- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- แกะรอย'มือมืด'ชง ครม. สั่งอัยการแก้ต่างช่วย 'สมชาย-พวก'คดีสลาย พธม.?
แกะรอย'มือมืด'ชง ครม. สั่งอัยการแก้ต่างช่วย 'สมชาย-พวก'คดีสลาย พธม.?
"...ในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการประสานขอตัวพนักงานอัยการเข้าไปช่วยเป็นทนายความแก้ต่างคดีนี้ให้ มีการนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะทำงานอัยการชุดใหญ่ ถึง 2 ครั้ง ทั้งก่อนและหลังที่ครม.จะมีมติออกมา และเสียงที่ประชุมส่วนใหญ่ ก็มีความเห็นตรงกันว่า อัยการไม่สามารถไปทำหน้าที่เป็นทนายช่วยว่าความแก้ต่างคดีแทนจำเลยได้..."
กรณีสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลพบว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.2558 ได้มีมติเห็นชอบในหลักการและมอบให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ประสานกับสำนักงานอัยการสูงสุด ให้พนักงานอัยการพิจารณารับแก้ต่างให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ถูกฟ้องคดี เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ถูกฟ้องคดีอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ทางราชการในคดีถูกกล่าวหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการสลายการชุมนุม ปี 2551 ซึ่งถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เป็นผู้ฟ้องคดี
ก่อนที่ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น. จำเลยที่ 1 -4 ตามลำดับ ในคดีนี้ จะมอบหมายให้ทนายความส่วนตัว แถลงต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่า ประสงค์จะให้พนักงานอัยการแก้ต่างคดีให้ ก่อนที่องค์คณะผู้พิพากษา จะลงมติ 8 ต่อ 1 เสียงเห็นว่า พนักงานอัยการไม่มีอำนาจว่าความแก้ต่างในคดีนี้ให้แก่จำเลยทั้งสี่ได้ เมื่อวันที่ 18 ส.ค.2558 ที่ผ่านมา
อันนำมาซึ่งคำถามสำคัญว่า ใคร คือ ผู้อยู่เบื้องหลังการชงเรื่องเข้าที่ประชุมครม. เพื่อให้พิจารณาเห็นชอบวาระนี้กันแน่?
(อ่านประกอบ : เบื้องหลัง! ตั้งอัยการแก้ต่าง "สมชาย-พวก" คดีสลายพธม.ครม."บิ๊กตู่" จัดให้ , ศาลฎีกามติ 8 ต่อ 1ห้ามตั้งอัยการแก้ต่างให้"สมชาย-พวก"คดีสลาย พธม.)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้สืบค้นข้อมูลมติ ครม.ย้อนหลังจากเว็บไซต์ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี http://www.cabinet.thaigov.go.th/ เกี่ยวกับการพิจารณาวาระเรื่อง การแต่งตั้งให้พนักงานอัยการเป็นผู้แก้ต่างคดีให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ของที่ประชุมครม.เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.2558 ดังกล่าว
พบว่า มีการระบุวาระการพิจารณาเรื่องนี้ไว้ชัดเจน (ดูรูปประกอบ)
เมื่อคลิกเข้าไปดูข้อมูลรายละเอียดวาระการพิจารณาเรื่องนี้ พบว่าไม่มีการระบุว่าหน่วยงานใด เป็นผู้เสนอเรื่องนี้ ต่อที่ประชุม ครม. ขณะที่ปกติวาระอื่นโดยปกติมักจะแจ้งว่า ใครหรือหน่วยงานใดเป็นเจ้าของเรื่อง
ปรากฎเพียงผลสรุปการประชุม ที่ระบุว่า
"คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการและมอบให้รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมรับความเห็นของคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการให้พนักงานอัยการเป็นผู้แก้ต่างคดีให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐประสานกับสำนักงานอัยการสูงสุดต่อไป ดังนี้
๑. ปัจจุบันพนักงานอัยการมีอำนาจหน้าที่ในการรับแก้ต่างในคดีแพ่ง คดีปกครอง หรือคดีอาญาให้แก่ส่วนราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. ๒๕๕๓ และมติคณะรัฐมนตรี (๑๒ ธันวาคม ๒๕๔๙) อยู่แล้ว แต่พนักงานอัยการจะไม่รับแก้ต่างให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ซึ่งถูกหน่วยงานของรัฐ เช่น คณะกรรมการ ป.ป.ช. ฟ้องคดีในกรณีที่พนักงานอัยการรับดำเนินการฟ้องคดีแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้น
๒. ที่ผ่านมาปรากฏว่า มีเจ้าหน้าที่ของรัฐถูกฟ้องคดีอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ทางราชการโดยไม่ใช่พนักงานอัยการเป็นผู้ดำเนินการฟ้องคดี เช่น กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการฟ้องคดีเอง เพราะพนักงานอัยการมีความเห็นไม่ควรฟ้อง เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ถูกฟ้องคดีจึงต้องว่าจ้างทนายความในการแก้ต่างคดีด้วยตนเอง นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้ปฏิบัติตามหน้าที่ทางราชการย่อมได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ อยู่แล้ว
