สำรวจทีวีดิจิตอล พบ 'สปริงนิวส์' นำโด่งรายงานข่าวเชิงสืบสวนมากสุด
มีเดียมอนิเตอร์ เปิดผลศึกษาสื่อเชิงสืบสวน ในทีวีดิจิตอลช่องข่าว พบ Spring News รายงานเชิงสืบสวนตามเกณฑ์มากที่สุด ไม่พบรายงานเชิงสืบสวนในช่อง Voice TV, New TV และ Thai TV นักวิชาการ จุฬาฯ ชี้ทำข่าวสืบสวนปริมาณไม่ได้เป็นตัวชี้วัดสำคัญ แต่ต้องเจาะลึก แตกต่าง สร้างความเปลี่ยนแปลง
วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2558สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา จัดงานเสวนาเรื่อง “คุณภาพและปริมาณงานเชิงสืบสวนของสื่อโทรทัศน์ สะท้อนสภาพอะไรของสื่อและสังคม” ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้อำนวยการ Media Monitor นำเสนอผลการศึกษาเรื่อง “สื่อเชิงสืบสวน ในทีวีดิจิตอลช่องสารและสาระ"ว่า สื่อเชิงสืบสวน เป็นหนึ่งในบทบาทสำคัญของสื่อ ทั้งเป็นปัจจัยและตัวชี้วัดเสรีภาพในการสื่อสาร และระดับการพัฒนาของสื่อ โดยมักสืบสวนประเด็นสาธารณะ เพื่อตรวจสอบ ขุดคุ้ย เปิดโปงการกระทำผิดคามไม่ชอบมาพากลต่างๆ หรือเพื่ออธิบาย ขยายความ คลี่คลายเรื่องราวที่มีความซับซ้อน มีเงื่อนงำ เป็นที่สงสัย หรือ ถูกปกปิดให้เป็นความรับ
"มีเดียมอนิเตอร์ จึงสนใจศึกษาเรื่อง “สื่อเชิงสืบสวน ในโทรทัศน์ดิจิตอลกลุ่มข่าวสารและสาระ” เพื่อวิเคราะห์การทำหน้าที่ของสื่ออันสะท้อนทั้งประสิทธิภาพสื่อเพื่อสังคม และเสรีภาพของสื่อ ในช่วงปี 2557 ที่สังคมไทยอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร"
โทรทัศน์ดิจิตอลกลุ่มข่าวสารและสาระที่ศึกษา คือ (1) Voice TV (2) Nation Channel (3) Spring News (4) TNN24 (5) Thai TV และ (7) Bright TV รูปแบบการศึกษาคือ ข่าวทั่วไป รวมทั้งรายงานและรายการเชิงสืบสวนที่ออกอากาศระหว่าง วันที่ 22 สิงหาคม -22 กันยายน พ.ศ.2557 ตลอด 24 ชั่วโมง
ผลการศึกษาพบว่า ช่องทีมีการนำเสนอมากที่สุด คือ Spring News จำนวน 6 เรื่อง (4 ชั่วโมง 6 นาที) ตามด้วย Nation Channel จำนวน 4 เรื่อง (57 นาที) Bright TV จำนวน 2 เรื่อง (24 นาที และช่อง TNN24 จำนวน 1 เรื่อง (36 นาที) ตามลำดับ ในขณะที่ NEW TV ไม่พบงานเชิงสืบสวนตามเกณฑ์ที่กำหนด
เหตุที่ช่อง Spring News มีสัดส่วนรายงานเชิงสืบสวนมากที่สุด อาจเนื่องจากมีรายการข่าวแนวสืบสวนที่ออกอากาศทุกวัน ได้แก่ รายการไขปมข่าว (ทุกวันจันทร์ถึงวันศุกร์) และรายการ Spring Reports (ทุกวันเสาร์และวันอาทิตย์) จึงพบรายงานเชิงสืบสวนตามเกณฑ์ที่กำหนดในสัดส่วนค่อนข้างมาก ในขณะที่ช่องอื่นๆ มีรายการแนวสืบสวนน้อย จึงพบรายงานเชิงสืบสวนตามเกณฑ์ที่กำหนดในสัดส่วนที่น้อยกว่า
