ม.อุบลฯ ระส่ำ!คดีอีนุงตุงนัง อธิการสั่งล้างบางทุจริต-โดนฟ้องกลับ
เปิดปมมหากาพย์ คดีฟ้องร้องอีนุงตุงนัง ม.อุบลราชธานี หลัง อธิการบดี คนใหม่ เข้าดำรงตำแหน่ง ปี 2554 เดินหน้า สะสางเรื่องร้องเรียน ตั้งกรรมการสอบสวนและลงโทษทางวินัย ก่อนถูกฟ้องกลับทั้งศาลอาญา-ปกครอง
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2557 ศาลชั้นต้นจังหวัดอุบลราชธานี มีคำพิพากษาให้ รศ.นงนิตย์ ธีระวัฒนสุข อธิการบดี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ถูกจำคุกเป็นเวลา 1 ปี 4 เดือนปรับ 12,000 บาท โทษจำรอลงอาญา 2 ปี ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
คดีดังกล่าวสืบเนื่องจากอดีตคณบดีของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีรายหนึ่ง เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง รศ.นงนิตย์ ธีระวัฒนสุข อธิการบดี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในฐานะจำเลย
โดยโจทก์ฟ้องว่า จำเลยซึ่งดำรงตำแหน่งอธิการบดี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา เนื่องจากไม่เพิกถอนคำสั่งลงโทษวินัยของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีที่ให้ไล่โจทก์ออกจากราชการ และไม่ยอมสั่งให้โจทก์กลับเข้ารับราชการตามมติของคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับอุทธรณ์ ร้องทุกข์ และจรรยาบรรณ (อ.ก.พ.อ.) ทำหน้าที่แทนคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.)
หลังจากเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2554 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้มีคำสั่งลงโทษไล่โจทก์ออกจากราชการ ต่อมาโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งลงโทษต่อคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบัน อุดมศึกษา (ก.พ.อ.) และต่อมาคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับอุทธรณ์ร้องทุกข์และจรรยาบรรณ ( อ.ก.พ.อ.) ทำหน้าที่แทนคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ได้พิจารณาแล้วให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษโจทก์ และแจ้งให้จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์กลับเข้ารับราชการตามคำสั่งของคณะกรรมการ ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.)
แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตาม เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเสื่อมเสียชื่อเสียง เสียโอกาสในการได้รับความดี ความชอบและความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่ราชการ
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลพบว่าการฟ้องร้องคดีนี้ สืบเนื่องมาจาก เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2554 คณะกรรมสอบสวนวินัยของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้รายงานผลการสอบสวนคณบดีรายดังกล่าว ที่มีผู้ร้องเรียนว่ามีพฤติการณ์การกระทำที่เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ราชการในตำแหน่งคณบดีโดยมิชอบเพื่อให้ตนเองได้รับประโยชน์ที่มิควรได้ กรณีทุจริตยักยอกเงินค่าจ้างผู้เชี่ยวชาญชาวลาวจำนวน 49,940 บาท ทั้งได้มีการกล่าวอ้างและนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับกิจการของมหาวิทยาลัยผ่านสื่อสารมวลชนและระบบคอมพิวเตอร์ทั้งทางวาจาหรือเป็นหนังสือในทางที่ทำให้มหาวิทยาลัยเสื่อมเสียชื่อ ความน่าเชื่อถือ ของมหาวิทยาลัยที่สาธารณชนให้ความไว้วางใจจึงถือว่าเป็นการกระทำที่จงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบ แบบแผนของทางราชการ และขาดการเอาใจใส่ระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของทางราชการ เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่มหาวิทยาลัยอย่างร้ายแรง อันเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามความในมาตรา 39 วรรคสี่และวรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาพ.ศ. 2547 จึงเห็นสมควรให้ได้รับโทษ ไล่ออกจากราชการ
ต่อมาวันที่ 20 ธันวาคม 2554 มหาวิทยาลัยฯ ได้มีคำสั่งลงโทษไล่คณบดีรายดังกล่าวออกจากราชการตามความเห็นของคณะกรรมการสอบสวน
