ผอ.องค์การตลาดแจงปมขายอาหารเรือนจำ-อ้าง"ตัวแทน"3 จว.มีคุณภาพ
“ธีธัช สุขสะอาด” ผอ.องค์การตลาด แจงละเอียด กรณีตั้งตัวแทนนามสกุลเดียวกัน โผล่ เรือนจำ จ.อ่างทอง-ชัยนาท-นครสวรรค์ ปฏิเสธ ไม่ได้ผูกขาด แต่มีศักยภาพ ด้านหัวหน้าแผนกตลาดแจง ตระกูล "นาคพรอำนวย" เป็นตัวแทนมาตั้งแต่รุ่นแม่ ฝ่ายกฎหมายยืนยันทำตามวิธีระเบียบพัสดุ
วันที่ 14 สิงหาคม 2557 ที่อาคารสำนักงานใหญ่ องค์การตลาด กระทรวงมหาดไทย นายธีธัช สุขสะอาด ผู้อำนวยการองค์การตลาด กระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org กรณีสำนักข่าวอิศรา เปิดเผยข้อมูลหนังสือร้องเรียนของเอกชนที่ยื่นต่อ ป.ป.ช. โดยมีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับกระบวนการจัดซื้ออาหารดิบกรมราชทัณฑ์ที่มีองค์การตลาด กระทรวงมหาดไทย เป็นหนึ่งในตัวแทนจัดส่งอาหารดิบหลายเรือนจำ และพบว่าองค์การตลาดยื่นเสนอราคาจัดส่งอาหารดิบที่เรือนจำจังหวัดอ่างทอง ก่อนหนด 3 วัน และมีการตั้งตัวแทนนามสกุลเดียวกัน จัดส่งอาหารดิบและเสนอราคาต่อเรือนจำจังหวัดอ่างทอง ชัยนาท และนครสวรรค์
นายธีธัชกล่าวว่ากรณีเรือนจำจังหวัดอ่างทองสาเหตุที่ไปยื่นล่วงหน้าเพราะจริงๆ แล้ว จดหมายเชิญชวน ออกมาตั้งแต่ วันที่ 21 เพื่อประกาศว่าให้ผู้ที่สนใจ ไปยื่นวันที่ 27-28 ดังนั้น เมื่อเราได้หนังสือเชิญชวนมาถึงวันที่ 24 เราก็ทำหนังสือออกไปในวันที่ 24 เพื่อให้ทันกำหนดวันที่ 27 เท่านั้นเอง ซึ่งก็มีหนังสือมอบอำนาจ โดยนางสาวรุจยา ซึ่งมีอำนาจเต็ม เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง
นายธีธัชกล่าวว่า นางสาวรุจยา ไตรศิริ ที่เป็นผู้ลงนาม เป็นหัวหน้าแผนกตลาดและจัดส่งสินค้า เป็นผู้มีอำนาจโดยตรงซึ่งนายธีธัชให้ทำหน้าที่แทน เช่น ลงนามในใบเสนอราคาหรือลงนามแต่งตั้งตัวแทน แต่ไม่ใช่ ว่านางสาวรุจยาจะไปทำเอง เพราะต้องผ่านกระบวนการ ตรวจสอบ แล้ว ทั้งหมด เป็นเพียงการทำหน้าที่ในด้านเอกสาร ธุรการ
ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีนายวิชัย และนางพรพิมล นาคพรอำนวย ที่มีนามสกุลเดียวกัน ที่อยู่เดียวกันนั้น เพราะเหตุใด องค์การตลาดจึงตั้งห้างหุ้นส่วนของบุคคลนี้เป็นตัวแทน
นายธีธัชกล่าวว่าก็เพราะเขาไม่เคยทิ้งงาน และส่งสินค้าให้แต่ละเรือนจำได้อย่างน่าพอใจซึ่งผู้ที่องค์การตลาดสนใจมากที่สุด ก็คือผู้ซื้อ ซึ่งในที่นี้ก็คือกรมราชทัณฑ์
“ถ้าเรือนจำ เอ บอกว่า นาย ก. ไม่ดี เราก็ต้องหาใหม่ แต่ ถ้า นาย ก. ส่งดี เรือนจำเอ บอกว่า ได้มาตรฐาน ถ้าเราไปเปลี่ยนผมก็ถูกร้องเรียนอีก ทั้งขึ้นทั้งล่อง เราก็จึงใช้ตัวแทนที่อยู่องค์การตลาดมายาวนาน เป็นคู่ค้า ที่เราไว้ใจ อย่างนายวิชัย” นายธีธัชระบุ
ด้านนางสาวรุจยา ไตรศิริ หัวหน้าแผนกตลาดและจัดส่งสินค้า ตอบว่านายวิชัย ทำมาตั้งแต่รุ่นแม่แล้ว
