ว่าด้วย "ช้างตาย-วัวสันหลังหวะ"ที่ศาลปกครอง
"เนื้อหาของหนังสือ นายดิเรกฤทธิ์ ยกสารพัดข้อกฎหมายขึ้นมากล่าวอ้างว่า การนำเสนอข่าวของสำนักข่าวอิศรา เข้าข่ายผิดกฎหมายดังกล่าว ทั้งการนำความลับของราชการมาเปิดเผย , มีการกระทำที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์...เมื่ออ่านแล้ว มิได้มีความรู้สึกว่า เป็นการขอความร่วมมือแต่อย่างใด แต่เป็นการ "ขู่"ให้เกรงกลัว เพื่อ"ปิดปาก"มิให้มีการนำเสนอข่าวกรณี "จดหมายน้อย" อีกต่อไป..."
ได้รับหนังสือจากนายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม เลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง "ขอความร่วมมือสำนักข่าวอิศรานำเสนอข่าวโดยยึดหลักกฎหมายและจริยธรรมสื่อมวลชน"โดยอ้างถึงข่าวและบทความที่สำนักข่าวนำเสนอเกี่ยวกับคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง(ก.ศป.)มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนนายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุดกรณีนายดิเรกฤทธิ์ ทำบันทึกส่วนตัวหรือ"จดหมายน้อย"ถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.)และรอง ผบ.ตร.ขอให้สนับสนุนนายตำรวจยศ พ.ต.ท. เป็น พ.ต.อ.โดยระบุว่า เป็นความต้องการของประธานศาลปกครองสูงสุด
ในหนังสือของนายดิเรกฤทธิ์กล่าวหาว่า การนำเสนอข่าวของสำนักข่าวอิศราเป็นการนำข้อมูลข่าวสารลับของทางราชการมาเปิดเผย อาจมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 164 , พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และอาจเข้าข่ายลักษณะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา-แพ่ง
ทั้งยังอ้างด้วยว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ขัดต่อจริยธรรมสื่อสารมวลชนตามข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติหลายข้อ จึงขอความร่วมมือสำนักข่าวอิศราได้โปรดพิจารณานำเสนอข่าวโดยยึดหลักกฎหมายและจริยธรรมสื่อสารมวลชนและประโยชน์ต่อสาธารณชน
ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณนายดิเรกฤทธิ์และสำนักงานศาลปกครองที่ติดตามการนำเสนอข่าวของสำนักข่าวอิศรา มาตลอดและกรุณาให้คำแนะนำในการปฏิบัติงานของสำนักข่าวเพื่อให้เป็นไปตามหลักจริยธรรมของวิชาชีพสื่อสารมวลชน
อย่างไรก็ตาม เมื่ออ่านหนังสือของนายดิเรกฤทธิ์โดยละเอียดแล้ว ในฐานะผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา ขอชี้แจงและมีข้อสังเกตดังต่อไปนี้
1.แม้หนังสือของนายดิเรกฤทธิ์ระบุว่า "ขอความร่วมมือสำนักข่าวอิศรานำเสนอข่าวโดยยึดหลักกฎหมายและจริยธรรมสื่อสารมวลชน" แต่จากเนื้อหาของหนังสือ นายดิเรกฤทธิ์ ยกสารพัดข้อกฎหมายขึ้นมากล่าวอ้างว่า การนำเสนอข่าวของสำนักข่าวอิศรา เข้าข่ายผิดกฎหมายดังกล่าว ทั้งการนำความลับของราชการมาเปิดเผย , มีการกระทำที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายแพ่ง
เมื่ออ่านแล้ว มิได้มีความรู้สึกว่า เป็นการขอความร่วมมือแต่อย่างใด แต่เป็นการ "ขู่"ให้เกรงกลัว เพื่อ"ปิดปาก"มิให้มีการนำเสนอข่าวกรณี "จดหมายน้อย" อีกต่อไป เปรียบเสมือน "ช้างตายทั้งตัว เอาใบบัวมาปิด"
2.นายดิเรกฤทธิ์อ้างว่า การนำเสนอข่าวของสำนักข่าวอิศรา มีการนำ"ข้อมูลลับ"ที่ยังอยู่ในกระบวนการของทางราชการหรือ "ขั้นตอนภายใน" รวมถึง "วาระการประชุม" ก.ศป. มาเผยแพร่ต่อสาธารณชน เป็นการนำข้อมูลลับภายในของทางราชการมาเปิดเผย อาจมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 164
ข้อกล่าวอ้างดังกล่าว ล้วนแต่"มโน"ขึ้นเองทั้งสิ้น?
เพราะไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดที่ระบุว่า ผลการประชุมของ ก.ศป. วาระการประชุมของ ก.ศป. เป็นข้อมูลลับของทางราชการที่ห้ามสื่อมวลชนนำเสนอเป็นข่าว หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชน
ตรงกันข้าม ตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ระบุชัดว่า มติการประชุมของคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นโดยกฎหมายต้องจัดไว้ในห้องข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนตรวจดูได้(มาตรา 9(7))และยังมีประกาศของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการให้นำข้อมูลข่าวสารดังกล่าวแสดงบนเว็บไซต์อีกด้วยด้วย
คำถามคือ สำนักงานศาลปกครองเคยนำมติการประชุม ก.ศป.จัดไว้ในห้องข้อมูลข่าวสารและนำขึ้นแสดงบนเว็บไซต์หรือไม่
นายดิเรกฤทธิ์ยังอ้างด้วยว่า การนำข้อมูลข่าวสารลับภายในของราชการมาเปิดเผยอาจมีความผิดตามประมวลกฎหมาย อาญามาตรา 164
สำนักงานศาลปกครองเป็นหน่วยงานสนับสนุนการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลปกครอง ย่อมต้องมีความรู้ความเข้าใจกฎหมายเป็นอย่างดี จึงต้องรู้ดีว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 164 ใช้บังคับเฉพาะเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา แต่สำนักข่าวอิศรา เป็นเอกชน มิได้เป็นเจ้าพนักงาน จึงมิอาจใช้บทบัญญัติดังกล่าวบังคับต่อสำนักข่าวอิศราได้
การอ้างบทบัญญัติ มาตรา 164 ซึ่งระบุว่า "ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน รู้หรืออาจรู้ความลับในราชการ กระทำโดยประการใด ๆ อันมิชอบด้วยหน้าที่ ให้ผู้อื่นล่วงรู้ความลับนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ" ขึ้นมา "ขู่"สำนักข่าวอิศรา จึงน่าอับอาย เพราะสะท้อนให้เห็นความอ่อนด้อยและขาดความรู้ความเข้าใจด้านกฎหมายของบุคคลากรในสำนักงานศาลปกครองเป็นอย่างยิ่ง
3.นายดิเรกฤทธิ์อ้างว่า การนำเสนอข่าวเกี่ยวกับการดำเนินการของ ก.ศป.มีผลกระทบต่อสาระสำคัญและความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของ ก.ศป.เป็นอย่างยิ่ง
ข้ออ้างดังกล่าว เป็นเพียงความเห็น "ส่วนตัว"ของนายดิเรกฤทธิ์ที่ไม่มีข้อเท็จจริงรองรับ เพราะผู้เขียนเองได้รู้จักกับตุลาการศาลปกครองเป็นจำนวนมาก ต่างเห็นว่า การนำเสนอข่าวของสำนักข่าวอิศรา ทำให้ตุลาการศาลปกครองรับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการดำเนินงานของ ก.ศป.ซึ่งเป็นตัวแทนของตุลาการศาลปกครองทั่วประเทศ ทำให้สามารถตรวจสอบการทำงานของ ก.ศป.ให้เป็นไปอย่างโปร่งใส เป็นไปตามกฎหมาย และตรงกับความต้องการของตุลาการศาลปกครองทั่วประเทศหรือไม่
