อธิการฯม.อุบลโล่ง!ศาลฯยกฟ้องโทษคุก1ปี4ด.-คดีปลดอดีตผอ.กองคลัง
รศ.นงนิตย์ ธีระวัฒนสุข อธิการบดีม.อุบลฯ โล่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 3 กลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่สั่งจำคุก 1 ปี 4 เดือน และปรับ 12,000 บ.ฐานไม่ปฏิบัติตามมติ อ.ก.พ.อ. ที่ให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษวินัยปลดออกจากราชการ อดีต ผอ.กองคลัง ชี้ชัดข้อเท็จจริงไม่พอฟังว่ามีเจตนาพิเศษเพื่อกลั่นแกล้งให้โจทก์เกิดความเสียหาย
จากกรณีสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเสนอข้อมูลคดีความฟ้องร้องระหว่างรศ.นงนิตย์ ธีระวัฒนสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีกับบุคคลากรในมหาวิทยาลัย คืออดีตผู้อำนวยการกองคลังเป็นโจทก์ยื่นฟ้องอธิการบดีเป็นจำเลยในคดีอาญาต่อศาลจังหวัดอุบลราชธานีฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการที่จะต้องสั่งเพิกถอนคำสั่งมหาวิทยาลัยที่สั่งปลดโจทก์ออกจากราชการและสั่งให้โจทก์กลับเข้ารับราชการตามมติคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับอุทธรณ์ ร้องทุกข์ และจรรยาบรรณ (อ.ก.พ.อ) ปฏิบัติหน้าที่แทนคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ) ที่ได้พิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์แล้วมีมติให้เพิกถอนคำสั่งปลดโจทก์ออกจากราชการ โดยคดีดังกล่าวศาลชั้นต้นพิพากษาว่าอธิการบดีในฐานะจำเลยมีความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ อธิการบดีจึงยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ขอให้ศาลวินิจฉัยว่า อ.ก.พ.อ. มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งโทษวินัยหรือไม่และอุทธรณ์ว่าไม่ได้มีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์แต่ปฏิบัติไปตามความเห็นของฝ่ายกฎหมายที่ชี้ว่า มติ อ.ก.พ.อ. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ล่าสุด เมื่อวันที่ 11 พ.ย.57 ศาลอุทธรณ์ ภาค 3 อ่านคำพิพากษายกฟ้องโจทก์ ใจความโดยสรุปว่าเมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงที่ฟังได้ความแล้วปรากฏว่าที่จำเลย ไม่ยอมปฏิบัติตามมติของ อ.ก.พ.อ.นั้นสืบเนื่องมาจากสำนักงานกฎหมายและนิติการมีความเห็นเสนอจำเลยว่า มติของคณะอนุกรรมการดังกล่าวนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยมีเหตุผลสำคัญว่าคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับอุทธรณ์ ร้องทุกข์ และจรรยาบรรณ (อ.ก.พ.อ.)ไม่ใช่คณะกรรมการที่มีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดอุทธรณ์ ตามกฎหมายได้ โดยอ้างถึงคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งเคยวินิจฉัยใน กรณีที่คล้ายคลึงกันว่าอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์เป็นอำนาจเฉพาะของคณะกรรมการ วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทที่ไม่อาจมอบอำนาจให้คณะอนุกรรมการหรือบุคคลอื่นใดทำ หน้าที่แทนได้เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่มีผลกระทบต่อสถานภาพทั้งสิทธิและ หน้าที่ของคู่กรณี และจำเลยเลือกที่จะปฏิบัติตามความเห็นดังกล่าว
แม้ความเห็นดังกล่าวจะไม่สอดคล้องกับความในมาตรา 64 และมาตรา 16 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2557 และความในข้อ 4 แห่งข้อบังคับ ก.พ.อ. ว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณาอุทธรณ์ กรณีถูกสั่งให้ออกจากราชการหรือกรณีถูกสั่งลงโทษปลดออกหรือไล่ออก พ.ศ. 2549 ก็ตาม แต่เมื่อความเห็นที่ต่างกันในข้อกฎหมาย ทั้งสองต่างมีน้ำหนักฟังได้ว่าอาจถูกต้องด้วยกัน และศาลปกครองสูงสุดยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดว่าข้อกฎหมายควรเป็นไปตามความเห็น ใด การที่จำเลยซึ่งไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับโจทก์มาก่อนเลือกที่จะปฏิบัติตาม ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกากับแนวทางปฏิบัติเดิมของมหาวิทยาลัย อุบลราชธานีซึ่งสภามหาวิทยาลัยฯเคยมีมติเห็นชอบด้วย อีกทั้งโจทก์ก็มีอายุเพียง 47 ปี ยังมีเวลารับราชการต่อไปอีกกว่า 10 ปี แนวทางที่จำเลยเลือกย่อมไม่มีผลที่จะสามารถขัดขวางมิให้โจทก์กลับเข้ารับ ราชการตามเดิมได้หรือทำให้โจทก์ขาดโอกาสที่จะมีความก้าวหน้าในการรับราชการ สืบไปได้ ข้อเท็จจริงเพียงเท่านี้ย่อมไม่พอฟังว่า จำเลยมีเจตนาพิเศษเพื่อกลั่นแกล้งให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์โดยทำให้โจทก์ กลับเข้ารับราชการล่าช้าออกไปโดยไม่สมควร