และหากจัดกลุ่มเนื้อหา/ ประเด็นรายงานเชิงสืบสวน พบว่าเนื้อหา/ ประเด็นที่พบมากที่สุดในรายงานเชิงสืบสวน คือ เนื้อหา/ประเด็นเกี่ยวกับการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ/ทุจริต จำนวน 5 เรื่อง (1 ชั่วโมง 55 นาที )รองลงมาคือเนื้อหา/ ประเด็นเกี่ยวกับความขัดแย้งด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 3 เรื่อง (1 ชั่วโมง 11 นาที) ตามด้วยเนื้อหา/ ประเด็นเกี่ยวกับการหลอกลวง ฉ้อโกง หรือทำให้เกิดความเสียหาย 2 เรื่อง (59 นาที)
ด้านเนื้อหา/ ประเด็นเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน พบ 1 เรื่อง (47 นาที) เนื้อหา/ ประเด็นเกี่ยวกับการกระทำผิดศีลธรรมจรรยา พบ 1 เรื่อง (5 นาที) และเนื้อหา/ ประเด็นเกี่ยวกับความขัดแย้งทางความคิด ค่านิยม วัฒนธรรม 1 เรื่อง (1 ชั่วโมง 5 นาที)
เมื่อพิจารณาความหลากหลายของเนื้อหา/ ประเด็น ในรายงานเชิงสืบสวน พบว่าช่อง Spring News มีเนื้อหา/ ประเด็นหลากหลายมากที่สุด รองลงมาคือช่อง Nation Channel ทั้งนี้เนื่องจากทั้งสองช่องมีรายการข่าวแนวสืบสวนโดยเฉพาะ อีกทั้งยังมีจำนวนรายงานเชิงสืบสวนที่เป็นไปตามเกณฑ์การศึกษาในครั้งนี้มากกว่าช่องอื่นๆ
"ผลการสืบสวน เมือประมวลในภาพรวม พบว่า ส่วนใหญ่แล้ว การนำเสนองานเชิงสืบสวน ยังไปไม่ถึงขั้นคลี่คลาย เงื่อนปม และสืบค้นถึงต้นเหตุ จนสามารถส่งสัญญาณจากพื้นที่สื่อสู่ปฏิบัติการสืบสวนในสถานการณ์จริงได้"ดร.เอื้อจิต กล่าว
ด้านนายเทพชัย หย่อง นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวถึงคุณภาพและปริมาณงานเชิงสืบสวนของสื่อโทรทัศน์ สะท้อนสภาพอะไรของสื่อแบะสังคมว่า ในทุกวันนี้ประเด็นที่ยังต้องถกเถียงกันอยู่ในทุกๆ สื่อคือ ใครควรทำหน้าที่นี้ ต้องมีทีมงานเฉพาะหรือไม่ หรือให้นักข่าวทั่วไปช่วยกันทำ แต่ถ้าเป็นทีมเฉพาะเรื่องน่าจะดีกว่าเพราะเขาจะทุ่มเทกับเรื่องนี้โดยเฉพาะ และต้องการเวลาในการทำข่าว
"คงไม่มีข่าวสืบสวนสอบสวนที่ไหน ทำเสร็จภายในเวลา 2 วัน การทำข่าวสืบสวนภายใต้คำจำกัดความที่ทางการศึกษาครั้งนี้ ยกเป็นตัวอย่างลักษณะของข่าวสืบสวนที่ดี หลายคนคงเคยตั้งคำถามว่า ลักษณะของข่าวสืบสวนที่ดีคืออะไร มันก็คือลักษณะความเป็นสากล มีการวางแผนที่ดีในการทำข่าวให้ตอบสนองกับลักษณะของข่าว
นักข่าวส่วนใหญ่อาศัยประสบการณ์และความตั้งใจอยากทำมากกว่าที่จะคำนึงถึงการตอบโจทย์โดยเฉพาะส่วนที่เป็นลักษณะที่ดี การทำข่าวในสืบสวนสอบสวนของโทรทัศน์ในปัจจุบันเป็นในเชิงบวกมากขึ้น ถ้าเปรียบกับสมัยก่อน และการทำข่าวสืบสอบสวนก็สำคัญเพราะกลไกในภาคต่างๆ ไม่ทำงาน จึงต้องอาศัยสื่อมวลชนเข้ามาเป็นเป็นกำลังสำคัญในการสืบหาความจริง และกดดันให้ภาคส่วนเหล่าแก้ปัญหา
นายเทพชัย กล่าวว่า การศึกษาครั้งก็เป็นสามารถเป็นแรงกระตุ้นให้สื่อมวลชนหันมาทำข่าวสืบสอบสอบสวนมากขึ้น สามารถช่วยเหลือสังคมได้ เพื่อทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ แต่การจะทำข่าวสืบสวนที่ดีได้ต้องอาศัยการลงทุนทางด้านทรัพยากรคนและเวลาที่จะมาทำงานด้านนี้ อีกอย่างหนึ่งที่ควรจะมีคือ การจัดอบรมแบ่งปันประสบการณ์ในการทำข่าวในคนใหม่ๆได้เข้าทุ่มเทกับสิ่งนี้ต่อไป
