logo isranews

logo small 2

กางแนวคิดนิรโทษกรรม“ฉบับเอนก”-แค่“สำนึกผิด”ก็จบแล้วจริงหรือ?

เขียนวันที่
วันศุกร์ ที่ 03 กรกฎาคม 2558 เวลา 13:33 น.
เขียนโดย
isranews

“…หากคำว่า “สำนึกผิด” ของการนิรโทษกรรม “ฉบับเอนก” คือการยอมรับ “ความจริง” ซึ่งต้องเป็นความจริงที่มีพยานหลักฐานยอมรับและน่าเชื่อถือได้ จึงจะสามารถเข้าสู่กระบวนการได้รับการ “นิรโทษกรรม” เปิดช่องให้มีการ “อภัยโทษ” ได้ … แต่หากคำว่า “สำนึกผิด” กลายเป็น “การล้างมลทิน” เท่ากับว่า คดีความที่ติดตัว พ.ต.ท.ทักษิณ จะ “หลุด” ทั้งหมดทันที…”

PIC thaksin 3 7 58 1

“ขณะนี้สังคมไทยต้องการสร้างความปรองดอง ไม่ใช่แค่การปฏิรูป การกลับคืนสู่ประชาธิปไตย การจับกุม 14 นักศึกษานั้น คณะกรรมการฯ มีความเป็นห่วงเรื่องที่เกิดขึ้น พร้อมให้ความช่วยเหลือ หากจะให้ไปร่วมเจรจาก็ยินดี เพราะเชื่อว่า นักศึกษาบริสุทธิ์ไม่มีสีเสื้อ และพร้อมเป็นตัวกลางเปิดเวทีให้ทุกฝ่ายได้มาร่วมเสนอความเห็น”

เป็นคำยืนยันของ “เอนก เหล่าธรรมทัศน์” ประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ภายหลังสรุปผลการศึกษาสร้างแนวทางปรองดอง เพื่อเตรียมส่งให้ “เทียนฉาย กีระนันทน์” ประธาน สปช. นำเข้าสู่ที่ประชุม สปช. พิจารณา

สำหรับแนวทางการเสริมสร้างการปรองดอง “ฉบับเอนก” มีด้วยกัน 6 หัวข้อ ได้แก่

1.การสร้างความเข้าใจร่วมของสังคมต่อเหตุความขัดแย้ง
2.การแสวงหาและเผยแพร่ข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ความรุนแรง
3.การอำนวยความยุติธรรม การสำนึกรับผิดชอบและการอภัย เช่น การนิรโทษกรรม
4.การเยียวยาดูแลและฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบ
5.การสร้างสภาวะที่เอื้อต่อการอยู่ร่วมกัน
6.มาตรการป้องกันการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง

เพื่อขยายความให้ชัดขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เรียบเรียงแนวทาง “นิรโทษกรรม” ฉบับ “เอนก” มาเทียบกับการนิรโทษกรรมฉบับ “กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ” และเนื้อหาใน “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ให้เห็นกันดังนี้

สำหรับแนวทางการนิรโทษกรรม “ฉบับเอนก” เป็นหนึ่งในแนวทางปรองดองที่เสนอกันมา โดยเงื่อนไขเวลานิรโทษกรรมจะอยู่ในช่วงปี 2548-2557 แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ

หนึ่ง ระดับผู้ชุมนุม-เจ้าหน้าที่ปฏิบัติ แยกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1.ผู้ทำผิดจากมูลเหตุจูงใจทางการเมือง อาจให้อัยการพิจารณาไม่สั่งฟ้อง 2. ผู้ทำผิดคดีอาญาโดยเนื้อแท้ เช่น ฆ่าคนตาย การมีอาวุธครอบครอง 3.ผู้ทำผิดจากมูลเหตุจูงใจทางการเมืองและคดีอาญาโดยเนื้อแท้ ซึ่งในกลุ่มที่สองและสามจะต้องไปต่อสู้คดีอาญาตามกระบวนการยุติธรรมตามปกติ กระทั่งเมื่อรับโทษไประยะหนึ่งแล้ว ก็สามารถขอรับการอภัยโทษ

สอง ระดับแกนนำ-เจ้าหน้าที่ระดับสั่งการ ซึ่งควรทำหลังจากที่นิรโทษกรรมระดับประชาชนเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติไปแล้ว 1 ปี และจะทำได้ก็ต่อเมื่อมีข้อเท็จจริงทั้งหมดปรากฏต่อสังคมแล้ว และแกนนำต้องแสดงความสำนึกผิด รวมถึงเหยื่อต้องให้อภัยจึงจะเข้าสู่กระบวนการนิรโทษกรรม
แต่หลักเกณฑ์นิรโทษกรรมจะไม่ครอบคลุมถึงคดีทุจริตคดีอาญาโดยเนื้อแท้ คดีมาตรา 112 และคดีละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง

หลังจากที่มีการนิรโทษกรรมแล้ว จะไปสู่ขั้นตอนการเยียวยาโดยเท่าเทียมกัน ไม่ให้เกิดความรู้สึกเหลื่อมล้ำ มาตรการเยียวยาจะมีทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน แต่จะเป็นการสร้างอาชีพ การให้การศึกษา จากนั้นจะต้องเปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริง และรายชื่อบุคคลที่อยู่เบื้องหลังเหตุความขัดแย้งทั้งหมดให้สังคมทราบภายหลังจากที่มีการนิรโทษกรรมไปแล้ว 20 ปี ตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ

ที่น่าสนใจคือ การนิรโทษกรรมดังกล่าว สามารถทำได้ทั้งตามช่องทางของกฎหมาย เช่น อัยการสั่งไม่ฟ้อง การอภัยโทษ รวมถึงให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ออกเป็นกฎหมาย คณะรัฐมนตรีออกเป็นพระราชกฤษฎีกา

รวมทั้งในสถานการณ์ไม่ปกติ เช่น ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 เป็นต้น !

คำถามคือ “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ และหนึ่งในตัวการสร้างความขัดแย้งในสังคมไทย จะได้รับการนิรโทษกรรม “ฉบับเอนก” หรือไม่นั้น ?

คำตอบคือ “พ.ต.ท.ทักษิณ” อยู่ในระดับแกนนำและผู้สั่งการถ้าจะนิรโทษกรรมได้ จะต้องเข้าสู่กระบวนการสำนึกผิดก่อน ส่วนคดีอาญาก็ต้องว่ากันไปตามกระบวนการยุติธรรม เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ มีคดีติดตัวหลายเรื่อง !

คำถามที่น่าสนใจต่อไปคือ คำว่า “สำนึกผิด” ในที่นี้ หมายถึงอะไรกันแน่ ?

เพราะไม่ว่าใน “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” และแนวคิดของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ภาค 4 หมวดปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง ก็ไม่ได้บัญญัติคำว่า “สำนึกผิด” ไว้แต่อย่างใด

เมื่อกางเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ บัญญัติ “หมวดปรองดอง” ในมาตรา 297-298

ระบุเหตุผลว่า เพื่อประโยชน์ในการสร้างความสมานฉันท์ ความรักสามัคคี และความปรองดองระหว่างคนในชาติให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติในสังคมประชาธิปไตยที่มีความแตกต่างหลากหลาย และสร้างแนวทางที่จะนำพาประเทศไปสู่ความมีเสถียรภาพและสันติสุขอย่างยั่นยืน

ให้มี “คณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ” ประกอบด้วย กรรมการจำนวนไม่เกินสิบห้าคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งไม่ฝักฝ่ายทางการเมืองหรือความขัดแย้ง และผู้ซึ่งเป็นผู้นำในความขัดแย้ง

สำหรับหน้าที่ที่สำคัญคือ นอกจากวิเคราะห์ปัญหาความขัดแย้งในประเทศ และสร้างสภาวะให้สังคมเอื้อต่อการอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ และให้การเยียวยาความเสียหายแก่ผู้เสียหายและครอบครัวของผู้ได้รับผลกระทบแล้วนั้น

จะต้องรวบรวมข้อเท็จจริงและทำรายงานเกี่ยวกับความขัดแย้ง โดยไม่สามารถเปิดเผยชื่อผู้ที่เกี่ยวข้องได้ ยกเว้นจะเปิดเผยตามหลักเกณฑ์ และวิธีการ และระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด

รวมถึงสามารถเสนอให้ “ตราพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ” ให้แก่บุคคลซึ่งให้ “ความจริง” อันเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

ซึ่งคำว่า “ความจริง” กับคำว่า “สำนึกผิด” นั้น เป็นคนละเรื่องโดยสิ้นเชิง !

“ความจริง” ก็เหมือนเหรียญที่มีสองด้าน อยู่ที่ว่าจะรับฟังจากใคร และพยานหลักฐานของฝ่ายใด “น่าเชื่อถือ” มากกว่ากัน

ขณะที่ “สำนึกผิด” นั้น เป็นเพียงคำกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีน้ำหนักหลักฐานอะไรที่จะยืนยันได้เลยว่า บุคคลดังกล่าว “สำนึกผิด” โดยแท้จริง ?

