- Home
- Thaireform
- หลากมิติ
- สื่อสารมวลชน
- สื่อเชิงสืบสวน (Investigative Journalism) ในทีวีดิจิตอลช่องข่าวสารและสาระ
สื่อเชิงสืบสวน (Investigative Journalism) ในทีวีดิจิตอลช่องข่าวสารและสาระ
(ร่าง) ผลการศึกษาฉบับย่อ สื่อเชิงสืบสวน (Investigative Journalism) ในทีวีดิจิตอลช่องข่าวสารและสาระ
โดยมูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา โครงการมีเดียมอนิเตอร์
ที่มาและความสำคัญ
การทำข่าวเชิงสืบสวน ถือเป็นบทบาทสำคัญอย่างหนึ่งของสื่อที่เป็นทั้งเครื่องชี้วัด และปัจจัยที่นำไปสู่ เสรีภาพในการสื่อสาร (Freedom of Expression) และการพัฒนาความสามารถและคุณภาพของสื่อ (Development of Media) ในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมประชาธิปไตย ข่าวเชิงสืบสวนถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญของสื่อมวลชนในการทำหน้าที่เป็นตัวแทนพิทักษ์รักษาสิทธิของประชาชนในการรับรู้ข้อมูล ตรวจสอบ และวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ ที่กระทบกับผลประโยชน์สาธารณะ (De Burgh, 2000:315)
รัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2550 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 รวมทั้ง พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ได้กำหนดให้มีการจัดสรรคลื่นความถี่ที่เป็นทรัพยากรสาธารณะให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับสังคม ด้วยการแบ่งกลุ่มการบริการกิจการโทรทัศน์ออกเป็น 3 ประเภทหลัก ได้แก่ กลุ่มบริการสาธารณะ บริการชุมชน และบริการทางธุรกิจ โดยสำหรับช่องประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ ยังแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม หนึ่งในนั้นคือประเภทรายการข่าวสารและสาระ จำนวน 7 ช่อง ซึ่งเป็นที่คาดหวังของสังคมว่าจะนำเสนอข่าวสารต่างๆ รวมทั้งเติมเต็มมิติการทำข่าวในเชิงสืบสวนมากขึ้น
แม้สื่อโทรทัศน์จะเป็นสื่อที่มีข้อได้เปรียบสื่ออื่นๆ ในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น ความรวดเร็ว ความน่าสนใจในการรายงานข่าวสาร แต่กลับมีจุดอ่อนด้านการรายงานข้อมูลเชิงลึก การวิเคราะห์ การติดตามเปิดโปงเรื่องราวที่เป็นผลกระทบต่อส่วนรวม มีการทำข่าวเชิงสืบสวนในจำนวนไม่มาก (สุรสิทธิ์ วิทยารัฐ, 2550) ทั้งนี้ เนื่องจากข้อจำกัดหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นข้อจำกัดด้านนโยบายของสถานีโทรทัศน์ ข้อจำกัดในเรื่องทรัพยากรของสถานีโทรทัศน์เอง หรือข้อจำกัดทางธุรกิจ เป็นต้น
ด้วยความสำคัญของเนื้อหารายการเชิงสืบสวนที่มีต่อสังคม ที่สะท้อนคุณภาพทั้งเสรีภาพของสื่อ ในขณะที่การปฏิรูปสื่อโทรทัศน์ ทำให้เป็นครั้งแรกที่กิจการโทรทัศน์ของประเทศไทยมีประเภทข่าวสารและสาระ มีเดียมอนิเตอร์จึงสนใจศึกษาการนำเสนอข่าว/ รายการเชิงสืบสวนทางทีวีดิจิตอลช่องข่าวสารและสาระทั้ง 7 ช่อง คือ (1) Voice TV (2) Nation Channel (3) Spring News (4) TNN24 และ (5) New TV (6) Thai TV และ (7) Bright TV ทั้งในเชิงปริมาณ และคุณภาพ อย่างคำนึงถึงบทบาทหน้าที่ของสื่อ สิทธิเสรีภาพในการสื่อสาร
ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2550 และความคาดหวังของสาธารณะ
-
file download