ฉบับเต็ม! คำชี้แจงเลขาฯ'กศน.' ปมคำผิดแบบเรียน "จะรีบแก้ไขปัญหาเร็วที่สุด"
“จะทำให้ดีที่สุดและเร็วที่สุด โดยสั่งให้เร่งทำการตรวจพิสูจน์อักษรได้ 4-5 วันแล้ว (ตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา) ขอเวลาประมาณ 10 วัน และจะพยายามให้เสร็จภายในวันจันทร์หรืออังคารที่จะถึงนี้ ก่อนจะให้มีการลงต้นฉบับไว้บนเว็บไซต์ กศน. ตามเดิม”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เป็นคำให้สัมภาษณ์ฉบับเต็มของ “นายสุรพงษ์ จำจด” เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และผู้เกี่ยวข้อง กับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงกรณีคำผิดในแบบเรียนรายวิชาหลัก กศน. ว่า เป็นข้อผิดพลาดที่เกิดจากต้นฉบับลิขสิทธิ์ของ กศน. จริง และได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบพิสูจน์อักษรทั้ง 42 ปกรายวิชาหลัก รวมถึง ได้สั่งให้ดึงหนังสือเรียนทั้งหมดลงจากเว็บไซต์แล้ว เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.2558 ที่ผ่านมา
-----------------
"หลังจากที่เห็นข้อมูลจากสำนักข่าวอิศรา ทางเราก็ได้เข้าไปตรวจสอบ และก็พบว่ามีปัญหาคำผิดในแบบเรียนจำนวนมากจริง"
“นายสุรพงษ์ จำจด” เลขาธิการฯ กศน. กล่าวเปิดประเด็นกับสำนักข่าวอิศรา ในช่วงเริ่มต้นการสัมภาษณ์
พร้อมระบุว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น กศน.ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้เลย เพราะเป็นงานในความรับผิดชอบ และต้องขอบคุณสำนักข่าวอิศรา ที่นำข้อมูลเรื่องนี้มาเผยแพร่ด้วย
ส่วนสาเหตุที่ทำให้มีคำผิดในหนังสือเรียนจำนวนมากนั้น“นายสุรพงษ์ จำจด” เลขาธิการฯ กศน. ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติม
นางศุทธินี งามเขตต์ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาการศึกษานอกโรงเรียน ระบุว่า ต้นฉบับหนังสือเรียนรายวิชาหลักลิขสิทธิ์ กศน. ทั้ง 42 ปกวิชา กำหนดให้ใช้ประกอบการเรียนการสอนทั่วประเทศเมื่อปี 53 โดย ก่อนหน้านั้น มีการนำร่องใช้ประกอบการเรียนการสอนในบางจังหวัดอยู่ประมาณ 2 ปี ก่อนจะสำทับถึงกระบวนการขั้นตอนการจัดทำหนังสือเรียนรายวิชาหลักว่า ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ส่งข้อมูลเนื้อหาต่อให้คณะผู้เขียนและผู้พิมพ์ ก่อนจะขออนุญาตให้เผยแพร่ลงบนเว็บไซต์ กศน. ต่อไป
นอกจากนี้ กล่าวถึงกรณีปรับปรุงต้นฉบับแบบเรียน กศน. รายวิชาหลัก เมื่อปี 54 ว่า สาเหตุที่มีการปรับปรุงแบบเรียน เมื่อปี 54 เนื่องจาก ภาครัฐมีนโยบายการเรียนการสอนสายอาชีวะเพิ่มเติม จึงทำให้มีการจัดประชุมคณะอาจารย์ และผู้เชี่ยวชาญด้านสาขาวิชาต่าง ๆ เพื่อทำการปรับปรุงต้นฉบับแบบเรียน กศน. ให้สนองต่อนโยบายของรัฐ
ขณะเดียวกัน นายสุรพงษ์ มั่นมะโน นักวิชาการศึกษากลุ่มพัฒนาการศึกษานอกโรงเรียน กล่าวถึงข้อผิดพลาดในการจัดพิมพ์หนังสือเรียนลิขสิทธิ์ กศน. ว่า “มาจากการที่ทาง กศน. จ้างบริษัทเอกชนให้แปลงไฟล์จาก word เป็น pdf เพื่อลงเว็บไซต์ กศน. และเมื่อโหลดไฟล์ pdf มาแปลงเป็นไฟล์ word เพื่อสั่งพิมพ์ อาจทำให้ตัวอักษรเคลื่อนไปหมด รวมถึง ไม่มีการตรวจปรู๊ฟต้นฉบับก่อนสั่งพิมพ์ ตลอดจน เวลาที่มีน้อย บวกกับความเร่งรีบ และขาดความระมัดระวัง จึงเป็นไปได้ที่จะมีข้อบกพร่องเกิดขึ้น”
