วัดมาตรฐาน ก.ศป.ชี้ขาดสั่งพักราชการ ปธ.ศาลปกครองสูงสุด?
“…การที่ ก.ศป.มีมติตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนนายหัสวุฒิตามระเบียบ ก.ศป.ว่าด้วยวิธีการสอบสวนและสิทธิของตุลาการศาลปกครองซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีเหตุให้ต้องพ้นจากตำแหน่งฯเทียบได้กับการสอบสวนทางวินัยร้ายแรงของข้าราชการพลเรือนและข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรม นอกจากนั้น ก.ศป.ยังมีมติตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสืบสวนข้อเท็จจริงนายหัสวุฒิอีกหลายข้อหาล้วนแต่ฉกาจฉกรรจ์ทั้งสิ้น…”
บ่ายวันพุธที่ 25 กุมภาพันธ์ 2558 คณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง(ก.ศป.) นัดประชุมกันอีกครั้งหนึ่ง หลังจากเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558 มีมติ 9 ต่อ 2 ให้แต่งตั้งคณะกรรมการ 5 คนขึ้นมาสอบสวนนายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด กรณี "จดหมายน้อย"ฝากตำรวจ แต่ยังไม่ได้ข้อยุติว่า จะสั่งพักราชการนายหัสวุฒิ ระหว่างการสอบสวนหรือไม่
ดังนั้นในการประชุมคราวนี้ จะมีการหยิบยกประเด็นการสั่งพักราชการนายหัสวุฒิขึ้นมาพิจารณาในที่ประชุมต่อซึ่งการสั่งพักราชการตุลาการในกรณีอันอาจเป็นเหตุให้ตุลาการศาลปกครองพ้นจากตำแหน่ง เป็นอำนาจของ ก.ศป. ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 24 วรรคสาม ซึ่งระบุว่า
"ในระหว่างการสอบสวนหรือพิจารณา(ตั้งกรรมการสอบสวน)ตามวรรคหนึ่ง ถ้า ก.ศป. เห็นว่าการให้ผู้ถูกสอบสวนหรือพิจารณา ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจะเป็นการเสียหายแก่ราชการจะมีมติให้พักราชการก็ได้"
"การให้พักราชการนั้น ให้พักตลอดเวลาที่สอบสวนหรือพิจารณา เมื่อสอบสวนหรือพิจารณาเสร็จแล้ว ถ้าปรากฏว่าผู้ถูกให้พักราชการมิได้กระทำการตามที่ถูกสอบสวนหรือพิจารณา ก็ให้ผู้นั้นคงอยู่ในราชการตามเดิม"
จากบทบัญญัติดังกล่าวเห็นชัดว่า ได้ให้อำนาจแก่ ก.ศป.โดยตรงในการสั่งพักราชการนายหัสวุฒิซึ่ง ก.ศป.มีมติเห็นด้วยตามผลการสืบสวนข้อเท็จจริงให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนตามมาตรา 24
แต่ ก.ศป.จะใช้อำนาจหรือมีมติให้สั่งพักราชการนายหัสวุฒิหรือไม่ก็ได้
แต่ถ้า ก.ศป.ไม่ใช้อำนาจหรือ มิได้มีมติสั่งพักราชการแล้ว จะสั่งพักราชการนายหัสวุฒิได้ในขั้นตอนใดบ้าง
ในการสอบสวนผู้ถูกกล่าวหา ตามมาตรา 24 วรรคห้า ระบุไว้ว่า "วิธีการสอบสวนและสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาและบุคคลที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามระเบียบที่ ก.ศป. กำหนดโดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด"
ทั้งนี้ ก.ศป.ได้ตราระเบียบดังกล่าวขึ้นมาชื่อว่า "ระเบียบ ก.ศป.ว่าด้วยวิธีการสอบสวนและสิทธิของตุลาการศาลปกครองซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีเหตุให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง พ.ศ.2544 "
ในระเบียบนี้ นอกจากกำหนดกระบวนการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนและวิธีการขั้นตอนไว้อย่างละเอียดแล้ว ยังให้อำนาจคณะกรรมการสอบสวนในการเสนอสั่งพักราชการผู้ที่ถูกกล่าวหาไว้ด้วยในข้อ 12 ที่ระบุว่า
"ก่อนการสอบสวน ให้คณะกรรมการสอบสวนประชุมกำหนดแนวทางการสอบสวนและให้เสนอความเห็นต่อ ก.ศป.ว่า จะสั่งพักราชการข้าราชการตุลาการศาลปกครองที่ถูกกล่าวหาเพื่อมิให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการต่อไปอันจะเป็นการเสียหายแก่ราชการหรือไม่ ถ้า ก.ศป.เห็นสมควรสั่งพักราชการข้าราชการตุลาการที่ถูกกล่าวหา ก็ให้สั่งพักตลอดเวลาที่คณะกรรมการสอบสวนทำการสอบสวน หรือจนกว่า ก.ศป.จะพิจารณากรณีที่ข้าราชการตุลาการถูกกล่าวหาแล้วเสร็จ"
สรุปง่ายๆคือ คณะกรรมการสอบสวนที่ ก.ศป.ตั้งขึ้น อาจเสนอความเห็นต่อ ก.ศป.สั่งพักราชการนายหัสวุฒิก็ได้ ในกรณีที่ ก.ศป.มิได้มีมติสั่งพักราชการนายหัสวุฒิมาตั้งแต่ต้น
