"หัสวุฒิ" ยื่นโนติส ก.ศป.ยกเลิกประชุมลงมติคดี"จม.น้อย"-เพิกเฉยเจอ ม.157
"หัสวุฒิ" ปธ.ศาลปกครอง มอบอำนาจทนายความส่วนตัว ส่งหนังสือแจ้งเตือน "ก.ศป." ยกเลิกการประชุมลงมติพิจารณาคดี "จม.น้อย" ฝาก"ตร." 17 ธ.ค.นี้ เพิกเฉยเจอฟ้องร้องดำนินคดีตาม ม.157 แน่ ชี้ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน องค์ประชุมไม่ครบ ผลสอบสวนดำเนินการเร่งรีบ มีเจตนากลั่นแกล้งให้ได้รับความเสียหาย
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ในวันที่ 17 ธันวาคม 2557 นี้ เวลา 13.30 น. คณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) มีนัดหมายประชุมเพื่อพิจารณาวาระสำคัญเกี่ยวกับผลการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณี นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม เลขาธิการศาลปกครองได้ทำหนังสือจำนวน 2 ฉบับ โดยอ้างว่า นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด มีความประสงค์สนับสนุนนายตำรวจ ซึ่งเป็นเพื่อนกับหลานชายให้ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้กำกับ
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา นายศิริพัฒน์ บุญมี ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากนายหัสวุฒิ ประธานศาลปกครองสูงสุด ได้ทำหนังสือแจ้งถึงคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) เพื่อขอให้ระงับการประชุมและลงมติในวาระที่เกี่ยวข้องกับนายหัสวุฒิดังกล่าว
ระบุเนื้อหาสำคัญว่า ตามที่ ก.ศป. ได้กำหนดวาระการประชุม และจัดให้มีการประชุม ก.ศป.ครั้งที่ 179-14/2557 ในวันที่ 17 ธันวาคม 2557 เพื่อพิจารณาผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเรื่องการสืบสวนข้อเท็จจริง กรณีปรากฎในรายงานข่าวว่า นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม เลขาธิการศาลปกครอง ได้ทำหนังสือจำนวน 2 ฉบับ โดยอ้างว่า นายหัสวุฒิ มีความประสงค์สนับสนุนนายตำรวจ ซึ่งเป็นเพื่อนกับหลานชายให้ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้กำกับ
ทั้งที่ การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงได้กระทำการฝ่าฝืนระเบียบ ก.ศป.ว่าด้วยวิธีการสอบสวนและสิทธิของตุลาการศาลปกครองซึ่งถูกกล่าวหามีเหตุให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง พ.ศ.2544 ข้อ 4 (3) และแต่งตั้งบุคคลที่มีความขัดแย้งส่วนตัวกับนายหัสวุฒิมาทำหน้าที่คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง
อีกทั้งการสอบสวนข้อเท็จจริงไม้ได้ดำเนินการด้วยความเป็นธรรมตามข้อเท็จจริงและหลักฐาน โดยคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงได้ดำเนินการสอบสวนอย่างเร่งรัดเร่งรีบ รับฟังข้อเท็จจริงที่ไม่ชอบ เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่เป็นผลร้ายกับนายหัสวุฒิ
นอกจากนี้ การจัดประชุม และการลงมติของก.ศป.ครั้งก่อนๆ เกี่ยวกับเรื่องของนายหัสวุฒิดังกล่าว ก.ศป.ก็ทราบเป็นอย่างดีว่าการจัดประชุมและการลงมติไม่ครบองค์ประกอบ และไม่ครบองค์ประชุม อีกทั้งไม่ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องให้ความเห็นชอบตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 40 มาตรา 41/1 แต่ ก.ศป.ก็ยังรีบเร่งดำเนินการจัดประชุมและมีมติ โดยมีเจตนากลั่นแกล้งให้นายหัสวุฒิได้รับความเสียหาย
"ดังนั้น ข้าพเจ้านายศิริพัฒน์ บุญมี ในฐานะทนายความผู้รับมอบอำนาจจากนายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยะกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด จึงขอให้ ก.ศป. ยุติหรือยกเลิกการประชุมหรือการลงมติในวาระที่เกี่ยวข้องกับนายหัสวุฒิฯ ดังกล่าวข้างต้น หากก.ศป.ทั้งหมดหรือบางส่วนยังคงเพิกเฉยเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่นายหัสวุฒิฯ ข้าพเจ้ามีความจำเป็นต้องดำเนินคดีกับท่านในข้อหาหรือฐานความผิดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา157จนกว่าคดีจะถึงที่สุด" ทนายความนายหัสวุฒิในหนังสือแจ้งเตือน
