- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- แง้มงานวิจัยข่าวสืบสวนใน 7 ทีวีดิจิตอล-เปิดโปงน้อย มุ่งตรวจสอบแค่ผู้ปฎิบัติ
แง้มงานวิจัยข่าวสืบสวนใน 7 ทีวีดิจิตอล-เปิดโปงน้อย มุ่งตรวจสอบแค่ผู้ปฎิบัติ
แง้มแฟ้มวิจัยสื่อเชิงสืบสวนในทีวีดิจิตอล พบ “สปริงนิวส์” เยอะสุด 6 เรื่อง “นิวทีวี-ไทยทีวี” ไม่มี สืบประเด็นทุจริตเยอะสุด แต่ยังจบในตอนเป็นหลัก-ยังไม่เน้นเปิดโปงมาก แนะควรให้ความสำคัญกับข้อมูล วิเคราะห์ความเชื่อมโยง-คลี่คลายความซับซ้อน
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : บางส่วนจากงานวิจัยเรื่อง สื่อเชิงสืบสวน (Investigative Journalism) ในทีวีดิจิตอลช่องข่าวสารและสาร จัดทำโดยมูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา ศึกษาการทำข่าวเชิงสืบสวนในช่องทีวีดิจิตอล 7 ช่อง ได้แก่ Voice TV, Nation Tv, Spring News, TNN 24, New TV, Thai Tv และ Bright TV ระหว่างวันที่ 22 ส.ค.-22 ก.ย. 2557 ตลอด 24 ชั่วโมง
----
1. สัดส่วนจำนวนเรื่อง/ เวลารายงานเชิงสืบสวน
จากการศึกษาพบว่าช่องทีวีดิจิตอลช่องข่าวสารและสาระมีรายงานเชิงสืบสวนตามเกณฑ์ที่กำหนดทั้งสิ้น 13 เรื่อง รวมเวลาประมาณ 6 ชั่วโมง 5 นาที โดยช่องที่มีการนำเสนอรายงานเชิงสืบสวนมากที่สุดคือช่อง Spring News จำนวน 6 เรื่อง (4 ชั่วโมง 6 นาที) ตามด้วยช่อง Nation Channel จำนวน 4 เรื่อง (57 นาที) ช่อง Bright TV จำนวน 2 เรื่อง (24 นาที) และช่อง TNN24 จำนวน 1 เรื่อง (36 นาที) ตามลำดับ ในขณะที่ New TV และ Thai TV ไม่พบว่ามีรายงานเชิงสืบสวนตามเกณฑ์ที่กำหนด ดังแสดงในแผนภูมิ
เหตุที่ช่อง Spring News มีสัดส่วนรายงานเชิงสืบสวนมากที่สุด อาจเนื่องจากมีรายการข่าวแนวสืบสวนที่ออกอากาศทุกวัน ได้แก่ รายการไขปมข่าว (ทุกวันจันทร์ถึงวันศุกร์) และรายการ Spring Reports (ทุกวันเสาร์และวันอาทิตย์) จึงพบรายงานเชิงสืบสวนตามเกณฑ์ที่กำหนดในสัดส่วนค่อนข้างมาก ในขณะที่ช่องอื่นๆ มีรายการแนวสืบสวนน้อย จึงพบรายงานเชิงสืบสวนตามเกณฑ์ที่กำหนดในสัดส่วนที่น้อยกว่า
2. การจัดกลุ่มเนื้อหา/ ประเด็นรายงานเชิงสืบสวน
จากการศึกษาในช่องทีวีดิจิตอลช่องข่าวสารและสาระ พบว่าเนื้อหา/ ประเด็นที่พบมากที่สุดในรายงานเชิงสืบสวน คือ เนื้อหา/ ประเด็นเกี่ยวกับการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ/ ทุจริต จำนวน 5 เรื่อง (1 ชั่วโมง 55 นาที )รองลงมาคือเนื้อหา/ ประเด็นเกี่ยวกับความขัดแย้งด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 3 เรื่อง (1 ชั่วโมง 11 นาที) ตามด้วยเนื้อหา/ ประเด็นเกี่ยวกับการหลอกลวง ฉ้อโกง หรือทำให้เกิดความเสียหาย 2 เรื่อง (59 นาที)