ขณะเดียวกันในรายงานกรอบแนวคิดเบื้องต้นของ กมธ.ยกร่างฯ ในหมวดปฏิรูปและสร้างความปรองดอง ระบุไว้ชัดเจนว่า การนิรโทษกรรม นั้นเป็นคนละส่วนกับการล้างมลทิน !

การนิรโทษกรรม หมายถึง การลืม แต่ในกระบวนการทางกฎหมาย หมายถึง การกระทำของบุคคลบางประการนี้ไม่ถือเป็นความผิด ไม่ต้องรับโทษ ผลสำหรับการนั้นไม่ต้องถูกนำมาบังคับใช้ หรือบางกรณีเป็นการยกโทษให้ทั้งหมด เสมือนหนึ่งว่ามิเคยต้องโทษนั้นเลย ให้ลืมความผิดนั้นเสีย การนิรโทษกรรมจึงเป็นการยกเลิกความผิดของกฎเกณฑ์แห่งกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ ซึ่งต้องกระทำโดยอำนาจนิติบัญญัติ

การล้างมลทิน คือ การล้างความผิดให้แก่ผู้ต้องโทษ หรือเคยต้องโทษ ให้พ้นโทษ ผลในทางกฎหมายให้ถือว่าบุคคลที่ถูกลงโทษ หรือเคยถูกลงโทษเนื่องมาจากการกระทำความผิด ไม่เคยถูกลงโทษ ในความผิดนั้นมาก่อน แต่มิได้เป็นการล้มล้างการกระทำที่เป็นความผิด ยังคงได้ชื่อว่าผู้นั้นเคยกระทำความผิด ซึ่งต้องกระทำโดยอำนาจนิติบัญญัติ ตราเป็นพระราชบัญญัติเนื่องในโอกาสสำคัญของชาติ หรือเนื่องในโอกาสที่เป็นมงคล เช่น พ.ร.บ.ล้างมลทินผู้กระทำความผิดทางการเมือง ร.ศ.130 (กบฏ ร.ศ.130) พ.ศ. 2475 (คณะราษฎร) เป็นต้น

กล่าวให้ง่ายขึ้นคือ คำว่า “นิรโทษกรรม” นั้น ผู้ที่ถูกศาลพิพากษาว่า “ผิดจริง” จะต้องรับโทษทัณฑ์นั้นเสียก่อน จึงจะสามารถยกโทษ หรือลดโทษบางส่วนลงได้

ซึ่ง “วิษณุ เครืองาม” รองนายกฯ และ “เนติบริกร” รุ่นใหญ่ เคยออกมายืนยันหลายครั้งแล้วว่า จะนิรโทษกรรมได้ ผู้ที่กระทำผิดต้องมารับโทษก่อน !

ส่วนการล้างมลทินคือ ไม่ว่าก่อนหน้านี้จะเคยทำอะไรมา จะติดคุกมาก่อนหรือไม่ติดคุกก็ตาม ก็ให้พ้นจากโทษทั้งหมด และไม่ต้องถูกลงโทษในความผิดดังกล่าวมาก่อน แต่ยังคงเชื่อได้ว่าคนดังกล่าวเคยกระทำความผิดดังเดิม

ดังนั้น ถ้าพิจารณาจากข้อเท็จจริงข้างต้นจะเห็นได้ว่า

หนึ่ง หากคำว่า “สำนึกผิด” ของการนิรโทษกรรม “ฉบับเอนก” คือการยอมรับ “ความจริง” ซึ่งต้องเป็นความจริงที่มีพยานหลักฐานยอมรับและน่าเชื่อถือได้ จึงจะสามารถเข้าสู่กระบวนการได้รับการ “นิรโทษกรรม” เปิดช่องให้มีการ “อภัยโทษ” ได้

สอง แต่หากคำว่า “สำนึกผิด” กลายเป็น “การล้างมลทิน” เท่ากับว่า คดีความที่ติดตัว พ.ต.ท.ทักษิณ จะ “หลุด” ทั้งหมดทันที

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าข้อเท็จจริงเรื่องนี้จะเป็นเช่นไร

คำถามที่ต้องถามกลับไปยัง คณะกรรมการปรองดองฯ “ฉบับเอนก” คือ การนิรโทษกรรมครั้งนี้ จะสามารถแก้ไขปัญหา “ความขัดแย้ง” ที่ฝังรากลึกในประเทศไทยมาอย่างยาวนานได้จริงหรือ ?

อ่านประกอบ :
ผ่าทางตันความขัดแย้ง-กางหมวด “ปรองดอง”รธน.ใหม่ ลิ่วหรือร่วง?
เปิดไส้ใน! 2 แนวทางเบื้องต้นนิรโทษกรรมฉบับ “กมธ.ยกร่างรธน.”