ข้อเสนอ“ปรองดอง”ฉบับ สปช.(2): เยียวยาเป็นธรรม-คิดต่างอย่างเข้าใจ
โชว์ข้อเสนอแนะ “ปรองดอง” ฉบับ กมธ.การศึกษาแนวทางปรองดอง สปช. (2) : การเยียวยาต้องเป็นธรรม ช่วยเหลือครอบครัวเหยื่อในทุกมิติ ชดเชยโดยไม่เลือกปฏิบัติ สร้างสังคมคิดต่างอย่างเข้าใจ ปฏิรูปการเมืองให้เอื้อประชาธิปไตย ขจัดความเหลื่อมล้ำทางสังคม-เศรษฐกิจ
จากกรณีสำนักข่าวอิศราเปิดเผยข้อเสนอแนะ “การปรองดอง” ฉบับกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษาแนวทางสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) 3 หัวข้อ ได้แก่ การสร้างความเข้าใจร่วมกันของสังคมต่อเหตุความขัดแย้ง การแสวหาและเปิดเผยข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ความรุนแรง และการอำนวยความยุติธรรมการสำนึกรับผิดและการให้อภัย ไปก่อนหน้านี้
(อ่านประกอบ : โชว์ข้อเสนอแนะ“ปรองดอง”ฉบับ สปช.(1): คลี่ปมขัดแย้ง-ชูธง“นิรโทษฯ”)
ยังเหลือข้อเสนอแนะ “ปรองดอง” ฉบับ สปช. อยู่อีก 3 ข้อหลัก ได้แก่ การเยียวยา ดูแลและการฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบ การสร้างสภาวะที่เอื้อต่อการอยู่ร่วมกัน และมาตรการป้องกันการใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง
มีแนวทางอย่างไร ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำมาเปิดเผยให้กันชัด ๆ ดังนี้
-การเยียวยา ดูแลและการฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบ
วิธีการที่ทางหลายหน่วยงานที่เคยศึกษาและดำเนินการสร้างความสมานฉันท์ปรองดอง โดยเฉพาะ กมธ.อิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดอง (คอป.) ที่ ดร.คณิต ณ นคร เป็นประธานฯ นั้น เห็นสอดคล้องกันว่า ควรมีการดำเนินการโดยรัฐ ซึ่งมีหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองชีวิต ทรัพย์สิน และดำรงไว้ซึ่งหลักนิติธรรม
กล่าวคือ รัฐควรดำเนินการให้มีการเยียวยาอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง โดยครอบคลุมความเสียหายในลักษณะต่าง ๆ ไม่จำกัดเพียงตัวเงินเท่านั้น แต่ควรครอบคลุมทั้งด้านการแพทย์ การช่วยเหลือด้านคดีความ ฟื้นฟูดูแลทางด้านจิตใจ อีกทั้ง ควรพิจารณานำหลักของกระบวนการยุติธรรมทั้งทางหลักและทางเลือก เช่น ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ และความยุติธรรมในระบบเปลี่ยนผ่านมาใช้ประกอบด้วย โดยคำนึงถึงบริบทของเหตุการณ์ ข้อเท็จจริง และเหตุจูงใจในการกระทำผิด เพื่อนำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
ในขณะเดียวกัน ก็ต้องเร่งเยียวยาและฟื้นฟูกลุ่มที่ถูกดำเนินคดีอันเกี่ยวเนื่องจากเหตุจูงใจทางการเมืองและให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่จำเป็น โดยแยกแยะลักษณะการกระทำของบุคคลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องตามข้อเท็จจริง และกำหนดเงื่อนไขอย่างถี่ถ้วน เพื่อให้มีหลักประกันในการป้องกันมิให้ความขัดแย้งเกิดซ้ำขึ้นอีก
การเยียวยาเป็นแนวทางที่สามารถสร้างบรรยากาศแห่งการปรองดองระหว่างคนในชาติได้อย่างมีนัยยะสำคัญ เนื่องจากยังมีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ต่าง ๆ จำนวนมาก ที่ยังต้องการการฟื้นฟูสภาพจิตใจและการบรรเทาความเดือดร้อนในมิติต่าง ๆ การดูแลช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบทุกกลุ่มทุกฝ่ายให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรีบนพื้นฐานของความเสมอภาคเท่าเทียม จะทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกว่าได้รับความเป็นธรรมจากรัฐบาล
