- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ‘อัยการ’ซัก‘ยิ่งลักษณ์’ตอบ! ท่าที‘นารีขี่ม้าขาว’แจงคดีข้าว-ไฉนสอบไม่เจอทุจริต?
‘อัยการ’ซัก‘ยิ่งลักษณ์’ตอบ! ท่าที‘นารีขี่ม้าขาว’แจงคดีข้าว-ไฉนสอบไม่เจอทุจริต?
“…ภายหลังเกิดการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือการตั้งกระทู้ถามในสภา ได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง รวมถึงตั้ง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ (ขณะนั้น) ให้เป็นประธานคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงอีกชุดหนึ่ง แต่จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงของทั้ง 2 ชุดแล้ว ไม่พบความผิดปกติแต่อย่างใด ซึ่งคณะกรรมการสอบฯที่ตั้งขึ้น ล้วนเป็นข้าราชการ ดังนั้นจึงต้องเชื่อไว้ก่อน ในเมื่อไม่พบความผิดปกติ แล้วจะไปสอบคนที่ถูกกล่าวหาเลยก็คงไม่ได้…”
จบฉากแรกลงไปเรียบร้อย สำหรับการไต่สวนพยานฝ่ายจำเลยปากแรกในคดีที่อัยการสูงสุด (อสส.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (นบข.) เป็นจำเลย ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว
(อ่านประกอบ : ปัญหาเกิดจากฝ่ายปฏิบัติ! ‘ยิ่งลักษณ์’ แจงศาลคดีข้าว-ลั่นสอบทุจริตแล้วไม่เจอ)
ท่ามกลางการจับตาจากสื่อมวลชนหลายแขนง และนักการเมืองหลายราย เนื่องจากในการไต่สวนพยานจำเลยปากแรก คือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะสามารถตอบข้อซักถามจากฝั่งอัยการได้มากน้อยแค่ไหน ?
เพราะต้องไม่ลืมว่า ในช่วงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตอบข้อซักถามจากสื่อมวลชนในปัญหาการทุจริตของโครงการรับจำนำข้าว รวมถึงการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ไว้น้อยมาก แม้แต่การตอบกระทู้ถามจาก ส.ส. หรือ ส.ว. ในสภา ก็ส่งตัวแทนจากรัฐมนตรีที่ประจำกระทรวงพาณิชย์มาตอบแทบทุกครั้ง
แต่คราวนี้ต้องตอบเองทุกคำถาม !
ทว่าคำถามที่ฝ่ายอัยการวางไว้ประมาณ 165 คำถาม ได้ถูกตัดลงเนื่องจากบางคำถามเป็นคำถามทางการเมือง หรือคำถามที่ชี้นำในข้อกฏหมาย หรือความเห็น จึงเหลือคำถามที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องตอบอยู่ประมาณไม่ถึง 100 คำถาม
เพื่อให้เห็นภาพ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รวบรวมท่วงท่า-ลีลาของ ‘นารีขี่ม้าขาว’ ชี้แจงคดีจำนำข้าวสรุปได้ดังนี้
เมื่อเวลาประมาณ 08.30 น. เท้า น.ส.ยิ่งลักษณ์ แตะศาลฎีกาฯ ท่ามกลางมวลชนที่มีจำนวนมากกว่าทุกครั้ง มอบกุหลาบและส่งเสียงเชียร์อยู่ไม่ขาดสาย ทั้งนี้ก่อนเข้าห้องพิจารณาไต่สวนในศาลฯ ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อที่มารอทำข่าวทำนองว่า มั่นใจในการชี้แจงอย่างเต็มที่
หลังจากนั้นเมื่อเวลาประมาณ 09.30 น. องค์คณะผู้พิพากษาออกนั่งบัลลังก์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้แถลงเปิดคดี โดยเน้นย้ำถึงความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ และการช่วยเหลือชาวนา รวมถึงเป็นนโยบายที่แถลงไว้กับรัฐสภา จึงไม่สามารถยกเลิกได้ ส่งผลให้มีชาวบ้านบางรายที่เข้านั่งฟังด้วยถึงกับหลั่งน้ำตาด้วยความปิติ
ต่อมาเวลาประมาณ 10.30 น. ถึงเวลาฝ่ายอัยการได้ซัก โดยคราวนี้มีนายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน สำนักงาน อสส. ในฐานะหัวหน้าทีมฝ่ายอัยการฟ้องคดีนี้ เป็นผู้ซักถามด้วยตนเองประมาณ 20 คำถาม ซึ่งคำถามส่วนใหญ่ คือการจี้แสดงให้เห็นถึงตัวเลขความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว และทำไมถึงไม่ยกเลิกโครงการนี้
