ผ่าทางตันความขัดแย้ง-กางหมวด “ปรองดอง”รธน.ใหม่ ลิ่วหรือร่วง?
“...หากจะเสนอพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษให้ใครได้นั้น บุคคลดังกล่าวจะต้องผ่านการพิจารณาจากข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่คณะกรรมการฯรวบรวมมาเสียก่อน แต่ “ความจริง” ก็เหมือนเหรียญ มีสองด้านเสมอ ดังนั้นคณะกรรมการฯชุดนี้ ฟัง “ความจริง” ในแง่ไหน และพิจารณาจากพยานหลักฐานอะไร ?...”
ใกล้ถึงวันชำแหละร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “ปื้ด” เข้าไปทุกทีแล้ว !
ภายหลังคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ แจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญให้บรรดาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ไปตั้งแต่วันที่ 17 เม.ย. ที่ผ่านมา
โดยประเด็นสำคัญที่ สปช. จ้องวิพากษ์วิจารณ์อย่างถึงพริกถึงขิงแน่นอน ได้แก่ ที่มาของนายกรัฐมนตรี ที่เปิดโอกาสให้ “คนนอก” สามารถเข้ามาดำรงตำแหน่งได้ ที่มาของ ส.ส. ที่ใช้สัดส่วนผสมแบบประเทศเยอรมัน และที่มาของ ส.ว. ซึ่งคราวนี้ใช้วิธี “เลือกตั้งทางอ้อม”
อย่างไรก็ดี มีอีกเรื่องหนึ่งที่นับได้ว่าสำคัญไม่แพ้เรื่องดังกล่าวข้างต้น นั่นคือ “หมวดปรองดอง”
ปฏิเสธไม่ได้ว่า สังคมไทยที่ผ่านมา อย่างน้อยตั้งแต่ปี 2548 ถึงปัจจุบัน แตกแยกร้าวลึกยากจะประสานได้เช่นเดิม นับเป็นโจทย์ที่ “หิน” ที่สุดก็ว่าได้ เนื่องจากยังไม่มีข้อเสนอใดที่สามารถ “ดีล” ให้ทุกฝ่ายพอใจ
แล้วรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งใครหลายคนหวังให้เป็น “ฉบับสุดท้าย” จะสามารถทำได้หรือไม่ ?
เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org กาง “หมวดปรองดอง” ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ดังนี้
สำหรับการปรองดองในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถูกบรรจุอยู่ในหมวด 3 เริ่มต้นด้วยมาตรา 297 ระบุว่า เพื่อประโยชน์ในการสร้างความสมานฉันท์ ความรักสามัคคี และความปรองดองระหว่างคนในชาติให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติในสังคมประชาธิปไตยที่มีความแตกต่างหลากหลาย และสร้างแนวทางที่จะนำพาประเทศไปสู่ความมีเสถียรภาพและสันติสุขอย่างยั่นยืน
ให้มี “คณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ” ประกอบด้วย กรรมการจำนวนไม่เกินสิบห้าคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งไม่ฝักฝ่ายทางการเมืองหรือความขัดแย้ง และผู้ซึ่งเป็นผู้นำในความขัดแย้ง
ส่วนอำนาจหน้าที่อื่น ๆ รวมถึงวาระการดำรงตำแหน่งให้เป็นไปตาม “กฎหมายว่าด้วยการเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ”
ต่อมา มาตรา 298 คณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ 7 ข้อ ดังต่อไปนี้
1.ศึกษา วิเคราะห์ เพื่อหาสาเหตุความขัดแย้งในประเทศ ความเสียหายที่เกิดขึ้น และเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขต่อคณะรัฐมนตรีหรือรัฐสภา ทั้งนี้โดยพิจารณารายงานหรือผลการศึกษาที่องค์กรต่าง ๆ จัดทำขึ้น ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
2.เสริมสร้าง ดำเนินการ และประสานงานให้เกิดสภาวะที่เอื้อต่อการอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์และปรองดองในหมู่ประชาชนทั้งประเทศ ส่งเสริมให้มีการเรียนรู้และใช้กระบวนการแก้ปัญหาความขัดแย้งร่วมกัน และสร้างเครือข่ายในการสร้างความปรองดองในภาคส่วนต่าง ๆ ให้มีกระบวนการสร้างความปรองดองเกิดขึ้น
3.เป็นคนกลางในการประสานระหว่างผู้นำในความขัดแย้งทุกกลุ่มเพื่อลดหรือยุติความขัดแย้งระหว่างกัน