การให้ความสำคัญกับกลุ่มคนเหล่านี้ ซึ่งเป็นประชาชนและมวลชนที่อยู่ในระดับรากฐานของสังคม จึงถือเป็นจุดตั้งตนที่สำคัญในการบรรเทาความทุกข์ในจิตใจ ฟื้นฟูคุณภาพชีวิต และสร้างบรรยากาศการปรองดองของคนในชาติ
การขับเคลื่อนการเยียวยาให้ประสบผลสำเร็จ ต้องดำเนินการ 7 ด้าน ดังนี้
1.จัดตั้ง “ศูนย์ประสานงานและรวบรวมข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบทุกฝ่ายจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ปี 2548-2557” เพื่อสำรวจรวบรวมปัญหาความเดือดร้อนและความต้องการเยียวยาของผู้ได้รับผลกระทบทุกฝ่ายให้ครบถ้วน โดยการพบปะเยี่ยมเยียนเป็นรายบุคคล การจัดเวทีรับฟังตามภูมิภาคให้ได้ข้อมูลจากทุกฝ่ายที่ครบถ้วนและเป็นระบบ
2.จัดทำ “ฐานข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบทุกฝ่ายจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ปี 2548-2557” ซึ่งรวมถึงสถานะของการได้รับการเยียวยาและอำนวยความยุติธรรมกำหนดหลักเกณฑ์การเยียวยาด้านการเงินตามหลักมนุษยธรรมแก่ผู้ได้รับผลกระทบที่สอดคล้องกับหลักสากลและเป็นธรรม
3.เยียวยา ดูแล และฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากทุกฝ่าย โดยมีมาตรการทั้งในส่วนที่เป็นตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน เช่น การบำบัดฟื้นฟูสภาพร่างกายจิตใจ การช่วยเหลือหาอาชีพให้คนพิการหรือผู้ที่สูญเสียหัวหน้าครอบครัว การดูแลการศึกษาแก่ลูกกำพร้า ให้คำแนะนำด้านกฎหมาย การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ครอบครัวของจำเลยที่ไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว เร่งรัดและติดตามความคืบหน้าคดีที่เกี่ยวเนื่องจาการชุมนุม โอกาสในการรับรู้ข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ เป็นต้น
4.จำแนกกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทั้งจากผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ (1) กลุ่มผู้บาดเจ็บและพิการทางกาย (2) กลุ่มญาติผู้เสียชีวิต (3) กลุ่มผู้ที่ทรัพย์สินได้รับความเสียหาย (4) กลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบทางคดีมีข้อหาหมายจับและถูกดำเนินคดี (5) กลุ่มที่เป็นชุมชนในละแวกใกล้เคียงกับการชุมนุม
5.กำหนดหลักเกณฑ์ ฐานการคิดคำนวณอัตราในการให้การชดเชยความเสียหายและการเยียวยา โดยไม่ทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติ ปัญหาและเงื่อนไขของความขัดแย้งต่อเนื่องทั้งนี้ ควรคำนึงถึงค่าเสียโอกาสจากการมีรายได้ประจำสำหรับผู้มีอาชีพประจำและไม่ประจำ
6.พัฒนา ปรับปรุง จัดทำกฎหมาย ที่จำเป็นในการรองรับการชดเชยความเสียหายและการเยียวยา
-การสร้างสภาวะที่เอื้อต่อการอยู่ร่วมกัน
ท่ามกลางความขัดแย้งที่สั่งสมมาอย่างยาวนานนั้น แนวทางหนึ่งที่สามารถนำมาปฏิบัติและคลี่คลายสถานการณ์ได้โดยการสร้างวิสัยทัศน์ในการพัฒนาประเทศที่ตั้งอยู่บนฐานของความมั่นคงของมนุษย์และหลักนิติรัฐ นิติธรรม ส่งเสริมคุณค่าของสังคมพหุวัฒนธรรม ที่คนในสังคมเคารพและอยู่ร่วมกันได้ แม้มีความคิดเห็นและการให้คุณค่าในการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกัน แต่ก็ยังอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของสังคมและความสัมพันธ์กับเช่นคนในครอบครัวเดียวกันได้ พร้อมทั้งร่วมกันวางมาตรการป้องกันเหตุเกิดขึ้นซ้ำ เพื่อให้สังคมได้เรียนรู้บทเรียนจากความขัดแย้งทางการเมือง โดยอาศัยกลไก ดังนี้
1.จัดทำยุทธศาสตร์สันติวิธีเพื่อความมั่นคงของชาติ โดยพิจารณาทบทวนและพัฒนากรอบคิดจากเดิม เช่น จากคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 187/2556 เรื่องนโยบายการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี เป็นต้น เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินและการดำเนินนโยบายสาธารณะมีฐานคิดที่จะคำนึงถึงการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี มองในมิติของความมั่นคงของมนุษย์และให้คุณค่ากับสังคมพหุวัฒนธรรม