การปกปิดข้อมูลข่าวสารมิให้รับรู้การดำเนินงาน ก.ศป.ต่างหาก อาจทำให้ผู้มีอำนาจในศาลปกครองและสำนักงานศาลปกครองบิดเบือนการใช้อำนาจ เพื่อช่วยเหลือผู้มีอำนาจในศาลปกครองและสำนักศาลปกครองที่ถูกกล่าวหาว่า กระทำผิด ให้พ้นผิด หรือรับโทษน้อยลง ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งในศาลปกครองแบบไม่ละอายต่อจริยธรรมคุณธรรมของตุลาการ
ถ้าหากการดำเนินการของ ก.ศป.เป็นไปอย่างตรงไปตรงมา เป็นไปตามกฎหมาย ซื่อสัตย์สุจริต ไม่บิดเบือนการใช้อำนาจ ไม่ช่วยเหลือพวกพ้องให้พ้นผิด ไม่เห็นจักต้องเกรงกลัว การเปิดเผยข้อมูล หรือทำตัวเสมือน "วัวสันหลังหวะ" แต่ประการใด
4.นายดิเรกฤทธิ์ อ้างว่า การนำหัวข้อข่าว "จม.เปิดผนึก ถึง ก.ศป.เรียกร้อง"หัสวุฒิ" เสียสละหยุดปฏิบัติหน้าที่"ที่อ้างเป็นของตุลาการศาลปกครองชั้นต้นโดยมิได้มีลายมือชื่ออย่างเป็นทางการ เป็นการนำเสนอข่าวสารที่ยังเลื่อนลอยไม่เป็นทางการ หรือไม่มีความน่าเชื่อถือ
ข่าวดังกล่าวน่าเชื่อถือหรือไม่ ต้องให้ผู้อ่านโดยเฉพาะตุลาการศาลปกครองซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจด้านกฎหมายและจริยธรรมของตุลาการเป็นอย่างดีเป็นผู้ตัดสิน เพราะบรรดาตุลาการย่อมทราบดีว่า การเขียนจดหมายเปิดผนึกที่มีเนื้อหา ในลักษณะดังกล่าวได้ ต้องเป็นตุลาการศาลปกครองเท่านั้น
ส่วนจะมีตุลาการศาลปกครองลงชื่อหรือร่วมเขียนจดหมายเปิดนผนึกกี่คน มิใช่ประเด็นสำคัญ แต่ขึ้นอยู่กับเนื้อหาของจดหมายเปิดผนึกว่า เรียกร้องในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม มีเหตุมีผลหรือไม่ อย่างไร
สำหรับนายดิเรกฤทธิ์ จะเชื่อถือข่าวดังกล่าว หรือไม่ ไม่ใช่สิ่งสำคัญ เพราะนายดิเรกฤทธิ์ มีส่วนได้ส่วนเสียกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และอาจได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง หากผู้มีอำนาจที่ถูกกล่าหาต้องหลุดจากตำแหน่ง
5.นายดิเรกฤทธิ์อ้างว่า การนำเสนอข่าวของสำนักข่าวอิศรา มีการนำเสนอความเห็นของสำนักข่าวประกอบด้วย เช่น "วัดมาตรฐาน ก.ศป.ชี้ขาดสั่งพักราชการ ปธ.ศาลปกครองสูงสุด?"ซึ่งเนิ้อความของข่าวเห็นชัดเจนว่า มีการวิเคราะห์และใส่ความเห็นของผู้เขียนลงไป
ข้อกล่าวอ้างดังกล่าวเห็นชัดว่า นายดิเรกฤทธิ์ขาดความรู้ความเข้าใจด้านสื่อสารมวลชนอย่างสิ้นเชิง เพราะตัวอย่างที่นายดิเรกฤทธิ์หยิบยกขึ้นมานั้น เป็น "บทความ" ของผู้เขียน อยู่ในส่วนของ "เวทีทัศน์" มิใช่ "ข่าว" อย่างที่นายดิเรกฤทธิ์เข้าใจ
เมื่อเป็น "บทความ" ผู้เขียนย่อมสามารถแสดงความคิดเห็นได้โดยอิสระบทพื้นฐานของข้อเท็จจริงและมุ่งประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ ส่วนความเห็นของผู้เขียนจะถูกใจ หรือขัดใจ ผู้มีอำนาจในศาลปกครองหรือนายดิเรกฤทธิ์หรือไม่ ไม่ใช่สิ่งสำคัญ
6.นายดิเรกฤทธิ์ ระบุในหนังสือว่า "สำนักงานศาลปกครอง พิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำดังกล่าว(ของสำนักข่าวอิศรา) เป็นการกระทำที่ขัดต่อจริยธรรมสื่อมวลชน..."
