำลายป่าอีก ทำให้ที่ดินทำกินที่มีอยู่น้อยส่งผลให้ชีวิตดีขึ้น
“คงไม่เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน ต้องมีช่วงเวลาเปลี่ยนแปลง ต้องมีคนเข้ามาช่วยเหลือ ไม่อย่างนั้นเปลี่ยนแปลงไม่ไหว เพราะไม่มีกิน ทั้งนี้ ไม่รู้คำตอบทั้งหมดจะเป็นอย่างไร แต่ทิศทางการแก้ไขปัญหาน่าจะเห็นได้” ผู้บริหาร ธ.กสิกรไทย กล่าว
และส่วนเงินช่วยเหลือเบื้องต้นไร่ละเท่าไหร่นั้น ยอมรับยังตอบไม่ได้ ต้องทดลองก่อน แต่การันตีเกษตรกรไม่โดนต้มแน่
สุดท้าย ผมไม่เชื่อว่า กระทืบเบรกแล้วทุกอย่างจะหยุด ไม่เป็นความจริง ในชีวิตมนุษย์ไม่สามารถเป็นอย่างนั้นได้ เพราะยังต้องหากิน อยู่ดี ๆ จะให้คืนที่ดินทำกินหมด ใครจะคืน
(ศุภชัย เจียรวนนท์ ปลูกต้นไผ่ เปิดตัวโครงการฯ)
แน่นอนว่า กิจกรรมครั้งนี้ย่อมมีผู้บริหารของซีพีเข้าร่วมแน่นอน นั่นคือ ‘ศุภชัย เจียรวนนท์’ กรรมการบริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น คอยเดินตามเจ้าสัวบัณฑูรอย่างใกล้ชิด พร้อมสนทนาแลกเปลี่ยนมุมมอง และร่วมปลูกต้นไผ่ในพื้นที่ตุ๊กตาเปิดตัวโครงการ
คุณศุภชัย ให้มุมมองในฐานะภาคเอกชนว่า การส่งเสริมให้เกษตรกรเปลี่ยนแปลงการเพาะปลูกจากข้าวโพดเป็นพืชชนิดอื่นนั้น ต้องอาศัยน้ำเป็นหลัก ฉะนั้นต้องพัฒนาแหล่งน้ำก่อน เมื่อพร้อมเกษตรกรก็จะมีทางเลือกจะหันไปประกอบอาชีพเกี่ยวกับปศุสัตว์หรือไม้ผล อย่างไรก็ตาม ซีพีมีกำลังซื้อและตลาด ซึ่งจะสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรเบนเข็มออกจากการปลูกข้าวโพดได้ แต่ต้องศึกษาข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับรายได้ หนี้สิน ของแต่ละครัวเรือนก่อน
ทั้งนี้ หากให้คิดเร็ว ๆ ควรจะส่งเสริมการปลูกไผ่ เพราะจากการศึกษาเป็นพืชเศรษฐกิจโตเร็ว และสร้างป่ากลับคืนได้ มีอุตสาหกรรมรองรับต่อเนื่องตั้งแต่กินจนถึงทำเฟอร์นิเจอร์ ส่วนไม้ผลควรเป็นกล้วยหอม ซึ่งตลาดมีความต้องการมาก ปศุสัตว์ก็คือไข่ไก่ แต่ที่น่าสนใจ คือ กาแฟ และวัวนม ซึ่งซีพีมีความรู้และผู้เชี่ยวชาญอยู่บ้าง สามารถนำมาช่วยเสริมได้
“3-5 ปี ต้องให้เกิดความชัดเจน อย่างไรก็ตาม อาจมีช่วงเวลาหนึ่งที่เกษตรกรรู้สึกขาดรายได้ เพราะการเพาะปลูกพืชบางชนิดต้องใช้เวลากว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ไม่รวดเร็วเหมือนข้าวโพด ฉะนั้นซีพีต้องเข้ามาช่วยเหลือให้เกษตรกรมีรายได้คงที่และเติบโต ซึ่งถือเป็นโมเดลที่สำคัญ และเมื่อสำเร็จก็จะขยายผลได้เร็ว”
(ยิงเมล็ดพันธุ์พืชคืนผืนป่าเติบโตตามธรรมชาติ)
บุตรชายคนที่ 4 ของเจ้าสัวธนินท์ ระบุด้วยว่า ซีพีไม่เคยส่งเสริมให้เกษตรกรเพาะปลูกข้าวโพดจริงจัง แต่จะรับซื้อจากผู้รวบรวมเท่านั้น ซึ่งไม่ทราบว่ารวบรวมมาจากพื้นที่ใดบ้าง ดังนั้น ในอนาคตจะต้องสร้างระบบตรวจสอบย้อนกลับ ให้รู้แหล่งผลิต โดยต้องไม่เป็นพื้นที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และป่าต้นน้ำ ภายใต้ความร่วมมือกับภาครัฐและผู้รวบรวมคนกลาง คงทำคนเดียวไม่ได้
พร้อมยืนยันหนักแน่นว่า ซีพีไม่ใช่บริษัทรายใหญ่ที่รับซื้อข้าวโพดในไทย โดยมีส่วนแบ่งตลาดเพียงร้อยละ 25 ถือว่าเยอะ แต่ยังมีรายใหญ่กว่าเรา ซึ่งไม่ขอพาดพิงถึง แต่คนส่วนใหญ่มักเพ่งเล็งซีพี เนื่องจากเป็นผู้นำด้านการเกษตร ทั้งนี้ หากซีพีเปลี่ยนแปลงได้ เชื่อว่าบริษัทอื่นก็จะทำตาม
“คงไม่คาดหวังโครงการนี้จะทำให้ภาพลักษณ์ซีพีดีขึ้น เพราะคงไม่ดีขึ้นข้ามวันข้ามคืน แต่มุ่งหวังให้เกิดขึ้น อาจต้องใช้เวลาหลายปี เรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งที่บริษัทต้องรับผิดชอบ ซึ่งที่ผ่านมาผู้รับซื้อไม่มองถึงความยั่งยืนของชุมชน ขณะที่ชุมชนก็ลำบาก ขาดความรู้ หลักการบริหาร เทคโนโลยี และบูรณาการ” คุณศุภชัย กล่าวในที่สุด
ถึงเวลานี้คงต้องเลิกโทษกันแล้วว่าใครผิด-ใครถูก แต่ควรจับมือกันเพื่อก้าวต่อไปสู่อนาคตที่สดใส ในวันที่ผืนป่าน่านฟื้นคืนกลับมาอีกครั้ง แม้จะพึ่งตื่นตัว และใช้เวลานานเพียงใดก็ตาม แต่ก็ยังดีกว่าไม่คิดทำอะไร มิใช่หรือ?
เพื่อชีวิตคนน่านและคนไทย อยู่ดีมีสุข ภายใต้วิถีพอเพียง .
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:ซีพีโดดร่วมฟื้นคืนป่าน่าน ‘ศุภชัย’ยอมรับบกพร่องระบบตรวจย้อนกลับ
รวมพลังขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 'ฟื้นฟูป่าเมืองน่าน' สนองพระราชดำริพระเทพฯ'
สมเด็จพระเทพฯ เปิดงาน ‘รักษ์ป่าน่าน ปี 2’ ฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรม