"บีอาร์เอ็น"ในสายตาเจ้าหน้าที่รัฐไทย กับคำฝากจากคนใน "เปิดเทอมเจอกันใหม่"
การเสียชีวิตของ นายสะแปอิง บาซอ ซึ่งฝ่ายความมั่นคงไทยเชื่อว่าเป็นแกนนำคนสำคัญของขบวนการบีอาร์เอ็น กลุ่มเคลื่อนไหวหลักที่ต่อสู้กับรัฐในพื้นที่ชายแดนใต้มาตลอด 13 ปีเต็มนั้น ทำให้เกิดกระแสวิจารณ์ไปต่างๆ นานา
เรื่องข่าวการตายนั้นไม่เป็นปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือเหมือนกรณี มะแซ อุเซ็ง แกนนำอีกคนที่ถูกทางการไทยออกหมายจับในคดีปล้นปืน ซึ่งมีข่าวเสียชีวิตเมื่อปีที่แล้ว เพราะกรณีของสะแปอิงนั้น ครอบครัวได้ออกมายอมรับ และมีการประกอบพิธีละหมาดอย่างยิ่งใหญ่ 2 วันซ้อนที่โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ อ.เมือง จ.ยะลา และที่มัสยิดใน อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ซึ่งสะแปอิงเป็นอิหม่าม
ประเด็นที่วิจารณ์กันมาก คือทิศทางขององค์กรบีอาร์เอ็น และแนวโน้มของสถานการณ์ไฟใต้ในวันที่ไร้เงาสะแปอิง
ยิ่งตั้งแต่ต้นปีระกา เหตุรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ค่อนข้างเบาบาง ทำให้มีตั้งสมมติฐานกันว่าการขับเคลื่อนของบีอาร์เอ็นหยุดชะงักจากอาการป่วยหนักและเสียชีวิตในที่สุดของสะแปอิงหรือไม่
องค์กรบีอาร์เอ็นฉบับ “พล.อ.สำเร็จ”
ก่อนอื่นต้องย้อนกลับไปทบทวนข้อมูลของฝ่ายความมั่นคงไทยที่มีต่อองค์กรบีอาร์เอ็น เริ่มจากข้อมูลของ พล.อ.สำเร็จ ศรีหร่าย อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งศึกษาเรื่องบีอาร์เอ็นจนได้รับการยอมรับว่าเป็น “กูรู”
เอกสารการศึกษาของ พล.อ.สำเร็จ ระบุว่า บีอาร์เอ็นคือ “องค์กรปฏิวัติมลายู” โครงสร้างประกอบด้วย 3 องค์กรหลัก คือ
“องค์กรนำ” จัดรูปแบบคล้าย “สภา” บ้างก็เรียก “สภาองค์กรนำ” มีหน้าที่กำหนดนโยบาย และกำหนดเงื่อนไขการเมืองการปกครอง
“องค์กรทหาร” มีหน้าที่สั่งการ วางแผนให้อาร์เคเค (นักรบ, กลุ่มติดอาวุธขนาดเล็กที่ผ่านการฝึกรบแบบจรยุทธ์) ปฏิบัติการต่างๆ
“องค์กรมวลชน” ทำหน้าที่สั่งการ วางแผนให้เครือข่ายออกปฏิบัติการข่าวสาร และปฏิบัติงานมวลชนในพื้นที่
บีอาร์เอ็นมี “มวลชนจัดตั้ง” ในพื้นที่ชายแดนใต้เป็นฐาน ใช้เงื่อนไขทางศาสนาในการจัดตั้งองค์กรและสร้างเครือข่าย ขณะเดียวกันก็ใช้เงื่อนไขทางการเมืองและความยุติธรรมในการขับเคลื่อนงาน
4 ม.ค.2547 ประกาศสงครามประชาชน
องค์กรบีอาร์เอ็นก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2503 และเปลี่ยนรูปแบบการต่อสู้กับรัฐไทยมาหลายครั้ง กระทั่งเมื่อราว 32 ปีก่อน (ปี 2527) เริ่มมีการบ่มเพาะเยาวชนเพื่อสร้างเป็นกองกำลังและแนวร่วม พร้อมๆ กับการวางระบบภายใน โดยมีประเด็นที่ใช้ขับเคลื่อนทางความคิด 5 ข้อ คือ ประวัติศาสตร์ เชื้อชาติ บัญญัติ 10 ประการของบีอาร์เอ็น ศาสนาอิสลาม และญิฮาด
จากนั้นในราวปี 2537 หลังจากผ่านพ้นระยะของการบ่มเพาะ บีอาร์เอ็นก็เริ่มจัดองค์กรเพื่อเตรียมการสู้รบ และประกาศสงครามประชาชนเมื่อปี 2547 วันที่ 4 ม.ค.ผ่านเหตุการณ์ปล้นปืนครั้งใหญ่
