นายกสภา มสธ. เตรียมตั้ง กก.สอบอธิการบดีเรียน วปอ. กระทบงานบริหาร
นายกสภา มสธ.รับหนังสือร้องเรียนถอดถอนอธิการบดี หลังตัดสินใจเรียน วปอ. ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลา ระบุจะเร่งดำเนินการ ตั้งบุคคลภายนอกพิจารณาข้อเท็จจริง ป้องกันการครหาไม่ยุติธรรม ยอมรับเป็นห่วง จำเป็นต้องพูดคุยเพื่อให้ตัดสินใจ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 26 พฤศจิกายน 2558 เวลา 09.30 น. นายเธียรชัย ณ นคร อาจารย์ประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) พร้อมด้วยคณาจารย์กว่า 20 คน เป็นตัวแทนเข้ายื่นหนังสือต่อ รศ.ดร.องค์การ อินทรัมพรรย์ นายกสภา มสธ. เพื่อขอให้พิจารณาเรื่องการไม่สามารถปฏิบัติราชการเต็มเวลาของ รศ.ดร.นพ.ชัยเลิศ พิชิตพรชัย อธิการบดี มสธ. ณ ชั้น 2 อาคารสัมมนา 1 มสธ. (อ่านประกอบ:อจ.มสธ. เข้าชื่อยื่นถอดถอนอธิการบดีผิดเงื่อนไข เอาเวลาไปเรียน 'วปอ.')
รศ.ดร.องค์การ กล่าวภายหลังได้รับหนังสือว่า การเรียกร้องของบุคลากรครั้งนี้แสดงถึงความคับข้องใจและความห่วงใยในอนาคตของมหาวิทยาลัย ซึ่งนับเป็นนิมิตหมายอันดีที่สภามหาวิทยาลัยจะได้มองเห็นภาพความต้องการของบุคลากรอีกครั้งหนึ่ง จากการรวบรวมรายงานผลการสำรวจความคิดเห็นของบุคลากรเกี่ยวกับการบริหารงานของอธิการบดีหลายร้อยคน
โดยหลังจากนี้จะนำเรื่องแจ้งต่อกรรมการมหาวิทยาลัยเพื่อทราบ และเสาะหาข้อเท็จจริงต่อไปว่า การร้องเรียนที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอย่างไร หากพบเป็นความจริงก็ต้องดำเนินการต่อไปเพื่อความเจริญก้าวหน้าของมหาวิทยาลัย หากปล่อยปละละเลยจะสู่มหาวิทยาลัยอื่นไม่ได้
นายกสภา มสธ. กล่าวต่อว่า ด้วยปัจจุบัน มสธ.ประสบปัญหาหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น จำนวนนักศึกษาลดน้อยลง รายได้ตกต่ำ และระบบงานหลายอย่าง โดยเฉพาะเทคโนโลยีสารสนเทศ ยังน่าเป็นห่วง ส่วนจะเกิดขึ้นจากโครงสร้างของระบบหรือบุคลากรทำงานต้องหาข้อเท็จจริงต่อไป
“เรื่องห่วงใยที่สุด คือ อธิการบดีปัจจุบันไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เต็มเวลา เพราะต้องเข้ารับการศึกษาในหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (หลักสูตร วปอ.) ถึงปี 2559” รศ.ดร.องค์การ กล่าว และว่า งานมหาวิทยาลัยมีอีกจำนวนมาก ต้องการผู้นำที่ทราบงานและเห็นข้อเท็จจริง ฉะนั้นคงต้องพูดคุยกันว่า อธิการบดีจะตัดสินใจอย่างไร
เมื่อถามว่า จะใช้เวลาในการพิจารณานานเพียงใด นายกสภา มสธ. กล่าวว่า ต้องดำเนินการให้เร็วที่สุด โดยเชิญบุคคลภายนอกเข้ามาอยู่ในกระบวนการ ซึ่งมีความรู้ในเรื่องระบบและวิธีการกฎหมาย ไม่อยากให้เป็นบุคคลภายใน เพื่อป้องกันการถูกครหาว่า ไม่ยุติธรรม รวมถึงสอบถามความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ทั้งฝ่ายบริหารและบุคลากรเกี่ยวกับความพึงพอใจ หากล่าช้าจะส่งผลกระทบต่องบประมาณที่สูญเสียไป แต่ปัญหากลับไม่ได้รับการแก้ไข
เมื่อถามอีกว่า หากผลการพิจารณาทำให้อธิการบดีต้องลาออกจากตำแหน่ง จะมีกระบวนการสรรหาใหม่หรือไม่ รศ.ดร.องค์การ ระบุว่า กระบวนการสรรหาอธิการบดีคนใหม่เป็นคนละส่วนกัน อย่างไรก็ตาม สภา มสธ.จะพิจารณา และมีข้อเสนอแนะควรจะแก้ไขปัญหาอย่างไรมากกว่า ก่อนจะนำมากำหนดเป็นแนวทางดำเนินการต่อไป แต่ไม่สามารถชี้ผลขณะนี้ได้
ผู้สื่อข่าวได้ติดต่อขอสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ รศ.ดร.นพ.ชัยเลิศ พิชิตพรชัย อธิการบดี มสธ. เพื่อชี้แจงถึงประเด็นดังกล่าว แต่ได้รับการยืนยันว่า ติดราชการอยู่ต่างประเทศ
ทั้งนี้ รศ.ดร.นพ.ชัยเลิศ พิชิตพรชัย ได้รับการคัดเลือกเเละได้รับความเห็นชอบจากสภา มสธ.ยืมตัวจากมหาวิทยาลัยมหิดล ให้ดำรงตำเเหน่งอธิการบดี เเทนนางปราณี สังขะตะวรรธน์ โดยปฏิบัติราชการเต็มเวลา มีกำหนด 4 ปี ตั้งเเต่วันที่ได้รับโปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2556 เเละประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2556 ซึ่งจะครบวาระการดำรงตำเเหน่งเดือนกุมภาพันธ์ 2560