ด้านเนื้อหา/ ประเด็นเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน พบ 1 เรื่อง (47 นาที) เนื้อหา/ ประเด็นเกี่ยวกับการกระทำผิดศีลธรรมจรรยา พบ 1 เรื่อง (5 นาที) และเนื้อหา/ ประเด็นเกี่ยวกับความขัดแย้งทางความคิด ค่านิยม วัฒนธรรม 1 เรื่อง (1 ชั่วโมง 5 นาที)
เมื่อพิจารณาความหลากหลายของเนื้อหา/ ประเด็น ในรายงานเชิงสืบสวน พบว่าช่อง Spring News มีเนื้อหา/ ประเด็นหลากหลายมากที่สุด รองลงมาคือช่อง Nation Channel ทั้งนี้เนื่องจากทั้งสองช่องมีรายการข่าวแนวสืบสวนโดยเฉพาะ อีกทั้งยังมีจำนวนรายงานเชิงสืบสวนที่เป็นไปตามเกณฑ์การศึกษาในครั้งนี้มากกว่าช่องอื่นๆ ดังแสดงในตาราง
3. จำนวนตอนของรายงานเชิงสืบสวน
จากรายงานเชิงสืบสวนทั้ง 13 เรื่อง (24 ตอน) พบว่ารายงานเชิงสืบสวนที่มีจำนวน 1 ตอน (จบในตอน) สูงที่สุด 8 เรื่อง รองลงมาเป็น 2 ตอนต่อเนื่อง พบ 3 เรื่อง ขณะที่ 4 และ 6 ตอนต่อเนื่องพบอย่างละ 1 เรื่อง
ทั้งนี้ ช่อง Spring News เป็นช่องที่พบรายงานเชิงสืบสวนลักษณะจบใน 1 ตอนสูงที่สุด รองลงมาเป็นช่อง Nation Channel จำนวน 3 เรื่อง ขณะที่ช่อง Bright TV และช่อง TNN24 พบรายงานเชิงสืบสวนจบในหนึ่งตอนช่องละ 1 เรื่อง นอกจากนี้ช่อง Spring News พบรายงานเชิงสืบสวนชนิด 2 ตอนต่อเนื่องจำนวน 2 เรื่อง
(เปิดโปง! ทุจริต กศน. อิทธิพล-ผลประโยชน์ และ เปิดโปง! ขบวนการมอดไม้พะยูง) ขณะที่ช่อง Nation Channel พบ 1 เรื่อง (ยุทธการทวงคืนผืนป่าสิรินาถ ภาค 2) โดยช่อง Bright TV พบรายงานเชิงสืบสวนชนิด 4 ตอนต่อเนื่อง 1 เรื่อง (สาเหตุรถสายตรวจไทเกอร์ถูกทิ้ง) ขณะที่ช่อง TNN24 พบรายงานเชิงสืบสวนที่มีตอนต่อเนื่องกัน 6 ตอนจำนวน 1 เรื่อง (ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ดินลำตะคอง) ทั้งนี้ในภาพรวมพบว่าลักษณะรายงานเชิงสืบสวนที่พบโดยส่วนใหญ่ 8 เรื่องมีลักษณะจบในตอน โดยรายงานเชิงสืบสวนที่มีมากกว่าหนึ่งตอนพบในสัดส่วนที่น้อยกว่า
สรุปผลการศึกษา
จากการศึกษาทีวีดิจิตอลช่องข่าวสารและสาระทั้ง 7 ช่อง สามารถสรุปผลการศึกษา และลักษณะสำคัญของข่าวเชิงสืบสวนที่พบได้ดังนี้
1. มีสัดส่วนการนำเสนอรายงานเชิงสืบสวนค่อนข้างน้อย (จำนวน 13 เรื่อง คิดเป็นสัดส่วนเวลา 6 ชั่วโมง 5 นาที ในระยะเวลา 1 เดือน) โดยช่อง Spring News เป็นช่องที่พบรายงานเชิงสืบสวนตามเกณฑ์ที่กำหนดมากที่สุด และไม่พบรายงานเชิงสืบสวนในช่อง Voice TV, New TV และ Thai TV
2. นำเสนอเนื้อหาที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบหรือการทุจริตมากที่สุด แต่ไม่พบรายงานเชิงสืบสวนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมืองในช่วงที่ศึกษา
3. เลือกนำเสนอเรื่องราวแบบจบในตอนเป็นหลัก โดยเฉพาะในรายการข่าวเชิงสืบสวน อย่างไรก็ตามสำหรับเรื่องที่มีจำนวนหลายตอน ก็อาจเป็นไปในลักษณะการตัดแบ่งเรื่องราวเพื่อนำเสนอ มากกว่าการติดตามประเด็นความคืบหน้า