"การทำข่าวสืบสวนสอบสวนเป็นส่วนหนึ่งที่จะสะท้อนระบบความเป็นประชาธิปไตย ทั้งหมดนี้ถ้าทำได้ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี และสื่อควรมาประเมินตัวเองว่า สิ่งที่นำเสนอไปได้ช่วยเหลือสังคมมากน้อยแค่ไหน"
ด้านนางสาวสุชาดา จักพิสุทธิ์ บรรณาธิการบริหาร ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง กล่าวถึงผลการศึกษาชิ้นนี้ ถือว่า เป็นช่วงพิเศษ ทำให้สื่อไม่มากก็น้อยมีการเซ็นเซอร์ตัวเองในระดับหนึ่ง ขณะที่ข่าวสืบสวนแต่ละข่าวต้องมีประเด็นแตกย่อยอย่างละเอียด ครอบคลุมทุกด้าน และต้องมองว่า มุมไหนแหลมที่สุดหรือว่ามุมที่ตัวเองมีหลักฐานในมือมากที่สุด มีแหล่งข่าว แหล่งข้อมูลครบถ้วนมากที่สุด ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของตัวผู้สื่อข่าวด้วย ว่าประเด็นไหนจะเป็นประโยชน์กับสังคมมากที่สุด
"แต่ข่าวสืบสวนส่วนใหญ่ไปไม่ถึงผู้มีอำนาจสูงสุดหรือไปไม่สุด แต่จะสุดหรือไม่สุดก็ขึ้นอยู่กับหลักฐานที่มี และขึ้นอยู่ศักยภาพของนักข่าวด้วย"
นายเสนาะ เจริญสุข บรรณาธิการข่าวสำนักข่าวอิสรา กล่าวถึงงานวิจัยชิ้นนี้อาจจะเป็นงานวิจัยที่ทำการสืบสวนสื่อดิจิตอลโดยเฉพาะ มีหลักฐานเชิงประจักษ์อยู่สมควร แต่การทำงานของสื่อดิจิตอล ที่ชัดเจนเลยคือ เรายังไม่ทำหน้าที่ตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พร้อมมีข้อเสนอคววรมีงานวิจัยที่สามารถผลักดัน ให้สื่อที่เป็นสื่อกระแสหลักอยู่แล้ว มีการข่าวสืบสวนให้มากยิ่งขึ้น
อ.สุภาพร โพธิ์แก้ว หัวหน้าภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงสิ่งที่น่าสนใจ คือ การทำข่าวสืบสวนนั้น ตัวปริมาณไม่ใช่ตัวชี้วัดสำคัญ เพราะบางครั้งข่าวข่าวเดียวสะเทือนทั้งวงการ เพราะฉะนั้นคำว่า เจาะลึก แตกต่าง และสร้างความเปลี่ยนนั้นมันสำคัญมาก และคำว่า ไปสุดหรือไม่สุดก็ยังไม่สำคัญ แต่ขอให้พิสูจน์ให้เห็นความผิดปกติทางสังคม และทำให้สังคมเกิดความตระหนักและเห็นความผิดปกติ
"ข่าวทุกข่าวเกิดจาการที่นักข่าวสะดุดด้วยตนเองจะดีมาก และจะโยงมาถึงเรื่องสร้างบุคลากร และบุคลากรเหล่านั้นต้องอาศัยประสบการณ์ การได้เอกสารซึ่งข้อมูลเอกสารมีน้อย คือนักข่าวมักจะถูกปฎิเสธการให้เอกสารหรือปิดบังข้อมูลบางอย่างเสมอ ต้องทำให้เขาเหล่า รู้สึกสงสัย และสะดุดหัวแม่โป้งตัวเอง จึงทำข่าวสืบสวนได้ดี"
ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง:
แง้มแฟ้มวิจัยข่าวสืบสวนออนแอร์ 7 ทีวีดิจิตอล-การเปิดโปงทุจริตยังน้อย ?
(ร่าง) ผลการศึกษาฉบับย่อ สื่อเชิงสืบสวน (Investigative Journalism) ในทีวีดิจิตอลช่องข่าวสารและสาระ
ขอบคุณภาพข่าวจาก:https://www.facebook.com/banyong.suwanpong?fref=photo