นายธีธัชกล่าวว่า วิธีกรณีพิเศษที่สำนักข่าวอิศราสนใจ ก็เป็นไปตามมติ ครม. ก็มีการปรับปรุงกันมาเรื่อย ซึ่ง มติ ครม. ที่ว่านี้ไม่บังคับ คือไม่ได้หมายความว่าหน่วยงานราชการ กรมราชทัณฑ์หรือหน่วยงานรัฐ ไม่จำเป็นต้อง ไปซื้อกับ 4 หน่วยงานที่ได้รับสิทธิพิเศษนี้ กฎหมายก็กำหนดว่าไม่ใช่ลักษณะของการแข่งขันหรือประมูลราคา แต่ด้วยวิธีกรณีพิเศษ
"ถ้าสนใจเรื่องนี้ ก็ต้องไป สอบถามกับผู้ซื้อหรือผู้ที่ถือระเบียบคือกรมราชทัณฑ์ ว่าทุกอย่างที่เขาทำ ถูกต้องตามระเบียบพัสดุ หรือยัง เรามีหน้าที่เพียง เปิดร้านขายของ วันนี้ เราเป็นเพียงแค่รายหนึ่ง ถ้าเขาอยากจะซื้อกับเรา เราก็เพียง แค่ ขายของ เราไม่สามารถไปส่งสินค้าได้เอง แต่เรามีตัวแทนที่เป็นคนที่อยู่ในพื้นที่ ที่เราให้ทำหน้าที่แทนเรา” นายธีธัชระบุ
ผู้สื่อข่าวถามว่า มติ ครม.ที่นายธีธัชเอ่ยถึง เป็นมติ ครม.ในยุคที่นายกรณ์ จาติกวณิช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือ ในยุคที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
นายธีธัชตอบว่า นานกว่านั้น เป็น มติ ครม. เมื่อประมาณ 20 ปีก่อน นานมากแล้ว จึงอยากให้มองอย่างให้ความเป็นธรรมกับองค์การตลาดด้วย เพราะเราถูกตั้งด้วยพันธกิจที่ชัดเจน
“เราทำตามระเบียบ ถ้าไม่ให้สิทธิเรา เราจะตั้งตัวเองไปเป็นนายหน้าค้าของไม่ได้ แต่นี่ มีการตั้ง เราเป็นนายหน้าค้าสิ่งที่เรียกว่าโภคภัณฑ์ โดย มติ ครม. แต่คือไม่ได้บังคับว่าหน่วยงานรัฐ ต้องมาซื้อกับ 4 หน่วยงานนี้ ไม่ใช่ แต่นี่เรายังต้องประมูล ทุกปี เราก็เป็นเพียงผู้ค้ารายหนึ่งแค่นั้นเอง” นายธีธัชระบุ
ผู้สื่อข่าวถามถึง กรณีที่บางเรือนจำมีเพียงแค่ 2 หน่วยงานมายื่นเสนอราคา ทั้งที่ มติ ครม. ให้เชิญมาไม่น้อยกว่า 3 หน่วยงาน นายธีธัชกล่าวว่าไม่จำเป็น เพราะอำนาจในการเชิญชวน คือเชิญ 3 หน่วยงานจริง แต่คุณต้องไปตรวจสอบว่าเขาเชิญครบ 3 หรือเปล่า
“แต่ถ้าเชิญครบแล้ว เขามายื่นคนเดียว ก็ได้” นายธีธัชระบุ
ด้านนายสุทธิชัย โพธิ์สุขสุพรรณ หัวหน้าฝ่ายกฎหมาย ขององค์การตลาดกระทรวงมหาดไทย กล่าวกับผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราว่า การดำเนินการนั้นเป็นไปตามระเบียบพัสดุของสำนักนายกฯ
นายธีธัชกล่าวเพิ่มเติมว่าผู้สื่อข่าวต้องไปศึกษาระเบียบพัสดุให้ทะลุปรุโปร่ง เพราะจะไปเทียบกับวิธีประมูลแข่งขันไม่ได้ ที่ต้องเชิญมาให้เยอะ แต่กรณีนี้ ให้เชิญ 3 ใน 4 ดังนั้น บางพื้นที่ อาจจะเคยทำการค้ากับ องค์การตลาด อคส. อตก. บางพื้นที่ อาจจะเคยทำกับ อคส. อตก. ชุมนุมสหกรณ์การเกษตร เขาก็ไม่เชิญองค์การตลาดหรือสลับสับเปลี่ยนกันไปเพื่อให้ พื้นที่ที่ตัวเองรับผิดชอบได้มีการกระจายรายได้ไปสู่ตรงนั้น ทั้งหมดนี้ คือ การสร้างสมดุลทางราคาให้การค้า
