- Home
- Community
- สกู๊ป-สารคดีข่าว
- เด่น คำแหล้ กับอีก 483ชะตากรรมนักต่อสู้เพื่อสิทธิที่ทำกินทั่วโลก
เด่น คำแหล้ กับอีก 483ชะตากรรมนักต่อสู้เพื่อสิทธิที่ทำกินทั่วโลก
พ่อเด่น-แม่สุภาพ คำแหล้ กับชะตากรรมของนักต่อสู้เพื่อที่ดินทำกินและปกป้องทรัพยากรธรรมชาติทั่วโลก เปิดสถิติ 58-กลางปี 60 มีนักต่อสู้เสียชีวิตไปแล้ว ร่วม 483 ราย สะท้อนความล้มเหลวกลไกทางกฎหมายของรัฐบาลในพื้นที่
ปัญหาข้อพิพาทเรื่องที่ดินทำกินถือเป็นหนึ่งในปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก และในแต่ละปีมีนักต่อสู้เพื่อสิทธิเหล่านี้ (ซึ่งส่วนใหญ่คือประชาชนคนธรรมดา)ที่ต้องเสียชีวิตไปเพียงเพราะพวกเขาเรียกร้องสิทธิที่พวกเขาพึงจะมี การต่อสู้กับอำนาจที่ใหญ่กว่ามักไม่ใช่เรื่องง่ายและอำนาจดังกล่าวยิ่งน่ากลัวขึ้นไป เมื่อเป็นการใช้อำนาจในรูปศาลเตี้ย
จากการรวบรวมข้อมูลของเว็บไซต์ Global Witness ซึ่งเก็บรวบรวมข้อมูลการเสียชีวิตของนักต่อสู้เพื่อสิทธิที่ทำกิน นักปกป้องสัตว์ป่า ป่าไม้ สิ่งแวดล้อมทั่วโลก โดยมีการคาดการณ์ไว้ว่า ในทุกๆ สัปดาห์จะมีนักปกป้องสิทธิทั่วโลกอย่างน้อย 4 คน เสียชีวิต
หากดูในช่วงครึ่งปี 2560 ปัจจุบันมีนักต่อสู้เพื่อสิทธิที่ทำกิน สิ่งแวดล้อม เสียชีวิตไปแล้วมากถึง 98 ราย
(แผนที่แสดงจำนวนการเสียชีวิตในแต่ละประเทศทั่วโลก: ที่มาจาก www.theguardian.com)
นับตั้งแต่ปี 2558 ประเทศบราซิลมีนักปกป้องเรื่องที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติเสียชีวิตมากถึง 132 ราย นับว่า เป็นจำนวนที่มากที่สุดในโลก โดยผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่คือชาวบ้านที่ต่อต้านการเข้ามาทำการตัดไม้ในป่าเอมาซอนแบบผิดกฎหมาย
ด้านสถานการณ์ในประเทศฟิลิปปินส์ หนึ่งในประเทศอาเซียนที่มีอัตราการเสียชีวิตของนักปกป้องที่ดินสูงที่สุดเป็นอันดับสองของโลก โดยตลอด3 ปี นับตั้งแต่ปี 2558 มีนักปกป้องสิทธิฯ สังเวยชีวิตไปแล้ว 75 ราย ขณะที่ประเทศฮอนดูรัส ถือ เป็นประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตของนักปกป้องสิทธิเฉลี่ยต่อหัวประชากรสูงสุดในโลก
จากข้อมูลทางสถิติของ Global Witness พบว่า ในปี2559 มีมากถึง 200 ราย อัตราการเสียชีวิตของนักปกป้องสิทธิที่ดินเพิ่มมากขึ้น ซึ่งนักวิจัยออกเตือนว่า เป็นการล้มเหลวของรัฐบาลและภาคธุรกิจในการแก้ปัญหา กรณีข้อพิพาทต่างๆ
(กราฟแสดงสถิติการเสียชีวิตของนักต่อสู้เพื่อที่ดินทำกินและสิ่งแวดล้อมทั่วโลก:ที่มา www.theguardian.com)
อะไรคือปัจจัยที่ทำให้เกิดความรุนแรงในลักษณะดังกล่าว
คำตอบสั้นๆ คือ อุตสาหกรรม ซึ่งพบว่าการผู้ที่เสียชีวิตส่วนใหญ่มาจากการต่อต้านประเด็นเรื่องเหมืองแร่ เฉพาะปีที่แล้ว มีนักปกป้องสิทธิราว 33 รายต้องสังเวยชีวิตจากการลุกขึ้นมาขัดขวางอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ขณะที่ในภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านเกษตรกรรม เขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำ ธุรกิจป่าไม้ เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักของความรุนแรงที่ก่อกับนักปกป้องสิทธิ
