เลขาสกอ.ปัดตอบปมอธิการ ม.อุบลฯ มีอำนาจสั่งลงโทษวินัยผู้บริหารเก่าฯ
“กำจร ตติยกวี” เลขา สกอ.ปัดตอบปมหนังสือหารือระหว่างอธิการบดี ม.อุบล กับ สกอ. ยุค “อภิชาติ จีระวุฒิ” ชี้ ประเด็นอธิการคนปัจจุบัน มีอำนาจลงนามคำสั่งลงโทษทางวินัยอดีตอธิการบดี แต่ผลการวินิจฉัยของ ก.พ.อ. กรณีเดียวกัน เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2557 กลับสวนทาง มีมติยืนตาม อ.ก.พ.อ. ชี้ ผู้มีอำนาจลงโทษทางวินัยอดีตอธิการบดีรายนี้ คือ เลขา สกอ. ไม่ใช่อธิการบดีคนปัจจุบัน
จากกรณี สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ก.พ.อ. มีหนังสือแจ้งผลการวินิจฉัย ให้รองศาสตราจารย์นงนิตย์ ธีระวัฒนสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เพิกถอนคำสั่งลงโทษทางวินัย ศาสตราจารย์ประกอบ วิโรจนกูฏ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กรณีที่ รศ.นงนิตย์ มีคำสั่งลงโทษทางวินัยไล่ออกจากราชการ ตามผลการสอบสวนของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีที่กล่าวหาในประเด็นหนึ่งว่า เมื่อครั้ง ศ.ประกอบ ดำรงตำแหน่งอธิการบดี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ดำเนินโครงการก่อสร้างหอพักนักศึกษาไม่เป็นไปตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ โดยนาย ขจร จิตสุขุมมงคล เจ้าหน้าที่ สกอ.และเป็นผู้ดูสำนวนอุทธรณ์เคยกล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่า ก.พ.อ. ให้ยกเลิกคำสั่งลงโทษทางวินัยตามคำอุทธรณ์ของ ศ.ประกอบ เนื่องจากผู้ที่มีอำนาจตั้งกรรมการสอบสวน ศ.ประกอบได้ ต้องเป็นผู้บังคับบัญชาของอธิการบดีที่ถูกกล่าวหาว่าทำผิดขณะดำรงตำแหน่งอธิการบดีฯ ซึ่งผู้บังคับบัญชาอธิการบดีฯ ต้องเป็น เลขา สกอ. ไม่ใช่อธิการบดีคนปัจจุบัน
( อ่านประกอบ : คดีฟ้องร้องม.อุบลฯส่อวุ่นหนัก!ก.พ.อ.รับอุทธรณ์คำสั่งปลด"อดีตอธิการฯ" )
ล่าสุด ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2555 รศ.นงนิตย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้มีหนังสือหารือมายัง สกอ. เพื่อสอบถามก่อนลงนามคำสั่งลงโทษทางวินัย ว่าอธิการบดีมีอำนาจในการสอบสวนและลงโทษทางวินัย ศ.ประกอบ อดีตอธิการบดีหรือไม่
จากนั้น วันที่ 24 กันยายน 2555 สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้มีหนังสือที่ ศธ.0509.6 ( 3.16 ) / 14694 ตอบกลับ รศ.นงนิตย์ ในประเด็นข้อหารือดังกล่าว มีสาระสำคัญสรุปว่า กรณีนี้ อธิการบดีเป็นผู้มีอำนาจลงนามในคำสั่งลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรง ปลด ศ.ประกอบ วิโรจนกูฎได้ โดยเทียบเคียง ความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 475/ 2554 หนังสือตอบข้อหารือดังกล่าว ลงนามโดย นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการ สกอ. ขณะนั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาในกรณีดังกล่าว เกี่ยวกับการสอบสวนของมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ ที่อธิการบดีคนปัจจุบันตั้งกรรมการสอบอดีตอธิการบดีคนก่อน และคณะกรรมการกฤษฎีกา ชี้ว่าอธิการบดีคนปัจจุบัน มีอำนาจในการตั้งกรรมการสอบสวนอดีตอธิการบดีที่พ้นจากราชการไปแล้ว
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ได้ติดต่อไปยังนายกำจร ตติยกวี เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ถึงหนังสือตอบข้อหารือในกรณีดังกล่าว
นายกำจร ระบุว่า ขอเวลาศึกษารายละเอียดก่อน เนื่องจากเรื่องนี้มีความซับซ้อนและคดีความของคู่ขัดแย้งในกรณีนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล และการหารือดังกล่าว ยังเป็นการหารือในยุคของเลขาธิการ สกอ.คนก่อนด้วย
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากศึกษารายละเอียดแล้ว พบว่า สกอ.ชี้ว่าอธิการบดีคนปัจจุบันมีอำนาจสอบสวนกรณีดังกล่าว และมีอำนาจในการลงโทษทางวินัยอดีตอธิการบดี ถ้าเช่นนั้น ก.พ.อ.จะกลับมติ ความเห็นของ อ.ก.พ.อ. หรือไม่
นายกำจรกล่าวว่า “ยังตอบไม่ได้ ต้องขอศึกษารายเอียด”
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เคยสอบถาม ขายขจร จิตสุขุมมงคล ผู้ดูแลสำนวนการอุทธรณ์ ของ ศ.ประกอบ ถึงความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 475/ 2554 แต่นายขจรกล่าวว่าความเห็นกฤษฎีกาที่ผู้สื่อข่าวถามนั้น ตนนึกไม่ออก
( อ่านประกอบ : ม.อุบลฯ ระส่ำ!คดีอีนุงตุงนัง อธิการสั่งล้างบางทุจริต-โดนฟ้องกลับ )
ภาพบุคคล : นายกำจร ตติยกวี ( ภาพจาก www.google.co.th )