- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- โชว์ชัดๆ หนังสือ สตง. ขอ'บิ๊กตู่'สั่งคลังเรียกคืนค่าโง่ภาษีบ.เชฟรอน3พันล.-เชือดจนท.!
โชว์ชัดๆ หนังสือ สตง. ขอ'บิ๊กตู่'สั่งคลังเรียกคืนค่าโง่ภาษีบ.เชฟรอน3พันล.-เชือดจนท.!
เปิดชัดๆ หนังสือ สตง. แจ้งขออำนาจ 'นายกฯ' สั่ง 'รมว.คลัง' เรียกคืนค่าโง่ภาษีน้ำมัน บ.เชฟรอน 3 พันล. - พร้อมให้สอบสวนจนท.ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทั้งอาญาแพ่ง-รวมวินัยขรก.ด้วย
จากกรณี สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) รับลูกข้อมูล ตามที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเสนอเกี่ยวกับ เบื้องหลังค่าโง่ภาษี 3,000 ล้านบาท ที่รัฐอาจจะต้องสูญเสียไป จากกรณีการคืนภาษี จำนวน 3,000 ล้านบาท ให้กับจากบริษัทเชฟรอน (ประเทศไทย)จำกัด ภายหลังจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา ได้ตีความว่าน้ำมันสำเร็จรูปที่ส่งไปใช้ยังแท่นขุดเจาะของบริษัทเชฟรอนในพื้นที่ไหล่ทวีป ถือเป็นการส่งน้ำมันในราชอาณาจักร ต้องปฏิบัติพิธีการว่าด้วยการค้าชายฝั่ง ทำให้บริษัทเชฟรอน ต้องเสียภาษี แต่กรมศุลกากร กลับไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหาทันที กลับส่งเรื่องไปที่กระทรวงการคลังให้พิจารณาแทน
โดยแหล่งข่าวระดับสูงใน สตง.ระบุว่า จะมีการทำหนังสือแจ้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สั่งการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังระงับการคืนภาษีให้บริษัทเชฟรอน และเรียกภาษีที่มีการคืนไปแล้วกลับคืนมา รวมทั้งให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรและกรมสรรพสามิตที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วย นั้น
(อ่านประกอบ : สตง.รับลูกค่าโง่ภาษีน้ำมัน บ.เชฟรอน!แจ้ง'บิ๊กตู่' สั่งรมว.คลังเรียกเงินคืน 3 พันล.)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า ในช่วงสายวันนี้ (4 ต.ค.59) สตง. ได้นำส่งหนังสือ ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นทางการแล้ว โดยระบุว่า ได้พิจารณาแล้ว เห็นว่า การส่งน้ำมันเชื้อเพลิงกรณี บริษัทเชฟรอน ไม่ถือเป็นการส่งออกไปราชอาณาจักร แต่ถือเป็นการค้าชายฝั่งซึ่งจะต้องเสียภาษีอากร ตามความเห็นที่ประชุม 3 ฝ่าย ระหว่าง กรมศุลกากร กระทรวงการคลัง กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน และกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ
สตง. ยังระบุด้วยว่า ทั้งนี้ แม้ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 จะมิได้นิยามคำว่า "ราชอาณาจักร" ไว้ แต่เมื่อประมวลรัษฎากร มาตรา 2 ได้ให้คำนิยามคำว่า "ราชอาณาจักร" ว่า หมายความรวมถึงเขตไหล่ทวีป ซึ่งเป็นสิทธิของประเทศไทยตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ จึงควรจะใช้คำนิยามนี้ในฐานะที่เป็นบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งประกอบกับคำพิพากษาฎีกา ที่ 2899/2557 อีกประการหนึ่ง หากไม่ตีความเช่นนี้ กรณีภาษีมูลค่าเพิ่มต้องเสีย แต่ภาษีสรรพาสามิตกลับได้รับการยกเว้น จะเป็นการตีความที่ลักลั่นกัน ทั้งๆ ที่ ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีสรรพสามิตต่างก็เป็นภาษีการบริโภค (consumption tax) เหมือนกัน และด้วยประการสำคัญที่แท่นขุดเจาะน้ำมันที่บริษัทส่งน้ำมันไปขายนั้น เป็นพื้นที่ที่ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลไทย จึงเป็นพื้นที่ที่ประเทศไทย มีอธิปไตย เมื่อเป็นพื้นที่ประเทศไทยมีอธิปไตย จึงเป็นพื้นที่ในราชอาณาจักรไทย
ดังนั้น การขายดังกล่าวถือเป็นการขายในราชอาณาจักรไทย ซึ่งเป็นการค้าชายฝั่ง ไม่ใช่การส่งออกที่จะได้รับการยกเว้นภาษีสรรสามิต และไม่ได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราศูนย์แต่อย่างใด
ดังนั้น เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 39 และมาตรา 42 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พิจารณาดำเนินการดังนี้
1. สั่งการให้กรมสรรพากรและกรมสรรพสามิตเรียกเก็บภาษีอากร พร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามกฎหมาย นอกจากนี้ให้เรียกเงินภาษีอากรที่มีการคืนให้บริษัทเชฟรอน (ไทย) จำกัด ไปแล้ว กลับคืนเป็นรายได้แผ่นดิน
2. ให้ดำเนินการสอบสวนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทั้งทางอาญาแพ่งและวินัยข้าราชการด้วย
ดังนั้น การขายดังกล่าวถือเป็นการขายในราชอาณาจักร ซึ่งเป็นการค้าขายฝั่ง ไม่ใช่การส่งออกที่จะได้รับยกเว้นภาษีสรรพสามิตและไม่ได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราศูนย์แต่อย่างใด
อนึ่ง กรณีการตอบข้อหารือที่เป็นปัญหาสำคัญว่าได้รับยกเว้นหรือลดอัตราภาษีหรือไม่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ควรจะสั่งการให้กรมจัดเก็บภาษีที่ตอบข้อหารือนั้น หารือมายังปลัดกระทรวงการคลัง และให้ปลัดกระทรวงการคลัง เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้ เพื่อให้การจัดเก็บภาษีอากรเป็นไปโดยถูกต้องและเป็นธรรม (ดูหนังสือ สตง.ประกอบท้ายข่าว)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกเหนือจากการส่งหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้พิจารณาสั่งการ รมว.คลัง ดังกล่าวแล้ว สตง. ยังได้ส่งหนังสือ ถึง รมว.คลัง และอธิบดีกรมสรรพากร อธิบดีกรมศุลกากร อธิบดีกรมสรรพสามิต เพื่อให้รับทราบผลการพิจารณากรณีนี้ด้วยเช่นกัน
โดยในส่วนหนังสือที่ทำถึง อธิบดีกรมสรรพสามิต นั้น สตง.ได้ให้จัดส่งขอสำเนาคำร้องขอคืนภาษี ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคืนเงินภาษีและสำเนาหนังสือแจ้งการคืนภาษีของบริษัทฯ ตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน เพื่อใช้ประกอบในการตรวจสอบการจัดเก็บรายได้แผ่นดินด้วย
ซึ่งสตง.จะมีการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่และข้าราชการ ว่ามีลักษณะเข้าข่ายเอื้อประโยชน์ ช่วยเหลือเอกชนหรือไม่ด้วย!
@ หนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
@ หนังสือ สตง. ถึง รมว.คลัง
(อ่านประกอบ :เบื้องหลัง"ค่าโง่"ภาษี 3,000 ล้าน "บิ๊ก"กรมศุล-คลังอุ้ม"เชฟรอน"?, ค่าโง่ภาษีน้ำมันที่ต้องเรียกคืน )