“เพราะคนที่ออก มติ ครม. นี้ อาจจะเคยคิดว่า วันหนึ่ง ถ้าไม่มี 4 หน่วยงานนี้ขึ้นมา นอกจากจะมีปัญหาว่าใครจะมาเป็นตัวกลาง กันชนระหว่าง พ่อค้า แม่ค้า กับหน่วยงานราชการแล้ว อาจจะมีเอกชนรายหนึ่งตั้งตัวเป็นผู้ค้ารายเดียว ส่งทั้งประเทศก็ได้ แต่นี่เรากำลังพูดถึงการกระจายรายได้นะ ผมก็ไม่เคยตั้งใครรายเดียวรายหนึ่ง แล้วส่งทั้งประเทศ แต่วันนี้ ถ้าเขาส่งให้เรือนจำนั้น แล้วเรือนจำนั้น พอใจ เช่น เชียงใหม่ก็พยายามหาคนในพื้นเพเชียงใหม่ สงขลาก็หาคนในพื้นเพสงขลา อุทัย ชัยนาท ก็เอาคนในพื้นที่จัดส่ง ถามว่า ผูกขาดไหม ก็อย่างที่บอกว่า ที่กรมราชทัณฑ์นี่คุณต้องรับให้ได้ว่าเงินได้ช้า ซื้อสด แต่ต้องขายเชื่อ ดังนั้น คนที่จะเข้ามาในระบบนี้ ต้องมีเงินเชื่อเพียงพอ ไม่งั้น ถ้าไม่ได้เงิน คุณก็มาฟ้องร้องวุ่นวาย” นายธีธัชระบุและกล่าวด้วยว่า ส่วนที่ตัวแทนมีนามสกลุลเหมือนกัน ก็ในระเบียบไม่ได้บอกห้ามไว้ เพราะถ้าเขาไม่มีปัญหาทิ้งงาน จ่ายเงินครบถ้วน จ่ายสินค้าได้ตรงตามต้องการ ไม่เคยถูกร้องเรียน
"ก็ในเมื่อเขามีศักยภาพ เขามีใบสมัคร เราก็ให้เขาจัดส่งเท่านั้นเอง” นายธีธัชระบุ
นายธีธัชกล่าวด้วยว่า การส่งอาหารดิบให้เรือนจำ องค์การตลาดก็ทำมา 40 ปีแล้ว กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างนี้ องค์การตลาดเป็นเพียงผู้ถูกเลือก เราเป็นผู้ขาย เราไม่ได้จัดซื้อจัดจ้างจากใคร เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้ตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้าง คงไม่ใช่ เพราะเราไม่ได้ จ้างใครมาผลิต เราเป็นเพียง ผู้รับจ้างตามที่ผู้ว่า จ้างได้ว่าจ้างเราให้ดำเนินการ ซึ่งกรณีจัดซื้ออาหารดิบของกรมราชทัณฑ์ จริงๆ แล้ว องค์การตลาดเป็นเพียงตัวกลางในการจัดหาสินค้าให้กับทุกหน่วยงานราชการ เพียงแต่ว่า เรือนจำ อาจจะเป็นจุดที่เราอาจจะทำเยอะหน่อย เพราะเมื่อก่อนกรมราชทัณฑ์ก็อยู่มหาดไทย
“เมื่อก่อนก็ซื้อจากมหาดไทยด้วยกัน เพื่อความสะดวก แม้ตอนนี้ กรมราชทัณฑ์จะย้ายมาอยู่กระทรวงยุติธรรม และแม้จะมีวิธีอีอ็อกชั่น แต่ผู้บริหารกรมราชทัณฑ์แต่ละยุคสมัยก็เลือกเอาวิธีที่เหมาะกับตัวเองเหมือนที่อธิบดี หลายๆ ท่านบอกว่าแต่ละวิธีมีข้อดีข้อเสีย” นายธีธัชระบุ
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่เอกชนยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. ถึงกรณีความไม่โปร่งใสในกระบวนการจัดซื้ออาหารดิบ ผู้ต้องขัง มีเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. มาสอบถามข้อมูลจากนายธีธัชหรือไม่
นายธีธัชกล่าวว่า ไม่เคยถูก ป.ป.ช.สอบถามในเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่านายสุทธิชัย หัวหน้าฝ่ายกฎหมายขององค์การตลาดกระทรวงมหาดไทย และนางสาวรุจยา ไตรศิริ หัวหน้าแผนกตลาดและจัดส่งสินค้า ร่วมรับฟังด้วยตลอดการสัมภาษณ์
( อ่านประกอบ : โอ้!“องค์การตลาด”ตั้งคู่ค้าใหญ่เรือนจำนครสวรรค์ เป็นตัวแทนส่งอาหารดิบ )
(หลักฐานมัดจัดซื้ออาหาร"ผู้ต้องขัง"เรือนจำอ่างทอง เสร็จองค์การตลาด? )
( คนนามสกุลเดียวกันโผล่เป็น"ตัวแทน"จัดซื้ออาหารดิบเรือนจำ 3 แห่ง )
( เปิด 3 ปมจัดซื้ออาหารเรือนจำอ่างทอง-ยื่นเสนอราคาก่อนวันกำหนด 3 วัน? )
บรรยายภาพ จากซ้าย : นายธีธัช สุขสะอาด , นางสาวรุจยา ไตรศิริ, นายสุทธิชัย โพธิ์สุขสุพรรณ