- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- นักวิจัยชี้บริษัทรับซื้อผลผลิตต้องรับผิดชอบวิกฤติหมอกควัน
นักวิจัยชี้บริษัทรับซื้อผลผลิตต้องรับผิดชอบวิกฤติหมอกควัน
นักวิชาการ มช.แนะแก้หมอกควันยั่งยืน ส่งเสริมทำเกษตรเข้มข้น ศึกษาครบวงจร หวั่นเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม เพิ่มราคารับซื้อผลผลิตพื้นที่เลิกเผา ผลักภาระตกเกษตรกร ชี้แต่ละพื้นที่มีปัญหาต่างกัน จะตัดเสื้อไซส์เดียวกันแก้ไม่ได้
สถานการณ์หมอกควันและฝุ่นละอองในอากาศได้เบาบางลงในหลายพื้นที่ภาคเหนือของไทย โดยเฉพาะ จ.เชียงใหม่ แต่จากรายงานของกรมควบคุมมลพิษยังพบปริมาณอยู่ในเกณฑ์ที่อาจมีผลต่อสุขภาพและการคมนาคมใน จ.เชียงราย แม่ฮ่องสอน และตาก จึงควรระมัดระวัง
ทั้งนี้ ปัญหาดังกล่าวมีสาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการเผาวัชพืช เพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับการเพาะปลูกพืชไร่ในฤดูกาลผลิตต่อไป อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาหลายหน่วยงานได้รณรงค์ขอความร่วมมือจากเกษตรกรงดเผามาตลอด แต่ดูเหมือนสถานการณ์ยังน่าห่วง
ศูนย์ข่าวสารนโยบายสาธารณะ สำนักข่าวอิศรา สัมภาษณ์ ผศ.ดร.ศุทธินี ดนตรี อาจารย์ประจำภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะผู้ติดตามปัญหาอย่างต่อเนื่อง ถึงแนวทางแก้ไขอย่างยั่งยืน
ผศ.ดร.ศุทธินี กล่าวว่า การที่หลายฝ่ายขอความร่วมมือให้เกษตรกรงดเผา และหันมาใช้วิธีไถฝังกลบแทน ซึ่งบางพื้นที่ทำได้ ขึ้นอยู่กับทัศนะหรือเงื่อนไขที่ยอมรับ ทั้งนี้ มีเกษตรกรบางรายต้องการใช้เศษซากพืชมาทำปุ๋ยเอง ฉะนั้นการจ้างรถไถกลบจึงประหยัดเงินมากกว่า เพราะช่วยลดค่าปุ๋ย แต่วิธีนี้มักเป็นทางเลือกสำหรับผู้มีต้นทุน และมีแหล่งเกษตรกรรมในพื้นที่ไม่สูงชันมากนัก
ส่วนเกษตรกรรายย่อยที่ไม่มีต้นทุนจ่ายค่ารถไถฝังกลบ 700-800 บาท/ไร่ หรือมีแหล่งเกษตรกรรมในพื้นที่สูงชันที่มีหินปนอยู่ในชั้นดิน ถือเป็นอุปสรรคในการไถก็ต้องเผา อย่างไรก็ตาม เกษตรกรเชื่อว่า การปลูกพืชไร่ในชั้นดินที่มีหินปนได้ผลผลิตดีกว่าพื้นราบ เพราะหินมีคุณสมบัติเก็บความชื้นได้ดี ดังนั้น แต่ละพื้นที่จึงประสบปัญหาแตกต่างกัน
เมื่อถามว่า บริษัทรับซื้อผลผลิตควรรับผิดชอบต่อมลภาวะที่เกิดขึ้นหรือไม่ นักวิชาการ มช. แสดงความเห็นด้วย โดยระบุเหตุผล เพราะเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์สูงสุด ฉะนั้นจึงควรมีหลักธรรมาภิบาล และหาทางแก้ไขปัญหาหมอกควันภายใต้หลักความยั่งยืน นั่นคือ เกษตรกรรมเข้มข้น โดยต้องศึกษาอย่างครบวงจร มีตลาดรองรับ เกษตรกรยอมรับ และปฏิบัติได้ ไม่ใช่นักวิชาการคิดฝัน แต่นำไปปฏิบัติไม่ได้
