บิ๊กรถไฟฯแจง สตง.ปมที่ดิน‘เจ.เจ.-อินสแควร์’ รับแก้สัญญา 2 รอบ -ไม่ให้'เช่าช่วง'
ผู้ว่าการรถไฟฯส่งหนังสือแจง ผู้ว่าฯ สตง. หลังซัก 6 ปมให้เช่าที่ดินผืนงาม บ.เจ.เจ.ฯ-อินสแควร์ ย่านจตุจักร ยอมรับแก้ไขสัญญา 2 ครั้ง ต้นปี 57 ระบุชัดไม่อนุญาตเป็น‘ลายลักษณ์อักษร’ให้ผู้อื่นเช่าช่วงต่อ หลังถูกร้องหนักเอื้อเอกชน
กรณีการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ให้ บริษัท เจ.จ.เซ็นเตอร์ จำกัด (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท อินสแควร์ จำกัด และ ปัจจุบัน บริษัท ดีดี มอลล์ จำกัด) เช่าที่ดินเนื้อที่ 7 ไร่ บริเวณจตุจักร เพื่อปลูกสร้างอาคารบริเวณย่านพหลโยธิน(แปลง 5) โดยทำสัญญา 2 ฉบับ ฉบับแรก สัญญาเลขที่ 902520965 ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2552 มีกำหนดระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2552 -31 สิงหาคม 2556 และ ฉบับที่สอง สัญญาเช่าที่ดินเพื่อดำเนินการจัดหาประโยชน์ สัญญาเลขที่ 907520966 ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2552 โดยเอกชนได้นำสิทธิในพื้นที่ดังกล่าวไปขออนุญาตก่อสร้างกับกรุงเทพมหานครเพื่อดำเนินโครงการศูนย์การค้าอินแสควร์ ช้อปปิ้ง มอลล์ ต่อมาเกิดปัญหาพิพาทระหว่างเอกชนกับผู้เช่าสิทธิ และถูกร้องเรียนว่ามีการเอื้อประโยชน์ให้เอกชน กระทั่งมีผู้ร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้ง สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)ให้เข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริง
(อ่านประกอบ:ยื่นนายกฯ-3 รมว.สอบปม บ.ดีดีมอลล์ เช่าที่ดินการรถไฟฯ-กู้ ธ.อิสลาม 1,700 ล.)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อ 24 มี.ค.58 นายวุฒิชาติ กัลยณมิตร ผู้ว่าการรถไฟฯ ได้ส่งหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงและส่งเอกสารหลักฐานในกรณีดังกล่าวต่อผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ตามที่ สตง.ได้มีหนังสือสอบถาม 6 ข้อ เมื่อ 3 ก.พ.58
หนังสือคำชี้แจงของผู้ว่าการรถไฟฯสรุปสาระสำคัญ 3 ข้อ คือ
1. กรณี สตง.สอบถามเรื่องหลักเกณฑ์การคัดเลือกเอกชนในการเช่าที่ดิน นายวุฒิชาติได้ชี้แจงว่า คณะกรรมการการรถไฟฯได้ประกาศเชิญชวน มีผู้ซื้อซองเสนอราคา 4 ราย มีผู้เสนอราคาเพียง 1 รายคือ บริษัท เจ.เจ.เซ็นเตอร์ จำกัด และได้เลือกบริษัท เจ.เจ.เซ็นเตอร์ จำกัด เป็นผู้ได้รับสิทธิการเช่าที่ดิน
2.สัญญาเท่าที่ดินระหว่างการรถไฟฯ กับ บริษัท เจ.เจ.เซ็นเตอร์ จำกัด (ตามสัญญาเลขที่ 902520965 ลงวันที่ 24 ส.ค.52) ที่กำหนดห้ามผู้เช่านำสิทธิการเช่าที่ดินตามสัญญาไปจำหน่ายจ่ายโอนให้แก่ผู้อื่นหรือให้เช่าช่วงโดยเด็ดขาด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร กรณี การรถไฟฯ ไม่ได้อนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรให้ผู้อื่นเช่าช่วงแต่อย่างใด
3.นอกจากการทำสัญญาเลขที่ 902520965 ลงวันที่ 24 ส.ค.52 และ 902520966 ลงวันที่ 24 ส.ค.52 ซึ่งเป็นสัญญาหลักแล้ว การรถไฟฯได้มีการแก้ไข โดยจัดทำบันทึกต่อท้ายสัญญาเช่าให้กับบริษัทฯ จำนวน 2 ครั้ง
ครั้งที่หนึ่ง ได้แก่ บันทึกต่อท้ายสัญญาเช่าที่ดินเพื่อปลูกสร้างอาคาร (ครั้งที่หนึ่ง) เลขที่ 902570052 เมื่อ 10 มี.ค.57 และ บันทึกต่อท้ายสัญญาเช่าที่ดินเพื่อดำเนินการจัดหาประโยชน์ (ครั้งที่หนึ่ง) เลขที่ 907570053 เมื่อ 10 มี.ค.57
ครั้งที่สอง ได้แก่ บันทึกต่อท้ายสัญญาเช่าที่ดินเพื่อปลูกสร้างอาคาร (ครั้งที่สอง) เลขที่ 902580033 เมื่อ 17 ก.พ.58 และ บันทึกต่อท้ายสัญญาเช่าที่ดินเพื่อดำเนินการจัดหาประโยชน์ (ครั้งที่สอง) เลขที่ 907580034 เมื่อ 17 ก.พ.58