อาจมีผู้โต้แย้งว่า ก.ศป.ไม่อาจใช้อำนาจในการสั่งพักราชการนายหัสวุฒิโดยตรงได้ แต่ต้องรอคณะกรรมการสอบสวนเสนอเรื่องให้พิจารณาเท่านั้นซึ่งเป็นไปตามระเบียบ ก.ศป.ว่าด้วยวิธีการสอบสวนและสิทธิของตุลาการศาลปกครองซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีเหตุให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง พ.ศ.2544
ประเด็นนี้ ถ้าบทบัญญัติมาตรา 24 วรรคสามมีเจตนารมณ์เช่นนั้นจริง ควรจะต้องระบุไว้อย่างชัดเจนว่า การสั่งพักราชการ "ต้องเป็นไปตามระเบียบกำหนด" มิใช่เขียนแยกไว้ต่างหากถึงวิธีการสอบสวนใน มาตรา 24 วรรคห้า
เมื่อเป็นเช่นนี้ การสั่งพักราชการนายหัสวุฒิสามารถทำได้ 2 ขั้นตอน
หนึ่ง ก.ศป.สั่งพักราชการได้ตาม มาตรา 24 วรรคสาม
สอง ถ้า ก.ศป.ไม่สั่งพักราชการ คณะกรรมการสอบสวน จะเสนอความเห็นต่อ ก.ศป.ตามระเบียบ ก.ศป.ว่าด้วยวิธีการสอบสวนและสิทธิของตุลาการศาลปกครองซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีเหตุให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง พ.ศ.2544 ก็ได้
อาจมีคำถามว่า ข้อกล่าวหาของนายหัสวุฒิร้ายแรงถึงขั้นต้องสั่งพักราชการเลยหรือไม่
การที่ ก.ศป.มีมติตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนนายหัสวุฒิตามระเบียบ ก.ศป.ว่าด้วยวิธีการสอบสวนและสิทธิของตุลาการศาลปกครองซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีเหตุให้ต้องพ้นจากตำแหน่งฯเทียบได้กับการสอบสวนทางวินัยร้ายแรงของข้าราชการพลเรือนและข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรม นอกจากนั้น ก.ศป.ยังมีมติตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสืบสวนข้อเท็จจริงนายหัสวุฒิอีกหลายข้อหาล้วนแต่ฉกาจฉกรรจ์ทั้งสิ้น
หากยึดมาตรฐานของศาลยุติธรรมแล้ว ข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรมหรือผู้พิพากษา เมื่อถูกตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนทางวินัยร้ายแรง คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม(ก.ต.)จะมีมติสั่งพักราชการทุกราย ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 74 ที่ระบุว่า
"เมื่อข้าราชการตุลาการผู้ใดมีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนถูกตั้งกรรมการสอบสวน หรือถูกฟ้องคดีอาญา เว้นแต่เป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ถ้า ก.ต. เห็นว่าจะให้อยู่ในหน้าที่ราชการระหว่างสอบสวนหรือ พิจารณาจะเป็นการเสียหายแก่ราชการ ประธานศาลฎีกาจะสั่งให้พักราชการก็ได้
"การให้พักราชการนั้นให้พักตลอดเวลาที่สอบสวนหรือตลอดเวลาที่คดียังไม่ถึงที่สุด เมื่อสอบสวนหรือคดีถึงที่สุดแล้ว ถ้าปรากฏว่าผู้ถูกสั่งให้พักราชการมิได้กระทำความผิดและไม่มีมลทินหรือมัวหมอง ก็ให้ผู้นั้นคงอยู่ในราชการตามเดิม"
จากนี้ขึ้นอยู่ว่า ก.ศป.จะกำหนดมาตรฐานของข้าราชการตุลาการศาลปกครองไว้ในระดับใด
#เชิญชวนติดตามข่าวสารสำนักข่าวอิศรา ได้ด้วยการกด "Like" ที่ แฟนเพจ "I love isranews"
อ่านประกอบ :
ต้องสั่งพักราชการ "หัสวุฒิ" ปธ.ศาลปกครองฯระหว่างสอบสวน?
ก.ศป.ลงมติ9ต่อ2 ตั้งกก.สอบ"หัสวุฒิ" คดีจม.น้อย ชี้ชะตาพ้นตำแหน่ง
"หัสวุฒิ"อ่วม!ก.ศป.สั่งสอบเพิ่ม 4คดีรวด"ยกฉัตร-ใกล้ชิดคู่ความ-รถ-ญาติ"
องค์คณะ"ก.ศป."ครบ 13คนทางการ สนช.เคาะ 2 ชื่อ สุดท้าย"อุดม-วีรวิทย์"
เมื่อ “บิ๊ก”ตุลาการศาล ปค.คลุกคลีตีโมงกับคู่ความ
ปริศนา!ประธานศาล ปค.ตรวจราชการ-ยกยอดฉัตรวันเวลาเดียวกัน ซ้ำรอย “จารุวรรณ”?
คดีจม.น้อยฝาก"ตร."ไร้ข้อยุติ!องค์ประชุม ก.ศป.ล่ม-กก.ลาเพียบ"หัสวุฒิ"ด้วย
เปิดคำพิพากษายกฟ้อง “ดิเรกฤทธิ์”ฟ้อง”อิศรา” กรณีจม.น้อย
"ดิเรกฤทธิ์" ฟ้องแพ่ง"อิศรา"เพิ่ม!เรียกค่าเสียหาย 50 ล.-ขอคุ้มครองชั่วคราว
คกก.ข้อมูลข่าวสารฯ รับอุทธรณ์ "ผอ.อิศรา"ปมศาลปค.ปัดให้ผลสอบ"จม.น้อย"
"ดิเรกฤทธิ์"โดนโทษเบาหวิวแค่ตักเตือนปมจม.น้อยฝากตร.-ปธ.ศาลปค.รอด
“ตุลาการ” โวย สนง.ศาลปกครอง แถลงบิดเบือนผลสอบจม.น้อยฝาก "ตร."