แหล่งข่าวจาก ก.ศป. กล่าวยืนยันกับสำนักข่าวอิศรา ว่า ในช่วงเวลา 13.30 น. วันที่ 17 ธ.ค.57 นี้ จะยังคงมีการประชุม ก.ศป.ตามปกติ ซึ่งตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ ที่แก้ไขเพิ่มเติม บัญญัติไว้ว่าถ้าเป็นเรื่องเร่งด่วน ก.ศป. 6 คน ก็ถือว่าครบองค์ประชุม ดังนั้น แม้จะมีคนไม่เข้าประชุมหรือเดินออกเพียงคนเดียวจาก 7 คนที่มีเหลืออยู่ในปัจจุบัน อีก 6 คน ก็ยังประชุมได้ถ้าเห็นว่าเป็นวาระเร่งด่วน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงสร้าง ก.ศป. ประกอบด้วยกรรมการทั้งหมด 13 คน เป็นบุคคลภายนอก 3 คน คัดเลือกมาจากวุฒิสภา 2 คน คณะรัฐมนตรี (ครม.) 1 คน ส่วนที่เหลือ 9 คน เป็นผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับเลือกจากตุลาการศาลปกครองจำนวน 9 คนเท่านั้น แบ่งเป็นตัวแทนศาลสูง 6 คน และศาลชั้นต้น 3 คน ขณะที่ประธานศาลปกครองเป็นประธาน ก.ศป.โดยตำแหน่ง
ทั้งนี้ ภายหลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ยึดอำนาจการปกครองและได้มีการออกประกาศ คสช. ให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สิ้นสุดลง จนเป็นเหตุให้ประธานศาลปกครองสูงสุดและกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิ คือ นายเกษม คมสัตย์ธรรม และนายสุเมธ รอยกุลเจริญ มีความเห็นว่า โดยที่ ก.ศป. ได้จัดตั้งขึ้นโดยรัฐธรรมนูญดังกล่าว มิได้จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 เมื่อรัฐธรรมดังกล่าวได้สิ้นสุดลงแล้ว ก.ศป. จึงสิ้นสภาพไปด้วย เป็นเหตุให้ประธานศาลปกครองสูงสุดไม่เข้าร่วมการประชุม ก.ศป.
และต่อมา นายเกษม คมสัตย์ธรรม และนายสุเมธ รอยกุลเจริญ ได้ลาออกจากการเป็นกรรมการ ส่วนกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับเลือกจากวุฒิสภา 2 คน และจากคณะรัฐมนตรี 1 คน ที่ได้พ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุดำรงตำแหน่งครบวาระไปก่อนแล้ว ก็ยังมิได้มีการดำเนินการเลือกกรรมการฯ ใหม่เข้ามาแทน ทำให้ ก.ศป.ที่สามารถทำหน้าที่ได้เหลือเพียงแค่ 7 คน
ขณะที่ นายวรพจน์ วิศรุตพิชญ์ กรรมการ ก.ศป. ได้แสดงจุดยื่นชัดเจนว่าจะไม่เข้าร่วมประชุมและลงมติในคดีจดหมายน้อย จนกว่า ก.ศป.จะมีองค์คณะที่สมบูรณ์ โดยเฉพาะมี ก.ศป. ที่ได้รับเลือกจากวุฒิสภา 2 คน และ ครม. 1 คน เข้ามาทำหน้าที่แล้ว
(อ่านประกอบ : “วรพจน์” แจงเหตุลาประชุม ก.ศป. ทำวาระลงมติคดี จม.น้อย ล่ม-กลัวไม่สง่างาม)
อย่างไรก็ตาม ในพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ 7 ) พ.ศ. 2557 ระบุไว้ในมาตรา 11 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 41/1 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ว่า
“มาตรา 41/1 กรณีที่ไม่มีกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา 35 วรรคหนึ่ง (3) หรือมีแต่ไม่ครบสามคน ถ้ากรรมการตุลาการศาลปกครองจำนวนไม่น้อยกว่าหกคน เห็นว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องให้ความเห็นชอบ ให้กรรมการตุลาการศาลปกครองจำนวนดังกล่าวเป็นองค์ประกอบและองค์ประชุมพิจารณาเรื่องเร่งด่วนนั้นได้”
(อ่าน พระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๕๗ ฉบับเต็มได้ที่นี่ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2557/A/079/4.PDF)
อ่านประกอบ
คดีจม.น้อยฝาก"ตร."ไร้ข้อยุติ!องค์ประชุม ก.ศป.ล่ม-กก.ลาเพียบ"หัสวุฒิ"ด้วย
เปิดคำพิพากษายกฟ้อง “ดิเรกฤทธิ์”ฟ้อง”อิศรา” กรณีจม.น้อย
"ดิเรกฤทธิ์" ฟ้องแพ่ง"อิศรา"เพิ่ม!เรียกค่าเสียหาย 50 ล.-ขอคุ้มครองชั่วคราว
คกก.ข้อมูลข่าวสารฯ รับอุทธรณ์ "ผอ.อิศรา"ปมศาลปค.ปัดให้ผลสอบ"จม.น้อย"
"ดิเรกฤทธิ์"โดนโทษเบาหวิวแค่ตักเตือนปมจม.น้อยฝากตร.-ปธ.ศาลปค.รอด
“ตุลาการ” โวย สนง.ศาลปกครอง แถลงบิดเบือนผลสอบจม.น้อยฝาก "ตร."