- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- เจาะปรากฎการณ์ “ประยุทธ์”สั่งตีความ-แก้ระเบียบตั้งคนช่วยงาน เมินปมผลปย.ทับซ้อน?
เจาะปรากฎการณ์ “ประยุทธ์”สั่งตีความ-แก้ระเบียบตั้งคนช่วยงาน เมินปมผลปย.ทับซ้อน?
เจาะเบื้องหลังปรากฏการณ์ “รบ.ประยุทธ์” สั่งกฤษฎีกาตีความเงื่อนไขนั่ง รมต. – ขรก.ทหาร นั่งการเมือง ก่อนแก้ระเบียบสำนักนายกฯเรื่องผช.รมต.เป็นคู่สัญญารัฐได้ ก่อนที่ “บิ๊กกี่” นำทัพ สนช. ฟ้องศาลปกครองตีความมติ ป.ป.ช. สั่ง สนช. ยื่นทรัพย์สินไม่ชอบด้วยกฎหมาย
พลันที่ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ในคดีที่ พล.อ.นพดล อินทปัญญา สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กับพวกรวม 28 คน ยื่นฟ้อง กรณีมติคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ สนช. ต้องเปิดแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในวันที่ 30 กันยายนที่จะถึงนี้
สปอร์ตไลท์ทางการเมืองต่างสาดส่องไปที่ศาลปกครองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ !
(อ่านประกอบ : “บิ๊กกี่”นำทัพสนช.28 คน ฟ้องเงียบป.ป.ช. ลงมติให้เปิดเผยทรัพย์สินโดยมิชอบ )
ขณะที่หลายฝ่ายต่างสงสัยว่า เรื่องดังกล่าวมีที่มาที่ไปอย่างไร และ สนช. ต้องการปกปิดบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินอย่างนั้นหรือ ?
พล.อ.นพดล ให้เหตุผลยืนยันกับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า แนวคิดนี้เกิดขึ้นในช่วงดำรงตำแหน่ง สนช. ใหม่ ๆ เนื่องจากเป็นข้อเรียกร้องของทหารเกษียณอายุราชการ “บางคน” สงสัยว่า ป.ป.ช. มีอำนาจที่จะสั่งให้ สนช. แจ้งบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯหรือไม่ จึงได้รวมตัวกันลงนามในหนังสือ เพื่อไปยื่นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตีความ ซึ่งในที่นี้หมายถึงศาลปกครอง โดยตนเองเซ็นคำสั่งเป็นคนสุดท้าย อย่างไรก็ดี สนช. ไม่ได้มีเจตนาที่จะไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯ
ทั้งนี้ พล.อ.นพดล เปิดเผยเบื้องหลังว่า สนช. ทั้ง 28 คนที่ไปยื่นนั้น ส่วนใหญ่เป็นนายทหารระดับสูงที่เกษียณอายุราชการ ซึ่งบางคนก็เลี้ยงหลานเลี้ยงลูกไปแล้ว จึงมีปัญหาว่าจำทรัพย์สินที่ผ่านมานานแล้วไม่ได้ ก็ต้องไปไล่ตามหากัน แต่ในส่วนของตัวเองไม่มีปัญหาอะไร
(อ่านประกอบ : ทหารเกษียณเดือดร้อน!ชนวน“บิ๊กกี่” นำทัพฟ้องป.ป.ช.ปมยื่นทรัพย์สินฯ)
อย่างไรก็ดี มีกระแสซุบซิบกันภายใน สนช. ว่า สาเหตุที่แท้จริง เกิดจาก สนช. บางคนที่เป็น “แม่ทัพ-นายกอง” ระดับสูงเกษียณอายุบางคน มี “บ้านเล็ก-บ้านน้อย” หรือ “อนุภรรยา” ทำให้เกิดความสับสนว่าจะต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯอย่างไร
ทั้งนี้ในฟากของ ป.ป.ช. นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. ยืนยันว่า มติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. นั้นเป็นไปตามกฎหมาย เนื่องจาก สนช. ยุคปี 2549 กฎหมายขณะนั้นระบุเพียงแค่ให้นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ต้องยื่นและเปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯเท่านั้น แต่ต่อมากฎหมายได้ขยายกรอบให้ ส.ส.-ส.ว. ต้องยื่นและเปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯ ด้วยและในเมื่อ สนช. ทำหน้าที่แทน ส.ส.-ส.ว. จึงจำเป็นต้องยื่นและเปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯเช่นกัน
(อ่านประกอบ : ป.ป.ช.ยันมติให้ สนช.เปิดเผยทรัพย์สินชอบด้วยกม.-เพิ่งรู้ถูก“บิ๊กกี่”นำทัพฟ้อง )
ทั้งหมดนี้คือที่มาที่ไปและเบื้องลึกเบื้องหลังเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว ที่สะเทือนไปทั้ง สนช. เนื่องจากในยุคนี้สังคมต่างให้ความสำคัญกับความโปร่งใสมาเป็นอันดับหนึ่ง อย่างที่ “บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสบแห่งชาติ (คสช.) เน้นย้ำอยู่บ่อยครั้ง
ขณะเดียวกันหากย้อนไปให้ไกลกว่านั้น “บิ๊กต๊อก-พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา” รมว.ยุติธรรม เคยให้สัมภาษณ์ถึงการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯว่า เจ้าหน้าที่รัฐอื่น ๆ หากมีหน้าที่ยื่นและเปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯ ก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมาอย่างเคร่งครัด
แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ ในห้วงเดือนสิงหาคม สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ดำเนินการส่งกฎหมายให้กฤษฎีกาตีความถึง 2 ครั้ง คือกรณีให้ตีความว่า การแต่งตั้งข้าราชการทหาร สนช. และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้นทำได้หรือไม่
ซึ่งปรากฏว่าทางกฤษฎีกา “ไฟเขียว” ยอมให้ข้าราชการการทหาร สนช. และ สปช. นั่งตำแหน่งทางการเมืองได้
(อ่านประกอบ : เบื้องหลัง! กฤษฎีกาไฟเขียว “ครม.บิ๊กตู่”ตั้งทหารนั่งขรก.การเมือง)
อีกกรณีหนึ่งคือ ขอให้ข้าราชการการเมืองได้รับการยกเว้นในการปฏิบัติตามมาตรา 100 แห่ง พ.ร.บ.ป.ป.ช. (ห้ามเป็นคู่สัญญารัฐ-เป็นลูกจ้างในบริษัทเอกชน) และมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 (ให้รัฐมนตรีถือหุ้นได้ไม่เกิน 5%) ภายใต้มาตรา 41 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวได้หรือไม่
ซึ่งในเรื่องนี้กฤษฎีกา “ไฟแดง” เบรกไม่ให้ดำเนินการดังกล่าว เนื่องจากข้าราชการการเมืองที่ดำรงตำแหน่งตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดและรัฐมนตรี จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายทั้งสองฉบับดังกล่าว
(อ่านประกอบ :กฤษฎีกาฟันธง“ครม.ประยุทธ์”ห้ามเป็นคู่สัญญารัฐ-ลูกจ้างเอกชน)
ขณะที่เมื่อเร็ว ๆ นี้ “บิ๊กตู่” เซ็นคำสั่งแก้ไขระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2557 โดยยกเลิกความในข้อ 11 แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี พ.ศ.2546 โดยตัดทิ้งข้อความที่ว่า ในกรณีที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงใด ต้องไม่ดำรงตำแหน่งกรรมการหรือที่ปรึกษาของรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือองค์กรอื่นของรัฐที่อยู่ในการกำกับดูแลของรัฐมนตรีหรือกระทรวงนั้น และต้องไม่เป็นคู่สัญญาหรือมีผลประโยชน์ใด ๆ ขัดหรือแย้งกับส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือองค์กรอื่นของรัฐที่อยู่ในการกำกับดูแลของรัฐมนตรีหรือกระทรวงนั้น
(อ่านประกอบ : "นายกฯประยุทธ์"ไฟเขียวตัดทิ้งกฎเหล็กคุมผลประโยชน์ทับซ้อน"ผู้ช่วยรมต." )
กล่าวคือ เปิดโอกาสให้ผู้ช่วยรัฐมนตรี สามารถดำรงตำแหน่งกรรมการหรือที่ปรึกษารัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือองค์กรอื่นของรัฐ และสามารถเป็นคู่สัญญา หรือมีผลประโยชน์ใด ๆ กับส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือองค์กรอื่นของรัฐได้
โดยล่าสุด ร้อยเอก นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกรัฐบาล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวว่า เรื่องนี้สามารถทำได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 41 บัญญัติไว้ ทั้งนี้เนื่องจากมีบางคนเป็นข้าราชการประจำ ที่ยังตัดปัญหาเรื่องนี้อยู่ จึงทำให้ต้องมีการแก้ไขระเบียบที่เหมาะสม พร้อมยืนยันว่า ผช.รัฐมนตรีเหล่านี้ ต้องทำงานแบบระมัดระวัง ไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนเด็ดขาด
แต่สิ่งที่ยังเป็นปริศนาอยู่ คือ ข้อห้ามของกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ที่ถูกตัดออกไปด้วยนอกเหนือจากการนั่งเป็นที่ปรึกษารัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือองค์กรอื่นของรัฐ แล้ว
คือ สามารถเป็นคู่สัญญา หรือมีผลประโยชน์ใด ๆ กับส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือองค์กรอื่นของรัฐได้ด้วย
นั้นหมายความว่า บุคคลที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้ช่วยรมต. อาจจะไม่ได้มีเพียงแค่ "ขรก.ประจำธรรมดา" ตามที่ โฆษกรัฐบาลระบุเอาไว้
แต่ยังรวมไปถึง "คนบางกลุ่ม" ที่เข้าทำสัญญาหรือกำลังจะเข้าทำสัญญากับส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือองค์กรอื่นของรัฐด้วย
ส่วนจะเป็น "คนกลุ่มใด" และมีความสำคัญมากขนาดไหน ถึงทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ยอมแลกที่จะตัดกฎเหล็กข้อห้ามสำคัญส่วนนี้ออกไป สังคมคงจะได้รู้คำตอบกันในเร็วๆ นี้
(อ่านประกอบ : เปิดทาง"ขรก."นั่งเก้าอี้"ผู้ช่วยรมต." เหตุ"ประยุทธ์" ตัดทิ้งข้อห้ามผลปย.ทับซ้อน)
ทั้งหมดนี้คือความเคลื่อนไหวระดับ “ปรากฏการณ์” ของ คสช. ภายหลังจัดตั้งรัฐบาลอย่างเต็มตัว เตรียมเดินหน้าแก้ไขปัญหา “ทุจริต-คอร์รัปชั่น” และ “ปฏิรูปประเทศ” ตามนโยบาย “คืนความสุขเพื่อคนในชาติ”
แต่จะเป็นดังที่หวังไว้หรือไม่ ต้องจับตาต่อไปอย่างใกล้ชิด !