- Home
- Isranews
- เวทีทัศน์
- เรียน วปอ.ได้เครือข่าย 'อธิการบดี มสธ.' ขอบุคลากรเชื่อมั่น เป็นประโยชน์บริหาร (จบ)
เรียน วปอ.ได้เครือข่าย 'อธิการบดี มสธ.' ขอบุคลากรเชื่อมั่น เป็นประโยชน์บริหาร (จบ)
“เรากำลังสร้างเครือข่ายเพื่อเตรียมทีม ทำความสัมพันธ์ระหว่างกัน และลงนามบันทึกความร่วมมือ เชื่อว่าจะปรากฏผลภายใน 3-6 เดือน โดยไม่ต้องรอให้ศึกษาหลักสูตร วปอ.ครบ แล้วค่อยกลับมาทำงาน เพราะการคิดเช่นนั้นไม่ตรงวัตถุประสงค์”
ภายหลังสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำเสนอบทสัมภาษณ์เปิดใจ ‘รศ.ดร.นพ.ชัยเลิศ พิชิตพรชัย’ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ตอนที่ 1 กรณีถูกบุคลากรประจำมหาวิทยาลัยส่วนหนึ่งกล่าวหาว่า ใช้เวลาปฏิบัติราชการเข้ารับการศึกษาภายใต้หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร ของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) ซึ่งไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์การยืมตัวจากมหาวิทยาลัยมหิดลมาปฏิบัติราชการเต็มเวลา มีกำหนด 4 ปี ในตำแหน่งอธิการบดี จนอาจส่งผลกระทบทำให้ไม่สามารถทุ่มเทให้กับการบริหารเต็มที่
โดยอธิการบดี มสธ. ยืนยันว่า การเข้ารับการศึกษาหลักสูตร วปอ. ถูกต้องตามขั้นตอนทุกประการ และได้แจ้งให้ที่ประชุมสภา มสธ., สภาวิชาการ มสธ., คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) มสธ. และคณะกรรมการบริหาร มสธ.ทราบแล้ว ซึ่งไม่มีผู้ใดคัดค้าน ทั้งนี้ การปฏิบัติราชการเต็มเวลาของผู้บริหารระดับสูง ไม่จำเป็นต้องทำงานที่โต๊ะจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.00-16.00 น. เสมอไป [อ่านประกอบ:เปิดใจอธิการบดี มสธ. ‘ชัยเลิศ พิชิตพรชัย’ หลังโดนกล่าวหา โดดงานไปเรียน วปอ. (1)]
“...การได้มีโอกาสเข้ารับการศึกษาในสถาบันแห่งนี้ นอกจากจะได้เพิ่มพูนความรู้แล้ว ยังได้รู้จักคุ้นเคยกัน ซึ่งสำคัญและจำเป็นแก่การทำงาน และพึ่งพาอาศัยกัน ด้วยเหตุที่งานความมั่นคงเป็นงานส่วนรวมของชาติ ไม่ได้เป็นหน้าที่ของทหาร ตำรวจ ข้าราชการ พลเรือน ฝ่ายเดียว แต่ยังเป็นหน้าที่ของภาคธุรกิจและประชาชนชาวไทยทุกคนที่ควรจะทำงานอย่างประสานส่งเสริมกันอีกด้วย...”
รศ.ดร.นพ.ชัยเลิศ หยิบยกพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครั้นพระราชทานให้ในงานพระราชทานปริญญาบัตรและเข็มรัฏฐาภิรักษ์แก่นักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร โดยมีสาระสำคัญว่า การสร้างเครือข่ายของผู้บริหารระดับสูง ไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ ข้าราชการพลเรือน ภาคเอกชน ล้วนทำให้เกิดความกลมเกลียวและการทำงานที่ประสานกัน ดังนั้นมองว่า การเข้าศึกษาในหลักสูตร วปอ. จึงไม่จำเป็นต้องรอจบก่อน แล้วค่อยกลับมาทำงาน
“ขณะนี้ พล.อ.สุพิทย์ วรอุทัย ผู้อำนวยการฝึกลูกเสือแห่งชาติ สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ อยากให้ มสธ.จัดหลักสูตรฝึกอบรมวิทยากรให้กับสำนักงานลูกเสื้อแห่งชาติ” อธิการบดี มสธ. กล่าว และว่า ระหว่างนี้อยู่ในขั้นตอนการประสานงานกัน ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากการเป็นเครือข่าย
สำหรับกรณีการรายงานผลการสำรวจความคิดเห็นของบุคลากร มสธ. เกี่ยวกับการบริหารงานของอธิการบดี ซึ่งได้แจกทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน -20 ตุลาคม 2558 จำนวน 1,000 ชุด ได้รับการตอบกลับ 344 ชุด คิดเป็นร้อยละ 44 เขากล่าวว่า บุคลากร 344 คน จากทั้งหมดประมาณ 2,500 คน คิดเป็นเพียง เศษ 1 ส่วน 7 เท่านั้น ซึ่งถือเป็นคนกลุ่มน้อยในแง่ปริมาณ
