“วรพจน์”เป็นพยานคดี“หัสวุฒิ”ฟ้อง 2 ก.ศป.ถ่วงเวลาสอบปม“จดหมายน้อย”
“วรพจน์ วิศรุตพิชญ์” ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด เป็นพยานคดี “หัสวุฒิ” ฟ้อง “ชาญชัย-วิษณุ” ปมเตะถ่วงสอบสวนคดี “จดหมายน้อย” ยันกว่าจะได้ประชุมกรรมการสอบฯนัดแรกเกิน 60 วันตามระเบียบ ก.ศป. แล้ว เผยหากไม่ทำให้เสร็จโดยไว ทำคนถูกพักราชการไม่ได้เงินเดือน-เสียประโยชน์
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2558 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นัดไต่สวนมูลฟ้อง คดีที่นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด (ปัจจุบันถูกคำสั่งให้พักราชการ) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายชาญชัย แสวงศักดิ์ และนายวิษณุ วรัญญู คณะกรรมการตุลาการศาลปกครองสูงสุด (ก.ศป.) เป็นจำเลย ในข้อหาผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ โดยกล่าวหาว่า ถ่วงเวลาในการสอบสวนนายหัสวุฒิจนเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดทำให้เสียหายจากการสั่งพักราชการ
เบื้องต้น ทนายฝ่ายจำเลย ไม่ได้มาตามนัด เนื่องจากติดภารกิจ ซึ่งศาลอนุญาต ส่วนทนายฝ่ายโจทก์ ขอเบิกตัว นายวรพจน์ วิศรุตพิชญ์ ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด เป็นพยานตามหมายศาลในคดีนี้
โดยนายวรพจน์ กล่าวว่า เคยเป็น ก.ศป. เมื่อช่วงปี 2556-30 มี.ค. 2558 และมีความรู้จักคุ้นเคยกับโจทก์และจำเลยเป็นอย่างดี ทั้งนี้ได้รับการแต่งตั้งจาก ก.ศป. ตามคำสั่งที่ 7/2558 ให้ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการสอบสวนโจทก์ ที่ถูกกล่าวหาเกี่ยวกับข่าวที่ปรากฏทางสื่อมวลชน กรณีนายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม เลขาธิการสำนักงานศาลปกครองได้ทำบันทึกส่วนตัวหรือ "จดหมายน้อย" ขอสนับสนุนการเลื่อนยศให้แก่นายตำรวจนายหนึ่งโดยอ้างว่า เป็นความต้องการของประธานศาลปกครองสูงสุด โดยมีนายชาญชัย เป็นประธานกรรมการสอบสวนฯ และมีนายวิษณุ เป็นกรรมการและเลขานุการ
นายวรพจน์ กล่าวอีกว่า ตามระเบียบ ก.ศป. ว่าด้วยวิธีการสอบสวนและสิทธิของตุลาการศาลปกครองซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีเหตุให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง พ.ศ.2544 เมื่อมีการแต่งตั้งกรรมการสอบสวนแล้ว จะต้องนัดประชุมคณะกรรมการฯครั้งแรก เพื่อกำหนดแนวทางสอบสวน หลังจากนั้นจะต้องเรียกผู้ถูกกล่าวหา กรณีนี้คือประธานศาลปกครองสูงสุด มารับทราบ และอธิบายรายละเอียดการกล่าวหาให้รับทราบ ซึ่งตามระเบียบ ก.ศป. ว่าด้วยวิธีการสอบสวนฯ ระบุด้วยว่า ต้องทำให้เสร็จโดยเร็ว โดยไม่เกิน 30 วัน ถ้าสอบสวนไม่เสร็จใน 30 วัน สามารถขอเลื่อนได้ 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 15 วัน และต้องแจ้งให้ที่ประชุม ก.ศป. ทราบ ถ้าเกินกว่าระยะเวลาดังกล่าวแล้ว การขอเลื่อนจะต้องผ่านมติของ ก.ศป. ก่อน
นายวรพจน์ กล่าวว่า สำหรับกรณีนี้ ก.ศป. มีมติตั้งคณะกรรมการสอบสวนฯ เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2558 ต่อมาเมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2558 ฝ่ายเลขานุการกรรมการสอบสวน (นายวิษณุ) ได้ประสานมายังเลขานุการส่วนของตน เพื่อนัดประชุมนัดแรกในวันที่ 24 เม.ย. 2558 และจะส่งหนังสือนัดการประชุมมาให้ทีหลัง แต่ปรากฏว่าต่อมาไม่ได้ส่งหนังสือนัดประชุมมาให้แต่อย่างใด ต่อมาเมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2558 ฝ่ายเลขานุการกรรมการสอบสวน ได้ประสานมายังเลขาฯตนอีกครั้ง โดยขอยกเลิกการประชุมนัดแรกไปก่อน เนื่องจาก ก.ศป. อยู่ระหว่างดำเนินการขอให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ทบทวนการแต่งตั้งนายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์ ที่ปรึกษาในศาลปกครองสูงสุด ในฐานะกรรมการ ก.พ. ไปเป็นกรรมการสอบสวนกรณีนี้ เนื่องจากเห็นว่าไม่สอดคล้องกับ พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539
