- Home
- Investigative
- ข่าวทั่วไปศูนย์ข่าวสืบสวน
- พฤติกรรม‘บ.เจ.เจ.ฯ-อินสแควร์’คดีเงินกู้ 1,800 ล. ก่อนแบงก์อิสลามฯถอนฟ้อง
พฤติกรรม‘บ.เจ.เจ.ฯ-อินสแควร์’คดีเงินกู้ 1,800 ล. ก่อนแบงก์อิสลามฯถอนฟ้อง
เปิดคำบรรยายฟ้อง บ.เจ.เจ.เซ็นเตอร์ กรณีกู้เงินขึ้นโครงการศูนย์การค้าอินสแควร์ ผิดนัดชำระตามสัญญา 4 ฉบับ เงินต้นรวมดอกเบี้ย 1,806 ล้าน ก่อนเจรจาประนอมหนี้ จนแบงก์อิสลามฯกลับลำถอนฟ้อง
กรณีธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยได้ทำสัญญาปล่อยสินเชื่อให้แก่ บริษัท เจ.เจ.เซ็นเตอร์ จำกัด (ต่อมาเปลี่ยนชื่อ บริษัท ดีดีมอลล์ จำกัด)เจ้าของโครงการศูนย์การค้าอินสแควร์ จำนวน 4 ฉบับ
ฉบับแรก วันที่ 23 พ.ย.2552 วงเงิน 40 ล้านบาท
ครั้งที่สอง วันที่ 19 ก.ค.2553 วงเงิน 542,360,000 บาท
ครั้งที่สาม วันที่ 5 ก.ย.54 วงเงิน 650 ล้านบาท
และครั้งสี่ วันที่ 1 ต.ค.55 จำนวน 400 ล้านบาท
โดยในสัญญาฉบับที่หนึ่งนายจำนงค์ สุขแนบ เป็นผู้ค้ำประกัน ครั้งที่สอง ครั้งที่สามและครั้งที่สี่ บริษัท เดวาดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ค้ำประกัน โดยมีนางจุไรรัตน์ อี โบไนเธิร์น เป็นผู้ค้ำประกันใน ครั้งที่สามและฉบับที่สี่
ต่อมา 2 ต.ค.57 บริษัท เจ.เจ.เซ็นเตอร์ จำกัดได้ผิดสัญญาชำระสินเชื่อ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ได้ยื่นฟ้องศาลแพ่ง บริษัท เจ.เจ. เซ็นเตอร์ จำกัด หรือ บริษัท อินสแควร์ ช้อปปิ้ง มอลล์ จำกัด หรือ บริษัท อินสแคว์ จำกัด ที่ 1 กับพวก 5 คน แต่เนื่องจากบริษัท เดวา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ที่ 2 ,นายจำนง สุขแนบ ที่ 3 ,นางจุไรรัตน์ อีโบไนเธริ์น ที่ 4 ,นายจักรพันธ์ ศรีไกรวิน ที่ 5 (คดีหมายเลขดำที่ ผบ.4334/2557)
16 กรกฎาคม 2558 ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องคดีต่อศาลแพ่งโดยยกเหตุผลว่า บริษัทฯดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่และมีเจตนาและความตั้งใจในการเข้ามาเพื่อแก้ไขปัญหาภายในของบริษัทฯ เพื่อให้ สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ และเป็นการเยียวยาให้กับผู้ค้ารายย่อยที่ได้รับความเดือดร้อนบางส่วน (อ่านประกอบ:แบงก์อิสลามฯยื่นถอนฟ้อง‘อินสแควร์-จุไรรัตน์’พวก คดีผิดนัดชำระหนี้ 1,800 ล.)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำคำฟ้อง คดีหมายเลขดำที่ ผบ.4334/2557 เมื่อ 2 ต.ค.57 ระหว่างธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย โจทก์ กับ บริษัท เจ.เจ. เซ็นเตอร์ จำกัด จำเลยทั้ง 5 (ก่อนที่จะมีการถอนฟ้อง เมื่อ 16 กรกฎาคม 2558) สรุปสาระสำคัญบางส่วนดังนี้
(ข้อ6) ภายหลังจากจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาสินเชื่อฯจำเลยที่ 1 ได้เบิกใช้เงินไปจากโจทก์ครบถ้วนแล้ว จำเลยที่ 1 มิได้ชำระหนี้แก่โจทก์ตามเงื่อนไขของสัญญาคือ
หนี้ตามคำฟ้องฉบับที่ 1 จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 30 พ.ค.57 จำนวน 134,000บาท ณ วันดังกล่าวยังคงเป็นหนี้เงินต้น 40 ล้านบาท กำไรค้างรับ 1,963,606.83 บาท
