นักวิจัยสกว.ชี้ข้าวโพดตัวการใหญ่วิกฤติหมอกควัน จี้รัฐบังคับนายทุนรับผิดชอบ
สกว.ระดมสมองนักวิชาการหาทางแก้ปัญหาหมอกควัน ระบุ ‘ไร่ข้าวโพด’ ตัวการใหญ่ แนะรัฐเพิ่มมาตรการทาง กม.บังคับกลุ่มนายทุน “เกษตรพันธสัญญา” รับผิดชอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม สร้างตระหนักรู้แก่ชุมชน
เร็ว ๆ นี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดประชุมหารือประเด็นหมอกควันในภาคเหนือ ร่วมกับผู้บริหารและคณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมด้วยนักวิจัยจากฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น สกว. ณ ห้องประชุมสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
รศ. ดร. นพ.พงศ์เทพ วิวรรธนะเดช ผอ.ศูนย์วิจัยและจัดการคุณภาพอากาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงปัญหามลพิษทางอากาศในภาคเหนือมีหลายปัจจัย ทั้งการจราจรในเขตเมือง ทำให้มีการเผาไหม้ของน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในช่วงเร่งด่วน อุตสาหกรรมทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ที่มีการใช้เชื้อเพลิงไม่สะอาด อาทิ อิฐ แกลบ รวมถึงการใช้ซัลเฟอร์ไดออกไซด์อบลำไย การเผาในที่โล่ง ไม่ว่าจะเป็นขยะ ป่า และการเกษตร
ทั้งนี้ ตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาหมอกควันมากที่สุด คือ การทำไร่ข้าวโพด โดยเฉพาะในเขตอำเภอแม่แจ่มและอมก๋อย ตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงเผาตอซังรวม 3 ครั้งต่อปี
ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เกิดการสะสมสารพิษในร่างกายตลอดทั้งปี ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยมะเร็งปอดและหอบหืดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะช่วงที่มีหมอกควันหนาแน่นในเดือนมกราคม-มีนาคม จะมีอัตราการเสียชีวิตมากขึ้น
ปัญหาของการจัดการหมอกควันในภาคเหนือ ผอ.ศูนย์วิจัยฯ มช. ระบุคือ การขยายพื้นที่เพื่อจัดการปัญหาที่ดีทำได้ช้า ไม่ทันกระแสทุนนิยมที่ทำเกษตรพันธสัญญาให้ปลูกข้าวโพด โดยมีผู้นำชุมชนเป็นเสือนอนกิน เป็นนายหน้าให้กับกลุ่มนายทุนที่เอาแต่ผลกำไรแล้วผลักภาระการกำจัดขยะให้เกษตรกร การขับเคลื่อนกฎหมายทำได้ช้า ไม่มีนโยบายจากภาครัฐที่ชัดเจนบังคับให้กลุ่มนายทุนเหล่านี้รับผิดชอบเรื่องการกำจัดขยะอย่างถูกวิธี จึงยิ่งส่งผลให้ปัญหาอย่างต่อเนื่องและสร้างความเดือดร้อนมากขึ้น
“เสนอให้เชื่อมโยงปัญหาเหล่านี้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นประเด็นสากล เพื่อให้ปัญหาน่าสนใจมากขึ้น และทำงานเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมาร์และลาวที่ได้รับผลกระทบจากการปลูกข้าวโพดเช่นกัน” รศ. ดร. นพ.พงศ์เทพ กล่าว
ขณะที่ ดร.ทิพวรรณ ประภามณฑล นักวิจัยอาวุโส หน่วยวิจัยสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวเสริมว่า กลุ่มเสี่ยงของปัญหามลพิษทางอากาศในภาคเหนือ ได้แก่ นักเรียนชั้นอนุบาลและประถมศึกษา โดยเฉพาะผู้อาศัยในเขตนอกเมือง ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการเผาป่าอันเป็นวิถีชีวิตของประชาชนที่แก้ไม่ได้