นายวรพจน์ กล่าวอีกว่า ต่อมา เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2558 ประธานกรรมการสอบสวน (นายชาญชัย) มีหนังสือถึงกรรมการสอบสวน เพื่อนัดประชุมครั้งแรกในวันที่ 19 มิ.ย. 2558 เพื่อกำหนดแนวทางล่าสุด ตามระเบียบ ก.ศป. ว่าด้วยวิธีการสอบสวนฯ ที่กำหนดให้สอบสวนให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน และต้องทำการสอบสวนโดยรวดเร็ว หากมีมูลจะได้รายงานให้ที่ประชุม ก.ศป. พิจารณาลงโทษ แต่ถ้าไม่มีมูลจะได้ยุติเรื่อง และให้กลับเข้ามารับราชการโดยเร็ว ซึ่งขณะนี้โจทก์ก็ยังถูกพักราชการอยู่
ทนายฝ่ายโจทก์ ถามว่า กรณีนี้โจทก์ถูกสั่งพักราชการก่อนที่จะมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนฯหรือไม่ นายวรพจน์ กล่าวว่า โจทก์ถูกพักราชการเมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2558 ส่วนคณะกรรมการสอบสวนฯ ถูกตั้งเมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2558 ดังนั้น โจทก์จึงถูกสั่งพักราชการหลังจากตั้งคณะกรรมการสอบสวนฯ อย่างไรก็ดีในการประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2558 ยังไม่ได้มีการเรียกโจทก์มารับทราบข้อกล่าวหา และยังไม่ได้มีการอธิบายข้อกล่าวหาให้โจทก์แต่อย่างใด เพราะวันที่ 19 มิ.ย. 2558 เกินระยะเวลา 60 วัน ตามระเบียบ ก.ศป. ว่าด้วยวิธีการสอบสวนฯแล้ว ดังนั้นการจะขยายเวลาต้องได้รับมติของ ก.ศป. ก่อน จึงยังไม่ได้เรียกให้โจทก์เข้าพบ แต่ล่าสุดประธานกรรมการสอบสวนฯ ได้มีหนังสือนัดประชุมกรรมการสอบสวน ในวันที่ 15 ก.ค. 2558 เวลา 09.30 น. เพื่อเรียกให้โจทก์เข้ารับทราบข้อกล่าวหาแล้ว
ทนายฝ่ายโจทก์ ถามว่า กรณี ก.ศป. ขอให้ทบทวนการแต่งตั้งนายธีรยุทธ์ เป็นกรรมการสอบสวนฯนั้น คุณมีท่าทีอย่างไร นายวรพจน์ กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับที่ประชุม ก.ศป. วันดังกล่าว แต่ไม่เห็นด้วยตรงที่ใช้คำว่าคัดค้าน เนื่องจากไม่ใช่สิทธิของ ก.ศป. แต่เป็นสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาที่จะคัดค้าน ดังนั้นจึงเสนอให้ใช้คำว่าทักท้วงแทน
ทนายฝ่ายโจทก์ ถามว่า กรณีนี้ โจทก์จะได้รับความเสียหายอย่างไร หากการสอบสวนยังไม่แล้วเสร็จ นายวรพจน์ กล่าวว่า ทำให้ไม่อาจรู้ว่าผิดในเรื่องอะไร แต่ถูกพักราชการไปแล้ว และการถูกพักราชการทำให้ไม่ได้รับเงินเดือน และเสียสิทธิประโยชน์หลายอย่างอีกด้วย
ทั้งนี้ ศาลได้นัดไต่สวนมูลฟ้องอีกครั้ง เพื่อให้ทนายฝ่ายจำเลยดำเนินการซักค้านพยานโจทก์ ในวันที่ 28 ก.ย. 2558 เวลา 09.00 น.
อ่านประกอบ :
ศาลอาญายกคดี"หัสวุฒิ"ฟ้อง 6 ก.ศป อ้างมติสั่งพักราชการไม่ชอบด้วย กม.
ก.พ.เมิน ก.ศป.ทักท้วง ยืนมติตั้ง "ธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์"สอบ ปธ.ศาลปกครอง
ก.ศป.มีมติให้ ปธ.ศาลปกครองสอบ "ดิเรกฤทธิ์"กล่าวหาขวางประชุมพักงาน"หัสวุฒิ"
รักษาการประธานศาลปค.ขอ"ดิเรกฤทธิ์"ย้ายพ้นเลขาฯ-ลดขัดแย้ง "จม.น้อย"ฝากตร.
"ชาญชัย"ลงนามคำสั่งพักงาน"หัสวุฒิ"ทางการ-ก.ศป.ค้านชื่อ "ธีรยุทธ์" กก.สอบ
ก.ศป.มีมติ 8:3 สั่งพักราชการ “ปธ.ศาลปกครองสูงสุด"คดีจม.น้อยฝาก ตร.
เลือก ก.ศป.ผวาเปลี่ยนบัตร ส่งตุลาการ ประกบนำเข้า กทม.-ชี้ชะตา"หัสวุฒิ" 30 มี.ค.
องค์คณะ"ก.ศป."ครบ 13คนทางการ สนช.เคาะ 2 ชื่อ สุดท้าย"อุดม-วีรวิทย์"
"หัสวุฒิ"โล่ง!ก.ศป.เลื่อนลงมติคดีจม.น้อย"วรพจน์-พัลลภ"โหวตไม่เร่งด่วน
เปิดหนังสือ "หัสวุฒิ" งัดม.157 ขู่ ก.ศป.ยกเลิกประชุมลงมติคดี "จม.น้อย"
"หัสวุฒิ" ยื่นโนติส ก.ศป.ยกเลิกประชุมลงมติคดี"จม.น้อย"-เพิกเฉยเจอ ม.157
คดีจม.น้อยฝาก"ตร."ไร้ข้อยุติ!องค์ประชุม ก.ศป.ล่ม-กก.ลาเพียบ"หัสวุฒิ"ด้วย
ชะตากรรมประธานศาลปกครองสูงสุด