จากนั้น วันที่ 24 ธันวาคม 2554 มหาวิทยาลัยได้นำเรื่องนี้เสนอต่อสภามหาวิทยาลัยฯ เพื่อพิจารณารับทราบ ตามมาตรา 60 ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 ทั้งนี้ สภามหาวิทยาลัยฯมีอำนาจที่จะสั่งให้อธิการบดีในฐานะผู้บังคับบัญชาทบทวนการดำเนินการและสั่งการใหม่ให้ถูกต้องเหมาะสมได้ ซึ่งที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยฯ มีมติรับทราบ โดยไม่ได้มีความเห็นให้ทบทวนหรือสั่งการเป็นอย่างอื่น
สำนักข่าวอิศรา ยังตรวจสอบพบว่า อดีตคณบดีรายนี้ยังดำเนินการฟ้องคดีที่ศาลปกครองขอนแก่น จำนวนสองคดี
ได้แก่
-คดีหมายเลขดำที่ 172 / 2555 ฟ้องมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ( ผู้ถูกฟ้องคดี ที่ 1) และ อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ผู้ถูกฟ้องคดี ที่ 2 ) โดยขอให้ศาลสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเพิกถอนคำสั่งลงโทษวินัยไล่ออกจากราชการ และสั่งให้ผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการตามเดิม คดีนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองขอนแก่น
-คดีหมายเลขดำที่ 172 / 2555 หมายเลขแดงที่ 548 / 2556 ฟ้องมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ( ผู้ถูกฟ้องคดี ที่ 1 ) และ อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ( ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ) โดยขอให้ศาลสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเพิกถอนคำสั่งลงโทษวินัยและสั่งให้ผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการตามเดิม และให้มหาวิทยาลัยชดเชยค่าเดินทางในการมาติดต่อและมาศาล จำนวน 30,000 บาท ต่อมา เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2556 ศาลปกครองขอนแก่นมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ดำเนินการให้เป็นไปตามมติของอนุกรรมการอุทธรณ์ ร้องทุกข์และจรรยาบรรณ และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 รับผิดชดใช้เงินจำนวน 10,000 บาท ให้แก่ผู้ฟ้องคดี
คดีนี้ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด เนื่องจากเห็นว่า คำพิพากษาของศาลชั้นต้นมีความคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายหลายประการขณะนี้ คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด
ขณะที่ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้ยื่นฟ้อง คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) และพวก รวมสามราย ต่อศาลปกครอง กรณีผู้ถูกฟ้องออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่ โดยเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้ทำการแจ้งมติ อนุกรรมการเกี่ยวกับอุทธรณ์ ร้องทุกข์ และจรรยาบรรณ (อ.ก.พ.อ.) ในการวินิจฉัยอุทธรณ์ กรณีของอดีตคณบดีรายดังกล่าว ว่าให้มหาวิทยาลัยปฏิบัติตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2547 ทั้งที่ อ.ก.พ.อ. ไม่มีอำนาจในการวินิจฉัยชี้ขาดอุทธรณ์แทน ก.พ.อ. ได้ ทำให้มหาวิทยาลัยได้รับความเสียหาย
ต่อมา มีบันทึกความเห็นสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 389/ 2557 วินิจฉัยยืนยันว่า อ.ก.พ.อ. มีเพียงอำนาจในการพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ของ ก.พ.อ. ที่กำหนดในข้อบังคับ ก.พ.อ. เพื่อรวบรวมข้อเท็จจริงเสนอความเห็นต่อ ก.พ.อ. เท่านั้น โดยไม่มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์แทน ก.พ.อ. แต่อย่างใด ดังนั้น อ.ก.พ.อ. เกี่ยวกับอุทธรณ์ ร้องทุกข์ และจรรยาบรรณ ไม่มีอำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาที่ถูกสั่งให้ออกจากราชการหรือถูกสั่งลงโทษปลดออก หรือไล่ออก ตามมาตรา 62 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2547 แทน ก.พ.อ. ได้
แต่คดีดังกล่าว ศาลปกครองกลางไม่รับฟ้อง โดยให้เหตุผลว่ามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ไม่ใช่ผู้เสียหาย มหาวิทยาลัยได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองกลางต่อศาลปกครองสูงสุด ขณะนี้ ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก theactkk.net