เปิดคำต่อคำ"อิศรา"ถาม"องค์การตลาด"ตอบปมจัดซื้ออาหารเลี้ยงผู้ต้องขัง!
"..เมื่อได้เงิน กรมราชทัณฑ์ก็ส่งให้ 4 หน่วยงานรัฐ 4 หน่วยงานก็ส่งเงินไปตรวจสอบกับกรมบัญชีกลางว่า ตรงกับราคากลางที่ถูกกำหนดไหม หมู ผัก เขามีราคากลางทุกอย่าง ราคากลางแต่ละพื้นที่ก็ต่างกันไป ถ้าตัวเลขถูกต้องแล้ว ก็ส่งไปให้สรรพากร หักภาษี...เมื่อเงินเข้ามากรมราชทัณฑ์แล้ว เขาก็โอนไปให้แต่ละเรือนจำว่าแต่ละเรือนจำของบเท่าไหร่ ก็โอนไปให้ แล้วตัวแทนเราก็จะส่งใบเสร็จ ใบส่งของให้แต่ละเรือนจำ..."
เมื่อวันที่ 14 ส.ค.ที่ผ่านมา นายธีธัช สุขสะอาด ผู้อำนวยการองค์การตลาด กระทรวงมหาดไทย ได้ตอบรับนัดสัมภาษณ์พิเศษ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ในประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้ออาหารดิบผู้ต้องขังของกรมราชทัณฑ์ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานขององค์การตลาดทั้งหมดทุกประเด็น
โดยชี้แจงถึงกระบวนการตั้งตัวแทนในกรณีที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า องค์การตลาด มีตัวแทนนามสกลุเดียวกันเป็นผู้รับมอบอำนาจในการจัดส่งอาหารดิบของเรือนจำใน 3 จังหวัด แล้ว สาระสำคัญประการหนึ่งของการสนทนาครั้งนี้ นายธีธัชยังเปิดเผยถึงกระบวนการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของกรมราชทัณฑ์ที่ส่งมายังองค์การตลาด และส่งต่อไปยังตัวแทน
ทั้งนี้ ตลอดการสนทนา นางสาวรุจยา ไตรศิริ หัวหน้าแผนกตลาดและจัดส่งสินค้า รวมถึงนายสุทธิชัย โพธิ์สุขสุพรรณ หัวหน้าแผนกกฎหมายขององค์การตลาด กระทรวงมหาดไทย ได้ร่วมรับฟังและบันทึกเทปเสียงสนทนาไว้ตลอดการสัมภาษณ์
เพื่อให้สาธารณชนได้เห็นภาพและบรรยากาศการสัมภาษณ์ครั้งนี้มากขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ขอนำรายละเอียดมานำเสนอไว้ ณ ที่นี้
ประเด็นสำคัญ ในการสนทนา มีดังต่อไปนี้
1. ขั้นตอนและกระบวนการที่กรมราชทัณฑ์ โอนเงินให้กับองค์การตลาดและโอนต่อไปยังตัวแทน