4.รวบรวมข้อเท็จจริงและทำรายงานเกี่ยวกับความขัดแย้ง การละเมิดกฎหมาย การละเมิดสิทธิมนุษยชน และผู้ที่เกี่ยวข้องที่เป็นผู้กระทำ ทั้งนี้โดยจะเปิดเผยชื่อผู้ที่เกี่ยวข้องหรือข้อมูลอื่นใดที่ทำให้ทราบได้ว่าเป็นผู้ใด ไม่ได้เว้นแต่จะเป็นการเปิดเผยตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่กฎหมายบัญญัติ
5.ให้การเยียวยาความเสียหายแก่ผู้เสียหายและครอบครัว รวมทั้งฟื้นฟูศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และจิตใจของผู้ได้รับผลกระทบ
6.เสนอให้มีการตราพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษแก่บุคคลซึ่งให้ความจริงอันเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง
7.ให้การศึกษาและเรียนรู้แก่สาธารณชนเพื่อให้ตระหนักถึงผลของความรุนแรง ความเกลียดชัง รวมทั้งความจำเป็นและประโยชน์ของการใช้สันติวิธีแก้ปัญหาความรุนแรง ตลอดจนสร้างเครื่องเตือนใจให้สังคม รำลึกถึงผลร้ายและความเสียหายที่เกิดขึ้นเพื่อจะร่วมกันป้องกันมิให้เกิดเหตุดังกล่าวอีก
8.ส่งเสริมและเสนอแนะการปฏิรูปเพื่อให้เกิดความยุติธรรมในสังคม โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรม เคารพความหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรม และเสนอร่าง พ.ร.บ.เพื่อการดังกล่าวต่อสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศเพื่อเสนอต่อรัฐสภา
9.ดำเนินการอื่นตามที่กฎหมายว่าด้วยการเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ
นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรี รัฐสภา และหน่วยงานของรัฐ ต้องให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ รวมทั้งต้องจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอแก่การดำเนินการของคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ
ที่น่าสนใจคือ บทบาทของ “คณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองฯ” ที่รัฐธรรมนูญระบุให้ “คนกลางเหนือความขัดแย้ง” เข้ามานั่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว
ก็ต้องจับตาดูว่าในประเทศไทย ยังมี “ใคร” อยู่เหนือความขัดแย้งที่จะเข้ามานั่งเก้าอี้ “ร้อน” ตัวนี้ และได้รับการ “ยอมรับ” จากทุกฝ่าย ?
ประเด็นต่อมาซึ่งสำคัญ และเป็นที่ถกเถียงกันมากที่สุดคือ การปรองดองเหล่านี้ เหมือนกับ “นิรโทษกรรม” ใช่หรือไม่
เมื่อพิจารณาจากข้อ 4 ที่ให้คณะกรรมการฯรวบรวมข้อเท็จจริง พยานหลักฐานต่าง ๆ ประกอบการพิจารณา และข้อ 6 ที่ให้อำนาจคณะกรรมการฯชุดนี้ เสนอให้มีการตรา “พระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ” แก่บุคคลซึ่งให้ความจริงอันเป็นประโยชน์
กล่าวคือ หากจะเสนอพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษให้ใครได้นั้น บุคคลดังกล่าวจะต้องผ่านการพิจารณาจากข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่คณะกรรมการฯรวบรวมมาเสียก่อน
แต่ “ความจริง” ก็เหมือนเหรียญ มีสองด้านเสมอ ดังนั้นคณะกรรมการฯชุดนี้ ฟัง “ความจริง” ในแง่ไหน และพิจารณาจากพยานหลักฐานอะไร ?
ท้ายสุด การจ่ายเงินเยียวยาให้กับ “ผู้สูญเสีย-ผู้เสียหาย” จากความขัดแย้งดังกล่าว จะสามารถดำเนินการได้เมื่อไหร่ และจะใช้หลักเกณฑ์อะไร ?
ทั้งหมดนี้คือ “หมวดปรองดอง” ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งต้องรอดูว่า สปช. จะชำแหละเนื้อหาในส่วนนี้ด้วยหรือไม่ นอกเหนือจากประเด็นที่มาของนายกรัฐมนตรี และที่มาของ ส.ส. กับ ส.ว.
เพราะหาก “ความยุติธรรมไม่มี ความสามัคคีก็ไม่เกิด” ฉันใด ก็ฉันนั้น !