ต้องตั้งกรรมการสอบสวนประธานศาล ปค.สูงสุด
"..ตุลาการกลุ่มหนึ่งมองกันว่า การที่นายหัสวุฒิดำเนินการเรื่องนี้เป็นเรื่อง "ลับมาก" เพรราะต้องการสยบกระแสความไม่พอใจของตุลาการ เพราะนายหัสวุฒิเองก็ตกเป็น "จำเลย”"ของสังคมเช่นเดียวกับนายดิเรกกฤทธิ์.."
ทำท่าจะเงียบหายไปกับสายลม!
หลังจากที่นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงกรณีที่นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม เลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง ทำหนังสือถึงพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. และพล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รอง ผบ.ตร. เพื่อสนับสนุนพ.ต.ท.ชูธเรศ ยิ่งยงดำรงกุล รองผกก.ป. สน.หัวหมาก เป็นผู้กำกับการ (ผกก.)
โดยให้เหตุผลว่า เป็นเพื่อนสนิทหลายชายนายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล และช่วยงานประธานศาลปกครองสูงสุดในหลายโอกาส
คณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง ประกอบด้วย นายเกษม คมสัตย์ธรรม รองประธานศาลปกครองสูงสุดเป็นประธาน
กรรมการประกอบด้วย นายไพบูลย์ เสียงก้อง นายวรพจน์ วิศรุตพิชญ์ ตุลาการหัวหน้าคณะในศาลปกครองสูงสุด นางปานตา ศิริวัฒน์ อธิบดีศาลปกครองกลาง นายอดุลย์ จันทรศักดิ์ รองอธิบดีศาลปกครองพิษณุโลก โดยมีเจ้าหน้าที่สำนักงานศาลปกครองเป็นกรรมการและเลขานุการ
การที่เรื่องทำท่าจะเงียบหายมีเหตุผลหลายประการด้วยด้วยกัน
หนึ่ง การแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง ทำเป็นเรื่อง"ลับมาก" ไม่มีการเผยแแพร่คำสั่ง แม้แต่ในสำนักงานศาลปกครอง ทั้งๆที่ เป็นเรื่องที่ตุลาการและข้าราชการในสำนักงานศาลปกครองให้ความสนใจเพราะบรรดาตุลาการและข้าราชการเห็นว่า การกระทำไดังกล่าวของนายดิเรกฤทธิ์สร้างความเสียหายให้แก่ตุลาการและสถาบันศาลปกครองอย่างมาก
ตุลาการกลุ่มหนึ่งมองกันว่า การที่นายหัสวุฒิดำเนินการเรื่องนี้เป็นเรื่อง "ลับมาก" เพรราะต้องการสยบกระแสความไม่พอใจของตุลาการ เพราะนายหัสวุฒิเองก็ตกเป็น "จำเลย”"ของสังคมเช่นเดียวกับนายดิเรกกฤทธิ์
สอง การที่นายหัสวุฒิ ชิงแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงโดย ไม่ยอมออกมายืนยันข้อเท็จจริงกรณีที่นายดิเรกฤทธิ์กล่าวอ้างว่า ก่อนการดำเนินการส่ง "จดหมายน้อย"ถึงผบ.ตร. และรอง ผบ.ตร.เพื่อขอการสนับสนุน พ.ต.ท.ชูธเรศ เป็น ผกก.ได้เรียนให้ประธานศาลปกครองสูงสุดทราบแล้ว ตุลาการจำนวนหนึ่งมองว่า เพื่อเป็นการปัดเรื่องให้พ้นตัว เพื่อที่จะตนเองจะได้ไม่ต้องตกเป็น "เป้า" ทั้งๆที่นายหัสวุฒิควรจะแสดงความรับผิดชอบมากกว่า การให้ฝ่ายประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข่าวการแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง
สาม กรณีดังกล่าวอาจมีผลกระทบกระเทือนต่อตำแหน่ง "ประธานศาลปกครองสูงสุด" และสะท้อนให้เห็นปัญหาเรื้อรังในกระบวนการยุติธรรม แต่ปรากฏว่า สื่อกระแสหลักทั้งหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ให้ความสนใจที่จะติดตามนำเสนอข่าวอย่างจริงจังน้อยมาก
สี่ นายดิเรกฤทธิ์ อาจอาศัยข้ออ้างการเดินทางไปต่างประเทศกับผู้เข้าอบรมหลักสูตรนักบริหารการยุติธรรม ทางปกครองระดับสูง (บยป.)ในช่วงระหว่างวันที่ 4-11 พฤษภาคม และ 24-30 พฤษภาคม ขอเลื่อนการให้ปากคำต่อคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงเพื่อดึงเรื่องให้เนิ่นนานออกไปเพื่อให้สังคมลืมกรณีที่เกิดขึ้น ซึ่งตุลาการหลายคนเกรงว่า อาจมีการกลบเกลื่อนคดีแบบมวยล้มต้มคนดู
อย่างไรก็ตามเมื่อดูรายชื่อคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง ตุลาการหลายคนเห็นว่า มีองค์ประกอบที่เชื่อว่า จะทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ไม่อยู่ภายใต้การครอบงำของผู้มีอำนาจ
โดยเฉพาะนายวรพจน์ วิศรุตพิชญ์ ตุลาการหัวหน้าคณะในศาลปกครองสูงสุดที่ชื่นชอบ วลี “ตัวตรง เงาไม่เฉียง" "เท้าตรง ไม่กลัวรองเท้าเบี้ยว" ในนวนิยามจีน "ตุลาการราชวงศ์ซ่ง"