นายธีธัช : เมื่อได้เงินกรมราชทัณฑ์ก็ส่งให้ 4 หน่วยงานรัฐ 4 หน่วยงานก็ส่งเงินไปตรวจสอบกับกรมบัญชีกลางว่า ตรงกับราคากลางที่ถูกกำหนดไหม หมู ผัก เขามีราคากลางทุกอย่าง ราคากลางแต่ละพื้นที่ก็ต่างกันไป ถ้าตัวเลขถูกต้องแล้ว ก็ส่งไปให้สรรพากร หักภาษี หน้าที่เราต้องส่งเงิน เข้ากระทรวงการคลัง เพราะฉะนั้น เขาก็ต้องรู้ทุกบาททุกสตางค์
นางสาวรุจยา ไตรศิริ: เมื่อเงินเข้ามากรมราชทัณฑ์แล้ว เขาก็โอนไปให้แต่ละเรือนจำว่าแต่ละเรือนจำของบเท่าไหร่ ก็โอนไปให้ แล้วองค์การตลาดซึ่งส่งอาหารทุกวัน ตัวแทนเราก็จะส่งใบเสร็จ ใบส่งของให้แต่ละเรือนจำ ว่า เราส่งของให้แล้วนะทั้งเดือน ส่งไปแล้ว แต่ละเรือนจำ ก็มีกรรมการตรวจรับของว่าถูกต้องตามคุณสมบัติที่เราเสนอราคาไปไหม เมื่อกรรมการเซ็นต์ลงนามเอกสารส่งของว่าตรงตามที่เราเสนอ
เมื่อกรรมการลงนาม ว่า ถูกต้อง เอกสารก็จะกลับมาที่องค์การตลาดชุดหนึ่งและเรือนจำ ชุดหนึ่ง เมื่อเรือนจำทำตรงนี้เสร็จ เรือนจำเขาจะตั้งฎีกาเบิกจ่ายไปที่กรมบัญชีกลาง เข้าระบบ จีเอฟเอ็มไอเอส ของกรมบัญชีกลาง
แล้วกรมบัญชีกลางเมื่อตรวจเช็คกับเรือนจำเรียบร้อยแล้ว กรมบัญชีกลางก็จะโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทยให้องค์การตลาด แล้วองค์การตลาดก็ต้องเช็คยอดที่ระบบจีเอฟเอ็มไอเอส ของ กรมบัญชีกลางว่าเรือนจำอะไร ยอดเข้ามาเท่าไหร่ คือระบบจะโชว์อย่างนั้นเลย แล้วเราจึงจะเบิกจ่ายไปให้ตัวแทนได้ โดยการเบิกจ่ายจะใช้วิธีออนไลน์ ท่าน ผอ. จะไม่เซ็นต์เช็คเอง
นายธีธัช : เมื่อหักภาษีออกมาแล้ว ส่งเงินมาตรวจสอบตัวเลขเสร็จ เราก็แจ้งไปยังตัวแทนเราตามใบวางบิล เราป้องกันปัญหาการเรียกรับผลประโยชน์ ด้วยการใช้ระบบออนไลน์ คือ ตัวเลขที่เข้ามา เมื่อตรวจสอบแล้ว จะมีระบบที่ส่งตัวเลข ส่งสัญญาณ ไปยังตัวแทนได้เลยว่า มีเงินเข้ามาแล้วนะ แล้วไม่เกิน 7 วัน ก็จะมีเงินโอนเข้าไปตามตัวเลขที่วางบิลกันเลย ซึ่งวิธีนี้ทำให้ตัวแทนอยากมาอยู่กับเรา ทำให้เขาพึงพอใจ และอยากทำการค้ากับเรา เพราะเราจ่ายเงิน ไม่ช้า จ่ายเงินตรง
2. กระบวนการมอบอำนาจและแต่งตั้งตัวแทนองค์การตลาดในการจัดส่งอาหารดิบเลี้ยงผู้ต้องขัง ให้แต่ละเรือนจำ
นายธีธัช : เนื่องจาก เราเป็นรัฐวิสาหกิจขนาดเล็ก ปัจจุบัน มี พนักงาน แค่ 70 กว่าคน เราไม่สามารถ ไปส่งสินค้า ได้เอง แต่เรามีตัวแทนที่เป็นคนที่อยู่ในพื้นที่ที่เราให้ทำหน้าที่ประสานแทนเรา เรามีเงื่อนไขของการตั้งตัวแทนคือ ไม่เคยทิ้งงาน ไม่มีประวัติการทิ้งงาน ไม่มีปัญหาเรื่องการเงิน ถามว่า ทำไมต้องโฟกัสว่าต้องไม่มีปัญหาด้านการเงิน เพราะจริงๆ แล้ว ถ้าเรามาดูเงื่อนไขการทำธุรกิจนี้ การจัดส่งสินค้า คือกรมราชทัณฑ์ตั้งงบประมาณรายปีให้ก็จริง แต่การจ่ายเงินไม่สามารถจ่ายเงินให้ได้ครบทุกเดือน
เพราะฉะนั้น เราจึงต้องทำหน้าที่ประสาน คือ สมมติ ว่างบประมาณที่กรมราชทัณฑ์ให้มา เพียงพอแค่ 6 เดือนแรก แต่ 6 เดือน หลัง ตัวแทนอาจจะไม่ได้รับการจ่ายเงิน เพราฉะนั้น ผู้ที่จะมายื่นประมูลหรือเข้ามารับงานในการจัดส่ง ต้องเข้าใจตรงนี้ ดังนั้น เราต้อง เข้ามาประสานความไม่พอดีตรงนี้ เช่น ถ้าคุณเป็นเอกชน อยากจะเข้ามายื่น กรมราชทัณฑ์เขาเองก็ยินดี เพราะเขาไม่บังคับ เขาไปซื้อกับใครก็ได้ แต่วันนี้ที่เขา มาเลือกวิธีนี้ เพราะมันช่วยแก้ปัญหา ให้เขาเรื่องทิ้งงาน ซึ่ง ถ้าเปิดประมูลแบบอีอ็อกชั่น ปัญหา ที่เขาประสบคือ เมื่อเดือนที่ 7-8 ไม่มี เงินจ่าย ผู้จัดส่งอาหาร ก็เริ่มทิ้งงาน เหมือนที่กรมราชทัณฑ์เขาบอกว่า หน้าที่เขาคือไม่ใช่การไปหาอาหาร แต่หน้าที่เขาคือทำยังไงให้เกิดความสงในการดูแล นักโทษ ก็เลยต้องใช้เราเป็นตัวกลางในการประสานเรื่องนี้
3. เงื่อนไขสำคัญในการแต่งตั้งตัวแทน
นายธีธัช : เราจะใช้ตัวแทนรายเดิมที่เรามีอยู่แล้ว เช่น อาจจะทำการค้า กับ อต มา 20-30 ปีแล้ว ถามว่า แบบนี้ผูกขาดถามว่าเราคัดเลือกตัวแทนยังไง เราไม่มีขีดจำกัดเรื่องนี้ พรุ่งนี้ ใครจะยื่นใบสมัคร กับเรา เราก็รับทั้งหมด เพียงแต่ว่า คุณ ต้อง มีเงือนไข อย่างที่เราบอกว่า ตัวแทนที่มาอยู่กับเรา ต้องยอมรับระบบนี้ด้วยว่า คือที่กรามราชทัณฑ์นี่ คุณต้องรับให้ได้ว่าเงินได้ช้า คือ มันผิดจากระบบปกติ คุณธุรกิจนี้ คุณซื้อสด แต่ต้องมาขายเชื่อ
ดังนั้น คนที่จะเข้ามาอยู่ในระบบนี้ ต้องมีเงินทุนหมุนเวียน ที่เพียงพอ เข้าใจระบบนี้ และต้องไม่เป้นปัญหา ต่อรับบของรัฐ เชื่อเพียงพอ ไม่งั้น ถ้าไม่ได้เงิน คุณก็มาฟ้องร้องวุ่นวาย ไปหมด เราก็เลยมากันปัญหาตรงส่วนนี้ ส่วนใหญ่ เราก็ใช้ตัวแทน เดิม ที่ดีอยู่แล้ว ไม่ต้องไปหาใหม่
4. กรณีตัวแทนนามสกุลเหมือนกัน คือ นายวิชัย และนางพรพิมล นาคพรอำนวย เป็นตัวแทนองค์การตลาดเสนอราคาและจัดส่งอาหารดิบ ใน 3 เรือนจำ
นายธีธัช : ที่ตัวแทนมีนามสกลุเหมือนกัน ก็ระเบียบ ( พัสดุ ) ไม่ได้ห้ามไว้ ระเบียบเพียงบอกว่า ถ้าคุณเข้าเงื่อนไข ถ้าคุณไม่มีปัญหาทิ้งงาน จ่ายเงินครบถ้วน จ่ายสินค้าได้ตรงตามคุณสมบัติ ไม่เคยถูกร้องเรียน เราก็พิจารณา ก็ในเมื่อเขามีศักยภาพ เขามายื่นใบสมัคร เราก็ให้เขาจัดส่งก็เท่านั้นเอง
5.กรณียื่นหนังสือก่อนถึงวันกำหนดยื่นเสนอราคาจัดส่งอาหารดิบ ของเรือนจำอ่างทอง ก่อนเวลา 3 วัน
นายธีธัช : ที่ถามว่า ทำไมเราไปยื่น 3 วัน ล่วงหน้าก็ต้องชี้แจงว่า ด้วยเงื่อนไขเวลา คือ จริงๆ แล้ว จดหมายเชิญชวน ออกมาตั้งแต่ วันที่ 21 ( 21 ธันวาคม พ.ศ.2555 ) เพื่อประกาศว่า ให้ผู้ที่สนใจไปยื่นวันที่ 27-28 ( ธันวาคม 2555 ) ดังนั้น เมื่อเราได้หนังสือเข้ามาถึงเราวันที่ 24 เราก็ทำหนังสือออกไปในวันที่ 24 เพื่อให้ทันวันที่ 27 เท่านั้นเอง ซึ่งก็มีหนังสือมอบอำนาจ คุณรุจยา ก็มีอำนาจเต็ม
6. นางสาวรุจยา ไตรศิริ ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจจากนายธีธัช มีตำแหน่งอะไร
นายธีธัช : คุณรุจยาหัวหน้าแผนก ตลาดและจัดส่งสินค้า เป็นผู้มีอำนาจเต็ม เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง ก็อย่างที่ผมบอกว่าเราไม่ได้ทำเรื่องเดียว มีตลาดสาขาอีกหลายสาขา มีร้านค้าชุมชนอีก เพราะฉะนั้น ใครรับผิดชอบเรื่องไหน เราก็มอบอำนาจให้เขา ผมก็ให้ปฏิบัติหน้าที่แทนผม ลงนามในใบเสนอราคา ยืนยันราคา แต่งตั้งตัวแทน มอบอำนาจ แต่ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ คุณรุจยาจะไปทำเอง เพราะผ่านกระบวนการตรวจสอบแล้วทั้งหมด ฝ่ายบัญชี ฝ่ายกฎหมายก็ทำหน้าที่ตรวจสอบ นี่เป็นเพียงการทำหน้าที่ในเชิงเอกสาร ธุรการ
7. สาเหตุที่กรมราชทัณฑ์ ใช้วิธีกรณีพิเศษในการจัดซื้ออาหารดิบเลี้ยงผู้ต้องขัง
นายธีธัช : องค์การตลาดเราเป็นรัฐวิสาหกิจ ประเภทเลี้ยงตัวเอง โดยต้องหารายได้ส่งให้ กระทรวงการคลัง ตามพันธกิจที่เราถูกกำหนดมาตั้งแต่ พ,ศ. 2496 ตอนนี้ ก็62 ปีแล้วที่เราทำหน้าที่ทั้งในเรื่องการบริหารตลาดและบริหารการค้าการขนส่ง แล้วการส่งสินค้าให้ส่วนราชการ เราก็ทำมา 40 กว่าปี แล้ว
เราไม่ใช่จัดซื้อจัดจ้างจากใคร เพราะฉะนั้น จะบอกว่าให้ตรวจสอบวิธีการจัดซื้อจัดจ้างคงไม่ได้ เพราะเราไม่ได้ จ้างใครมาผลิต เราเป็นเพียงผู้รับจ้างตามที่ผู้ว่าจ้างได้ว่าจ้างเราให้ดำเนินการ เรื่องนั้นเรื่องนี้
จริงๆ แล้ว องค์การตลาดเราเป็นตัวกลางในการจัดหาสินค้า ให้กับทุกหน่วยงานราชการ โรงพยาบาล โรงเรียน หน่วยราชการอื่นเราก็ทำ แต่เรือนจำ อาจจะเป็นจุดที่เราอาจจะทำเยอะหน่อย เพราะเมื่อก่อน กรมราชทัณฑ์ก็อยู่มหาดไทย มันเป็นความสัมพันธ์ กันมายาวนาน เมื่อก่อนกรมราชทัณฑ์อยู่มหาดไทย ก็ซื้อจากมหาดไทยด้วยกัน เพื่อความสะดวกในการจัดการแม้กรมราชทัณฑ์ย้ายมาอยู่กระทรวงยุติธรรม แม้บางครั้งบางปี จะมีอีอ็อกชั่น แต่ผู้บริหารกรมราชทัณฑ์ แต่ละยุตสมัย ก็ เลือกเอาวิธีที่ตัวเองคิดว่า เหมาะสมกับตัวเอง เหมือนที่ผมได้ฟัง อธิบดี หลายๆ ท่าน ก็บอกว่า การจัดซื้อจัดจ้างก็มีข้อดีข้อเสีย แต่ละวิธี
ส่วนที่ อิศราสนใจอยู่ อาจเป็นวิธีกรณีพิเศษซึ่งอยู่ใน พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างโดยทั่วไป ว่าเป็นไปตามข้อตกลง ตามกฎหมายหรือตาม มติ ครม. ซึ่งอันนี้ เป็นไปตาม มติ ครม. ก็มีการปรับปรุงกันมาเรื่อย ซึ่ง มติ ครม. ที่ว่านี้ออกมาว่าไม่บังคับ
คำว่าไม่บังคับ คือ ไม่ได้หมายความว่าหน่วยงานของรัฐ ไม่จำเป็นต้อง ไปซื้อกับ 4 หน่วยงานที่ว่านี้ แต่เพื่อให้ 4 หน่วยงานนี้ เป็นกลไกที่ทำให้ สามารถจัดซื้อสินค้า ในแต่ละภูมิภาคของตัวเอง เป็นตัวกลางในการทำให้เกิดการกระจายรายได้ และที่กำหนดให้มี4 หน่วยงานนี้ เพราะป้องกันไม่ให้เกิดกรณีมีเพียงรายเดียวให้เลือก แต่กฎหมายก็กำหนดว่า ต้องเรียกมาเสนอราคาอย่าง น้อย 3 ราย แล้วเลือกมารายใดรายหนึ่ง
ดังนั้น วิธีของการจัดซื้อจัดจ้าง แบบนี้ มันไม่ใช่ลักษณะของการประมูล แข่งขันราคา แต่กึ่งๆ จะเป็นเหมือนการตกลงราคา ด้วยวิธีกรณีพิเศษหากอิศราสนใจเรื่องนี้ ก็ต้องไปสอบถาม จากทางผู้ซื้อหรือผู้ถือระเบียบ คือกรมราชทัณฑ์
ว่า ทุกอย่างที่เขาทำ ถูกต้องตามระเบียบหรือยัง เรามีหน้าที่เพียงเปิดร้านขายของ ถ้าเขาอยากจะซื้อกับเรา เราก็เพียง แค่ขายของ
8. เหตุใดกรมราชทัณฑ์จึงมีงบประมาณจ่ายให้ผู้จัดส่งอาหารดิบผู้ต้องขัง ได้เพียงแค่ 6 เดือนแรก
นายธีธัช : เหตุผลที่หนึ่ง อย่างที่ผมเรียนว่าการจ่ายเงินของกรมราชทัณฑ์ มีเงินให้แค่ หกเดือน
เพราะฉะนั้น กรกฎาคม สิงหาคม กันยายน เขาหยุดจ่ายเงินแล้ว ดังนั้น เมื่อถึง กันยายน ทางบัญชี ก็ต้องลงเลขรับตามจริง แต่พอเดือน ตุลาคม ไปธันวาคม คือปีงบประมาณใหม่ ทางกรมราชทัณฑ์เขาก็ของบเพื่อชดเชยเงินที่ขาด ผมก็จะได้รับชดเชยเงินส่วนนั้น งบส่วนนี้จึงอาจจะมาโผล่ในปีถัดไป
เหตุผลที่สอง สัญญาจัดส่งอาหารดิบที่ตั้งไว้เป็นสัญญาจะซื้อจะขาย เพราะจำนวนของนักโทษนั้น เพิ่มขึ้น ลดลงตลอดเวลา
การประเมินงบประมาณของต้นปีอาจจะประเมินตัวเลขหนึ่ง เช่น จำนวนผู้ต้องขัง 3 แสนราย แต่เมื่อยื่นของบประมาณไป สำนักงบประมาณตัดเหลือหนี่งแสนห้าหมื่นราย คือเขาเอาตัวเลขหนึ่งแสนห้าหมื่นรายมาตั้ง แต่เวลาเลี้ยงจริง เลี้ยงสามแสนราย และในความเป็นจริง ผู้ต้องขังเพิ่มขึ้นทุกปี อาจจะเป็นสามแสนห้าหมื่นราย
เพราะฉะนั้น ตัวเลขเวลาที่เราไปดูนั้นเป็นเพียงตัวเลขประมาณการของกรมราชทัณฑ์ แต่รายได้ที่เข้ามา องค์การตลาดเป็นรายได้จริงในแต่ละช่วงเวลา เช่น กันยายน ปิดรอบบัญชี รับเท่าไหร่ ได้เท่าไหร่
ถ้าถามว่า เราได้รับจากกรมราชทัณฑ์ครบไหม ต้องตอบว่าครบ เพราะเรามีองค์กรตรวจสอบ คือ สตง. เขาไม่ยอมให้กระเด็นสักบาทแน่ ตลอด 40 ปีที่เราจัดส่งอาหารดิบมา ก็ไม่เคยมีปัญหาเรื่องนี้
ณ วันนี้ ผู้ซื้อ ( กรมราชทัณฑ์ ) มีความจำเป็นต้องใช้สินค้า ไม่ใช่สินค้าที่ถูกที่สุด แต่เป็นสินค้าที่เขาต้องการ สินค้าที่เขาเชื่อมั่น ว่าจัดส่งให้เขาได้ทุกวัน 365 วัน แม้จะไม่มีเงินจ่ายให้ คนที่อยู่นอกวงการ อาจจะมอง ว่าแปลก แต่เขาก็ทำการค้าแบบนี้ มา 40 กว่าปี
ผมเพิ่งเข้ามา 3 ปี ก็ยังแปลกใจ ว่าเขาอยู่กันได้ยังไง เขาก็บอกว่า มันเป็นการโรลลิ่งไปเรื่อยๆ ถ้าเขาหยุดสิ จะมีปัญหา เขาก็เอาบิลปีหน้า มาเคลียร์ปีนี้ เพราะกรมราชทัณฑ์ต้องใช้ตัวเลขครี่งปีแรกของปีงบประมาณ เช่น ใช้ตัวเลขหนึ่งแสนราย คูณค่าใช้จ่ายต่อหัวผู้ต้องขัง แล้วยื่นไปขอสำนักงบประมาณ แต่ถูกตัดเหลือแปดหมื่นราย กรมราชทัณฑ์ก็จะมีงบประมาณแค่นั้นมาจ่าย ทั้งที่มีคนหนึ่งแสนคน ยิ่งไปกว่านั้นอีก ในวันต่อๆ มา มีนักโทษใหม่เข้ามา ผู้ต้องขัง เพิ่มขึ้น ขณะที่งบประมาณ ถูกล็อคไว้แล้ว