สำนักงานศาลปกครอง เป็นเพียง"หน่วยงานสนับสนุนการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลปกครอง" แต่การที่นายดิเรกฤทธิ์ระบุว่า การกระทำของสำนักข่าวอิศรา เป็นการกระทำที่ขัดต่อจริยธรรมสื่อมวลชน เท่ากับนายดิเรกฤทธิ์ ทำตัวเยี่ยง "ตุลาการ" ที่ปฏิบัติหน้าที่ใน "ศาล" ที่มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดการกระทำของผู้อื่นว่า กระทำผิด
ถ้านายดิเรกฤทธิ์ เห็นว่า สำนักข่าวอิศรามีการกระทำที่ขัดต่อจริยธรรมสื่อมวลชน นายดิเรกฤทธิ์สามารถร้องเรียนต่อสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติได้ และให้สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติซึ่งเป็นองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงเป็นผู้มีวินิจฉัย การกระทำดังกล่าว
7.ผู้ที่จะไปกล่าวอ้างว่า ผู้อื่นกระทำผิดจริยธรรมนั้น ย่อมต้องเป็นผู้มีจริยธรรม เปรียบดัง “อลัชชี ไม่พึงกล่าวโทษพระอรหันต์”
คำพิพากษาศาลอาญาให้ยกฟ้องคดีที่นายดิเรกฤทธิ์ ฟ้องมูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทยและพวกในข้อหาหมิ่นประมาท เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2557 ได้อ้างอิงผลการสืบสวนของคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงที่มีนายเกษม คมสัตย์ธรรม รองประธานศาลปกครองสูงสุดเป็นประธานประกอบคำพิพากษาว่า
" คณะกรรมการวินิจฉัยว่า การกระทำในลักษณะเช่นว่านั้นของโจทก์ไม่ว่าจะทำลงโดยผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองหรือผู้ดำรงตำแหน่งหน้าที่ราชการเทียบเท่ากับเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองตำแหน่งใด และไม่ว่าจะกระทำในช่วงเวลาใดก็ตาม เป็นสิ่งที่วิญญูชนทั่วไปย่อมตำหนิติเตียนทั้งนั้น และยิ่งโจทก์เป็นผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง ซึ่งเป็นหน่วยงานสนับสนุนการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลปกครองและในบรรดาคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองนั้น ส่วนหนึ่งเป็นคดีพิพากษาเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล เช่น การแต่งตั้งโยกย้าย เลื่อนเงินเดือน การดำเนินการทางวินัย และการออกจากราชการ ซึ่งรวมถึงคดีพิพาทเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วย
"การกระทำของโจทก์ยิ่งถูกวิญญูชนในสังคมตำหนิติเตียนหนักขึ้น และเห็นว่า การกระทำของโจทก์เป็นการกระทำที่นำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่สำนักงานศาลปกครอง และเสื่อมเสียต่อศาลปกครองในฐานะที่สำนักงานเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในงานธุรการของศาลปกครอง เข้าข่ายมีมูลอันควรกล่าวหาว่า โจทก์กระทำการในเสื่อมเสียต่อชื่อเสียง ภาพลักษณ์ และเกียรติภูมิ ของสำนักงานศาลปกครอง อันเป็นการฝ่าฝืนประมวลจริยธรรมตามข้อ 10(3) ของระเบียบคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายปกครองว่าด้วยประมวลจริยธรรมของเจ้าหน้าที่สำนักงานศาลปกครอง พ.