คดีฟ้องร้องม.อุบลฯส่อวุ่นหนัก!ก.พ.อ.รับอุทธรณ์คำสั่งปลด"อดีตอธิการฯ"
เปิดมติลับ ก.พ.อ. สั่ง ม.อุบลฯ เพิกถอนคำสั่งลงโทษปลด "อดีตอธิการฯ" ออกจากราชการ ปมทุจริตจัดสร้างหอพักนักศึกษา หลังลงมติรับอุทธรณ์ ชี้เหตุผลฟังขึ้น -คดีฟ้องร้องผู้บริหารใช้อำนาจโดยมิชอบ ส่อวุ่นหนัก!
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นางวราภรณ์ สีหนาท รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา กรรมการและเลขานุการ ก.พ.อ. ลงนามรับรอง หนังสือด่วนที่สุด ที่ ศธ 0592 (2) 3.16 / 4445 สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เรื่อง แจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่ง ลงโทษปลดออกจากราชการ
มีใจความระบุว่า ด้วยศาสตราจารย์ประกอบ วิโรจนกูฏ ได้มีหนังสือขออุทธรณ์ คำสั่งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ลับที่ 405/ 2556 ลงวันที่ 26 มีนาคม 2556 และคำสั่งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ลับที่ 407 / 2556 ลงวันที่ 26 มีนาคม 2556 ลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรง ปลดออกจากราชการ ต่อคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ในสถาบันอุดมศึกษา ( ก.พ.อ. ) เมื่อวันที่ เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2556 "คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ในสถาบันอุดมศึกษา ( ก.พ.อ. ) ในการประชุมครั้งที่ 3/2557 เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2557 ได้พิจารณาแล้ว มีมติให้อุทธรณ์ ของศาสตราจารย์ประกอบ วิโรจนกูฏ ฟังขึ้น โดยให้เพิกถอนคำสั่ง มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ลับ ที่ 405 / 2556 ลงวันที่ 26 มีนาคม 2556 และคำสั่งมหาวิทยาลัย อุบลราชธานี ลับ ที่ 407 / 2556 ลงวันที่ 26 มีนาคม 2556 รายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย ทั้งนี้ คณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้แจ้งคำวินิจฉัยให้ศาสตราจารย์ประกอบ วิโรจนกูฏ ทราบด้วยแล้ว จึงเรียนมาเพื่อโปรดดำเนินการ ตามมติของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ในสถาบันอุดมศึกษาด้วย จะขอบคุณยิ่ง"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการประชุมครั้งที่ 3/2557 กรณีวินิจฉัยการอุทธรณ์ดังกล่าว ระบุประเด็นสำคัญตอนหนึ่งว่า เนื่องจาก ศ.ประกอบ วิโรจนกูฏ ข้าราชการบำนาญ สังกัดมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งปลดออกจากราชการ ตามคำสั่งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ลับที่ 405/ 2556 ลงวันที่ 26 มีนาคม 2556 ต่อคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ในสถาบันอุดมศึกษา ตามมาตรา 62 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน ในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 กรณีถูกกล่าวหาว่า เมื่อครั้งรับราชการ เป็นข้าราชการพลเรือน ในสถาบันอุดมศึกษา ตำแหน่งอธิการบดี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ดำเนินโครงการก่อสร้างหอพักนักศึกษา ไม่เป็นไปตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 39 วรรค 5 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน ในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า กรณีคำสั่งลงโทษทางปลดออกจากราชการนี้ ศ.ประกอบ ได้ดำเนินคดีฟ้องร้อง รองศาสตราจารย์นงนิตย์ ธีระวัฒนสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จำเลย ที่ 1 และ นายกิจสุวัฒน์ หงส์เจริญ จำเลยที่ 2 ในคดีอาญา ที่ศาล จังหวัดอุบลราชธานี ลงวันที่ 2 ตุลาคม 2555
โดยโจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันปฏิบัติ หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยเจตนาทุจริตเพื่อให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โดยจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันกล่าวหาโจทก์ด้วยข้อความอันเป็นเท็จว่า โจทก์กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง โดยได้ตั้งข้อกล่าวหาทั้งหมด 15 ข้อกล่าวหา ตามบันทึกการแจ้งและรับทราบข้อกล่าวหาฯ (แบบ สว.3) อันเป็นการแจ้งข้อกล่าวหาโดยไม่ชอบ คดีนี้ศาลไต่สวนมูลฟ้อง มีคำสั่งรับฟ้องว่าจำเลยที่ 1 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยไม่ชอบ แต่จำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งรับฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าเป็นการที่ศาลรับฟ้องนอกฟ้อง เพราะข้อกล่าวหาดังกล่าวไม่มีในคำฟ้อง แต่ศาลยกคำร้องโดยให้เหตุผลว่า คำอุทธรณ์ระหว่างพิจารณา ไม่สามารถอุทธรณ์ได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พยายามโทรศัพท์ติดต่อสัมภาษณ์ นางวราภรณ์ สีหนาท ซึ่งเป็นผู้ลงนามหนังสือแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ แต่ไม่สามารถติดต่อได้ เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)จึงแนะนำให้ติดต่อนาย ขจร จิตสุขุมมงคล ผอ.สำนักส่งเสริมและพัฒนาสมรรถนะบุคลากร ของ สกอ. ซึ่งเป็นผู้ดูสำนวนอุทธรณ์กรณีดังกล่าว
นายขจรยอมรับว่าเป็นผู้รับผิดชอบสำนวนดังกล่าวจริง โดยเรื่องนี้เป็นไปตาม มติ ก.พ.อ. ให้ มหาวิทยาลัย อุบลราชธานียกเลิกคำสั่ง ตามที่ อ.ก.พ.อ. มีความเห็น เสนอให้ ก.พ.อ. พิจารณา แล้ว ก.พ.อ. พิจารณา เห็นชอบ ตาม อ.ก.พ.อ. กรณีร้องทุกข์ อุทธรณ์ เนื่องจาก ศ.ประกอบ เกษียนอายุราชการไปแล้ว แต่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ดำเนินการตั้งกรรมการสอบสวนหลังจาก ศ.ประกอบเกษียณ โดยมีคำสั่งให้ไล่ออกจากราชการ
“อาจารย์ประกอบ ก็อุทธรณ์คำสั่งลงโทษมา ซึ่งผู้ที่มีอำนาจตั้งกรรมการสอบสวนอาจารย์ประกอบได้ ต้องเป็นผู้บังคับบัญชา อาจารย์ประกอบ ที่ถูกกล่าวหาว่าทำผิดขณะดำรงตำแหน่งอธิการบดีฯ ดังนั้น ผู้บังคับบัญชาอธิการบดีฯ จึงต้องเป็น เลขา สกอ. แต่เรื่องนี้ อธิการบดีฯ คนปัจจุบัน ตั้งกรรมการสอบ จึงเป็นการตั้งกรรมการที่ไม่มีอำนาจ ดังนั้น ก็ต้องสั่งให้เพิกถอน คำสั่งปลดออก เป็น เกษียณจากราชการ” นายขจร ระบุ
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะดำเนินการสอบสวนอย่างไร กับเรื่องร้องเรียนกรณีทุจริตเงินทดรองจ่าย และการสร้างหอพัก ที่มีการกล่าวหา ศ.ประกอบ ขณะดำรงตำแหน่งอธิการบดี นายขจรกล่าวว่า โดยปกติ เป็นอำนาจของมหาวิทยาลัยที่มีการกระจายอำนาจ ไปยังสภามหาวิทยาลัยให้ทำหน้าที่ดำเนินการสอบสวน และเป็นอำนาจของ อธิการบดีทั้งหมด
“แต่ถ้าอธิการบดีทำผิดเอง คือ คำถามนี้ เหมือนจะถามว่า จะไปดำเนินการกับอาจารย์ประกอบได้หรือไม่ ตอนนี้ อาจารย์ประกอบ ก็ไม่ได้เป็นข้าราชการแล้ว กฎหมายที่จะไปดำเนินการก็บอกว่า ต้องดำเนินการภายใน 1 ปี หลังจากพ้นราชการ แต่กรณีนี้ อาจารย์ประกอบพ้นจากราชการมาหลายปีแล้ว ถ้าท่านยังเป็น ข้าราชการ ก็เป็นหน้าที่เราก็ต้องทำ ซึ่งตามกฎหมายต้องดำเนินการตั้งกรรมการสอบสวน ภายใน 1 ปี หลังเกษียน แต่คนตั้งกรรมการสอบต้องเป็นเลขาธิการ สกอ. ไม่ใช่อธิการบดี”
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเคยมีความเห็นในกรณีที่คล้ายกัน ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ ที่อธิการคนปัจจุบันตั้งกรรมการสอบอดีตอธิการบดีคนก่อน และความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาชี้ว่าอธิการบดีคนปัจจุบัน มีอำนาจในการตั้งกรรมการสอบสวน อดีตอธิการบดีที่พ้นจากราชการไปแล้ว
นายขจรกล่าวว่า ความเห็นกฤษฎีกาที่ผู้สื่อข่าวกล่าวมานั้น ตนนึกไม่ออก
หมายเหตุ: ภาพประกอบบุคคลในภาพ ศ.ประกอบ วิโรจนกูฏ จาก web.eng.ubu.ac.th