หนี้ตามคำฟ้องสัญญาฉบับที่ 2 จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 30พ.ค.57 จำนวน 1,808,000 บาท ณ วันดังกล่าวยังคงเป็นหนี้เงินต้น 542,360,000 บาท กำไรค้างรับ 28,670,142.50 บาท
หนี้ตามคำฟ้องสัญญาฉบับที่ 3 จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 30 พ.ค.57 จำนวน 2,167,000 บาท ณ วันดังกล่าวยังคงเป็นหนี้เงินต้น 650 ล้านบาท กำไรค้างรับ 39,208,949.59 บาท
หนี้ตามคำฟ้องสัญญาฉบับที่ 4 จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 30 พ.ค.57 จำนวน 1,334,000 บาท ณ วันดังกล่าวยังคงเป็นหนี้เงินต้น 381,991,173 บาท กำไรค้างรับ 22,198,283.61 บาท
การกระทำของจำเลยที่ 1 ถือว่าเป็นการผิดนัดผิดสัญญา ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 2 – จำเลยที่ 5 ในฐานะผู้คำประกัน และผู้จำนำจึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ด้วย โจทก์ได้ติดตามทวงถามให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์หลายครั้ง จำเลยทั้งห้ายังคงเพิกเฉย โจทก์ไม่ประสงค์ที่จะให้จำเลยทั้งห้าเป็นหนี้โจทก์อีกต่อไป จึงได้มอบหมายให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวให้ชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนำไปยังจำเลยทั้งห้าตามที่อยู่ที่จำเลยทั้งห้าให้ไว้กับโจทก์ตามสัญญาสินเชื่อฯ โดยจำเลยทั้งห้าได้รับและถือว่าได้รับแล้ว เนื่องจากสัญญาสินเชื่อฯข้อที่ 9.7 ให้ถือว่าส่งให้จำเลยโดยชอบแล้ว แต่จำเลยทั้งห้ายังคงเพิกเฉยไม่จัดการชำระหนี้แก่โจทก์เป็นการเสร็จสิ้นแต่ประการใด
(ข้อ7) จำเลยทั้งห้ามีหน้าที่ต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ดังนี้
หนี้ตามฟ้องสัญญาฉบับที่ 1 มีเงินต้นจำนวน 40 ล้านบาท และจำเลยทั้งห้าจะต้องชำระค่าชดเชยในอัตราผิดนัดตามประกาศโจทก์อัตราร้อยละ 21 ต่อปี จากเงินต้นจำนวนดังกล่าวนับแต่วันผิดนัดจนถึงวันฟ้อง คิดเป็นค่าชดเชย จำนวน4,432,647.92 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 44,432,647.92 บาท
หนี้ตามฟ้องสัญญาฉบับที่ 2 มีเงินต้นจำนวน 542,360,000 บาท และจำเลยทั้งจะต้องชำระ ค่าชดเชยในอัตราผิดนัดตามประกาศโจทก์อัตราร้อยละ 21 ต่อปี จากเงินต้นจำนวนดังกล่าวนับแต่วันผิดนัดจนถึงวันฟ้อง คิดเป็นค่าชดเชยจำนวน 62,147,870.72 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 604,507,870.72 บาท
หนี้ตามฟ้องสัญญาฉบับที่ 3 มีเงินต้นจำนวน 650 ล้านบาท และจำเลยทั้งห้าจะต้องชำระค่าชดเชยในอัตราผิดนัดตามประกาศโจทก์อัตราร้อยละ 21 ต่อปี จากเงินต้นจำนวนดังกล่าวนับแต่วันผิดนัดจนถึงวันฟ้อง คิดเป็นค่าชดเชย จำนวน 79,330,867.40 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 729,330,867.40 บาท
หนี้ตามฟ้องสัญญาฉบับที่ 4 มีเงินต้นจำนวน 381,991,173 บาท และจำเลยทั้งห้าจะต้องชำระค่าชดเชยในอัตราผิดนัดตามประกาศโจทก์อัตราร้อยละ 21 ต่อปี จากเงินต้นจำนวนดังกล่าวนับแต่วันผิดนัดจนถึงวันฟ้อง คิดเป็นค่าชดเชย จำนวน 45,777,081.22 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 427,768,254.22 บาท