ขณะเดียวกัน การไม่ออกมาแสดงความรับผิดอย่างชัดเจนของนายหัสวุฒิและทำให้เรื่องการสอบสวนอึมครึมสร้างกระแสความไม่พอใจให้แก่ตุลาการและข้าราชการศาลปกครองเป็นอย่างมาก ซึ่งอาจจะกลายเป็นระเบิดเวลาที่ตูมตามขึ้นได้ทุกเมื่อ
คณะกรรมการข้าราชการตุลาการศาลปกครอง(ก.ศป.)จึงควรเปิดประชุมอย่างเร่งด่วน (ไม่ต้องรอถึงวาระปกติวันที่ 21 พฤษภาคม 2557)เพื่อพิจารณาเรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนประธานศาลปกครองสูงสุดเช่นเดียวกับนายดิเรกฤทธิ์ซึ่งเป็นอำนาจโดยตรงของ ก.ศป.ตาม มาตรา 24 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง
ทั้งนี้ ถ้า ก.ศป. เห็นว่าการให้ผู้ถูกสอบสวนหรือพิจารณา ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจะเป็นการเสียหายแก่ราชการจะมีมติให้พักราชการก็ได้โดยให้พักตลอดเวลาที่สอบสวนหรือพิจารณา
อาจมีคำถามว่า การแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนนายหัสวุฒินั้น มีเงื่อนไขเพียงพอหรือไม่
เรื่องนี้ต้องดู ประกาศ ก.ศป.เรื่องวินัยแห่งการเป็นตุลาการศาลปกครอง(ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2544)ซึ่งมีหลายข้อที่เข่าข่ายหรือเงื่อนไขที่จะตั้งคณะกรรมการสอบสวนได้ อาทิ
ข้อ 7 ตุลาการศาลปกครองต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม และต้องไม่ใช้หรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์อันมิชอบ รวมทั้งต้องไม่ยินยอมให้บุคคลในครอบครัวก้าวก่ายการปฏิบัติหน้าที่ของตนหรือของตุลาการศาลปกครองอื่น"
การฝ่าฝืนหรือการไม่ปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง เป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง
ข้อ 11 ตุลาการศาลปกครองต้องรักษาชื่อเสียงของตนและรักษาเกียรติศักดิของตำแหน่งหน้าที่ราชการของตนมิให้เสื่อมเสียโดยไม่กระทำการใดๆอันได้ชื่อว่าประพฤติชั่ว
การประพฤติชัวอย่างร้ายแรง เป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง
จากข้อเท็จจริง นายดิเรกฤทธิ์กล่าวอ้างใน "จดหมายน้อย" ถึงรอง ผบ.ตร.ว่า "ท่านประธานฯ ประสงค์จะสนับสนุน พ.ต.ท.ชูธเรศ ยิ่งยงดำรงกุล ซึ่งเป็นเพื่อนของหลานท่านให้ได้เป็น ผกก.เพราะเป็นคนดี อยู่ นรต.รุ่น 47 มีอาวุโสมากพอ(เพื่อนรุ่นเดียวกันเป็นรอง ผบก.และส่วนใหญ่เป็น ผกก.กันแล้ว" ซึ่งเป็นเรื่อง "ส่วนตัว"ในการขอตำแหน่งให้แก่ นายตำรวจซึ่งเป็น"เพื่อนสนิท"ของหลายประธานศาลปกครองสูงสุด
คำถามคือ การขอให้สนับสนุนการเลื่อนตำแหน่งเป็นการ "ส่วนตัว" โดยอ้างความเป็นเพื่อนสนิทของหลานประธานศาลปกครองสูงสุดเป็นการ ใช้ตำแหน่งหน้าที่แสวงหาประโยชน์อันมิชอบหรือไม่?
การที่นายดิเรกฤทธิ์ระบุว่า เป็นความต้องการของประธานศาลปกครองสูงสุดในการขอการสนับสนุน พ.ต.ท.ชูธเรศ เป็นการยินยอมให้ "ผู้อื่น"ใช้ตำแหน่งหน้าที่แสวงหาประโยชน์อันมิชอบ ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ นายหัสวุฒิย่อมทราบดีซึ่งการนิ่งเฉยและหลบไม่ยอมออกมาแถลงใดๆอาจทำให้สังคมสับสนและเข้าใจผิดได้
ขณะเดียวกัน ถ้า ก.ศป.ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวน ต้องทำประเด็นนี้ให้กระจ่าง ไม่ควรลูบหน้าปะจมูก เพราะมีผลอย่างมากต่อตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุด
เพราะ ก.ศป.มีอำนาจไล่ตุลาการศาลปกครองออกจากราชการหรือให้พ้นจากตำแหน่งได้ตามมาตรา 24 และ ประกาศ ก.ศป.เรื่องวินัยแห่งการเป็นตุลาการศาลปกครองกรณีมีการกระทำผิดวินัยร้ายแรงตามข้อ 7 และ 11
ขึ้นอยู่กับว่า เมื่อถึงเวลาพิจารณาเรื่องนี้จริงๆ ก.ศป.จะกล้าแตะประธานศาลปกครองสูงสุดหรือไม่?
อ่านประกอบ :
เปิดชื่อ 5 บิ๊กตุลาการ! สอบปม "จม.น้อย"หนุนเพื่อนหลาน"หัสวุฒิ"ขึ้น"ผกก."
เหตุการณ์อัปยศ?ที่ศาลปกครอง
โฆษกศาลฯ ปัดตอบ"หัสวุฒิ"รู้เห็น "จม.น้อย"หรือไม่ ก่อนสั่งสอบข้อเท็จจริง
บิ๊กศาลปกครอง ยันทำจม.น้อย หนุนเพื่อนหลาน"หัสวุฒิ"เป็นผกก.ไม่ผิดกม.
"จม.น้อย"เลขาฯศาลปกครอง โผล่ฉบับที่ 3 เร่งรัด"ตุลาการ" พิจารณาคดี