สตง.ขู่ฝ่าฝืน ม.157! ปลัดคลังฯ ยื้อเก็บภาษีน้ำมันเชฟรอน ส่งกฤษฎีกาตีความซ้ำ
เผยเบื้องหลัง! ปลัดคลังฯ ส่งกฤษฎีกาตีความกรณีภาษีน้ำมันบ.เชฟรอน ใหม่ เหตุฝ่ายกม.กรมศุล หวั่นถูกเล่นงานวินิจฉัยข้อกฎหมายผิด - ด้าน สตง. รับทราบข้อมูลแล้ว ขู่ระวังฝ่าฝืน ม.157
จากกรณี นายประภาศ คงเอียด รองปลัดกระทรวงการคลัง ซึ่งได้รับมอบหมายจาก นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ให้พิจารณาข้อเท็จจริงเรื่องการคืนภาษีภาษีสรรพสามิตน้ำมัน จำนวน 3,000 ล้านบาท ให้กับบริษัทเชฟรอนฯ ได้เชิญตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบไปด้วย กรมศุลกากร กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต กรมเจ้าท่า และกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ มาหารือร่วมกัน โดยที่ประชุมมีความเห็นร่วมกัน ว่า การส่งน้ำมันเชื้อเพลิงกรณี บริษัทเชฟรอน ไม่ถือเป็นการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร แต่ถือเป็นการค้าชายฝั่งซึ่งจะต้องเสียภาษีอากร ตามความเห็นที่ประชุม 3 ฝ่าย ระหว่าง กรมศุลกากร กระทรวงการคลัง กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน และกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ที่พิจารณาเรื่องไปก่อนหน้านี้ ทำให้บริษัทเชฟรอน ไม่สามารถขอคืนภาษีได้ เหมือนในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีความเห็นต่อเรื่องนี้ใน 2 ประเด็นว่า 1.ที่ผ่านมาบริษัทเชฟรอน ไม่เคยขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกเก็บจากการส่งออกน้ำมัน 2. การทำธุรกิจของบริษัทเชฟรอน อยู่ภายใต้สิทธิสัมปทานของไทย ซึ่งนายประภาศ คงเอียด รองปลัดกระทรวงการคลัง จะสรุปผลการประชุมเพื่อนำเสนอให้ปลัดกระทรวงการคลังพิจารณาอย่างเป็นทางการต่อไปนั้น
(อ่านประกอบ : ยันเชฟรอนต้องเสียภาษี! ที่ประชุมร่วมชุด'ประภาศ' ชงผลสอบค่าโง่ 'ปลัดคลัง' สัปดาห์นี้)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับการเปิดเผยจากแหล่งข่าวระดับสูงในกระทรวงการคลัง ว่า แม้ว่าที่ประชุมร่วมตัวแทนหน่วยงานรัฐ ของ นายประภาศ คงเอียด รองปลัดกระทรวงการคลัง จะมีความเห็นเสนอต่อปลัดกระทรวงการคลังว่า การส่งน้ำมันเชื้อเพลิงกรณี บริษัทเชฟรอน ไม่ถือเป็นการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร แต่ถือเป็นการค้าชายฝั่งซึ่งจะต้องเสียภาษีอากร แต่ล่าสุดฝ่ายกฎหมายกรมศุลกากร ยังเห็นว่าเป็นการส่งออกไม่ต้องเสียภาษี พร้อมเสนอความเห็นให้ปลัดกระทรวงการคลัง ส่งเรื่องให้กฤษฎีกาตีความกรณีนี้ใหม่อีกครั้ง
"เหตุผลที่ฝ่ายกฎหมายกรมศุลฯ ยืนยันความเห็นลักษณะนี้อาจเป็นเพราะว่าถ้าไปยอมรับว่ากรณีนี้ ต้องเสียภาษี และที่ผ่านไม่มีการเก็บภาษี ก็เท่ากับยอมรับว่าการดำเนินงานที่ผ่านมามีความผิดพลาด การเสนอให้ปลัดกระทรวงการคลัง ส่งเรื่องตีความก็เพื่อป้องกันตัวเอง ทั้งที่ ก่อนหน้านี้ เคยมีการส่งเรื่องให้กฤษฎีกาตีความมาแล้ว และกฤษฎีกาได้ให้กรมศุลกากร กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติและกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ไปหารือรวมกันและมีข้อยุติว่าไม่ถือเป็นการส่งออกเนื่องจากแท่นขุดเจาะผลิตในอ่าวไทยยังถือว่าอยู่ในราชอาณาจักรไทย"
ขณะที่ แหล่งข่าวระดับสูงจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศราว่า ได้รับทราบข้อมูลกรณีปลัดกระทรวงการคลัง จะส่งเรื่องให้กฤษฎีกาพิจารณาตีความกรณีนี้ใหม่แล้ว และสตง.เตรียมจะออกมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่งในเร็วๆ นี้
"เรื่องนี้ จำเป็นที่ปลัดกระทรวงการคลัง จะต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพราะในช่วงที่กรมศุลกากรตอบข้อหารือบ.เชฟรอนว่าเป็นการส่งออก ปลัดกระทรวงการคลังดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมศุล แต่ไม่ได้ลงนามในหนังสือ ยังพอมีทางแก้ตัวได้ แต่ถ้าไปส่งเรื่องให้กฤษฎีกาตีความอีก ทั้งๆ ที่ผลการประชุมหน่วยงาน 3 ฝ่าย และผลการประชุมร่วมหน่วยงานชุดที่มี นายประภาศ รองปลัดกระทรวงการคลัง ต่างเห็นพ้องต้องกันว่าเป็นการค้าชายฝั่ง ไม่ใช่การส่งออก กรณีการตีความใหม่น่าจะเข้าข่ายประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157" แหล่งข่าวระดับสูงจาก สตง. กล่าว และว่า
นอกจากนี้ สตง.อยู่ระหว่างการติดตามผลการพิจารณาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ สตง.ได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้สั่งการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระงับการคืนภาษีให้บริษัทเชฟรอน (ประเทศไทย)จำกัด และเรียกภาษีที่มีการคืนไปแล้วกลับคืนมา พร้อมให้ดำเนินการสอบสวนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทั้งทางอาญาแพ่งและวินัยข้าราชการ อีกทางหนึ่งด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงสายวันที่ 23 ต.ค.2559 ได้โทรศัพท์ติดต่อไปยังปลัดกระทรวงการคลัง เพื่อขอให้ชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องนี้ แต่ไม่สามารถติดต่อได้
อ่านประกอบ :
เบื้องหลัง"ค่าโง่"ภาษี 3,000 ล้าน "บิ๊ก"กรมศุล-คลังอุ้ม"เชฟรอน"?
ค่าโง่ภาษีน้ำมันที่ต้องเรียกคืน
สตง.รับลูกค่าโง่ภาษีน้ำมัน บ.เชฟรอน!แจ้ง'บิ๊กตู่' สั่งรมว.คลังเรียกเงินคืน 3 พันล.