ส่วนแง่คุณภาพก็ไม่ได้มาตรฐานการศึกษา และมีการชี้นำในเชิงลบ ไม่เป็นธรรม หรือมีความแม่นยำในการตอบคำถามที่เพียงพอ ซึ่งผลการศึกษาอย่างต่ำต้องร้อยละ 40 ประกอบกับคณาจารย์ที่ยื่นหนังสือถอดถอนออกจากตำแหน่งอธิการบดีมีลงชื่อเพียง 7 คน จากทั้งหมดประมาณ 400 คน เฉลี่ยไม่ถึงร้อยละ 2 ฉะนั้นก็ถือเป็นคนกลุ่มน้อยเช่นเดียวกัน
“ผมเป็นคนนอกข้ามห้วยมา บุคลากรบางคนอาจรู้สึกว่า การเข้าศึกษาหลักสูตร วปอ. ไม่เกิดประโยชน์ แต่ความจริงผมมีผลงานและ สกอ.รับทราบ อีกทั้ง ลักษณะการทำงานก็เป็นการอุทิศเวลา ทั้งเสาร์-อาทิตย์ เวลาเย็น หรือมืดค่ำ ปฏิบัติเช่นนี้มาโดยตลอด และเชื่อว่า การสร้างเครือข่ายก่อให้เกิดประโยชน์ โดยไม่จำเป็นต้องศึกษาจบก่อน”
ในส่วนผลงานนั้น เขาสาธยายให้ฟังถึงแนวทางการพัฒนา มสธ.ว่า จะต้องพัฒนา มสธ. ทั้งภายนอก และภายใน ยกตัวอย่างภายนอก ต้องฝันให้ไกลไปให้ถึง ซึ่งสถาบันมีวิสัยทัศน์เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก โดยใช้ระบบการศึกษาทางไกล เพื่อให้การศึกษาตลอดชีวิต ฉะนั้นต้องมีระบบอินเทอร์เน็ตที่ดี นอกจากนี้ยังพัฒนาหลักสูตรภาษาอังกฤษเพื่อให้ชาวต่างประเทศศึกษา เริ่มต้นที่หลักสูตรนิเทศศาสตรมหาบัณฑิตนานาชาติ หลักสูตร International MBA และ International MPA และยังมีหลักสูตรนานาชาติสำหรับ 10 วิชาชีพ เช่น แพทย์ นักกฎหมาย คอมพิวเตอร์ เกษตรกรรม เพื่อรองรับการเปิดประชาคมอาเซียน
ส่วนการพัฒนาภายในมีหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์ สาขาการปกครองท้องที่ ให้กับกำนันผู้ใหญ่บ้าน ปีละ 3,000 คน เพื่อให้ผู้บริหารท้องถิ่นได้รับการพัฒนา ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างดี ประกอบกับการที่ได้พบรองผู้ว่าราชการจังหวัด 8 จังหวัด อธิบดีกรม รองอธิบดีกรม เสนาธิการทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ทำให้มีการเตรียมลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อให้บุคลากรในหน่วยงานนั้นได้รับการศึกษาทางไกล
“เรากำลังสร้างเครือข่ายเพื่อเตรียมทีม ทำความสัมพันธ์ระหว่างกัน และลงนามบันทึกความร่วมมือ เชื่อว่าจะปรากฏผลภายใน 3-6 เดือน โดยไม่ต้องรอให้ศึกษาหลักสูตร วปอ.ครบ แล้วค่อยกลับมาทำงาน เพราะการคิดเช่นนั้นไม่ตรงวัตถุประสงค์” อธิการบดี มสธ. กล่าว และว่า ที่สำคัญ หลักสูตรดังกล่าวเกี่ยวข้องกับเรื่องการป้องกันราชอาณาจักร ความมั่นคงของชาติ ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์สาธารณสุข ซึ่งสามารถนำกลับมาใช้กับแผนยุทธศาสตร์ของ มสธ.ได้
รศ.ดร.นพ.ชัยเลิศ ยังคุยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมด้วย รศ.นราพร จันทร์โอชา ภรรยา ตลอดจนคนในรัฐบาลปัจจุบันต่างเคยศึกษาหลักสูตร วปอ. เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นตั้งแต่กลับมาจากต่างประเทศ ยังไม่ได้มีการเข้าพบ รศ.ดร.องค์การ อินทรัมพรรย์ นายกสภา มสธ. เลย
.............................................................................................
...การเรียนหนังสือเป็นประโยชน์ต่อการบริหาร น่าจะเป็นคำจำกัดความดีที่สุด สำหรับการหลุดรอดจากข้อกล่าวหาว่า โดดงานไปเรียน วปอ. ของ รศ.ดร.นพ.ชัยเลิศ พิชิตพรชัย อธิการบดีคนที่ 7 ของ มสธ. สุดท้าย ผลสรุปของเรื่องนี้จะลงเอยอย่างไร ในไม่ช้าเชื่อจะมีคำตอบจากสภามหาวิทยาลัยในเร็ววัน .
อ่านประกอบ:ไขทุกข้อสงสัย ‘เธียรชัย ณ นคร’ ปมยื่นถอดถอนอธิการบดี มสธ. ส่อเค้าระอุ
นายกสภา มสธ. เตรียมตั้ง กก.สอบอธิการบดีเรียน วปอ. กระทบงานบริหาร
อจ.มสธ. เข้าชื่อยื่นถอดถอนอธิการบดีผิดเงื่อนไข เอาเวลาไปเรียน 'วปอ.'