ความน่าสนใจคือ ในจำนวนผู้เสียชีวิตจากการลุกขึ้นสู้นายทุนนั้น มักเป็นชาวบ้านคนธรรมดาและกลุ่มชาติพันธุ์ในชุมชนห่างไกล ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากการรุกล้ำของอุตสาหกรรมเหล่านี้
กรณีที่โด่งดังไปทั่วโลกอย่างข่าวการตาย เบอร์ตา คาเซเรส (Berta Cáceres) หนึ่งในนักต่อสู้ แกนนำชนพื้นเมืองเลนคา (Lenca) แห่งประเทศฮอนดูรัส เมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2559 เธอถูกฆ่าในบ้านของเธอที่เมืองลา เอสเปอเรนซา หลังจากการตายของเธอ 12 วัน เนลสัน การ์เซีย (Nelson García) เพื่อนร่วมงานของเธอและสมาชิก COPINH ก็ถูกสังหาร นั่นทำให้เกิดกระแสความไม่พอใจทั่วโลก หลายประเทศสั่งถอดถอนความเกี่ยวข้องกับโครงการอากัว ซาร์กา อย่างเด็ดขาด
การต่อสู้ของเธอเริ่มต้นจากการนำขบวนรณรงค์เพื่อชนชั้นรากหญ้าที่สามารถกดดันบริษัทรับเหมาสร้างเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในโลกให้ยกเลิกการก่อสร้างเขื่อนอากัว ซาร์คา (Agua Zarca) จนกระทั่งในปลาย พ.ศ. 2556 บริษัท Sinohydro ยกเลิกสัญญากับ DESA เพราะการต่อต้านจากชุมชนรวมถึงความโกรธแค้นหลังการตายของโทมัส อนาคตของเขื่อนอากัว ซาร์คามืดมนลงอีกหลังจากที่ IFC ถอนการลงทุน โดยแสดงความกังวลว่า โครงการจะละเมิดสิทธิมนุษยชน จวบจนปัจจุบันการก่อสร้างก็ยังไม่สามารถเดินหน้าได้
หนึ่งในจำนวน 200 คนที่จากไปช่วงปี 2559 มีนักต่อสู้ของประเทศไทยด้วย นั่นคือ นายเด่น คำแหล้ แกนนำนักต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินทำกิน และประธานโฉนดชุมชนโคกยาว จ.ชัยภูมิ ที่หายตัวไปจนกระทั่งวันนี้ยังไม่พบตัว แม้ว่าขั้นตอนการค้นหา และสืบสวนจะอยู่ในกระบวนการตรวจสอบ ชิ้นส่วนกะโหลกที่พบ ซึ่งล่าสุดระบุได้เพียงแค่ว่า ชิ้นส่วนดังกล่าวเป็นเพศชาย และมีความสัมพันธ์ทางสายโลหิตที่สืบทอดมาจากมารดาหรือยายคนเดียวกันกับ นางคำตัน พ่อศรีชา เท่านั้น
ขณะเดียวกัน นางสุภาพ คำแหล้ อายุ 67 ปี ภรรยาของนายเด่น คำแหล้ ถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 6 เดือน ไม่รอลงอาญาไปเมื่อวันที่ 27 ก.ค. 60 ที่ผ่านมา ในคดีบุกรุกป่า ตามพ.ร.บ.ป่าไม้ และ พ.ร.บ.ป่าสงวนฯ อ่านประกอบ ( คุก6เดือน ไม่รอลงอาญา ภรรยาเด่น คำแหล้ ข้อหาบุกรุกป่า )
เด่น คำแหล้ไม่ได้เป็นเพียงนักต่อสู้ของไทยคนเดียวที่จากไป แต่ในปี 2558 ยังมีนักต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินทำกินและป่าไม้อีกสองราย นั่นคือ นายลิขิต สมบูรณ์ อายุ 45ปี เจ้าหน้าที่ป่าไม้ และ นายใช่ บุญทองเล็ก อายุ 61 ปี เป็นสมาชิกของสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) และเป็นแกนนำผู้ก่อตั้งชุมชนคลองไทรพัฒนา อำเภอชัยบุรี จังหวัดสุราษฎร์ธานี
นายลิขิต สมบูรณ์ ถูกยิงเสียชีวิตใกล้หน่วยพิทักษ์ป่าเขาลันวา ต.บางพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ขณะขี่รถจักรยานยนต์จากบ้านพักเพื่อไปรักษาความปลอดภัย พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ไปตรวจราชการในตำบลบางพระ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี