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ 10 ก.ค.58 กลุ่มผู้ได้รับความเสียหายจากการเช่าพื้นที่ในโครงการศูนย์การค้า อินสแควร์ ย่านจตุจักร กรุงเทพฯได้ยื่นหนังสือ ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผ่านศูนย์บริการประชาชน 1111 ทำเนียบรัฐบาล เพื่อให้ตรวจสอบ กรณี การเช่าที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย กับ บริษัท เจ.เจ.เซ็นเตอร์ จำกัด ตามสัญญา 2 ฉบับ ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2552 เนื้อหาสัญญาทั้งสองฉบับระบุว่าเอกชนจะต้องก่อสร้างอาคารและสิ่งปลูกสร้างตามเอกสารแนบจำนวน 17 แผ่น มูลค่าโครงการประมาณ 546.4 ล้านบาท มีพื้นที่อาคารใช้ประโยชน์ไม่น้อยกว่า 17,280 ตารางเมตร ใน TOR ระบุไว้เป็นการก่อสร้างอาคารพลาซ่า 2 ชั้น อาคารที่พักอาศัย 16 ชั้น
แต่ทว่าเอกชนได้ยื่นขออนุญาตต่อกรุงเทพมหานคร กลับระบุในใบอนุญาตเป็นอาคารชนิดตึก 8 ชั้น จำนวน 1 หลัง เพื่อใช้เป็นพาณิชย์(ร้านค้าใช้เช่า-จอดรถ) พื้นที่ 73,591 ตารางเมตร ซึ่งไม่ตรงกับเอกสารแนบจำนวน 17 แผ่นตามสัญญา 902520965 กระทั่ง กรุงเทพมหานครได้ออกใบอนุญาต ระบุว่าเป็นอาคารชนิดตึก 9 ชั้น จำนวน 1 หลัง เพื่อใช้เป็นพาณิชย์(ร้านค้าให้เช่า) และจอดรถยนต์ พื้นที่ 84,676 ตารางเมตร ทำให้มีขนาดพื้นที่เพิ่มขึ้นมากกว่าสัญญาประมาณ 67,396 ตารางเมตร และมีมูลค่าโครงการ ประมาณ 3,200 ล้านบาท ถือว่ามีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท จึงเข้าข่ายผิดพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 ซึ่งถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 ทำให้อำนาจอนุมัติโครงการเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย อนุมัติสินเชื่อให้แก่เอกชนดังกล่าว จำนวน 1,700 ล้านบาท ทั้งที่มีทุนจดทะเบียนเพียง 120 ล้านบาท และได้เกิดมีปัญหาค้างชำระต่อสถาบันการเงินดังกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากร้องเรียนไปยัง สตง.แล้วผู้ร้องเรียนได้ร้องเรียนไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) ทว่ายังไม่มีความคืบหน้าที่ชัดเจน
อ่านประกอบ:
ดีเอสไอลุยสอบปมเช่าที่ดินรถไฟฯกู้แบงก์อิสลาม 1.6 พันล.‘บ.เจ.เจ.มอลล์’
เจาะ บ.เจ.เจ.ฯ-อินสแควร์ ผู้เช่าที่ดิน‘การรถไฟฯ’เปลี่ยนถ่าย‘ผู้ถือหุ้น’13 รอบ
ศาลสั่งอนุญาตแบงก์อิสลามฯถอนฟ้อง บ.เจ.เจ.ฯคดีเงินกู้‘อินสแควร์’ 1,800 ล้าน
แบงก์อิสลามฯยื่นถอนฟ้อง‘อินสแควร์-จุไรรัตน์’พวก คดีผิดนัดชำระหนี้ 1,800 ล.
พฤติกรรม‘บ.เจ.เจ.ฯ-อินสแควร์’คดีเงินกู้ 1,800 ล. ก่อนแบงก์อิสลามฯถอนฟ้อง
‘โสภา’ผู้ถือหุ้นรายใหม่ บ.ดีดีมอลล์แจงไม่เกี่ยวข้องผู้บริหารเดิม-ตั้งใจกอบกู้‘อินสแควร์’
บ.เดวาฯผู้ค้ำ 1,700 ล.‘อินสแควร์’ถูกสรรพากรสอบ 19 ฉบับ ระงับ‘เลิกกิจการ’
โดนแล้ว!สรรพากรบี้ภาษี บมจ.สแกนฯ บ.แม่ ‘อินสแควร์’ระงับเลิกกิจการ-สาวถึงผู้ถือหุ้น
บ.เกาะบริติชเวอร์จิน โผล่ถือหุ้นกลุ่ม‘จุไรรัตน์-อินสแควร์’ โยงใยหลายชั้น
โดนแล้ว!สรรพากรบี้ภาษี บมจ.สแกนฯ บ.แม่ ‘อินสแควร์’ระงับเลิกกิจการ-สาวถึงผู้ถือหุ้น
ฉบับเต็ม!รายงานผู้สอบบัญชี‘บ.เจ.เจ.ฯ-ดีดีมอลล์’เงื่อนปมปล่อยกู้‘จุไรรัตน์’190.9 ล.
‘เจ.เจ.เซ็นเตอร์’ปล่อยกู้‘จุไรรัตน์’190.9ล. ก่อนให้ค้ำประกัน‘แบงก์อิสลาม’1,700ล.
เผยโฉม บ.ไดมอนด์แกรนด์ ทุน 500 ล. ผู้ซื้อหุ้น‘อิน สแควร์’ เป็นห้องโถง
พบหุ้นใหญ่‘ไดมอนด์แกรนด์’หอบเงินสด 100 ล. ตั้งบริษัท ก่อนซื้อ‘อินสแควร์’ 17 วัน
บ.ดีดีมอลล์-อินสแควร์ เพิ่มทุนปริศนา 500 ล. หลังกู้ 1,700 ล้าน‘แบงก์อิสลาม’
หมายเหตุ : ภาพประกอบอาคารอินสแควร์จาก naewna