- Home
- Investigative
- จัดซื้อจัดจ้าง
- เปิด 4 โครงการกรมชลฯตั้งราคากลางสูงกว่าราคาเอกชนประมูลหลายร้อยล.?
เปิด 4 โครงการกรมชลฯตั้งราคากลางสูงกว่าราคาเอกชนประมูลหลายร้อยล.?
“…หากเทียบกับโครงการอื่น ๆ ของกรมชลประทานในระดับวงเงินสิบล้านบาท หรือหลักล้านบาท ส่วนใหญ่เอกชนผู้ชนะการประกวดราคาจะเสนอราคาใกล้เคียงกับราคากลาง คือ น้อยกว่าราคากลางเล็กน้อย ไม่มากมายมหาศาลถึงขนาดนี้ คำถามที่น่าสนใจคือ เหตุผลอะไรที่ต้องตั้งราคากลางไว้สูงถึงขนาดนี้ และใครเป็นผู้ได้ผลประโยชน์จากการตั้งราคากลางไว้สูงดังกล่าว ?...”
กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำลังถูกสังคมจับตาเป็นอย่างมากในช่วงเวลานี้!
ไม่ว่าจะเป็นกรณีการยกเลิกโครงการเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำอย่างน้อย 2 แห่ง วงเงินประมาณ 23.6 ล้านบาท ตามโครงการเงินกู้เพื่อการพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนน ระยะเร่งด่วน โดยกรมชลประทานได้งบประมาณไปทั้งสิ้น 22,449.97 ล้านบาท เนื่องจากพบว่ามีการทำ ‘ซ้ำซ้อน’ กับหน่วยงานอื่น หรือเกิดความผิดพลาดในการสำรวจพื้นที่
ส่งผลให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ออกโรงให้ความเห็นว่า ควรระมัดระวังในการดำเนินการมากกว่านี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย รวมถึงที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ยังมีความเห็นเพิ่มเติมด้วยว่า ให้ ‘ล่าตัว’ ผู้รับผิดชอบที่ทำให้ราชการเกิดความเสียหายด้วย
(อ่านประกอบ : เบื้องหลังกรมชลฯเลิก 2 โครงการ 23 ล.-สะท้อนผลงานจัดการน้ำยุค‘บิ๊กตู่’?)
นอกเหนือจากกรณีนี้แล้ว สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ยังได้รับการยืนยันจากแหล่งข่าวจากกรมชลประทานว่า ในโครงการจัดซื้อจัดจ้างต่าง ๆ ของกรมชลประทาน โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ที่มีวงเงินเกินหลักร้อยล้านบาทขึ้นไป มีการตั้งราคากลางในลักษณะสูงเกินจริง โดยกลุ่มเอกชนที่ชนะการประกวดราคานั้น ได้งานไปในราคาที่ต่ำกว่าราคากลางประมาณร้อยล้านบาท ซึ่งมีส่วนต่างที่ค่อนข้างสูงมาก
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเบื้องต้น ในช่วงวันที่ 1 ม.ค.-30 พ.ย. 2559 พบว่า มีอย่างน้อย 4 โครงการ ที่มีวงเงินเกินหลักร้อยล้านบาทขึ้นไป มีการตั้งราคากลางในลักษณะค่อนข้างสูง แต่เอกชนที่ชนะการประกวดราคากลับประมูลได้ในวงเงินที่ต่ำกว่าราคากลางนับร้อยล้านบาท ได้แก่
1.ประกวดราคาจ้างก่อสร้างระบบส่งน้ำและอาคารประกอบ โครงการระบบส่งน้ำอ่างเก็บน้ำคลองพระพุทธ ระยะที่ 3 จ.จันทบุรี โดยวิธีการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Bidding)
มีการตั้งราคากลางไว้ที่ 350,326,403.69 บาท
บริษัท ศิริไพบูลย์ พัฒนาการ จำกัด เป็นผู้ชนะการประกวดราคาด้วยวงเงิน 206,764,229 บาท หรือประมาณ 58% จากราคากลาง
เท่ากับว่ามีการตั้งราคาไว้สูงกว่าราคาประมูลเกือบ 150 ล้านบาท
2.ประกวดราคาจ้างก่อสร้างประตูระบายน้ำปลายคลองสวนหมาก พร้อมอาคารประกอบ 4 กิจกรรม จ.กำแพงเพชร โดยวิธี e-Bidding
มีการตั้งราคากลางไว้ที่ 341,221,266.52 บาท
บริษัท อุตสาหกรรมไทยพนาภัณฑ์ จำกัด เป็นผู้ชนะการประกวดราคาด้วยวงเงิน 231 ล้านบาท หรือประมาณ 67% จากราคากลาง
เท่ากับว่ามีการตั้งราคาไว้สูงกว่าราคาประมูลเกือบ 110 ล้านบาท
3.ประกวดราคาจ้างก่อสร้างระบบระบายน้ำพานทอง จ.ฉะเชิงเทรา โดยวิธี e-Bidding
มีการตั้งราคากลางไว้ที่ 734,466,350.60 บาท
บริษัท ริเวอร์ เอนจิเนียริ่ง จำกัด เป็นผู้ชนะการประกวดราคาด้วยวงเงิน 514,002,898.20 บาท หรือประมาณ 70% จากราคากลาง
เท่ากับว่ามีการตั้งราคาไว้สูงกว่าราคาประมูลเกือบ 220 ล้านบาท
4.ประกวดราคาจ้างก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า พร้อมระบบส่งน้ำ ทุ่งทะเลหลวง (แก้มลิง) 5 แห่ง ต.บ้านกล้วย อ.เมือง จ.สุโขทัย ด้วยวิธี e-Bidding
มีการตั้งราคากลางไว้ที่ 223,994,616.90 บาท
บริษัท กฤษดากร คอนสตรัคชั่น จำกัด เป็นผู้ชนะการประกวดราคาด้วยวงเงิน 112,480,000 บาท หรือประมาณ 50% จากราคากลาง
เท่ากับว่ามีการตั้งราคากลางไว้สูงกว่าราคาประมูลเกือบ 110 ล้านบาท
รวมวงเงินราคากลางทั้งหมดประมาณ 1,650,008,635 บาท โดยมีการตั้งราคากลางไว้สูงกว่าราคาที่ผู้ชนะประกวดราคาประมาณ 590 ล้านบาท (ดูเอกสารประกอบ)
หากพิจารณาจากข้อเท็จจริงข้างต้นเห็นได้ว่า การตั้งราคากลางใน 4 โครงการของกรมชลประทานค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับราคาที่เอกชนผู้ชนะการประกวดราคาได้
ทั้งนี้หากเทียบกับโครงการอื่น ๆ ของกรมชลประทานในระดับวงเงินสิบล้านบาท หรือหลักล้านบาท ส่วนใหญ่เอกชนผู้ชนะการประกวดราคาจะเสนอราคาใกล้เคียงกับราคากลาง คือ น้อยกว่าราคากลางเล็กน้อย ไม่มากมายมหาศาลถึงขนาดนี้
คำถามที่น่าสนใจคือ เหตุผลอะไรที่ต้องตั้งราคากลางไว้สูงถึงขนาดนี้ และใครเป็นผู้ได้ผลประโยชน์จากการตั้งราคากลางไว้สูงดังกล่าว ?
เป็นเรื่องที่กรมชลประทานจะต้องมีคำตอบให้กระจ่างชัด !