9 เม.ย.2558 หลังเกิดเหตุไม่นานนัก เจ้าหน้าที่ได้ตามจับกุมนายอินตา กุยใจ นายพรานล่าสัตว์ป่าซึ่งเป็นผู้ต้องหาได้ที่บ้านพัก พร้อมของกลางปืนลูกซองยาว 2 กระบอก พร้อมเครื่องกระสุน และปืนขนาด 11 มิลลิเมตร
ตำรวจเปิดเผยว่า นายอินตาให้การรับสารภาพว่าเป็นผู้ก่อเหตุยิงนายลิขิต ซึ่งเคยเป็นเพื่อนกันมาก่อน เนื่องจากโกรธแค้นที่นายลิขิตไล่จับกุ่มกลุ่มพรานล่าสัตว์ป่า ซึ่งมีบุตรชายของตนรวมอยู่ด้วย
ขณะที่ นายใช่ บุญทองเล็ก แกนนำผู้ก่อตั้งชุมชนคลองไทรพัฒนา ถูกคนร้าย 2 คน อาศัยรถจักยานยนต์เป็นพาหนะมาจอดที่หน้าบ้านและเข้ามากระหน่ำยิงจนเสียชีวิตบริเวณบ้านพักซึ่งเปิดเป็นร้านขายของชำ ตั้งอยู่ริมถนนสาย บ้านควนสระ- ถ้ำหอม อำเภอชัยบุรี จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งนับเป็นผู้เสียชีวิตรายที่สี่ของสมาชิกสกต. และสมาชิกชุมชนคลองไทรพัฒนา อย่างไรก็ตาม จนถึงวันนี้ยังไม่สามารถจับตัวผู้ลอบทำร้ายมาลงโทษได้
ในรายงานของ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ระบุถึงกรณีข้อพิพาทในพื้นที่คลองไทรพัฒนาว่าในเดือนมกราคม 2553 มีผู้พบศพนายสมพร พัฒภูมิ อดีตช่างจักรยานยนต์ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณด้านนอกหมู่บ้าน และเดือนพฤศจิกายน 2555 นักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิงอีกสองคน ได้แก่ นางมณฑา ชูแก้ว อาชีพแม่ค้า และนางปราณี บุญรักษ์ คนงานรับจ้าง ถูกยิงเสียชีวิตระหว่างเดินทางกลับจากตลาดในพื้นที่ ซึ่งชาวบ้านคลองไทรพัฒนาเผชิญการข่มขู่คุกคามหลายรูปแบบ จนกระทั่งปัจจุบันปัญหาข้อพิพาทก็ยังไม่จบ แม้ว่าศาลฎีกาจะมีคำตัดสิน ให้บริษัทจิวกังจุ้ยพัฒนา จำกัด ซึ่งเข้าทำกิจกรรมในพื้นที่ตั้งแต่ปี 2528 ออกจากพื้นที่จากการยื่นฟ้องของ สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.)
นี่เป็นเพียงหนึ่งในชะตากรรมของนักปกป้องสิทธิที่ดินทำกินในตลอดช่วงเวลาเพียง 3 ปี(ก่อนหน้านั้นยังมีนักต่อสู้อีกจำนวนมากที่ต้องจบชีวิตจาการลุกขึ้นมาต่อสู้)สะท้อนภัยคุกคามชีวิตจากเครื่องมือการพัฒนา อุตสาหกรรม อิทธิพลใต้ดิน หรือแม้กระทั่งกลไกกฎหมายที่ไม่ได้คำนึงถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ ที่อาจทำให้กลุ่มคนดั้งเดิมกลายเป็นผู้ต้องหาในนามรัฐได้อย่างกรณีของ บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ที่โดนอุ้มหายไปจนวันนี้ยังไม่มีใครรับผิด
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
จากบิลลี่ถึงเด่น คำแหล้ อุ้มหายความยุติธรรม สิทธิเสรีภาพ
3 ปีการหายไปของบิลลี่กับวัฒนธรรมอำนาจนอกระบบยุติธรรมของไทย
2 ปี การหายตัวไปของบิลลี่ กับสถานการณ์การอุ้มหายในไทย
กสม.เผยปี 58 คนอีสานโดนละเมิดสิทธิเพิ่ม จากโครงการพัฒนาในพื้นที่
อ้างอิง
https://www.theguardian.com/environment/ng-interactive/2017/jul/13/the-defenders-tracker?CMP=twt_gu
https://www.globalwitness.org/en/campaigns/environmental-activists/
https://www.amnesty.or.th/news/blog/763
http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/635223
http://news.thaipbs.or.th/content/135
http://www.seub.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=1772