เหตุการณ์อัปยศ?ที่ศาลปกครอง
"..เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ตุลาการและข้าราชการศาลปกครองจำนวนมากมองว่า เป็นเรื่องอัปยศ สร้างความเสื่อมเสียและทำให้ศาลปกครองเสื่อมศรัทธาต่อสาธารณชนอย่างมาก ผู้ที่รับผิดชอบและเกี่ยวข้อง ต้องแสดงความรับผิดชอบออกมาโดยเร็ว ก่อนที่สถาบันศาลปกครองจะถูกทำลายลงอย่างย่อยยับ.."
เรียน ผบ.ตร.ที่เคารพ
พ.ต.ท.ชูธเรศ ยิ่งยงดำรงกุล รอง ผกก.ป.สน.หัวหมาก ขอรับการสนับสนุนแต่งตั้งเป็น ผกก.ตามประวัติและความประสงค์ที่แนบ เป็นเพื่อนสนิทของหลานชายท่านประธานศาลปกครองสูงสุดและได้ช่วยดูแลการปฏิบัติภารกิจของท่านประธานฯในหลายโอกาส ท่านประธานศาลปกครองสูงสุดจึงขอความกรุณาท่าน ผบ.ตร.(ส่งเอกสารผ่านท่านรอง ผบ.ตร. เอก อังสนานนท์)ช่วยพิจารณาสนับสนุนด้วยครับ
ขอแสดงความนับภือ
(นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม)
เลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง
7 มค. 57
เรียน พี่เอกที่เคารพรัก
ท่านประธานฯ ประสงค์จะสนับสนุน พ.ต.ท.ชูธเรศ ยิ่งยงดำรงกุล ซึ่งเป็นเพื่อนของหลานท่านให้ได้เป็น ผกก.เพราะเป็นคนดี อยู่ นรต.รุ่น 47 มีอาวุโสมากพอ(เพื่อนรุ่นเดียวกันเป็นรอง ผบก.และส่วนใหญ่เป็น ผกก.กันแล้ว"
ขอความกรุณาพี่เอก ช่วยแนะนำด้วยครับว่า ท่านประธานหรือผม ต้องดำเนินการอย่างไรบ้างครับ
ขอขอบพระคุณ
ลายเซ็นนายดิเรกฤทธิ์
25 ตค. 56
!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!
บันทึกส่วนตัวหรือ "จดหมายน้อย" 2 ฉบับที่นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม เลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง ส่งถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.-พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว)และพล.ต.อ.เอก อังสนานนท์(พี่เอก)เพื่อฝากฝังสีกากีรายหนึ่งให้กินตำแหน่ง "ผู้กำกับการตำรวจ"ซึ่งได้รับการเผยแพร่ในโลกออนไลน์กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางว่า เป็นการใช้อำนาจอิทธิพลของฝ่ายตุลาการไปแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ เพราะ
หนึ่ง นายดิเรกฤทธิ์อ้างว่า นายตำรวจนายดังกล่าว เป็นเพื่อนสนิทของหลายชายประธานศาลปกครองสูงสุด(นายหัสวุฒิ วิทิตวิริยะกุล)
สอง นายตำรวจนายดังกล่าว ได้ช่วยดูแลการปฏิบัติภารกิจของประธานศาลปกครองสูงสุดในหลายโอกาส
นอกจากนั้น เลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง ยอมรับกับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า ได้ทำจดหมายน้อยฉบับดังกล่าวจริง
โดยก่อนดำเนินการได้เรียนให้ประธานศาลปกครองสูงสุดรับทราบด้วย เพราะเห็นว่า พ.ต.ท.ชูธเรศ เข้ามาช่วยงานราชการหลายครั้ง โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์ที่ไม่ปกติแบบนี้ ต้องการคนที่ไว้ใจได้เข้ามาช่วยงาน ไม่ใช่ใครก็ไม่รู้ และมาแทงข้างหลังในภายหลัง
เลขาธิการศาลปกครองอ้างว่า การทำบันทึกดังกล่าว เป็นการชื่นชมการทำหน้าที่ของนายตำรวจนายนี้จึงได้แจ้งเรื่องไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติให้รับทราบไว้พิจารณา ประกอบการเลื่อนตำแหน่งในอนาคตเท่านั้น
ไม่ได้เป็นการแทรกแซง หรือใช้อำนาจอะไรไปบังคับให้ทำตาม ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าจะต้องทำให้ได้นะ ต้องทำในช่วงเวลานั้นเวลานี้ ซึ่งกรณีแบบนี้ เท่าที่ทราบตำรวจหลายคนก็ทำกันอยู่เป็นปกติ ไม่ได้เป็นเรื่องผิดกฎหมายอะไร
คำสัมภาษณ์ของนายดิเรกฤทธิ์ เป็นการตอกย้ำว่า นายหัสวุฒิ วิทิตวิริยะกุล รู้เรื่อง "จดหมายน้อย"ฝากฝังนายตำรวจนายนี้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นเพียงการกล่าวอ้างของนายดิเรกฤทธิ์เพียงฝ่ายเดียว
ถ้านายหัสวุฒิไม่ทราบเรื่อง ต้องออกมาชี้แจงยืนยันว่า นายดิเรกฤทธิ์แอบอ้างชื่อและตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุดไปฝากฝังนายตำรวจ และต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวน
เพราะการกระทำของนายดิเรกฤทธิ์ถูกตุลาการและข้าราชการจำนวนหนึ่งในศาลปกครองเห็นว่า สร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อศาลปกครองและเข้าข่ายฝ่าฝืนระเบียบคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครองว่าด้วยประมวลจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ สำนักงานศาลปกครอง พ.ศ.2555หลายข้อ
อาทิ
ข้อ 10(3) ไม่กระทำการใดให้เกิดความเสื่อมเสียชื่อเสียง ภาพลักษณ์และเกียรติภูมิของสำนักงาน
ข้อ 12(10)ไม่ใช่ตำแหน่งหน้าที่หรือนำความสัมพันธ์ส่วนตัวที่มีต่อบุคคลใดมาประกอบการใช้ดุลพินิจกระทำการหรือไม่
กระทำการใดให้เป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลนั้น หรือปฏิบัติต่อบุคคลนั้นต่างจากบุคคลอื่นเพราะมีอคติหรือเลือกปฏิบัติ
แต่ถ้านายหัสวุฒิรู้เห็นเป็นใจด้วยตามที่นายดิเรกฤทธิ์กล่าวอ้าง การกระทำของนายหัสวุฒิก็ถูกมองว่า เข้าข่ายฝ่าฝืนระเบียบฯว่าด้วยจริยธรรมของตุลาการศาลปกครองเช่นเดียวกันซึ่งคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง(ก.ศป.)ต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนนายหัสวุฒิ
เพราะจากข้อความ "จดหมายน้อย" นั้นเป็นหลักฐานชัดเจนว่า การฝากฝังนายตำรวจนายดังกล่าวเป็นเพราะเหตุผลส่วนตัวของนายหัสวุฒิเองกล่าวคือ
นายตำรวจนายดังกล่าว "เป็นเพื่อนสนิทของหลานชายท่านประธานศาลปกครองสูงสุดและได้ช่วยดูแลการปฏิบัติภารกิจของท่านประธานฯในหลายโอกาส"
ถ้านายหัสวุฒิต้องการให้นายตำรวจนายดังกล่าวมาช่วยทำหน้าที่อารักขาหรือประสานงานด้านความปลอดภัยของตนเองจริง ในฐานะประธานศาลปกครองสูงสุดก็ชอบที่จะให้สำนักงานศาลปกครองทำหนังสือขอตัวจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้มาช่วยงานหรือช่วยราชการอย่างเป็นทางการได้ ซึ่งการขอตัวมาช่วยราชการอย่างเป็นทางการจะทำให้สำนักงานศาลปกครองสามารถทำรายการปฏิบัติงานของนายตำรวจนายนี้รายงานต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ตามความเป็นจริง
มิใช่การใช้ "จดหมายน้อย" ฝากฝังให้กินตำแหน่งใหญ่ขึ้นในลักษณะส่วนตัวตามที่ปรากฏซึ่งเข้าข่ายผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง?
ไม่ว่านายดิเรกฤทธิ์จะกล่าวอ้างเหตุผลใดในการฝากฝัง "เด็ก"ให้กินตำแหน่งผู้กำกับการ มีคำถามง่ายๆเป็นโจทย์ให้นายหัสวุฒิและนายดิเรกฤทธิ์ตอบดังนี้
หนึ่ง ถ้านายตำรวจนายดังกล่าวได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้กำกับการในการแต่งตั้งโยกย้ายครั้งต่อไป แต่มีนายตำรวจผู้ที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเช่นเดียวกันเห็นว่า การแต่งตั้งโยกย้ายดังกล่าวไม่เป็นธรรม เพราะมีการใช้เส้นสาย นำกรณีดังกล่าวยื่นฟ้องคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ(ก.ตร.)และสำนักงานตำรวจแห่งชาติยื่นต่อศาลปกครอง ผู้ฟ้องคดีจะได้รับความเป็นธรรมหรือไม่
ประชาชนจะคิดอย่างไรต่อคดีดังกล่าวนี้
สอง ถ้าพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว และพล.ต.อ.เอก อังสานานนท์ ถูกฟ้องคดีต่อศาลปกครอง จะสามารถทำจดหมายน้อยขอความสนับสนุบด้านคดีต่อนายดิเรกฤทธิ์ และ/หรือ ประธานศาลปกครองสูงสุดคนปัจจุบันได้หรือไม่
เป็นเรื่องนี้น่าเศร้าใจอย่างมากที่นายดิเรกฤทธิ์ให้สัมภาาณ์ว่า "กรณีแบบนี้ เท่าที่ทราบตำรวจหลายคนก็ทำกันอยู่เป็นปกติ ไม่ได้เป็นเรื่องผิดกฎหมายอะไร "
แสดงให้เห็นระดับความสำนึกของเลขาธิการศาลปกครองเป็นอย่างดี
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ตุลาการและข้าราชการศาลปกครองจำนวนมากมองว่า เป็นเรื่องอัปยศ สร้างความเสื่อมเสียและทำให้ศาลปกครองเสื่อมศรัทธาต่อสาธารณชนอย่างมาก
ผู้ที่รับผิดชอบและเกี่ยวข้อง ต้องแสดงความรับผิดชอบออกมาโดยเร็ว
ก่อนที่สถาบันศาลปกครองจะถูกทำลายลงอย่างย่อยยับ