และ เมื่อถามว่า บริษัทเอกชนรายดังกล่าวมีชื่อว่าอะไร นักวิชาการศึกษากลุ่มพัฒนา กศน. กล่าวว่า “จำไม่ได้ นานแล้ว”
นอกจากนี้ นายสุรพงษ์ มั่นมะโน ได้นำเอกสารการตรวจพิสูจน์อักษร ที่ทาง กศน. ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจ หลังจากที่สำนักข่าวอิศรา ได้เปิดเผยข้อมูลไปก่อนหนานี้ และพบว่า มีคำผิดอีกเป็นจำนวนมาก ที่ยังต้องแก้ไขในต้นฉบับลิขสิทธิ์ กศน. และอยู่ระหว่างการดำเนินการ
ขณะที่ นายสุรพงษ์ กล่าวย้ำว่า “ได้สั่งการเจ้าหน้าที่ไปแล้วว่า จะต้องไม่มีปัญหาเกิดขึ้นซ้ำรอยแบบนี้อีกในอนาคต และได้ทำหนังสือแจ้งไปยังหน่วยงานในต่างจังหวัด เพื่อให้ช่วยกันดูแลแก้ไขปัญหานี้แล้ว"
ส่วนกรณีที่ว่า จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่หรือไม่ เลขา ฯ กศน. เผยว่า “ยังบอกไม่ได้ ต้องดูรายละเอียดทั้งหมดก่อน เพราะ เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบงานดังกล่าว ปัจจุบันไม่ได้ดำรงตำแหน่งเดิมแล้ว บางส่วนก็เกษียณอายุราชการไปแล้ว”
นายสุรพงษ์ เลขา ฯ กศน. ยังรับปากด้วยว่า “จะทำให้ดีที่สุดและเร็วที่สุด โดยสั่งให้เร่งทำการตรวจพิสูจน์อักษรได้ 4-5 วันแล้ว (ตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา) ขอเวลาประมาณ 10 วัน และจะพยายามให้เสร็จภายในวันจันทร์หรืออังคารที่จะถึงนี้ ก่อนจะให้มีการลงต้นฉบับไว้บนเว็บไซต์ กศน. ตามเดิม”
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการเรียกคืนต้นฉบับ กศน. ก่อนหรือไม่? เลขา ฯ กศน. กล่าวว่า “จะไม่มีการเรียกคืนหนังสือต้นฉบับ กศน. แต่จะจัดทำใบแทรกเข้าไปในหนังสือ และเผยแพร่ให้ กศน.จังหวัด เพื่อใช้ประกอบการเรียนไปก่อน”
โดย เมื่อถามถึงกรณีที่มีกระแสว่า กศน. จะเปลี่ยนหลักสูตรใหม่ในปีการศึกษา 2559 นั้น นายสุรพงษ์ เลขา ฯ กศน. ชี้แจงว่า “จะไม่มีการเปลี่ยนหลักสูตรใหม่ แต่จะเป็นการวิธีการมากกว่า เช่น หากผู้เรียนมีประสบการณ์ทำงานมากพอ ก็จะให้อาจารย์ตีเป็นหน่วยกิจรายวิชา เพื่อที่ว่า คนที่มีประสบการณ์การทำงานจริงจะได้ใช้เวลาเรียนน้อยลงหรือเรียกได้ว่า เรียนจบเร็วขึ้น”
สำหรับคำถามที่ว่า ที่ผ่านมา ได้มีการใช้หนังสือเรียนรายวิชาหลักทั้ง 42 รายวิชา ในการประกอบการเรียนการสอนหรือไม่ และทำไมถึงเพิ่งจะมาตรวจสอบเจอคำผิดตอนนี้ ซึ่งเมื่อคำนวณจากข้อมูลที่ ผอ.กลุ่ม กศน. ระบุว่า เริ่มใช้หนังสือเรียนดังกล่าว ทั่วประเทศตั้งแต่ปี 53 เท่ากับว่าใช้ประกอบการเรียนการสอน อย่างน้อย 6 ปี รวมถึง การตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่
นายสุรพงษ์ จำจด เลขา ฯ กศน. กล่าวเพียงสั้น ๆ ว่า “ผมจะรับข้อสังเกตนี้ไปพิจารณา” คงได้ต้องรอฟังคำตอบในเรื่องนี้ต่อไป..
อ่านประกอบ :
ไม่ได้ตรวจดูหนังสือเท่าไหร่! อดีตเลขาฯกศน.แจงปมคำผิดแบบเรียนอื้อ-ก่อนตัดสายทิ้ง
รวมคำผิด'พิสดาร'แบบเรียน กศน. 7 วิชา ฮือฮา! เกลือจิ๋มเกลือ - หญิงซิง โผล่อีก
ฮือฮา!แบบเรียนเด็กประถม กศน.'คำผิด' เพียบ-วิชาศก.พอเพียง54จุด-'อวัยวะชาย'โผล่
แก้แล้ว!คำผิด'คXXคู่'แบบเรียน กศน.เฉพาะในเว็บฯวิชาเดียว-พบเขียนมั่วอีก 5 เล่ม