ปัญหาเกิดจากฝ่ายปฏิบัติ! ‘ยิ่งลักษณ์’ แจงศาลคดีข้าว-ลั่นสอบทุจริตแล้วไม่เจอ
‘ยิ่งลักษณ์’ มาศาลฎีกาฯ แถลงเปิดคดีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายโครงการจำนำข้าว-ตอบข้อซักถามจากอัยการ ลั่นตั้ง กก.สอบปมทุจริตแล้ว ไม่พบอะไร ยันยกเลิกโครงการไม่ได้ ชี้ปัญหาเกิดจากฝ่ายปฏิบัติ ไม่ใช่ฝ่ายบริหาร
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.israenws.org รายงานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางมาที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อแถลงเปิดคดี และไต่สวนพยานจำเลยปากแรก ในคดีที่อัยการสูงสุด (อสส.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ กรณีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว
โดยการไต่สวนในวันนี้ (5/8/59) จะไต่สวนพยานจำเลยแค่ปากเดียว คือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยฝ่ายอัยการจะเป็นผู้ซักจำนวน 100 คำถาม ซึ่งช่วงเช้าวันนี้ฝ่ายอัยการได้ถามประมาณเกือบ 20 คำถาม และจะมีการซักในช่วงบ่ายต่อ
อัยการถามตอนหนึ่งทำนองว่า ในเมื่อทราบว่าเกิดความไม่โปร่งใสเกิดขึ้น มีการเข้าไปดูแลตรวจสอบอย่างไร น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตอบทำนองว่า เป็นหน้าที่ของคณะอนุกรรมการนโยบายข้าวฯ ทั้งนี้เมื่อทราบเรื่องมีการปรับรัฐมนตรีแล้ว รวมถึงมีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงขึ้นแล้วด้วย แต่เป็นหน้าที่ของฝ่ายปฏิบัติ ถ้ามีปัญหาระดับปฏิบัติต้องแก้ในระดับปฏิบัติ
อัยการซักอีกทำนองว่า ในเมื่อทราบว่าโครงการนี้มีความเสียหาย ทำไมถึงไม่ระงับหรือยกเลิก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตอบทำนองว่า ไม่สามารถทำได้ เพราะเป็นนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา ตาม พ.ร.ฎ.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 ส่วนถ้ามีปัญหาเกิดขึ้น เป็นหน้าที่ของฝ่ายปฏิบัติที่จะต้องแก้ไข
ต่อมาในช่วงบ่าย อัยการซักต่อในประเด็นการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาการทุจริตการระบายข้าวจีทูจีทำนองว่า ภายหลังเกิดการอภิปรายในสภา มีการระบุถึงชื่อบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด และ พ.ต.นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ (อดีตเลขานุการนายบุญทรง หนึ่งในจำเลยคดีระบายข้าวจีทูจี ปัจจุบันหลบหนีคดีไปแล้ว) ได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบฯด้วยหรือไม่
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตอบทำนองว่า มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงของกระทรวงพาณิชย์แล้ว โดยมีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ดำเนินการ ก็สอบข้อเท็จจริงทั้งหมด รวมถึงมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบอีกชุด ที่มี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานด้วย โดยมีการรายงานผลสอบทั้งหมด 2 ครั้ง ซึ่งก็ไม่พบความผิดปกติแต่อย่างใด ดังนั้นเมื่อไม่พบความผิดปกติ ก็ไม่อาจกล่าวหาใครได้ และผลสอบดังกล่าวก็มีบรรดาข้าราชการเป็นกรรมการสอบ ซึ่งตนคิดว่าน่าเชื่อถืออยู่แล้ว