2.ให้มียุทธศาสตร์ในการสื่อสารกับสังคมเพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจของประชาชนให้ได้ตระหนักถึงผลจากการใช้ความรุนแรงในการจัดการปัญหา ความเคารพและรับผิดชอบในการใช้สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล สิทธิในการชุมนุม การอยู่ร่วมกันท่ามกลางความคิดเห็นที่แตกต่าง โดยกำหนดเนื้อหาสาระและวิธีการที่มีพลังในการสื่อสาร
3.ฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล สังคม องค์กร และสถาบันที่มีความขัดแย้งกัน โดยการจัดกระบวนการให้มีการรับฟังและแลกเปลี่ยนมุมองกันอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนกิจกรรมส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคู่ขัดแย้งโดยคำนึงถึงวิธีชีวิตและวัฒนธรรม
4.เร่งรัด ผลักดันการปฏิรูปโครงสร้างหรือองค์กรทางการเมืองให้เอื้อต่อการเกิดวัฒนธรรมทางการเมืองประชาธิปไตยแบบพหุนิยมที่สอดคล้องกับสภาพสังคมไทย เปิดโอกาสให้ทุกกลุ่มทุกฝ่ายมีสัดส่วนในการมีส่วนร่วมทางการเมืองได้ ให้บุคลากรที่มีฝักฝ่ายจากภาคส่วนที่หลากหลาย เช่น ภาคประชาชน กลุ่มวิชาชีพ กลุ่มที่ทำงานรายประเด็น กลุ่มชาติพันธ์ต่าง ๆ สามารถเข้าสู่การทำงานทางการเมืองได้ เพื่อให้วาระต่าง ๆ ที่เป็นประเด็นสาธารณะ ได้ถูกขบคิด กลั่นกรองจากมุมมองที่หลากหลาย
5.เร่งรัด ผลักดันการปฏิรูปโครงสร้างหรือองค์กรทางเศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรมเพื่อขจัดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม
นี่คือข้อเสนอแนะอีก 2 อย่างเพื่อเสริมสร้างแนวทาง “ปรองดอง” ตามแบบฉบับ สปช.
อย่างไรก็ดีที่น่าสนใจคือ กรณีการจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง ซึ่ง เคยทำมาแล้วในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยเป็นการเยียวยาตั้งแต่ปี 2548-2553 ใช้วงเงินกว่า 2 พันล้านบาท โดยแบ่งเป็นรายละ 7.7 ล้านบาท
ทว่าถูกร้องเรียนไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เนื่องจากเห็นว่า ทำไปโดยไม่มีข้อกฎหมายใดรองรับ และขณะนี้ ป.ป.ช. ได้แจ้งข้อกล่าวหาอดีตรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว และอยู่ระหว่างการไต่สวนในชั้นของ ป.ป.ช.
ก่อนที่ล่าสุดรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้จัดทำกรอบการจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองบ้าง ระหว่างปี 2556-2557 โดยใช้หลักเกณฑ์การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หากมีผู้เสียชีวิตจะได้รายละ 4 แสนบาท
ส่วนที่ไม่เยียวยาในช่วงปี 2548-2553 ด้วย เนื่องจากเห็นว่า การกระทำดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการไต่สวนของ ป.ป.ช. จึงต้องพักเรื่องไว้ก่อน และหันมาเยียวยาในช่วงปี 2556-2557 (ม็อบ กปปส.) แทน
ดังนั้นเรื่องนี้จึงต้อง “จับตา” เป็น “พิเศษ” เพราะตามข้อเสนอฉบับนี้ ระบุไว้ชัดเจนว่า การเยียวยาเป็นแนวทางที่สามารถสร้างบรรยากาศ “ปรองดอง” ได้อย่างมีนัยยะสำคัญ
แต่จะเยียวยาทุกคน-ทุกฝ่ายได้เมื่อไหร่ และจะได้รับเงินเท่าไหร่-อย่างไร ต้องติดตามต่อไปอย่างใกล้ชิด !
อ่านประกอบ :
(INFO)ชัด ๆ เกณฑ์เยียวยาฉบับ“ประยุทธ์” VS “ยิ่งลักษณ์”ต่างกันตรงไหน?
กางแนวคิดนิรโทษกรรม“ฉบับเอนก”-แค่“สำนึกผิด”ก็จบแล้วจริงหรือ?
ผ่าทางตันความขัดแย้ง-กางหมวด “ปรองดอง”รธน.ใหม่ ลิ่วหรือร่วง?
เปิดไส้ใน! 2 แนวทางเบื้องต้นนิรโทษกรรมฉบับ “กมธ.ยกร่างรธน.”