จม.เปิดผนึก อธิการบดี มสธ. โต้ปม วปอ. เรียน 1 วันครึ่ง ไม่กระทบงาน
"...เรื่องการไปเรียน วปอ. ผมได้เรียนชี้แจงข้อมูล และข้อเท็จจริง ต่อสภามหาวิทยาลัยในการประชุมครั้งที่ 9/2558 แจ้งต่อผู้บริหารหน่วยงานและผู้แทนสาขาวิชาในการประชุมสภาวิชาการ การประชุม ก.พ.อ.มสธ. การประชุมผู้บริหาร และในโอกาสต่างๆ ที่ไม่เป็นทางการเมื่อได้พบปะพี่ๆน้องๆ ใน มสธ. ของผม รวมทั้งในจดหมายเปิดผนึกครั้งที่ 1 จึงมิใช่การแอบหรือหนีงานไปเรียน เอาเปรียบมหาวิทยาลัยหรือทุจริตต่อหน้าที่ อย่างที่มีการกล่าวหาแต่อย่างใด..."
หมายเหตุ : จดหมายเปิดผนึก รศ.ดร.นพ. ชัยเลิศ พิชิตพรชัย อธิการบดี มสธ. คนที่ 7 เขียนชี้แจงข้อเท็จจริง จากใจอธิการบดี ถึงพี่น้องชาว มสธ. กรณีถูกบุคลากรประจำมหาวิทยาลัยส่วนหนึ่งกล่าวหาว่า ใช้เวลาปฏิบัติราชการเข้ารับการศึกษาภายใต้หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร ของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) ซึ่งไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์การยืมตัว จากมหาวิทยาลัยมหิดลมาปฏิบัติราชการเต็มเวลา มีกำหนด 4 ปี ในตำแหน่งอธิการบดี จนส่งผลกระทบทำให้ไม่สามารถทุ่มเทให้กับการบริหารเต็มที่
สวัสดีครับ พี่น้องประชาคม มสธ. ที่รักและเคารพทุกท่าน ก่อนอื่นผมต้องขอขอบพระคุณทุกท่านที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจให้ มสธ. จนทำให้การประเมินการประกันคุณภาพการศึกษาตามระบบใหม่ (CUPTQA) เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา เราได้รับคะแนนประเมินจากคณะกรรมการตรวจประเมินฯ สูงกว่าที่มหาวิทยาลัยประเมินตนเอง ในปีแรกนี้เพิ่มขึ้นถึง 7 ตัวชี้วัด ลดลงเพียง 1 ตัวชี้วัด และได้รับการชื่นชมจากคณะกรรมการฯ ว่า มสธ. ตัดสินใจถูกต้องที่เลือกระบบนี้ โดยเป็น 1 ใน 5 สถาบันนำร่อง และระบบนี้มีความสอดคล้องกับมหาวิทยาลัยเปิดอย่างเรามากกว่า ความสำเร็จนี้ผมถือว่าเป็นผลงานของ พี่น้องชาว มสธ. ที่รักทุกท่านร่วมกัน ครับ
แม้วันนี้จะมีพี่น้องบางคนที่มีข้อห่วงใยว่า ...ผมเอาเปรียบมหาวิทยาลัย ไม่ใส่ใจบริหาร ต้นเหตุความร้าวฉานใน มสธ. .. ในฐานะที่ผมเป็น “คน มสธ. คนหนึ่ง” ผมขอร่วมแรง ร่วมใจ กับพี่น้องชาว มสธ.ทุกท่านที่มุ่งมั่นทำงานเพื่อประโยชน์ของมหาวิทยาลัยเป็นที่ตั้ง อย่างไม่เคยเหน็ดเหนื่อยย่อท้อ
ในตอนนี้ผมไปเรียน วปอ. เพียงแค่เฉลี่ยสัปดาห์ละ 1 วันครึ่ง ผมก็ยังมาทำงานและประชุมที่สำคัญอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งติดตามงานของทีมงานอย่างต่อเนื่อง พบว่าทีมงานทำงานประสานสอดคล้องกันอย่างดี โดยมีผมเป็นตัวกลางและเป็นผู้ตัดสินใจ ผมขอชี้แจงผลงานต่างๆ ที่ผ่านมาและที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตให้พวกเราได้ทราบกันโดยสังเขป ดังนี้ครับ
1.ด้านระบบไอที ระบบทะเบียนและบริการการศึกษาซึ่งมหาวิทยาลัยได้จัดซื้อไว้มูลค่าประมาณ 25 ล้านบาท และได้เริ่มพัฒนาเมื่อปี 2552 ตรวจระบบวันสุดท้ายวันที่ 25 ธันวาคม 2553 รับประกันระบบโปรแกรม 2 ปี (1 มกราคม 2554 – 1 มกราคม 2556) แต่ในขณะนั้นมหาวิทยาลัยยังไม่ได้นำระบบมาใช้งานจริง และไม่ได้ใช้สิทธิการรับประกันโปรแกรมในช่วงดังกล่าว จึงทำให้ไม่สามารถพบข้อบกพร่องในระบบการทำงานที่มีระบบย่อย ๆ สัมพันธ์กัน เพราะการตรวจงานระบบต้องใช้ข้อมูลจริงในการทดสอบและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