แหล่งทุนในช่วงแรกของการต่อสู้ มาจากการเก็บเงินสมาชิกคนละ 1 บาทต่อวัน ซึ่งวิธีการเช่นนี้นอกจากจะได้รับทุนสนับสนุนแล้ว ยังสามารถตรวจสอบความนิยม หรือ "เช็คชื่อ" และเช็คกระแสสนับสนุนองค์กรในและช่วงเวลาได้อีกด้วย
แง้มโครงสร้าง “สภาองค์กรนำ”
สำหรับ “สภาองค์กรนำ” หรือ DPP ที่ย่อมาจาก Dewan Pimpinan Parti ข้อมูลในส่วนนี้มีไม่มากนัก จำนวนสมาชิกของสภาองค์กรนำ บ้างก็ว่ามี 5 คน ข้อมูลบางแหล่งระบุว่ามี 7 คน บางแหล่งสูงถึง 9 คน และไม่มีความชัดเจนว่ามีใครนั่งอยู่ใน DPP บ้าง แต่ข้อมูลหลายชุดยืนยันตรงกันว่า นายสะแปอิง บาซอ ดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการสภาองค์กรนำ ซึ่งถือว่าเป็นตำแหน่งสูงสุดขององค์กร หากพิจารณาจากการจัดรูปแบบองค์กรคล้ายพรรคคอมมิวนิสต์
ส่วนอีกคนหนึ่งที่เชื่อกันว่าอยู่ในสภาองค์กรนำ ก็คือ นายดูนเลาะ แวมะนอ ซึ่งข้อมูลของทางการไทยระบุว่าเขาคือผู้นำสูงสุดขององค์กรทหาร เป็นอดีตครูใหญ่โรงเรียนญิฮาดวิทยา หรือ ปอเนาะญิฮาด อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ซึ่งเพิ่งถูกศาลแพ่งริบที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตกเป็นของแผ่นดินเมื่อต้นปีที่แล้ว
ถัดจากสภาองค์กรนำ ยังมีโครงสร้างของระดับปฏิบัติงานอีก 7 ฝ่าย ประกอบด้วย ฝ่ายต่างประเทศ ฝ่ายทหาร ฝ่ายเยาวชน ฝ่ายเศรษฐกิจ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ หรือโฆษณาชวนเชื่อ ฝ่ายอูลามา หรือผู้ทรงคุณวุฒิ และคณะกรรมการเขต โดยคณะกรรมการเขตนั้นจะแบ่งกันรับผิดชอบพื้นที่ต่างๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งไม่ได้แบ่งเขตเหมือนเขตปกครองของไทย
ข่าวไม่กรอง...6 สมาชิก DPP
อย่างไรก็ดี มีข้อมูลอีกชุดหนึ่งถูกปล่อยออกมาเมื่อเดือน ก.ย.-ต.ค.ปีที่แล้ว ซึ่งฝ่ายความมั่นคงไทยไม่ยืนยันความถูกต้อง แต่มีสื่อต่างประเทศบางแขนงนำไปเสนอ นั่นก็คือการประชุมใหญ่ของบีอาร์เอ็นเพื่อปรับเปลี่ยนตำแหน่งในสภาองค์กรนำ รวม 6 ตำแหน่ง คือ
1.นายสะแปอิง บาซอ ดำรงตำแหน่งประธานสภา DPP แทน นายฮาซัน ตอยิบ (ฮัสซัน ตอยิบ หัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายบีอาร์เอ็น ที่พูดคุยกับรัฐบาลไทยเมื่อปี 2556)
2.นายอับดุลเลาะห์ แวมะนอ หรือ ดูนเลาะ แวมะนอ ดำรงตำแหน่งตำแหน่งเลขาธิการ DPP
3.นายอับดุลรอเซ๊ะ มาโซ ดำรงตำแหน่งเหรัญญิก DPP
4.นายดิง วันจิ หรือ มะสุดิง วาจิ รับผิดชอบประธานสภาฝ่ายทหาร
5.นายอดุลย์ มุณี ดำรงตำแหน่งประธานสภาฝ่ายการเมือง
6.นายบุสตามัน สาและ ที่ปรึกษาสภา DPP
อย่างไรก็ดี เมื่อมีข่าวการเสียชีวิตของนายสะแปอิงเมื่อวันที่ 10 ม.ค.60 และหลายฝ่ายยอมรับตรงกันว่านายสะแปอิงป่วยหนักมานานแล้ว ทำให้น้ำหนักของข่าวการปรับตำแหน่งในสภาองค์กรนำ โดยเฉพาะการยก นายสะแปอิง ขึ้นเป็นประธาน DPP มีน้อยลง
หัวใจการต่อสู้ “เชื้อชาติ ศาสนา แผ่นดิน”
เมื่อปี 2556 ยังมีการเปิดเผยข้อมูลจากงานวิจัยอีกชุดหนึ่งที่เกี่ยวกับบีอาร์เอ็น ชื่อว่า "เป้าหมายสุดท้ายของบีอาร์เอ็นกับกระบวนการสันติภาพ" ศึกษาโดย จิราพร งามเลิศศุภร นักวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว. ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่จากสำนักข่าวกรองแห่งชาติ
จิราพร บอกว่า แหล่งข้อมูลของงานวิจัย มาจากการซักถามเฉพาะผู้ที่รับสารภาพ ตลอด 10 ปีของสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือระหว่างปี 2547-2556 รวม 100 คน สัมภาษณ์เชิงลึก 20 คนเฉพาะคนที่รับว่าเป็นสมาชิกบีอาร์เอ็น และวิเคราะห์เนื้อหาจากเอกสาร ประกอบด้วย ธรรมนูญบีอาร์เอ็น 2518, 2531 เอกสารนายมะแซ อุเซ็ง ปี 2546 เอกสารตำราคู่มือฝึกเยาวชนที่ทางการยึดได้ ปี 2546 และ 2554
ข้อมูลจากการศึกษาของจิราพร ระบุว่า บีอาร์เอ็นก่อตั้งองค์กรขึ้นตั้งแต่ปี 2503 โดยใช้แนวคิดปฏิวัติของเหมาเจ๋อตุง รากเหง้าปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในมุมมองของบีอาร์เอ็นมีอย่างเดียวคือ การถูกยึดครอง กดขี่ ครอบงำจากจักรวรรดินิยมสยาม ไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจหรือความยากจน
เมื่อรากเหง้าของปัญหาคือการถูกยึดครอง กดขี่ ครอบงำ เป้าหมายสุดท้ายก็คือ ปลดปล่อย ปลดแอก ขอคืน เอาคืน นั่นคือที่มาของหนึ่งในข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็นที่เสนอในช่วงของการร่วมโต๊ะพูดคุยสันติภาพกับรัฐบาลไทยเมื่อปี 2556 (รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) คือเรื่อง “สิทธิความเป็นเจ้าของ” และเมื่อการต่อสู้ในแนวทางรัฐสภาเป็นไปไม่ได้ ก็ต้องใช้แนวทางปฏิวัติแบบเหมาเจ๋อตุง ใช้ฐานรากของสังคมในการขับเคลื่อน ทั้งศาสนาและวัฒนธรรม
ทั้งนี้ หัวใจการต่อสู้ของบีอาร์เอ็นอยู่ที่ แผ่นดิน อิสลาม และศรัทธา ตลอดจนเชื้อชาติมลายูปาตานี ซึ่งก็คือ เชื้อชาติ ศาสนา และแผ่นดินนั่นเอง
พัฒนาการ 3 ยุค
องค์กรบีอาร์เอ็นมีพัฒนาการแบ่งออกเป็น 3 ช่วงเวลา นับตั้งแต่ปี 2503 ถึงปี 2556 ได้แก่
พ.ศ.2503-2527 เป็นยุคจัดตั้งองค์กร แสวงหาอุดมการณ์และแนวทางการต่อสู้ เป็นยุคผลิตตำรา เป้าหมายสุดท้ายอยู่ที่เอกราช บังคับใช้บทบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า และใช้ระบบเศรษฐกิจแบบอิสลาม ธรรมนูญของพรรคฉบับแรกมีเนื้อหาสำคัญเกี่ยวกับแนวทางปฏิวัติ โครงสร้างองค์กรและหน้าที่ของสมาชิกตามโครงสร้าง มีการจัดทำตำราแนวทางการต่อสู้ การปฏิวัติที่อิงกับหลักศาสนาอิสลาม
พ.ศ.2527-2547 เป็นยุคแตกแยกจากปัญหาการแย่งชิงอำนาจ กระแสฟื้นฟูอิสลาม การต่อสู้ตามแนวทางอิสลามที่แท้จริง และการปฏิเสธสังคมนิยม ชาตินิยม ส่งผลให้ อุสตาซการิม แกนนำคนสำคัญในการก่อตั้งองค์กรบีอาร์เอ็น ปฏิเสธแนวทางการต่อสู้ที่ผ่านมาทั้งหมด