4. มีลักษณะการสืบค้นที่สำคัญคือ 1) เน้นทำหน้าที่เป็นปากเสียงของประชาชน ให้พื้นที่แหล่งข้อมูลเชิงบุคคลที่เป็นกลุ่มผู้เสียหาย/ ได้รับผลกระทบ มากกว่าคู่กรณี 2) เน้นเดินเรื่องตามคำบอกเล่าของแหล่งข่าว โดยใช้เอกสาร/ หลักฐานเป็นเพียงส่วนประกอบ
5. เน้นบทบาทในการอธิบายขยายความ มากกว่าการเปิดโปง
6. มุ่งตรวจสอบกลุ่มอำนาจมากกว่าหนึ่งกลุ่ม แต่มักเป็นการตรวจสอบผู้ใช้อำนาจในระดับปฏิบัติการ และในภาพรวมยังไม่สามารถที่จะขุดค้นและนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงออกมาได้อย่างลึกซึ้ง กล่าวคือ (1) รายงานเชิงสืบสวนที่เน้นการเปิดโปง ประกอบด้วย ระดับที่สืบถึงตัวผู้กระทำความผิด 1 ชิ้น และระดับที่พยายามในการสืบสวนหาผู้กระทำผิด 1 ชิ้น, (2) รายงานเชิงสืบสวนที่เน้นการอธิบายขยายความ ประกอบด้วย ระดับที่สะท้อนให้เห็นว่ามีปมปัญหา 7 ชิ้น และ ระดับที่พยายามค้นหาสาเหตุของปัญหา 4 ชิ้น
ข้อเสนอแนะ
จากผลการศึกษาครั้งนี้ ที่พบว่ารายงานเชิงสืบสวนในสื่อที่ศึกษายังมีปัญหาทั้งในเชิงปริมาณ และคุณภาพ นำไปสู่ข้อเสนอต่อสื่อมวลชน ในประเด็นต่างๆ ดังนี้
1) ประเด็นของรายงานสืบสวน ควรมุ่งติดตามประเด็นที่มีความสำคัญ/ ส่งผลกระทบต่อสาธารณะอย่างเกาะติด ใกล้ชิด ต่อเนื่อง ไม่เฉพาะประเด็นทางการเมือง แต่ยังรวมถึงประเด็นอื่นๆ ที่มีความซับซ้อน เป็นประเด็นที่ไม่เคยมีผู้ตั้งข้อสังเกตมาก่อน หรือเป็นปัญหาที่อาจส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวม และต้องการการอธิบายขยายความจากสื่อมวลชน เพื่อให้งานสืบสวนครอบคลุมลักษณะสำคัญ ทั้งในแบบการตรวจสอบเฝ้าระวัง และการให้ความรู้ความเข้าใจกับสังคม
2) หลักฐานรายงานเชิงสืบสวน ควรให้ความสำคัญกับกระบวนการสืบค้นข้อมูล การได้มาของข้อมูล รวมไปถึงกระบวนการพิสูจน์ หรือตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลของผู้สื่อข่าว ไม่พึ่งพิงแหล่งข้อมูลเพียงแหล่งใดแหล่งหนึ่ง เพื่อความน่าเชื่อถือของเรื่องราวที่นำเสนอสู่สาธารณะ
3) วิธีการนำเสนอ/ วิเคราะห์ข้อมูลในรายงานเชิงสืบสวน ควรเน้นการวิเคราะห์เพื่อให้เห็นความเชื่อมโยงของข้อมูล/ หลักฐานต่างๆ ที่สืบค้นได้ จากมุมมองที่หลากหลาย มีความรอบด้าน ลุ่มลึกในแต่ละประเด็นที่นำเสนอ เพื่อการคลี่คลายความซับซ้อนของปัญหา/ เรื่องราว หรือการเปิดโปงความไม่ชอบมาพากลต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม
4) เป้าหมายของรายงานเชิงสืบสวน ควรนำเสนออย่างต่อเนื่อง มีการวางแผน และเป้าหมาย สร้างผลกระทบและความสนใจจากสังคม เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หรือนำไปสู่การแก้ไขปัญหา หรือคลี่คลายความซับซ้อนของเรื่องราวได้ในที่สุด
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก mthai