ดังนั้น นี่จึงเป็นเงื่อนไข ที่ มติ ครม. ขณะนั้น ออกมาช่วย เพื่อให้ 4 หน่วยงานที่ได้รับสิทธิพิเศษ มาผสาน เพราะไม่ใช่หน้าที่กรมราชทัณฑ์เขาที่ต้องมาทะเลาะกับแม่ค้าที่มาเก็บบิลทุกวัน แต่องค์การตลาดเรา เราอยู่กับแม่ค้า เราก็มีหน้าที่คุยกับแม่ค้าว่ารับได้ไหม ว่า ส่งของแล้วแต่ได้รับเงิน แค่ 6 เดือน ก่อนนะ เมื่อได้แล้ว เขาจะโอนให้ เมื่อได้เงินกรมราชทัณฑ์ก็ส่งให้ 4 หน่วยงานรัฐ
…
เหล่านี้ คือคำอธิบาย จากผู้อำนวยการองค์การตลาด กระทรวงมหาดไทย และเป็นคำอธิบายที่น่าสนใจว่า ในประเด็นเรื่องการจ่ายเงินงบประมาณนั้น จะสอดคล้องกับคำอธิบายจากกรมบัญชีกลางหรือไม่ อย่างไร!
(อ่านประกอบ : ผอ.องค์การตลาดแจงปมขายอาหารเรือนจำ-อ้าง"ตัวแทน"3 จว.มีคุณภาพ )
(หลักฐานมัดจัดซื้ออาหาร"ผู้ต้องขัง"เรือนจำอ่างทอง เสร็จองค์การตลาด? )
(เปิด 3 ปมจัดซื้ออาหารเรือนจำอ่างทอง-ยื่นเสนอราคาก่อนวันกำหนด 3 วัน? )
(คนนามสกุลเดียวกันโผล่เป็น"ตัวแทน"จัดซื้ออาหารดิบเรือนจำ 3 แห่ง )
(อีกแห่ง!จัดซื้ออาหารดิบเรือนจำชัยนาท เรียกเสนอราคาก่อนผู้ว่าฯ ลงนาม )
(ร้องสอบจัดซื้ออาหารดิบ"ผู้ต้องขัง"ส่อฮั้ว-ซัดผบ.เรือนจำ-ผู้ว่าฯ อาจผิด กม. )
(ตีแผ่!ผูกปิ่นโต 15 ปีซื้ออาหาร“ผู้ต้องขัง”เรือนจำทั่ว ปท.8.5 พันล. )
(ยอดจัดซื้ออาหารดิบเรือนจำทะลัก 1.3 หมื่นล.-องค์การคลังสินค้า 2.7 พันล. )
(เปิดเมนูอาหาร 3 มื้อ"ผู้ต้องขัง"เรือนจำบางขวาง หลังผูกขาดจัดซื้อ 15 ปี ? )
(ผอ.กองคลังราชทัณฑ์ แจงละเอียด มหากาพย์จัดซื้ออาหารดิบ “ผู้ต้องขัง” )
(อธิบดีราชทัณฑ์ แจงยิบ!ปมผูกปิ่นโต 15 ปี ซื้ออาหาร“ผู้ต้องขัง” 8.5 พันล. )
(“ชาญเชาวน์”สั่งอธิบดีกรมราชทัณฑ์เข้มตรวจสอบจัดซื้ออาหารผู้ต้องขัง )
(อธิบดีราชทัณฑ์คนใหม่ยันจัดซื้ออาหารทำตามขั้นตอน-ถ้าเขียนข่าวไม่ดีห้ามเข้า )
(กางหลักฐานซื้อ“อาหารดิบ”ผู้ต้องขัง กี่ครั้งกันแน่-ใครสับสน? )
(ป.ป.ช.ลุยสอบเรือนจำจัดซื้ออาหารผู้ต้องขัง-ปลัดยุติธรรมปัดให้ความเห็น )