แม้จะพยายามให้ข้อมูลแก่นักเรียน ผู้ปกครอง ตลอดจนผู้บริหารตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และสาธารณะ ทั้งนี้ได้เสนอแนวคิดในการเชื่อมโยงข้อมูลในพื้นที่กับระบบออนไลน์ ติดตั้งเครื่องมือในโรงพยาบาล และให้โรงพยาบาลเป็นศูนย์เรียนรู้แก่ชุมชน เพราะคนไข้มักจะเชื่อแพทย์มากกว่า
ด้าน รศ. ดร.ภก.สุรพล นธการกจิกุล คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ต้องสื่อสารกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจน และให้ประชาชนรับทราบด้วย ปัญหาน่าห่วง คือ การเมืองในพื้นที่ เจ้าหน้าที่ไม่กล้าจับกุมญาติพี่น้องที่กระทำผิด ทั้งนี้ผลการวิจัยโครงการการสื่อสารข้อมูลกับหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการจัดการคุณภาพอากาศและประชาชน มีข้อเสนอแนะในการแก้ไขวิกฤตภาวะหมอกควันภาคเหนือและวิธีป้องกัน โดยให้หยุดเผาขยะหรือวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร จัดหารถโมบายตรวจสภาพอากาศแจ้งเตือนประชาชนในจุดอันตรายแทนการสุ่มตรวจเป็นบางจุด ร่วมรณรงค์ปลูกต้นไม้และปลูกป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว สำรวจแหล่งน้ำธรรมชาติ แก้ทัศนคติของประชาชนในการเผาวัชพืชและหญ้าแห้ง และสร้างความตระหนักถึงอันตรายจากสารพิษต่าง ๆ
ศ. นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผอ.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวถึงรายงานวิจัยมีลักษณะของปัญหาและสาเหตุครบถ้วน โดยโจทย์วิจัยที่ยังค้างอยู่คือ ผลกระทบต่อสุขภาพโดยเฉพาะมะเร็งปอด นอกจากนี้ยังประกาศรับข้อเสนอโครงการวิจัยที่ร่วมสนับสนุนโดยกองทุนนิวตัน สหราชอาณาจักร สำหรับการแก้ปัญหาขณะนี้สามารถสรุปได้ 4 ระดับ คือ
1) ระดับชุมชน โดยขยายผลวิจัยที่ประสบความสำเร็จในการจัดการปัญหาไปยังพื้นที่อื่น ๆ แต่คงยากที่จะต่อสู้กับทุนนิยมเสรีและฝืนธรรมชาติของมนุษย์ให้ละทิ้งพฤติกรรมที่นำมาซึ่งผลประโยชน์ระยะสั้นที่ได้มาอย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นต้องมีมาตรการอื่น ๆ มาช่วย เช่น การสื่อสารสร้างเครือข่ายให้เห็นผลกระทบ สร้างภูมิคุ้มกันและความตระหนักรู้ของชุมชน รวมถึงการบังคับกฎหมายกับกลุ่มนายทุนให้ชดเชยการทำลายสิ่งแวดล้อม
2) ระดับอำเภอและจังหวัด ถ่ายทอดตัวอย่างพื้นที่ที่หยุดการเผาทำลายป่าและพื้นที่การเกษตร
3) ระดับชาติ ยกระดับปัญหาโดยดึงการเมืองเข้ามาควบคุมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่
4) ระดับนานาชาติ สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ
“เราต้องรวมพลังกันนำมวลองค์ความรู้ที่มีอยู่มาแก้ไขปัญหา ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบต่อสังคม โดย สกว.อาจเชิญหน่วยงานอื่น ๆ ในเครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) เข้าร่วม และขอให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เองชักชวนเครือข่ายวิจัยมาร่วมกันทำงาน พร้อมกับผู้ประสานงานในพื้นที่ ชุมชนท้องถิ่นและชาวบ้าน ทั้งนี้จะนำเรียนสรุปสถานการณ์และสะพานเชื่อมโยงกับสังคมต่อ ศ. ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแล สกว. ให้รับทราบต่อไป” ผอ.สกว.กล่าวสรุป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
นักวิจัยชี้บริษัทรับซื้อผลผลิตต้องรับผิดชอบวิกฤติหมอกควัน