หลังจากผมเข้ารับตำแหน่งในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ผมเริ่มผลักดันให้พัฒนาและใช้งานระบบทะเบียนฯ ตั้งแต่ภาคการศึกษา 2/56 (มิถุนายน 2556) จนขณะนี้เปิดใช้งานครบ 100% แล้ว นอกจากนี้ ยังมีการขยายระบบงานให้นักศึกษาสามารถลงทะเบียนและจ่ายเงินผ่านเว็บได้
อนึ่ง การพัฒนา ทดสอบ และใช้งานระบบฯ จริงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ย่อมมีโอกาสที่โปรแกรมอาจทำงานผิดพลาดตามระยะเวลาของการขึ้นแต่ละโมดูล อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ และเมื่อแก้ไขแล้ว จะไม่เกิดขึ้นซ้ำอีก และจะยังประโยชน์ให้แก่ มสธ. ในระยะยาวต่อไป
ณ วันนี้ ระบบไอทีที่พัฒนาและเปิดใช้งานแล้ว ได้แก่ 1) งานทะเบียน เปิดใช้แล้ว 100% 2) ระบบการเงิน 3 มิติ เปิดใช้แล้ว 100% 3) ระบบบุคลากร มีการปรับและเปิดใช้ระบบหลักแล้ว 4) ระบบสมัครและลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ 5) ระบบสารสนเทศนักศึกษาเพื่อสาขาวิชา และศูนย์วิทยพัฒนา6) ระบบทรัพยากรบุคคล ดูข้อมูลและเชื่อมโยงภาระงาน 7) ระบบบริการนักศึกษาบนมือถือ 8)โน้ตบุ๊คใหม่ สำหรับอาจารย์ รับตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม 2558 9)data center อยู่ในกระบวนการพัสดุ คาดว่าจะแล้วเสร็จในราว 8-10 เดือนข้างหน้า ฯลฯ
2. ด้านวิชาการ
2.1 การผลิตและการปรับปรุงชุดวิชา ตั้งแต่ปีการศึกษา 2556 – 1/2558 สามารถดำเนินการให้เสร็จ ก่อนวันเปิดภาคเรียน 1 เดือน เฉลี่ยมากกว่า 80% ดังนั้นจะเห็นได้ชัดเจนจากกราฟเปรียบเทียบ ดังนี้
ทั้งนี้ เพราะพี่น้องคณาจารย์และชาว มสธ. ทุกท่าน ได้ร่วมกันผลักดันจนประสบความสำเร็จ
2.2 การออกประกาศ มสธ. เรื่อง แนวทางเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตชุดวิชา มสธ. ที่เป็นประโยชน์แก่อาจารย์โดยเฉพาะอาจารย์ใหม่ เพราะสามารถเขียนเอกสารการสอนเกิน 2 หน่วยได้ ทำให้เกิดงานเขียนที่มีเนื้อหาระหว่างหน่วยสอดคล้องกัน อันจะเป็นประโยชน์ในการขอตำแหน่งทางวิชาการ
2.3 การสอบแบบ work in exam ได้จัดสอบทั้ง 24 ชุดวิชาแล้ว ขณะนี้เปิดสอบในศูนย์วิทยพัฒนา 8 แห่ง และจะเปิดได้ครบทั้ง 10 ศูนย์ฯ ในภาค 2/58
3. ด้านการพัฒนาบุคลากรและสิทธิประโยชน์ของพี่น้องชาว มสธ.เป็นเรื่องที่ผลและทีมบริหารผลักดันอย่างเต็มที่ เช่น ทุนการศึกษาระดับปริญญาเอกต่างประเทศ ช่วงปี 2557 – 2558 มีถึง 23 ทุน และปี 2559 อีก 15 ทุน เพื่อรองรับการทดแทนบุคลากรสายวิชาการให้เพียงพอ ซึ่งไม่เคยมีการจัดสรรทุนจำนวนมากเช่นนี้มาก่อน
นอกจากนี้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 ยังได้ปรับเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวอีกเดือนละ 2,000 บาท ให้แก่ลูกจ้างประจำเงินรายได้จำนวน 52 คน และลูกจ้างชั่วคราวรายเดือน 405 คน ที่ได้รับการจ้างในตำแหน่งที่กำหนดคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่ง
ขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการปรับค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างประจำที่ได้รับการบรรจุก่อนวันที่ 1 ธันวาคม 2557 จำนวน 396 คน ในอัตราที่สูงกว่าอัตราที่ได้รับอยู่เดิมอีก 4% ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 อีกด้วย
4. ผลการปฏิบัติราชการและผลประเมินการประกันคุณภาพการศึกษาผลการดำเนินการตามคำรับรองการปฏิบัติราชการต่อ สกอ. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 รอบ 12 เดือน (1 ตุลาคม 2557 – 30 กันยายน 2558) มีผลการดำเนินงานทุกมิติ ในภาพรวมของระดับผู้บริหารและระดับหน่วยงาน มีผลการดำเนินงานเฉลี่ยเท่ากับ 4.22 หรือเท่ากับร้อยละ 84.41 โดยแบ่งเป็น 1) ระดับผู้บริหาร จำนวน 14 รายการ มีผลการดำเนินการเฉลี่ยเท่ากับ3.87หรือเท่ากับร้อยละ 77.38 2) ระดับหน่วยงาน จำนวน 45 รายการ มีผลการดำเนินการเฉลี่ยเท่ากับ 4.34 หรือเท่ากับร้อยละ 86.73
สำหรับผลประเมินประกันคุณภาพการศึกษา ปีการศึกษา 2557 จุดแข็งในภาพรวมของมหาวิทยาลัย มีหลายด้านคือ
1) สวัสดิการและสิทธิประโยชน์ที่มหาวิทยาลัยจัดให้แก่คณาจารย์และบุคลากรสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน
2) บุคลากร ศิษย์เก่า และนักศึกษามีความผูกพันและภาคภูมิใจในความเป็น มสธ.
3) มหาวิทยาลัยได้เปิดโอกาสให้กับผู้ที่ข้อจำกัดในเรื่องเวลาและสถานที่ ได้ศึกษาต่อเพื่อพัฒนาตนเองได้ตรงกับความต้องการและสามารถนำไปพัฒนางานที่ทำ
4) ผู้บริหารมีแนวความคิดที่จะนำมหาวิทยาลัยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลตามวิสัยทัศน์
5) การเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจและนักศึกษาที่เรียน สัมฤทธิบัตร วุฒิบัตร และประกาศณียบัตร ได้เทียบโอนเข้าสู่หลักสูตรระดับปริญญาตรี
และ 6) การมีชมรมนักศึกษาในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งจะทำให้เกิดความผูกพันระหว่างศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน
5. ปัญหาเรื่องจำนวนนักศึกษาลดลงเป็นปัญหาที่เกิดต่อเนื่องมายาวนาน และเป็นประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นเกือบทุกมหาวิทยาลัยเช่นเดียวกัน ผมและทีมบริหารก็มิได้นิ่งนอนใจ และได้เสนอแนวทางการรณรงค์เพื่อเพิ่มยอดนักศึกษาและผู้เรียนสัมฤทธิบัตร เช่น ซื้อใบสมัคร 1 ใบ ดาวน์โหลดฟรี 1 ใบ การลดค่าธรรมเนียมแรกเข้าสำหรับผู้สูงวัย การยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนชุดวิชาสำหรับนักศึกษาเก่าเป็นกรณีพิเศษฯ การประชาสัมพันธ์และการออกแนะแนวของสำนักบริการการศึกษาและศูนย์วิทยพัฒนา มสธ. ทั้ง 10 แห่ง อีกทั้งยังได้เสนอ “การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่” เช่นการจัดทำวุฒิบัตรหลักสูตร ซึ่งเข้าสภามหาวิทยาลัยมาแล้ว 2-3 ครั้ง ในขณะนี้ อยู่ในระหว่างการกำลังปรับปรุง คาดว่าจะเปิดรับผู้เรียนได้ในภาคการศึกษา 2/58 เป็นการเพิ่มรายได้เข้าสู่มหาวิทยาลัยอีกทางหนึ่งด้วย