อย่างไรก็ดี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตอบทำนองว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภา และเป็นไปตามที่ พ.ร.ฎ.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 ดังนั้นหากจะยกเลิก ต้องเป็นโครงการที่ขัดกับนโยบายที่แถลงไว้กับรัฐสภา และมติคณะรัฐมนตรี แต่โครงการรับจำนำข้าวไม่ได้ขัดหลักเกณฑ์ดังกล่าวแต่อย่างใด
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยืนยันต่อทำนองว่า โครงการนี้ทำขึ้นเพื่อผลประโยชน์ของชาวนา และเป็นโครงการสาธารณะ ไม่ควรมองเรื่องกำไรหรือขาดทุน แต่ให้มองความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจที่ประเทศจะได้รับ ชาวนาก็ได้ประโยชน์ เพราะมีการเบิกจ่ายเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นจำนวนมาก ทำให้มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น รัฐบาลจัดเก็บภาษีได้มากขึ้นด้วย
ส่วนประเด็นการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวสมัย น.ส.สุภา ปิยะจิตติ เป็นรองปลัดกระทรวงการคลัง ที่พบตัวเลขความเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาทนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ขอยอมรับตัวเลขเหล่านั้น เพราะการตรวจสอบข้อมูลยังไม่ครบถ้วน และยังไม่มีข้อสรุป
หลังจากนั้นศาลฯได้พักการไต่สวนไว้ก่อนในช่วงเวลาประมาณ 12.00 น. ก่อนที่จะกลับมาไต่สวนอีกครั้งในช่วงเวลา 13.00 น. โดยคราวนี้ได้เปลี่ยนตัวอัยการคนซักถาม และข้อซักถามในช่วงบ่ายนี้ ต่างมุ่งเน้นไปที่ตัวเลขความเสียหายของโครงการ และหน่วยงานใดจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ
โดยในช่วงนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกซักอย่างต่อเนื่อง และเริ่มอึกอัก ส่งผลให้ต้องขอความเป็นธรรมกับฝ่ายอัยการว่า เรื่องตัวเลขเหล่านี้ ขอให้ถามอย่างช้า ๆ เนื่องจากเรื่องเหล่านี้ต้องระมัดระวังในการตอบ เพราะการขึ้นศาลครั้งนี้ก็เหมือนกับการเดิมพันด้วยชีวิต
ก่อนที่จะตอบทำนองว่า หน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบคือสำนักบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง เพราะที่ผ่านมารัฐบาลชุดก่อน หรือชุดที่ตนนายกรัฐมนตรี ก็ให้สำนักบริหารหนี้ฯ เป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด
อย่างไรก็ดีในช่วงบ่าย มีบางคำถามของฝ่ายอัยการที่พยายามจะกดดันหรือจี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้ตอบในลักษณะ ‘ใช่-ไม่ใช่’ ซึ่งในส่วนนี้ศาลฯมองว่า เป็นคำถามในลักษณะชี้นำในทางข้อกฎหมาย หรือเป็นความเห็น ซึ่งคดีนี้เกิดขึ้นจากความเห็นต่าง ไม่อย่างนั้นคงไม่มีการฟ้องร้อง ดังนั้นขอให้ฝ่ายอัยการถามในเรื่องข้อเท็จจริง ส่วนเรื่องข้อกฎหมาย ศาลฯจะเป็นผู้พิจารณาเอง ขณะที่บางคำถามมีลักษณะเป็นทางการเมือง ศาลฯไม่อนุญาตให้ถามแต่อย่างใด
ทั้งนี้มีบางข้อซักถามของอัยการที่พุ่งเป้าไปถึงประเด็นปัญหาทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว โครงการระบายข้าวจีทูจี และโครงการระบายข้าวถุง เช่น ที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือการตั้งกระทู้ถามในสภา กรณีโครงการระบายข้าวจีทูจี ที่ปรากฏชื่อของ ‘เสี่ยเปี๋ยง’ นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร อดีตพ่อค้าข้าวชื่อดัง และบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบหรือไม่ รวมถึงกรณี พ.ต.นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ อดีตเลขานุการ รมว.พาณิชย์ (นายบุญทรง) ที่เคยเป็นกรรมการบริษัท สยามรักษ์ จำกัด ที่ถูกตั้งกระทู้ถามพัวพันกับการนำข้าวมาขายต่อให้เอกชน ในโครงการข้าวถุง ในประเด็นเหล่านี้ ได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงหรือไม่
