- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- บ.รับซื้อข้าวโพด ลั่นไม่หนุนเผาวัชพืช สร้างปัญหาหมอกควัน
บ.รับซื้อข้าวโพด ลั่นไม่หนุนเผาวัชพืช สร้างปัญหาหมอกควัน
กรุงเทพโปรดิ๊วส-เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส ยันไม่หนุนเผาพื้นที่เตรียมปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พร้อมจับมือ ส.ป.ก.เดินหน้าโครงการ ‘เกษตรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน’ นักวิชาการชงมาตรการทางการคลัง จ่ายภาษีสิ่งเเวดล้อม เชื่อลดการเผาได้
นายไพศาล เครือวงศ์วานิช รองกรรมการผู้จัดการบริหาร บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) ในฐานะบริษัทที่รับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เปิดเผยว่าบริษัทไม่สนับสนุนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่อาจมีผลต่อการเกิดไฟป่า อีกทั้งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการส่งเสริมการเผา เพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูก และได้ริเริ่มสร้างแม่แบบระบบการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ถูกต้องและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ โดยร่วมกับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) คู่ค้าธุรกิจ และภาครัฐ
ทั้งนี้ ได้ดำเนินธุรกิจการค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายใต้หลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเป็นไปตามนโยบาย ‘3 ประโยชน์สู่ความยั่งยืน’ ซึ่งถือเป็นค่านิยมหลักในการดำเนินธุรกิจของบริษัทที่คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ
“บริษัทขอแสดงเจตนารมณ์ว่า การเผาป่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรกระทำ และต้องการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วนในการช่วยแก้ไขปัญหานี้”
นายไพศาล กล่าวถึงการดำเนินโครงการเพื่อทำให้เกษตรกรมีผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น นำมาสู่รายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยจะเข้าไปส่งเสริมเกษตรกรด้วยการถ่ายทอดความรู้ตั้งแต่ขั้นตอนการเพาะปลูกที่ถูกต้อง การวิเคราะห์ดิน การใช้ปุ๋ยที่เหมาะสม การใช้สารเคมีถูกต้องเพื่อลดปัญหาสุขภาพของเกษตรกร และกระบวนการจัดการหลังเก็บเกี่ยวที่ถูกต้อง ที่สำคัญห้ามเผาตอซังอย่างเด็ดขาด
"การดำเนินโครงการนี้จะทำให้ได้ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาได้ รวมทั้งช่วยลดปัญหาการเผาป่าและการบุกรุกพื้นที่ป่าซึ่งเป็นปัญหาระดับชาติในปัจจุบันอีกด้วย”
ด้านนายสุเมธ ภิญโญสนิท ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส จำกัด เปิดเผยว่า บริษัท ไม่มีนโยบายส่งเสริมหรือสนับสนุนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ป่าหวงห้ามและป่าอนุรักษ์ และพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือส่งเสริมให้มีการเผา เพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูก
โดยตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา ได้ดำเนินมาตรการอย่างเข้มงวดกับตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ โดยมีข้อกำหนดยกเลิกการเป็นตัวแทนจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ของบริษัทฯ ทันที หากพบว่ามีส่วนร่วมหรือส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ดังกล่าวในทุกกรณี และเป็นผู้ประกอบการรายเดียวที่ประกาศเจตนารมณ์อย่างชัดเจน ในการจัดทำข้อความประกาศบนบรรจุภัณฑ์ทุกถุงว่า “ห้ามนำไปปลูกในพื้นที่ป่าหวงห้ามและป่าอนุรักษ์”
นอกจากนี้ในส่วนการดำเนินโครงการส่งเสริมปลูกเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีข้อกำหนดให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะต้องหาพื้นที่ปลูกข้าวโพดบนพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย ต้องไม่ตัดไม้ทำลายป่าหรือบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ของหน่วยราชการและห้ามมีการเผาตอซังโดยเด็ดขาด โดยให้ทำการไถกลบแทน
