หวั่นนโยบายมีปัญหา!ครม.ประยุทธ์ กลับลำห้าม"ผู้ช่วยฯรมต."มีผลปย.ทับซ้อน
หวั่นทำงานสวนทางนโยบายแถลงต่อสภาฯ! ครม.ประยุทธ์ กลับลำลงมติติดดาบห้าม ขรก.การเมือง-ผู้ช่วยฯ รมต. นั่งกก.-คู่สัญญาหน่วยงานรัฐ อุดช่องโหว่ป้องกันทุจริต-ผลประโยชน์ทับซ้อน
เมื่อวันที่ 7 ต.ค.57 ที่สโมสรกองทัพบก ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมร่วมคณะรัฐมนตรี(ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ครั้งที่1/2557 ว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบให้ข้าราชการการเมือง เช่น ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เลขานุการรัฐมนตรี ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2535 และกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ต้องไม่กระทำการใดๆอันเป็นการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์
“เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของครม.ที่แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เกี่ยวกับการบริหารการส่งเสริมการบริหารราชการแผ่นดิน ที่มีธรรมภิบาลการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ และการมีผลประโยชน์ทับซ้อนทั้งในภาครัฐทุกระดับ กำหนดให้ขรก.การเมือง และผู้ช่วยรมต.ต้องไม่ดำรงตำแหน่งกรรมการหรือที่ปรึกษาของรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือองค์กรอื่นของรัฐ เว้นแต่การเป็นกรรมการของราชการ และต้องไม่เป็นคู่สัญญาหรือมีผลประโยชน์ใดๆขัดหรือแย้งกับส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือองค์กรอื่นของรัฐ และเห็นชอบในหลักการแก้ไขความในข้อ11แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี พ.ศ.2546 ให้สอดคล้องตามหลักการดังกล่าว” ร.อ.นพ.ยงยุทธระบุ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การพิจารณาเรื่องดังกล่าว ปรากฎอยู่ในเอกสารแถลงผลการประชุม ว่า เรื่อง ขอความเห็นชอบหลักการให้ข้าราชการการเมืองตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการการเมือง พ.ศ. 2535 และกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีต้องไม่กระทำการใด ๆ อันเป็นการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์
โดยระบุว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบหลักการให้ข้าราชการการเมืองตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2535 และกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีต้องไม่กระทำการใด ๆ อันเป็นการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ดังนี้
1.1 ต้องไม่ดำรงตำแหน่งกรรมการหรือที่ปรึกษาของรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือองค์กรอื่นของรัฐ เว้นแต่การเป็นกรรมการของทางราชการ และ
1.2 ต้องไม่เป็นคู่สัญญาหรือมีผลประโยชน์ใด ๆ ขัดหรือแย้งกับส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือองค์กรอื่นของรัฐ
ทั้งนี้ โดยให้มีผลภายใน 15 วันนับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ
2. เห็นชอบในหลักการให้แก้ไขความในข้อ 11 แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี พ.ศ. 2546 ให้สอดคล้องตามหลักการในข้อ 11 และให้ดำเนินการต่อไปได้
เบื้องต้น มีการระบุข้อเท็จจริง ว่า โดยที่คณะรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อวันศุกร์ที่ 12 กันยายน 2557 ซึ่งรัฐบาลได้แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติไว้ 11 ด้าน โดยเฉพาะด้าน 10 “การส่งเสริมการบริหารราชการแผ่นดินที่มีธรรมาภิบาลและการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ” โดยกำหนดให้ปรับปรุงและจัดให้มีกฎหมายเพื่อให้ครอบคลุมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติชอบ และการมีผลประโยชน์ทับซ้อนในภาครัฐทุกระดับ ซึ่งกรณีของข้าราชการการเมืองและกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีถือเป็นผู้มีหน้าที่ช่วยเหลือการปฏิบัติราชการของนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีในการอำนวยการบริหารราชการแผ่นดิน