จากนั้น บีอาร์เอ็นเดินงานปฏิวัติตามตำราจัดตั้งใหม่ และก่อการปฏิวัติ มีเป้าหมายสุดท้ายอยู่ที่เอกราช สร้างสังคมยุติธรรมและสงบสุข รวมทั้งและบังคับใช้กฎหมายอิสลาม (ชารีอะห์) มีการแตกตัวขององค์กรเป็น บีอาร์เอ็นโคออดิเนท บีอาร์เอ็นคองเกรส และบีอาร์เอ็นอูลามา
พ.ศ.2547-2556 เป็นยุคประกาศสงครามประชาชนเต็มรูปแบบ แต่จุดไม่ติด ด้วยการเร่งใช้อุดมการณ์ศาสนาเป็นตัวชู อ้างโองการในอัลกุรอาน อัลหะดิษอย่างเข้มข้น แต่เป้าหมายสุดท้ายยังคงเดิม คือ เอกราช สร้างสังคมยุติธรรมและสงบสุข รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายอิสลาม
4 ภาพอนาคต
งานวิจัยของจิราพร ยังวิเคราะห์แนวโน้มของบีอาร์เอ็นหลังจากปี 2556 หรือ Post BRN (ไม่เกี่ยวกับการเสียชีวิตของนายสะแปอิง เพราะเป็นการศึกษาที่จัดทำขึ้นก่อน) ว่าน่าจะมี 4 กลุ่มความคิด คือ
1.เข้าสู่กระบวนการพูดคุยสันติภาพ กลุ่มนี้เป็นแกนนำรุ่นเก่าและฝ่ายการเมือง ซึ่งจะเดินหน้าพูดคุยต่อไป
2.สู้ต่อ รุนแรง
3.ยุติการต่อสู้ด้วยความรุนแรง เนื่องจากการต่อสู้ที่ยืดเยื้อยาวนาน และสมาชิกบางส่วนหมดศรัทธากับแนวทางการต่อสู้ของบีอาร์เอ็น จึงต้องการยุติการต่อสู้ด้วยแนวทางการใช้ความรุนแรง แล้วหันมาต่อสู้ตามกรอบของรัฐธรรมนูญในรูปแบบต่างๆ โดยเน้นในเรื่องความคิดในการบริหารจัดการสังคมที่แตกต่างจากรัฐ
4.สู้ต่อ แต่หันมาใช้วิธีการไม่รุนแรง อาจเข้าสู่กระบวนการพูดคุย
คนบีอาร์เอ็นบอกช่วงนี้ปิดเทอม...แล้วเจอกันใหม่
ส่วนเสียงจากคนที่อ้างอยู่ในขบวนการบีอาร์เอ็น ภายหลังการเสียชีวิตของสะแปอิง บาซอ ส่วนใหญ่ให้ข้อมูลไปในทิศทางเดียวกัน
นายอับดุลซอมัต (สงวนนามสกุล) แนวร่วมในพื้นที่ จ.ยะลา กล่าวว่า ทราบข่าวการเสียชีวิตของอุซตาซสะแปอิงตั้งแต่วันที่ 14 ม.ค.60 แต่ไม่ได้ตกใจอะไร เพราะทราบข่าวมานานแล้วอุสตาซไม่ค่อยแข็งแรง แต่ก็ดุอา (ขอพร) ให้อุซตาซมาตลอด เพราะอุซตาซเป็นคนดี
“การจากไปของอุสตาซไม่ได้ทำให้ทุกคนหมดพลังที่จะทำความดี พวกเราจะสู้ต่อไปเพื่อความเป็นธรรม สักวันความจริงจะปรากฏ”
ขณะที่สมาชิกฝ่ายอูลามา (ผู้รู้ ผู้ทรงคุณวุฒิ) ที่เคลื่อนไหวในจังหวัดชายแดนภาคใต้ บอกว่า การจากไปของอุสตาซสะแปอิงจะว่าไม่กระทบต่อขบวนการเลยก็คงไม่ใช่ แต่หากจะบอกว่ากระทบทั้งหมด ก็ไม่ใช่อีกเหมือนกัน
“ตอนนี้คนในขบวนการเหมือนอยู่ระหว่างช่วงพัก หรือปิดเทอม จะเห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดจากขบวนการมีน้อยลง แต่ฝ่ายที่ปฏิบัติเขาก็มีการเคลื่อนไหวเพื่อเตรียมการเป็นปกติ”
สมาชิกฝ่ายอูลามา บอกด้วยว่า อุสตาซสะแปอิงทำหน้าที่ฝ่ายอูลามามาตลอด จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถตอบได้ว่าใครจะมาแทนที่อุสตาซสะแปอิงได้ ก็คงต้องรอดูต่อไป ยืนยันว่าจะมีคนมาทำงานแทนที่อุสตาซอยู่แล้ว
“ตอนนี้น่าจะรอให้อะไรๆ ผ่านไปสักระยะ เปิดเทอมใหม่เมื่อไหร่ ได้เจอกันในรูปแบบใหม่ๆ แน่” สมาชิกสายอูลามารายนี้ กล่าว
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : กราฟฟิกแสดงโครงสร้างขององค์กรบีอาร์เอ็น สรุปจากการศึกษาของ พล.อ.สำเร็จ ศรีหร่าย