ศ.2555 ซึ่งข้อ 24 ของระเบียนดังกล่าวให้ถือว่า เป็นการกระทำผิดทางวินัย และโดยที่ระเบียบคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายปกครองว่าด้วยประมวลจริยธรรมของเจ้าหน้าที่สำนักงานศาลปกครอง พ.ศ.2555 ถือเป็นระเบียบแบบแผนของทางราชการ การกระทำของโจทก์จึงเข้าข่ายเป็นกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติ ตามมาตรา 82(2) และ (10) แห่งพระราชบัญญัติระเบียนข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ทั้งยังเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามมาตรา 82(3) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วย การกระทำของโจทก์จึงมีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยฐานดังกล่าว"
แม้นายวิชัย ชื่นชมพูนุท เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองประธานศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งให้ยุติเรื่อง ไม่มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนทางวินัยนายดิเรกฤทธิ์ ก็ตาม
แต่วิญญูชนที่อ่านคำวินิจฉัยของคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง ย่อมใช้วิจารณญาณพิจารณาเห็นถึงคุณธรรมและจริยธรรมของโจทก์ได้เป็นอย่างดี
8.นายดิเรกฤทธิ์กล่าวอ้างว่า การนำเสนอข่าวของสำนักข่าวอิศราก่อให้เกิดความเสียหายและส่งผลกระทบต่อการทำหน้าที่ของ ก.ศป. ภาพลักษณ์ของศาลปกครอง ตลอดจนทำความเสียหายแก่ชื่อเสียงและศักดิ์ศรีแห่งข้าราชการฝ่ายตุลาการในลักษณะที่ไม่อาจแก้ไขเยียวยาในภายหลังได้
ใครกันแน่ที่ทำความเสียหายแก่ภาพลักษณ์ ชื่อเสียงและศักดิ์ศรีแห่งข้าราชการฝ่ายตุลาการ บรรดาตุลาการศาลปกครองทั่วประเทศย่อมทราบดีว่า ตั้งแต่มีกรณี "จดหมายน้อย" เป็นต้นมา ภาพลักษณ์ของศาลปกครอง เป็นเช่นไร
แต่ถ้ายังไม่ทราบให้ย้อนกลับขึ้นไปอ่านคำวินิจฉัยของคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงที่มีนายเกษม คมสัตย์ธรรม เป็นประธาน ก็จะทราบทันที
ศาลปกครองเป็นองค์กรสำคัญที่จะอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน แต่การที่ศาลปกครองจะทำหน้าที่ดังกล่าวได้อย่างดี จักต้องมีผู้บริหารเปี่ยมไปด้วยคุณธรรม ซื่อสัตย์สุจริต ดั่ง "ยอดตุลาการราชวงศ์ซ่ง " ผู้ถือคติ "ตัวตรง เงาไม่เฉียง "เท้าตรง ไม่กลัวรองเท้าเบี้ยว"
ดังนั้นทั้ง ก.ศป.และตุลาการศาลปกครอง ต้องร่วมมือร่วมใจ กันปัดกวาดศาลปกครองให้สะอาด เพื่อให้เป็นที่พึ่งของประชาชนได้อย่างเต็มภาคภูมิ
อ่านประกอบ :
เปิดหนังสือ“ดิเรกฤทธิ์” งัดสารพัดกม.ขู่ "อิศรา" ปมแพร่มติ ก.ศป.คดีจม.น้อย
"ดิเรกฤทธิ์" ขู่ "อิศรา" ทำผิด กม.คอมฯ-อาญา-แพ่ง เผยแพร่มติ ก.ศป.คดีจม.น้อย
"จม.เปิดผนึก" ถึงก.ศป.เรียกร้อง"หัสวุฒิ" เสียสละหยุดปฏิบัติหน้าที่
วัดมาตรฐาน ก.ศป.ชี้ขาดสั่งพักราชการ ปธ.ศาลปกครองสูงสุด?
ก.ศป.ลงมติ9ต่อ2 ตั้งกก.สอบ"หัสวุฒิ" คดีจม.น้อย ชี้ชะตาพ้นตำแหน่ง
"มือมืด"สั่งบรรจุวาระประชุม ก.ศป. กรณี "อิศรา"นำข้อมูลลับเผยแพร่สาธารณชน