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตอบข้อซักถามดังกล่าวคล้าย ๆ กัน ทำนองว่า ภายหลังเกิดการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือการตั้งกระทู้ถามในสภา ได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง รวมถึงตั้ง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ (ขณะนั้น) ให้เป็นประธานคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงอีกชุดหนึ่ง แต่จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงของทั้ง 2 ชุดแล้ว ไม่พบความผิดปกติแต่อย่างใด ซึ่งคณะกรรมการสอบฯที่ตั้งขึ้น ล้วนเป็นข้าราชการ ดังนั้นจึงต้องเชื่อไว้ก่อน ในเมื่อไม่พบความผิดปกติ แล้วจะไปสอบคนที่ถูกกล่าวหาเลยก็คงไม่ได้
“สำหรับ พ.ต.นพ.วีระวุฒิ ดิฉันไม่เคยรู้จัก แต่เป็นเรื่องที่ รมว.พาณิชย์ นำเสนอมาให้แต่งตั้งเป็นเลขานุการ จึงดำเนินการไปตามที่ รมว.พาณิชย์ เสนอ”
นอกจากนี้ฝ่ายอัยการได้เปิดรูป ‘เสี่ยเปี๋ยง’ ที่ถ่ายคู่กับนายทักษิณ ชินวัตร ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ดู พร้อมถามว่า รู้จักกับ ‘เสี่ยเปี๋ยง’ มาก่อนหรือไม่ แต่ประเด็นนี้ ศาลฯได้ทักท้วง เนื่องจากในภาพไม่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่อย่างใด ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยืนยันว่า ไม่เคยรู้จักกับ ‘เสี่ยเปี๋ยง’ มาก่อน
สำหรับข้อซักถามเกี่ยวกับตั้งข้อสังเกตเรื่องความไม่โปร่งใส และการทุจริตในโครงการดังกล่าวนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ มักตอบทำนองว่า เป็นปัญหาของฝ่ายปฏิบัติ ได้สั่งการให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงแล้ว เกือบทุกครั้งด้วย
ขณะเดียวกันฝ่ายอัยการได้ซักถึงกรณีการปกปิดไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลในโครงการรับจำนำข้าวต่อสาธารณชนด้วย โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตอบทำนองว่า เป็นไปตามมติของคณะรัฐมนตรี มีกระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร้องขอมา เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน การเปิดเผยข้อมูลอาจเป็นการสร้างอำนาจการซื้อขายต่อรองราคาได้ จึงมีมติคณะรัฐมนตรีไปตามนั้น แต่ยืนยันว่าตนไม่เคยสั่งการให้ปกปิดข้อมูล
ทั้งหมดคือท่วงท่า-ลีลาของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ตอบข้อซักถามอัยการในประเด็นหลักคือ รู้เรื่องการทุจริตมาก่อนหรือไม่ ทำไมถึงไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการ
ท้ายสุดจะมีน้ำหนักช่วยทำให้ตัวเองรอดพ้นคดีความได้หรือไม่ ต้องรอศาลฯพิจารณาไต่สวนกันต่อไป !
อ่านประกอบ :
สารพัดเรื่องไม่โปร่งใส-ส่อทุจริต! ‘สุภา’เข้าให้ถ้อยคำคดีข้าว‘ยิ่งลักษณ์’
มติ 7-0 เสียง ป.ป.ช.ฟัน“ยิ่งลักษณ์”คดีจำนำข้าว ชงวุฒิถอด-"สถาพร"ถอนตัว
อวสาน"ยิ่งลักษณ์" มติสนช. 190:18 ตัดสิทธิ์การเมือง 5 ปี "นิคม-สมศักดิ์" รอด
หมายเหตุ : ภาพประกอบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จาก คมชัดลึก