ข้อมูลสวนทางอัยการ! "วิษณุ"ยัน"ครม.-อสส." ไม่เห็นชอบตั้งทนายแก้ต่างคดีสลาย พธม.
"วิษณุ เครืองาม" แจงปมมติ ครม.สั่ง อสส.ตั้งอัยการเป็นทนายความแก้ต่างคดีสลายการชุมนุมปี 2551 แค่ให้ช่วยประสานงาน ก่อนเห็นตรงกันสองฝ่ายว่า ไม่สมควรแม้มีสิทธิ ขัดแย้งข้อมูลคำร้อง"ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม" ยื่นต่อศาลฯ อ้าง "ครม.-รมว.ยุติธรรม" ช่วยคุ้มครองสิทธิให้ "จนท.รัฐ"
จากกรณี จำเลย ทั้ง 4 ราย ในคดีถูกกล่าวหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการสลายการชุมนุม ปี 2551 ซึ่งถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เป็นผู้ฟ้องคดี ประกอบไปด้วย นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น. ทำเรื่องขอแต่งตั้งพนักงานอัยการให้เข้าไปเป็นทนายความแก้ต่างคดีให้ แต่องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิจารณาลงมติเสียงส่วนใหญ่ 8 ต่อ 1 เสียง ไม่อนุญาต เพราะเห็นว่า พนักงานอัยการไม่มีอำนาจว่าความแก้ต่างในคดีนี้ให้แก่จำเลยทั้งสี่ได้
ขณะที่มีการยืนยันข้อมูลว่า ภายหลังจากที่ ป.ป.ช. ได้ยื่นเรื่องฟ้องคดีต่อศาล ว่า มีบุคคลๆ หนึ่ง ได้ทำหนังสือไปถึง อสส. เพื่อให้ตั้งพนักงานอัยการเป็นทนายความแก้ต่างคดีนี้ให้ เพราะมั่นใจในฝีมือ และได้พยายามผลักดันให้มีการตั้งเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม ครม.เป็นทางการเพื่อแจ้งไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด ให้แต่งตั้งพนักงานอัยการเข้ามาทำคดีนี้ให้
ทั้งที่ คณะทำงานอัยการชุดใหญ่ มีการนำเสนอเรื่องนี้เข้าหารือในที่ประชุมครั้งที่สอง เสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมยังยืนยันความเห็นเดิม คือ ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเห็นว่ามีความไม่เหมาะสมหลายประการ แต่สุดท้ายก็ยังมีการปรากฎชื่อพนักงานอัยการ เข้าไปช่วยทำหน้าที่เป็นทนายความแก่ต่างคดีให้จำเลยทั้งสี่
(อ่านประกอบ : เปิดคำร้อง'อัยการ'รับลูกครม.-รมว.ยุติธรรม แก้ต่างคดี 'สมชาย-พวก' สลาย พธม.)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้โทรศัพท์ไปสอบถามข้อเท็จจริงจาก นายวิษณุ เครืองาม" รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ที่ได้รับมอบหมายจากที่ประชุม ครม.ให้ไปประสานงานกับสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อหาทางออกในคดีดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม นายวิษณุ ยืนยันว่า ครม.ไม่เคยมีมติในเรื่องนี้ มีแค่มติมอบหมายตนให้ไปหารือกับสำนักงานอัยการสูงสุด
"เพราะปกติในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐถูกฟ้องคดีก็จะขอให้อัยการแก้ต่างคดีให้ด้วยได้ ซึ่งตามหลักปฏิบัติมีอยู่แล้ว แต่ในกรณีนี้มีปัญหาตรงที่อัยการไม่สามารถแก้ต่างคดีให้ได้ เพราะคนที่ฟ้องคดี คือ ป.ป.ช. ซึ่ง ป.ป.ช.ก็เปรียบเสมือนรัฐ ฉะนั้นรัฐจะแก้ต่างให้รัฐไม่ได้ ครม. ก็ขอให้ออกหลักเกณฑ์ให้ชัดเจน"
เมื่อถามว่า ภายหลังจากที่ได้หารือกับอัยการแล้วมีผลสรุปอย่างไรบ้าง นายวิษณุ ตอบว่า "หลังจากที่ครม.มอบหมาย ผมก็ไปปรึกษากับอัยการ ซึ่งมีกัน 5 คน มีคนหนึ่งกำลังจะได้ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุดอยู่ด้วย เราก็มีมติกันว่า อัยการไม่สามารถตั้งทีมทนายเพื่อแก้ต่างคดีนี้ได้"
นายวิษณุ ยังระบุด้วยว่า คดีทั่วไปของเจ้าหน้าที่รัฐมีทนายแก้ต่างให้ แต่คดีที่ป.ป.ช.ฟ้องเองไม่สามารถตั้งทีมทนายให้ได้ แต่ถ้าเป็นคดีที่เป็นรัฐฟ้องเอกชนอันนี้ทำได้
เมื่อถามว่า หากอัยการตั้งทีมทนายได้จะมีผลต่อรูปคดีหรือไม่ นายวิษณุ ตอบว่า "คดีนี้อัยการมีความเห็นไม่ส่งฟ้อง สวนทางกับป.ป.ช.ที่มีความเห็นว่าควรสั่งฟ้อง ป.ป.ช.จึงฟ้องร้องเอง หากให้อัยการเป็นทนายแก้ต่างให้กับจำเลยก็อาจจะส่งผลต่อรูปคดี เพราะอัยการรู้จุดอ่อน จุดแข็ง ของคดีนี้เป็นอย่างดี ผมถึงคุยกับอัยการแล้วมีความเห็นร่วมกันว่า ไม่สมควรที่จะเป็นทนายให้กับคดีนี้ ถึงแม้จะมีสิทธิที่จะทำได้"