ดังนั้น เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ถูกฟ้องคดีอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ทางราชการในกรณีดังกล่าว เห็นควรประสานกับสำนักงานอัยการสูงสุดให้พนักงานอัยการพิจารณารับแก้ต่างให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ถูกฟ้องคดีในกรณีตามข้อ ๑ และข้อ ๒ ด้วย" (ดูภาพประกอบ)
ขณะที่เอกสารประกอบวาระ มีเพียงแค่หนังสือยืนยันมติครม. จำนวน 3 ฉบับ ที่แจ้งไปถึง นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และอัยการสูงสุดให้รับทราบมติครม.เรื่องนี้เท่านั้น (ดูเอกสารประกอบ)
ขณะที่แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวยืนยันสำนักข่าวอิศรา ว่า คาดว่าวาระการพิจารณาเรื่องนี้น่าจะถูกนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมเป็นวาระจร ไม่มีเอกสารประกอบ ส่วนใครจะเป็นคนเสนอเรื่องนั้น ไม่ทราบรายละเอียด
ล่าสุด มีรายงานข่าวจากสำนักงานอัยการสูงสุด ว่า ภายหลังจากที่องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้ลงมติ 8 ต่อ 1 ไม่ให้พนักงานอัยการเข้ามาเป็นทนายความแก้ต่างคดีแทน นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น. จำเลยที่ 1 -4 ตามลำดับ ในคดีกล่าวหาการสั่งสลายการชุมนุมปี 2551
อัยการบางส่วนได้มีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาหารือกัน เพราะมองว่าเป็นเรื่องที่สร้างความเสียหายให้กับอัยการเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะความไม่เหมาะสมในการปฏิบัติตามข้อกฎหมาย ที่องค์คณะผู้พิพากษาที่ระบุไว้ 2 ประการ คือ
1. การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการต้องปฏิบัติหน้าที่ในฐานะทนายแผ่นดินตามมาตรา 11 มิใช่ปฏิบัติหน้าที่เพื่อต่อสู้คดีกับแผ่นดินในกรณีที่แผ่นดินโดยองค์กรของรัฐเป็นผู้ฟ้องคดีเสียเอง
2. ประกอบกับการดำเนินคดีนี้ ศาลจะต้องใช้สำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นหลักในการพิจารณา เมื่อปรากฎจากคำฟ้องว่า อัยการสูงสุดส่งสำนวน รายงานและเอกสารที่เกี่ยวข้องคืนให้แก่โจทก์เพื่อฟ้องคดีเอง แสดงว่าอัยการสูงสุดเห็นควรไม่ฟ้องคดีนี้ให้แก่องค์กรของรัฐแล้วการที่พนักงานอัยการจะเข้าแก้ต่างคดีนี้ให้แก้จำเลยทั้งสี่ จึงเป็นปฏิปักษ์ต่อการปฎิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการซึ่งได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการที่โจทก์จะฟ้องคดีนี้ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 10 และมาตรา 11 แห่ง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542
และที่สำคัญในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการประสานขอตัวพนักงานอัยการเข้าไปช่วยเป็นทนายความแก้ต่างคดีนี้ให้ เคยมีการนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะทำงานอัยการชุดใหญ่ ถึง 2 ครั้ง ทั้งก่อนและหลังที่ครม.จะมีมติออกมา และเสียงที่ประชุมส่วนใหญ่ ก็มีความเห็นตรงกันว่า อัยการไม่สามารถไปทำหน้าที่เป็นทนายช่วยว่าความแก้ต่างคดีแทนจำเลยได้
"เรื่องนี้เป็นความพยายามของผู้มีอำนาจบางคน ที่ประสานงานผ่านมายังรองอัยการสูงสุดรายหนึ่ง ให้ช่วยประสานงานกับอัยการสูงสุดให้พิจารณาส่งพนักงานอัยการเข้าไปช่วยว่าความในคดีให้ เพราะเชื่อมั่นในความสามารถ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการความว่าด้วย เพราะคดีนี้เป็นคดีใหญ่ ถ้าไปจ้างทนายเอกสารค่าจ้างน่าจะเป็นหลักล้านบาท"
"ส่วนเหตุผลที่ว่าเมื่อคณะทำงานอัยการชุดใหญ่ มีมติเห็นว่า ไม่สามารถส่งอัยการไปช่วยว่าความให้ได้ แต่ทำไมจำเลยในคดีนี้ ยังแต่งตั้งให้อัยการเข้ามาช่วยว่าความให้ได้ ก่อนจะถูกศาลสั่งห้าม นั้นไม่มีใครสามารถหาบอกได้ เพราะเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้บริหารระดับสูงในสำนักงานอัยการสูงสุด" แหล่งข่าวระบุ
ทั้งหมดนี่ คือ ความคืบหน้าล่าสุด ที่สำนักข่าวอิศราตรวจสอบพบ และกำลังรอผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบคำตอบที่ชัดเจน!
(อ่านประกอบ : ป.ป.ช.ยันศาลฎีกาฯทำถูกไม่ให้อัยการแก้ต่าง“สมชาย-พวก”คดีสลาย พธม.)