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรารายงานว่ามูลเหตุ การฟ้องร้องในครั้งนี้ เนื่องจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีมีรายงานได้ตรวจพบการกระทำที่เป็นการทุจริต ยักยอกเงินและหรือการไม่ปฏิบัติ ตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และแบบแผนหรือแนวปฏิบัติของราชการซึ่งมหาวิทยาลัยได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวน เพื่อดำเนินการทางวินัยและต่อมาได้มีคำสั่งลงโทษทางวินัยกับผู้กระทำความผิด ตามความเห็นของคณะกรรมการสอบสวน
โดยในกรณีอดีตผู้อำนวยการกองคลังรายนี้ คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงได้เสนอความเห็นให้มหาวิทยาลัยดำเนินการเพื่อ เอาผิดทั้งทางอาญา แพ่ง และวินัย เนื่องจากเป็นผู้บังคับบัญชาในสายงานที่ เกี่ยวพันกับลูกจ้างรายหนึ่งที่ยักยอกทรัพย์ โดยในขณะนั้นอดีตผู้อำนวยการกองคลังรายนี้เป็นผู้บังคับบัญชา
คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเห็นว่า การที่ลูกจ้างรายดังกล่าวสามารถกระทำการทุจริตยักยอกเงินอย่างต่อเนื่องหลาย ครั้ง หลายคราว เป็นเวลาเกือบสองปี เป็นเพราะผู้บังคับบัญชาปล่อยปะละเลย และไม่เอาใจใส่ควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของลูกจ้างและมอบหมายภาระงานทางด้าน การเงินที่มีความสำคัญและมีความเสี่ยงสูงให้ปฏิบัติในลักษณะเบ็ดเสร็จคน เดียวตามลำพัง เปิดโอกาสให้ลูกจ้างคนดังกล่าวกระทำการทุจริตได้โดยง่ายดาย มหาวิทยาลัยจึงมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยกับผู้บังคับบัญชาทั้งหมด รวมสามราย
ต่อมาอธิการบดีได้พิจารณาความเห็นของคณะ กรรมการสอบสวน ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานแล้ว เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2555 จึงได้ออกคำสั่งลงโทษปลดข้าราชการทั้งสามรายออกจากราชการฐานปฏิบัติหน้าที่ ราชการโดยประมาทเลินเล่อ ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ แบบแผนของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของทางราชการ หรือขาดการเอาใจใส่ระมัดระวังรักษาประโยชน์ของทางราชการ อันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตามความในมาตรา 39 วรรคท้าย ประกอบกับมาตรา 48(4) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547
ทั้งนี้ ภายหลังจากการดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริง และลงโทษทางวินัย อดีตผู้อำนวยการกองคลังซึ่งเป็นผู้ที่ถูกลงโทษทางวินัยได้ดำเนินคดีฟ้องอธิการบดีเป็นจำเลยในคดีอาญาต่อศาล จังหวัดอุบลราชธานี คดีหมายเลขดำที่ 666/2556 หมายเลขแดงที่ 444/2557ลงวันที่ 6 มีนาคม 2556 โดยอดีตผู้อำนวยการกองคลัง เป็นโจทก์ยื่นฟ้องว่า เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2555 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้มีคำสั่งลงโทษทางวินัยโจทก์ โดยลงโทษปลดออกจากราชการ โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบัน อุดมศึกษา (ก.พ.อ)
ซึ่งต่อมา คณะอนุกรรมการเกี่ยวกับอุทธรณ์ ร้องทุกข์ และจรรยาบรรณ (อ.ก.พ.อ)ทำหน้าที่แทนคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ) ได้พิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ แล้วมีมติให้เพิกถอนคำสั่งปลดโจทก์ออกจากราชการ และให้โจทก์กลับเข้าราชการดังเดิม แต่จำเลยลงโทษตัดเงินเดือนโจทก์ ร้อยละ 5 เป็นเวลา 3 เดือน จึงแจ้งคำสั่งให้โจทก์ทราบ และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีทราบคำสั่งดังกล่าวเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2556
จำเลยมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องสั่ง เพิกถอนคำสั่งมหาวิทยาลัยที่สั่งปลด โจทก์ออกจากราชการ และสั่งให้โจทก์กลับเข้ารับราชการโดยเร็ว แต่จำเลยได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยมีเจตนาทุจริตเพื่อให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โดยไม่ยอมสั่งเพิกถอนคำสั่งของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีที่สั่งปลดโจทก์ออก จากราชการและไม่ยอมสั่งให้โจทก์กลับเข้ารับราชการตามคำสั่งของคณะกรรมการข้า ราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ)
คดีดังกล่าวศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมี ความผิด ลงโทษจำคุก 1 ปี 4 เดือน และปรับ 12,000 บาท นำมาสู่การที่อธิการบดีมหวิทยาลัยอุบล ในฐานะจำเลยยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 และศาลพิพากษายกฟ้องในที่สุด
อ่านประกอบ :
แกะรอย มหากาพย์คดีความ “อธิการบดี-บุคลากร” ใน ม.อุบล
ม.อุบลฯ ระส่ำ!คดีอีนุงตุงนัง อธิการสั่งล้างบางทุจริต-โดนฟ้องกลับ
คดีฟ้องร้องม.อุบลฯส่อวุ่นหนัก!ก.พ.อ.รับอุทธรณ์คำสั่งปลด"อดีตอธิการฯ"
เลขาสกอ.ปัดตอบปมอธิการ ม.อุบลฯ มีอำนาจสั่งลงโทษวินัยผู้บริหารเก่าฯ
ภาพประกอบจาก : www.bangkokbiznews.com, http://www.enn.co.th/