เมื่อถามว่า ได้แจ้งให้ครม.รับทราบผลการหารือแล้วหรือไม่ นายวิษณุ ตอบว่า "ผมได้แจ้งให้กับ ครม.ทุกคนรับทราบด้วยวาจาไปแล้ว ซึ่ง ครม.มีความเข้าใจถึงเหตุผลเป็นอย่างดี"
"คดีนี้จำเลยจึงต้องไปจ้างทนายมาแก้ต่างทางคดีเอง เหมือนผมที่เคยโดนฟ้องคดี ผมก็จ้างทนายมาแก้ต่างทางคดีให้ตัวเอง"
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ที่ปรากฎชื่อเป็น "ทนาย" แก้ต่างคดีให้กับจำเลยทั้งสี่ในคดีนี้ คือ "นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม"
จากการตรวจสอบคำร้อง ของ "นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม" ที่ยื่นต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อวันที่ 17 ส.ค.2558
มีการระบุว่า "คดีนี้ จำเลยทั้งสี่ ได้มีหนังสือขอให้อัยการสูงสุดพิจารณารับแก้ต่างให้แก่จำเลยทั้งสี่ ต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ ยธ 02007/4245 ลงวันที่ 4 ก.ค.2558 เรื่อง การให้พนักงานอัยการเป็นผู้แก้ต่างคดีให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ กราบเรียนอัยการสูงสุดว่า ด้วยในคราวประชุมคณะรัฐมนตรี ในการประชุมเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.2558 คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นว่า ที่ผ่านมาปรากฎว่า มีเจ้าหน้าที่ของรัฐถูกฟ้องคดีอันเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ทางราชการ โดยไม่ใช่พนักงานอัยการเป็นผู้ดำเนินการฟ้องคดี"
"ดังนั้น เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ถูกฟ้องคดีอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ทางราชการ กรณีดังกล่าวเห็นควรประสานกับสำนักงานอัยการสูงสุดให้พนักงานอัยการพิจารณารับแก้ต่าง จึงขอประสานแจ้งมติ ครม. ดังกล่าว ให้พนักงานอัยการพิจารณา รับแก้ต่างให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ถูกฟ้องคดีในกรณีดังกล่าว"
"อัยการสูงสุด ได้มอบหมายให้สำนักงานอัยการพิจารณาฝ่ายคดีอาญา 1 (กองแก้ต่าง) พิจารณารับแก้ต่างในคดีนี้ อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 1 พิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ อัยการสูงสุดไม่รับดำเนินคดีให้แก่โจทก์ (ป.ป.ช.) เพราะเห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามขั้นตอนครบถ้วน และเป็นการใช้ดุลพินิจในการควบคุมสถานการณ์ที่ชอบด้วยเหตุผลและกฎหมายแล้ว มิใช่เป็นการกลั่นแกล้งหรือกระทำโดยผลประโยชน์อื่นใดอันจะเป็นความผิดต่อกฎหมาย จึงมีคำสั่งรับแก้ต่างให้แก่จำเลยทั้งสี่"
"ซึ่งอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา เห็นด้วย อันเป็นเหตุให้การพิจารณารับแก้ต่างล่าช้า จึงได้แต่งทนายความและยื่นใบแต่งทนายความของจำเลยทั้งสี่มาพร้อมคำแถลงฉบับนี้"
ขณะที่นายวิษณุ ยืนยันว่า ครม. ไม่ได้มีมติให้สำนักงานอัยการสูงสุด แต่งตั้งอัยการเข้ามาเป็นทนายความแก้ต่างคดีให้จำเลยทั้ง 4 ราย แต่อย่างใด และภายหลังจากที่ตนได้หารือกับ ฝ่ายอัยการแล้ว ก็มีความเห็นตรงกันว่า ไม่สมควรที่จะเป็นทนายให้กับคดีนี้ ถึงแม้จะมีสิทธิที่จะทำได้ แต่กลับมีชื่อ นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม พนักงานอัยการ เข้าไปทำหน้าที่เป็นทนายความแก้ต่างคดีให้จำเลยทั้ง 4 คน
อ่านประกอบ :
ศาลฎีกามติ 8 ต่อ 1ห้ามตั้งอัยการแก้ต่างให้"สมชาย-พวก"คดีสลาย พธม.
เบื้องหลัง! ตั้งอัยการแก้ต่าง "สมชาย-พวก" คดีสลายพธม.ครม."บิ๊กตู่" จัดให้
ป.ป.ช.ยันศาลฎีกาฯทำถูกไม่ให้อัยการแก้ต่าง“สมชาย-พวก”คดีสลาย พธม.
แกะรอย'มือมืด'ชง ครม. สั่งอัยการแก้ต่างช่วย 'สมชาย-พวก'คดีสลาย พธม.?