ในแง่ภาพลักษณ์ มสธ. ก็ดีขึ้น จากงานวิจัยเรื่องภาพลักษณ์ มสธ. พบว่าความเชื่อมั่นใน มสธ. ภาพของ มสธ. ในกลุ่มเป้าหมายภายนอก (โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนทั่วไป บุคลากรภาครัฐ/ภาคเอกชน ภาคประชาชน ศิษย์เก่าและนักศึกษา มสธ. ปัจจุบัน) เป็นเชิงบวกมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จำนวนนักศึกษาจะลดลง แต่ผลประกอบการอยู่ในระดับดี ยังมีกำไรจากช่วง 3 ปีที่ผ่านมา หากพิจารณาข้อมูลรายงานงบการเงินเฉพาะในส่วนของเงินรายได้ จะเห็นได้ว่ามหาวิทยาลัยมีรายได้สูงกว่ารายจ่ายอย่างเห็นได้ชัด ปีละ 300-400 ล้านบาท
สำหรับเรื่องการไปเรียน วปอ. ผมได้เรียนชี้แจงข้อมูล และข้อเท็จจริง ต่อสภามหาวิทยาลัยในการประชุมครั้งที่ 9/2558 แจ้งต่อผู้บริหารหน่วยงานและผู้แทนสาขาวิชาในการประชุมสภาวิชาการ การประชุม ก.พ.อ.มสธ. การประชุมผู้บริหาร และในโอกาสต่างๆ ที่ไม่เป็นทางการเมื่อได้พบปะพี่ๆน้องๆ ใน มสธ. ของผม รวมทั้งในจดหมายเปิดผนึกครั้งที่ 1 จึงมิใช่การแอบหรือหนีงานไปเรียน เอาเปรียบมหาวิทยาลัยหรือทุจริตต่อหน้าที่ อย่างที่มีการกล่าวหาแต่อย่างใด อนึ่ง การบริหารมหาวิทยาลัย อธิการบดีดำเนินการโดยการวางนโยบายและแผน ระดมความคิดร่วมกันกับทีมงานและตัดสินใจ กระจายและถ่ายทอดแผนสู่ปฏิบัติโดยหัวหน้าส่วนงานต่างๆ และท้ายสุดก็จะทำให้เกิดผลในภาคปฏิบัติโดยพวกเราทุกคน ซึ่งเป็นไปตามหลักการบริหารแบบมีส่วนร่วมและก่อให้เกิดธรรมาภิบาลในมหาวิทยาลัย
สำหรับแบบสอบถามเพื่อวิจัยความคิดเห็นของประชาคม มสธ. ที่ได้มีการเผยแพร่นั้น มีผู้ตอบแบบสอบถาม 344 ชุด จากบุคลากรทั้งหมด 2,427 คน คิดเป็นร้อยละ 14.17 ของบุคลากรทั้งหมดเท่านั้น ซึ่งเป็นจำนวนน้อยมากไม่อาจเป็นตัวแทนของประชากรทั้งหมด ตัวเลขที่เสนอผลการวิเคราะห์มีผู้ตอบจำนวนน้อยมาก ไม่อาจนำมาใช้อ้างอิงความเป็นตัวแทนของบุคลากรทั้งหมดได้ ตัวอย่างเช่น ผลวิเคราะห์ สรุปว่า ควรยกเลิกการยืมตัวอธิการบดี มีผู้ตอบเพียง 214 คน ผู้สำรวจอ้างว่าคิดเป็นร้อย 62.2 ทั้งที่ตัวเลขจริงคือร้อยละ 8.82 เท่านั้น เมื่อเทียบกับบุคลากรทั้งหมด 2,427 คน
รวมทั้งหากวิเคราะห์เนื้อหาแบบสอบถาม ข้อคำถามส่วนใหญ่ขาดความตรงและความเที่ยง มีอคติ ลำเอียง และชี้นำ ไม่ได้ระบุวัตถุประสงค์การสำรวจที่ชัดเจน จึงชี้ให้เห็นว่า ผู้สำรวจอาจมีอคติเพราะตั้งข้อสรุปไว้แต่แรกก่อนการสำรวจ
อย่างไรก็ตามหากพี่น้องชาว มสธ. มีข้อเสนอแนะหรือความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนา มสธ. ผมและทีมบริหารมีความยินดีอย่างยิ่งในการรับฟัง และนำมาพิจารณาเพื่อดำเนินการต่อไป .
อ่านประกอบ:เคลื่อนไหวอีกรอบ! อจ.มสธ.รวมพลกดดันอธิการบดี-รอผลสอบปมโดดงาน เรียน วปอ.
สภา มสธ. ตั้งผู้ทรงคุณวุฒิสอบข้อเท็จจริง ปมอธิการบดี เรียนหลักสูตร วปอ.
เปิดใจอธิการบดี มสธ. ‘ชัยเลิศ พิชิตพรชัย’ หลังโดนกล่าวหา โดดงานไปเรียน วปอ. (1)
เรียน วปอ.ได้เครือข่าย 'อธิการบดี มสธ.' ขอบุคลากรเชื่อมั่น เป็นประโยชน์บริหาร (จบ)
ไขทุกข้อสงสัย ‘เธียรชัย ณ นคร’ ปมยื่นถอดถอนอธิการบดี มสธ. ส่อเค้าระอุ
นายกสภา มสธ. เตรียมตั้ง กก.สอบอธิการบดีเรียน วปอ. กระทบงานบริหาร
อจ.มสธ. เข้าชื่อยื่นถอดถอนอธิการบดีผิดเงื่อนไข เอาเวลาไปเรียน 'วปอ.'