ส่วนกรณีที่มีข้าวหายกว่า 2.6 ล้านตัน ได้สั่งให้ตรวจสอบด้วยหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตอบทำนองว่า ได้สั่งการให้ตำรวจกว่าหมื่นนายทั่วประเทศ เข้าตรวจสอบร่วมกับเซอเวย์เยอร์ และเจ้าหน้าที่รัฐ เข้าตรวจสอบโกดังเก็บข้าวทั้งหมดทั่วประเทศ ภายในวันเดียวกัน เพื่อป้องกันไม่ให้มีการยักย้ายถ่ายเทข้าวได้อีก ซึ่งผลการตรวจสอบพบว่า ไม่มีข้าวหายแต่อย่างใด
อัยการซักอีกทำนองว่า แล้วทำไมโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทแถลงต่อรัฐสภาเหมือนกันถึงยกเลิกได้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตอบทำนองว่า เพราะมีบุคคลไปร้องเรียนต่อศาลปกครอง และศาลปกครองมีคำพิพากษาออกมา จึงนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อยกเลิกโครงการดังกล่าว แต่กรณีโครงการรับจำนำข้าวเป็นคนละอย่างกัน แม้ว่าจะมีคณะกรรมการ ป.ป.ช. สตง. หรือหลายหน่วยงานส่งหนังสือแจ้งเตือนมาก็ตาม แต่ก็มีหลายหน่วยงานให้ข้อมูลมาว่า โครงการนี้คุ้มค่ากับทางเศรษฐกิจ ทำให้เกษตรกรมีรายได้ ทำให้รัฐจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น
ทั้งนี้ภายหลังอัยการซักเสร็จ ศาลได้ซักถามในประเด็นที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อ้างว่า โครงการดังกล่าวเป็นนโยบายของพรรคเพื่อไทย และได้คิดค้นขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาปากท้องของชาวนานั้น ได้มีการศึกษาหรือไม่ว่า โครงการดังกล่าวหากเกิดปัญหาการทุจริต หรือปัญหาการขาดทุนขึ้นมาจะแก้ไขอย่างไร
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตอบทำนองว่า เรื่องนี้อยู่ที่มิติของคนมอง ตอนที่พรรคเพื่อไทยศึกษาเรื่องนี้ได้ลงพื้นที่ไปพูดคุยและหาข้อมูลกับชาวนาจริง ๆ ดังนั้นหากมองในภาพรวมทางเศรษฐกิจ ไม่ได้มองในเรื่องของกำไรหรือขาดทุน โครงการนี้ถือว่ากระตุ้นเศรษฐกิจ และเกิดผลประโยชน์ต่อประเทศอย่างคุ้มค่า แต่ สตง. หรือสื่อมวลชนบางสำนักได้ตีข่าวในทำนองเชิงลบหรือขาดทุน แต่เมื่อเทียบกับพี่น้องชาวนาที่มีจำนวนถึง 23% ของประชากรทั้งหมด จะให้ตนยกเลิกโครงการนี้ก็คงไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีข้อมูลจากหน่วยงานอีกหลายองค์กรที่ยืนยันว่า โครงการจำนำข้าวเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ
ศาลซักอีกทำนองว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ อ้างว่า โครงการดังกล่าวยกเลิกไม่ได้ เพราะขัดกับการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา และ พ.ร.ฎ.บริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีฯ แต่สมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการยกเลิกโครงการรถเมล์ NGV หรือโครงการระบายข้าว ทีเ่กิดปัญหาขึ้น ตรงนี้ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตอบทำนองว่า ไม่ใช่ยับยั้งโครงการได้ทุกเรื่อง แต่ตาม พ.ร.ฎ.บริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีฯ หากจะยับยั้งหรือยกเลิกโครงการใดก็ตาม ต้องเป็นโครงการที่ขัดต่อการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา และมติคณะรัฐมนตรี แต่โครงการจำนำข้าวไม่ได้ขัดกับอะไรทั้งสิ้น นอกจากนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นในโครงการนี้ ล้วนแต่เป็นปัญหาที่อยู่ในระดับภาคปฏิบัติ ซึ่งฝ่ายปฏิบัติต้องดำเนินการแก้ไข หรือปรับปรุง ไม่ใช่ฝ่ายปฏิบัติทำหน้าที่ไม่ดีพอ แล้วจะให้ฝ่ายบริหารยกเลิกโครงการ