ผศ.ดร.ศุทธินี กล่าวถึงการเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมว่า มีสิ่งใดมาการันตีจะไม่มีการเพิ่มราคาเพื่อการปรับขึ้นภาษีผู้ประกอบการและผลักภาระให้ผู้บริโภค ซึ่งกรณีนี้จะเป็นการผลักภาระให้เกษตรกร จากเดิมบริษัทเคยรับซื้อกิโลกรัมละ 8 บาท อาจลดลงเหลือกิโลกรัมละ 7 บาท แทน ฉะนั้นต้องคิดให้ครบรอบด้าน
สำหรับแนวทางให้บริษัทรับซื้อผลผลิตเพิ่มราคารับซื้อเป็นพิเศษ กรณีผลผลิตมีแหล่งที่มาจากพื้นที่ไม่ได้เผา นักวิชาการ มช.ตั้งคำถามว่า แล้วจะมั่นใจได้อย่างไรว่า ผลผลิตมาจากพื้นที่นั้นจริง ขนาดพืชจีเอ็มโอกับไม่จีเอ็มโอยังแยกไม่ได้ แม้จะเป็นความคิดที่ดี แต่ในทางปฏิบัติเป็นจริงหรือไม่ ทั้งนี้ ยังไม่รวมปัญหาการสวมสิทธิ์อีก จึงดูเหมือนเป็นการผลักภาระทั้งหมดให้เกษตรกรที่เผาพื้นที่อยู่
“เกษตรกรเหล่านี้น่าสงสารพอสมควร และเป็นกลุ่มใหญ่ของประเทศที่ไม่มีความพร้อมเปลี่ยนแปลงวิธีการเพาะปลูกอย่างที่เราฝันไว้ หากเราผลักภาระให้เกษตรกรกลุ่มนี้กลายเป็นคนน่ารังเกียจของสังคม ปัญหาจะไม่หมดไป เพราะพวกเขาไม่มีทางเลือก”
ผศ.ดร.ศุทธินี ยังเล่าถึงนายอำเภอท่านหนึ่งเคยบอกว่า อย่าให้เกษตรกรเหล่านี้คิดถึงสังคมเลย เพราะเพียงแค่ปัจจัยสี่ ยังไม่มีเท่าเราแล้ว เนื่องจากพวกเขาคิดหาเงินเป็นรายวัน
"เคยสอบถามเกษตรกร ทำไมไม่เปลี่ยนไปปลูกยางพาราหรือไม้ยืนต้นแทนพืชไร่ ซึ่งได้ผลผลิตราคาสูงกว่า ได้รับคำตอบ ยางพารากว่าจะให้ผลผลิต ต้องใช้เวลา 7 ปี แล้วระหว่างนั้นจะเอาอะไรกิน ฉะนั้นการแก้ปัญหาจึงต้องตอบโจทย์ ช่วยกันคิดกับเกษตรกร ไม่ใช่คิดให้เกษตรกร เพื่อปฏิบัติได้จริง และเกิดความยั่งยืน หากคิดแล้วทำไม่ได้ แม้มียางพาราหรือกาแฟเต็มภูเขา แต่หาตลาดรองรับไม่ได้ ปัญหาก็กลับมาวงจรเดิม ฉะนั้น จึงตัดเสื้อขนาดเดียวให้สวมใส่ทุกพื้นที่ไม่ได้ เเต่ก็ไม่อยากฟันธงควรใช้วิธีใด"
นักวิชาการ มช. กล่าวด้วยว่า แต่ละพื้นที่มีภูมิศาสตร์ที่หลากหลาย บริบทตรงนี้อาจใช้กับพื้นที่หนึ่งได้ แต่บางพื้นที่ใช้ไม่ได้ จำเป็นต้องศึกษาเงื่อนไขด้วย สิ่งนี้คือความยาก ฉะนั้นต้องลองปรับไปทีละส่วนตามความตั้งใจแก้ปัญหา แต่ดำเนินโครงการปีเดียวไม่สำเร็จ ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ งานวิจัยเชิงปฏิบัติการ โดยลงพื้นที่ร่วมกับชาวบ้าน มีส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาหมอกควันแต่ละพื้นที่ .
ภาพประกอบ:เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