อย่างไรก็ดีในการแก้ไขวิกฤติปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และการบุกรุกที่ป่า อย่างยั่งยืนนั้น ในส่วนที่เกี่ยวกับการปลูกข้าวโพด นายสุเมธ กล่าวว่า เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วสจะให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาร่วมวิจัยและตรวจสอบพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีปัญหาทั้งเรื่องการบุกรุกที่ป่าและการเผาป่าในเขตพื้นที่หวงห้าม
ชูมาตรการทางการคลัง เเก้หมอกควันภาคเหนือ
ผศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งในคณะทำงานเครือข่ายพันธมิตร 7 มหาวิทยาลัย ภายใต้เครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัย เพื่อวิจัยเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ (RUN-CCDM) กล่าวถึงมาตรการทางการเงินคลังที่จะนำมาใช้แก้ปัญหาหมอกควันทางพื้นที่ภาคเหนือว่า ต้นเหตุจริงของการทำเกษตรแบบพึ่งพาไฟ เกิดมาจากระบบเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนไป หากเราเอาใจเขาไปใส่ใจเรา กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารเกษตรก็ต้องการต้นทุนที่ลดลง การทำเกษตรพันธสัญญา ให้เกษตรกรไปถางป่า โดยเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตาม ก็ทำให้ต้นทุนการทำเกษตรแบบพึ่งพาไฟ ถูกกว่าการปลูกข้าวโพดปกติ
“ต้องหาวิธีให้โครงการทำธุรกิจแบบนี้เดินต่อไปไม่ได้ โดยต้องชดเชยอะไรบางอย่าง ซึ่งกฎหมายก็ห้ามไม่ได้ แม้จะมีมาตรการทางภาษีก็ตาม ฉะนั้น ถามว่า กฎหมายจะผ่านออกได้หรือไม่” นักวิชาการ มช. กล่าว และเชื่อว่า ต้องสร้างความเข้าใจให้การทำเกษตรกรรมแบบนี้เหมือนภาษีสิ่งแวดล้อม เมื่อทำเกษตรกรรมพึ่งพาไฟก็ต้องจ่ายภาษี และนำเงินไปให้เกษตรกรลดการเผา ถือเป็นการควบคุมเชิงเศรษฐศาสตร์
ผศ.ดร.ปุ่น กล่าวต่อว่า ปัญหาหมอกควันทางภาคเหนือ ไม่สามารถใช้ศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งมาแก้ไขได้ ต้องพหุสาขาที่ต้องใช้ความจริงใจมาแก้ไขปัญหา สุดท้ายต้องกลับมาที่โครงสร้างเชิงนโยบาย ซึ่งตั้งบนพื้นฐานงานวิจัย
"วันนี้สิ่งที่อยู่บนโต๊ะ เรารู้ว่าพื้นที่ไหนเผา เป็นพื้นที่ลักษณะใด ป่าหรือพื้นที่ราบ ตำบลไหน เขตรับผิดชอบของใคร สามารถดูข้อมูลได้จากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)หรือจีสด้า"
ผศ.ดร.ปุ่น กล่าวด้วยว่า แม้ส่วนหนึ่งของปัญหาเกิดจากเกษตรพันธสัญญา แต่บริษัทมิได้เป็นผู้ผิดฝ่ายเดียว ทั้งหมดขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างรัฐกับบริษัทมากกว่าต้องเข้ามาช่วย เพราะปัญหาเชิงโครงสร้างของเมล็ดข้าวโพดขึ้นอยู่กับราคาน้ำมัน ฉะนั้นต้องแข่งขัน อย่างไรก็ตาม โครงสร้างภาษีสิ่งแวดล้อมน่าจะเป็นคำตอบ
ส่วนดร.ขวัญฤดี โชติชนาทวีวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวแสดงความเห็นอยากให้บริษัทที่ส่งเสริมเกษตรกรปลูกอ้อย ข้าวโพด หรือการทำนาข้าว ต้องส่งเสริมให้เกษตรกรไม่เผาด้วย ขณะเดียวกันภาครัฐต้องประกาศนโยบายชัดเจน เช่น กลไกมาตรการทางภาษี กำหนดค่าธรรมเนียม เป็นต้น แต่หากบัญญัติไว้ในกฎหมายแม่ไม่ได้ ต้องเปิดโอกาสให้บัญญัติไว้ในกฎหมายท้องถิ่น ซึ่งปัจจุบันท้องถิ่นไม่กล้าดำเนินการ เพราะรัฐบาลไม่มีคำสั่ง
ทั้งนี้ ผอ.สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เสนอให้ใช้มาตรการทางการเงินการคลัง ยกตัวอย่าง การปลูกข้าว หากพบไม่ผ่านจากพื้นที่เผาซังข้าว จะได้ราคาผลผลิตที่ดีกว่า แต่หากผลผลิตมาจากพื้นที่เผาซังข้าว ราคาจะถูก ซึ่งมาตรการเหล่านี้ต้องเริ่มดำเนินการ เพราะการบังคับอย่างเดียวไม่ได้ผล รวมถึงพืชชนิดอื่นด้วย
“ท้องถิ่นไหนที่มีการเผาจะเก็บค่าธรรมเนียม ทำให้แต่ละท้องถิ่นเกิดการควบคุมกันเอง” ดร.ขวัญฤดี กล่าว และว่า การใช้มาตรการทางการเงินการคลัง ไม่ได้ต้องการเพียงเก็บเงินเพื่อมีรายได้เพิ่มเท่านั้น แต่ต้องสร้างระบบตรวจสอบในพื้นที่ เพื่อควบคุมกันเองจะได้ผลดีมากกว่า
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:วิกฤติหมอกควันภาคเหนือ 10 วันเศรษฐกิจสูญกว่า 6 พันล้าน