โดยก่อนการถูกซักนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้แถลงเปิดคดีต่อศาล ยืนยันการทำหน้าที่โดยสุจริต และขอปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาตามฟ้องโจทก์และ สำนวนของ ป.ป.ช.ใน 6 ประเด็น สรุปได้ทำนองว่า โครงการจำนำข้าวเป็นนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐที่มุ่งคุ้มครองรักษาประโยชน์ และแก้ปัญหาหนี้ รวมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย และเมื่อแถลงนโยบายต่อสภาแล้ว ย่อมมีผลผูกพัน ที่คณะรัฐมนตรีต้องปฏิบัติตาม และทำแผนบริหาราชการแผ่นดินให้สอดคล้องกับสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ดังนั้นโครงการนี้เป็นโครงการสาธารณะให้ความคุ้มค่า คำนึงถึงผลประโยชน์สภาพเศรษฐกิจโดยรวม ไม่ได้มุ่งแสวงหาผลกำไร หากจะคิดเพียงกำไร-ขาดทุน ทุกโครงการก็มีผลขาดทุนหมดแต่ก็ต้องทำเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยโดยโครงการจำนำข้าวทำมาแล้ว 30 ปีมีปัญหาการทุจริตแต่รัฐบาลจัดสินใจทำโครงการเพื่อยกระดับข้าวไทยและส่งเสริมเศรษฐกิจไทยผ่านการบริโภคของประเทศ ส่วนที่มีการกล่าวหากำหนดราคาข้าวไม่เหมาะสม หรือราคาสูงเกินไป ก็เรียนว่ารัฐบาล จำเป็นต้องกำหนดราคารับจำนำข้าว 15,000 – 20,000 /ตัน เพื่อแก้ปัญหาหนี้เรื้อรัง และมีการคำนวณเพื่อหวังให้เกษตรกรมีรายได้เทียบเท่ารายได้ขั้นต่ำวันละ 300 บาท จึงไม่มากเกินและมีความเหมาะสม กรณีที่ให้รับจำนำข้าวทุกเมล็ดเพื่อให้สิทธิ์ชาวนาทุกรายโดยไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งจะมีผลทั้งเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการและไม่ได้ร่วมโครงการเพราะจะขายข้าวได้ในราคาที่เท่ากัน
สำหรับบรรยากาศภายนอกศาลฎีกาฯ มีมวลชนมาให้กำลัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ อย่างเนืองแน่นกว่าทุกครั้ง พร้อมกับมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเฝ้ารักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวก่อนเข้าไต่สวนว่า มั่นใจในการแถลงเปิดคดี และการถูกซักถามอย่างเต็มที่ จะแสดงให้เห็นว่าไม่ได้ทำผิด ซึ่งโครงการรับจำนำข้าวเป็นโครงการที่มีประโยชน์ของประชาชน
สำหรับคดีนี้ศาลฎีกาฯ ได้ไต่สวนพยานฝ่ายโจทก์เสร็จสิ้นทั้งหมดแล้ว เหลือแค่ไต่สวนพยานฝ่ายจำเลยจำนวน 42 ปาก โดยมีพยานปากสำคัญ เช่น น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกฯ อดีต รมว.คลัง นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรองนายกฯ อดีต รมว.พาณิชย์ นายโอฬาร ไชยประวัติ อดีตประธานผู้แทนการค้าไทย และอดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี นายยรรยง พวงราช อดีต รมช.พาณิชย์ นายสุเมธ เหล่าโมราพร ประธานคณะผู้บริหาร กลุ่มธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซี.พี.อินเตอร์เทรด จำกัด รวมถึงนายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ นักวิชาการสายพรรคเพื่อไทย ผู้ศึกษากลไกตลาด เพื่อจะนำมาหักล้างเรื่องกลไกการตลาดข้าว เป็นต้น
อ่านประกอบ :
สารพัดเรื่องไม่โปร่งใส-ส่อทุจริต! ‘สุภา’เข้าให้ถ้อยคำคดีข้าว‘ยิ่งลักษณ์’
มติ 7-0 เสียง ป.ป.ช.ฟัน“ยิ่งลักษณ์”คดีจำนำข้าว ชงวุฒิถอด-"สถาพร"ถอนตัว
อวสาน"ยิ่งลักษณ์" มติสนช. 190:18 ตัดสิทธิ์การเมือง 5 ปี "นิคม-สมศักดิ์" รอด