ดังนั้นรวมเป็นเงินที่จำเลยทั้งห้าจะต้องร่วมกันรับผิดตามสัญญาเป็นเงินต้นจำนวน 1,614,351,173 บาท กำไรค้างรับและค่าชดเชยจำนวน 191,688,467.26 บาท รวมเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 1,806,039,640.26 บาท (หนึ่งพันแปดร้อยหกล้านสามแสนเก้าหมื่นหกร้อยสี่สิบบาทยี่สิบหกสตางค์) ซึ่งโจทก์ขอถือเป็นทุนทรัพย์ฟ้องแห่งคดีนี้ และนอกจากนี้จำเลยทั้งห้ายังจะต้องร่วมกันรับผิดชำระค่าชดเชยในกรณีผิดนัดอัตราร้อยละ 21 ต่อไป จากเงินต้นจำนวนดังกล่าว นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งห้าจะร่วมกันชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 จำเลยที่ 4 และ จำเลยที่ 5 ในฐานะผู้ค้ำประกัน และผู้จำนำประกันหนี้ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 จำเลยที่ 4 และ จำเลยที่ 5 จึงต้องร่วมรับผิดชดใช้หนี้ต่อโจทก์ตามจำนวนหนี้ที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระ
ขณะที่ในการถอนฟ้อง เมื่อ 16 กรกฎาคม 2558 ธนาคารอิสลามฯ ได้บรรยายว่า
หลังจากนั้น จำเลยที่ 1 ได้เข้ามาเจรจาเพื่อปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามฟ้องกับโจทก์ โดยนำหลักทรัพย์และบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ตามสัญญาสินเชื่อที่จำเลยทำให้ไว้แก่โจทก์ทั้ง 4 ฉบับ พร้อมชำระกำไรและค่าชดเชยให้แก่โจทก์จนเป็นที่พอใจ โจทก์จึงได้ตกลงทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับจำเลย เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.58
“ดังนั้น เพื่อให้โอกาสจำเลยในการปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อตกลงตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้และฟื้นกิจการของจำเลย ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ โจทก์จึงมีความประสงค์ขอถอนฟ้องจำเลยทั้งห้าออกจากสาระบบความ แต่โจทก์ขอสงวนสิทธิที่จะนำคดีนี้ มาฟ้องใหม่ภายในอายุความ หากจำเลยผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ดังกล่าว”คำร้องระบุ
(ดูเอกสารประกอบ)
ที่น่าสนใจก็คือ “หลักทรัพย์” และ “บุคคลภายนอก”ผู้ค้ำประกันหนี้ตามสัญญาสินเชื่อทั้ง 4 ฉบับ ตามที่ระบุข้างต้น มีรายละเอียดเป็นอย่างไร?
อ่านประกอบ:
‘โสภา’ผู้ถือหุ้นรายใหม่ บ.ดีดีมอลล์แจงไม่เกี่ยวข้องผู้บริหารเดิม-ตั้งใจกอบกู้‘อินสแควร์’
บ.เดวาฯผู้ค้ำ 1,700 ล.‘อินสแควร์’ถูกสรรพากรสอบ 19 ฉบับ ระงับ‘เลิกกิจการ’
โดนแล้ว!สรรพากรบี้ภาษี บมจ.สแกนฯ บ.แม่ ‘อินสแควร์’ระงับเลิกกิจการ-สาวถึงผู้ถือหุ้น
บ.เกาะบริติชเวอร์จิน โผล่ถือหุ้นกลุ่ม‘จุไรรัตน์-อินสแควร์’ โยงใยหลายชั้น
โดนแล้ว!สรรพากรบี้ภาษี บมจ.สแกนฯ บ.แม่ ‘อินสแควร์’ระงับเลิกกิจการ-สาวถึงผู้ถือหุ้น
ฉบับเต็ม!รายงานผู้สอบบัญชี‘บ.เจ.เจ.ฯ-ดีดีมอลล์’เงื่อนปมปล่อยกู้‘จุไรรัตน์’190.9 ล.
‘เจ.เจ.เซ็นเตอร์’ปล่อยกู้‘จุไรรัตน์’190.9 ล. ก่อนให้ค้ำประกัน‘แบงก์อิสลาม’1,700 ล.
เผยโฉม บ.ไดมอนด์แกรนด์ ทุน 500 ล. ผู้ซื้อหุ้น‘อิน สแควร์’ เป็นห้องโถง
พบหุ้นใหญ่‘ไดมอนด์แกรนด์’หอบเงินสด 100 ล. ตั้งบริษัท ก่อนซื้อ‘อินสแควร์’ 17 วัน
บ.ดีดีมอลล์-อินสแควร์ เพิ่มทุนปริศนา 500 ล. หลังกู้ 1,700 ล้าน‘แบงก์อิสลาม’
ยื่นนายกฯ-3 รมว.สอบปม บ.ดีดีมอลล์ เช่าที่ดินการรถไฟฯ-กู้ ธ.อิสลาม 1,700 ล.