ดังนั้น เพื่อประโยชน์แห่งรัฐและเป็นไปตามนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติข้างต้น จึงเห็นควรให้ข้าราชการการเมืองและกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีต้องไม่กระทำการใด ๆ อันเป็นการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ กล่าวคือ ต้องไม่กระทำการใด ๆ อันเป็นการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ โดยต้องไม่ดำรงตำแหน่งกรรมการหรือที่ปรึกษาของรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือองค์กรอื่นของรัฐ เว้นแต่การเป็นกรรมการของทางราชการ และต้องไม่เป็นคู่สัญญาหรือมีผลประโยชน์ใด ๆ ขัดหรือแย้งกับส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือ องค์กรอื่นของรัฐ
อนึ่งก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งแก้ไขระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2557 โดยยกเลิกความในข้อ 11 แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี พ.ศ.2546 โดยตัดทิ้งข้อความที่ว่า ในกรณีที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงใด ต้องไม่ดำรงตำแหน่งกรรมการหรือที่ปรึกษาของรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือองค์กรอื่นของรัฐที่อยู่ในการกำกับดูแลของรัฐมนตรีหรือกระทรวงนั้น และต้องไม่เป็นคู่สัญญาหรือมีผลประโยชน์ใด ๆ ขัดหรือแย้งกับส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือองค์กรอื่นของรัฐที่อยู่ในการกำกับดูแลของรัฐมนตรีหรือกระทรวงนั้น
(อ่านประกอบ : "นายกฯประยุทธ์"ไฟเขียวตัดทิ้งกฎเหล็กคุมผลประโยชน์ทับซ้อน"ผู้ช่วยรมต." )
โดย ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกรัฐบาล ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรายืนยันว่า เรื่องนี้สามารถทำได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 41 บัญญัติไว้ ทั้งนี้เนื่องจากมีบางคนเป็นข้าราชการประจำ ที่ยังตัดปัญหาเรื่องนี้อยู่ จึงทำให้ต้องมีการแก้ไขระเบียบที่เหมาะสม พร้อมยืนยันว่า ผช.รัฐมนตรีเหล่านี้ ต้องทำงานแบบระมัดระวัง ไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนเด็ดขาด ก่อนที่ ครม.จะมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เสนอ เรื่องการห้ามขรก.การเมือง และกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีต้องไม่กระทำการใด ๆ อันเป็นการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ดังกล่าว
(อ่านประกอบ : เปิดทาง"ขรก."นั่งเก้าอี้"ผู้ช่วยรมต." เหตุ"ประยุทธ์" ตัดทิ้งข้อห้ามผลปย.ทับซ้อน ,เจาะปรากฎการณ์ “ประยุทธ์”สั่งตีความ-แก้ระเบียบตั้งคนช่วยงาน เมินปมผลปย.ทับซ้อน? )
@ ประยุทธ์ สั่งเร่งรัดผลสอบไมโครโฟนฉาว
ขณะที่ พันเอกสรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานทั้งกระทรวง ทบวง กรม จะต้องไม่มีการทุจริตคอร์รัปชั่นด้วยการกำหนดมาตรการต่างๆให้ชัดเจนทั้งในระดับส่วนกลางและระดับการปกครองส่วนท้องถิ่น หากพบการทุจริตจะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน ปรับย้ายไปอยู่ในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานทันทีรวมทั้งมีบทลงโทษตามบทบัญญัติวินัย
“ล่าสุดท่านนายกฯได้พูดถึงกรณีไมค์โครโฟนว่า ให้เร่งรัดการสอบสวน ซึ่งทราบในเบื้อต้นว่าใกล้เสร็จเรียบร้อยแล้วว่าผิดกฎ ระเบียบ กติกา หรือไม่ และรีบนำเรียนท่านายกฯ พร้อมกันนี้ให้ทุกหน่วยงานจัดทำข้อมูลผลงานการปฏิบัติงานในรอบ3เดือน (ตุลาคม-ธันวาคม 2557) เพื่อให้ประชาชาชนทราบว่าได้ทำอะไรที่เป็นรูปธรรมจริงๆไปแล้วบ้างเพื่อมอบเป็นของขวัญวันปีใหม่ให้กับประชาชน" พันเอกสรรเสริญระบุ
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก แนวหน้า