logo isranews

logo small 2

จริงหรือเพิ่มทุน 50 ล.ด้วยเงินสด? ไขปม ธพว.ปล่อยกู้ รร.ดัง จ.มุกดาหาร 102 ล.

ไขปม ข้อสังเกต ธปท. กรณี ธพว.ปล่อยสินเชื่อ บ.โฟลว์ ริเวอร์ โฮมเทล โรงแรม จ.มุกดาหาร 102 ล้าน หุ้นส่วน 4 คน หอบเงินสด 50 ล. เพิ่มทุนเป็น 100 ล. ก่อนกู้จริงไหม?

picf18

สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานก่อนหน้านี้ว่า ลูกหนี้ NPL รายใหญ่ 20 อันดับแรก ของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เกิดจากการปล่อยสินเชื่อในช่วงปี 2552-2555 จำนวน 17 ราย ปี 2546 ปี 2548 และปี 2557 ปีละ 1 ราย ในจำนวนนี้บางรายถูกตั้งข้อสังเกตในกระบวนการอนุมัติสินเชื่อ ได้แก่

กรณี ห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) ดรอปอินน์ ลูกหนี้ NPL อันดับ 4 วงเงิน 199 ล้านบาท
กรณี บริษัท ไรซิง (ไทยแลนด์ จำกัด) วงเงิน 195 ล้านบาท NPL อันดับ 5
กรณี ห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) โรงสี ป.น่ำเฮง ลูกหนี้ NPL อันดับที่ 7 วงเงิน 159 ล้านบาท
กรณี หจก.โรงสีข้าวจงเจริญ วงเงิน 125 ล้านบาท NPL อันดับ 12
กรณี บริษัท โรงพิมพ์ประสานมิตร ลูกหนี้ NPL อันดับ 6 จำนวน 180 ล้านบาท

กรณีการปล่อยกู้ บริษัท เอสคอม พลัส (ไทยแลนด์) จำกัด เพื่อซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างโครงการแก่งกระจานคันทรีคลับ แอนด์ รีสอร์ท ซึ่งเป็นโครงการที่มีปัญหาหยุดดำเนินการจากบริษัท เพชรไทยพัฒนา จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแม่ รวมยอดหนี้ 347.5 ล้านบาท เป็นการให้สินเชื่อเพื่อซื้อโครงการที่มีปัญหาหยุดดำเนินการจากบริษัทแม่เพื่อมาดำเนินการต่อ มีความเป็นไปได้ยากที่โครงการจะประสบผลสำเร็จ จัดอยู่ในกลุ่มลูกหนี้ที่มีความเสี่ยง

กรณีการให้สินเชื่อกรณี บริษัท เซาท์ซีรีสอร์ท จำกัด ยอดหนี้ 194.4 ล้านบาท การวิเคราะห์สินเชื่ออาจไม่รัดกุม

รณี บริษัท สิริวัฒนาธัญกิจ จำกัด ผู้ประกอบการโรงสีข้าวใน จ.อุตรดิตถ์ ยอดหนี้ 466.4 ล้านบาท การให้สินเชื่ออาจไม่เป็นตามวัตถุประสงค์

การประมูลขายลูกหนี้ NPL กลุ่มภาคตะวันออก จำนวน 30 ราย ยอดหนี้ 694 ล้าน ให้ บริษัท บริหาร สินทรัพย์ศรีสวัสดิ์ จำกัด วงเงิน 202 ล้านบาท ถูกร้องเรียนต่อปลัดกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า ตกแต่งบัญชีเพื่อเอื้อประโยชน์ให้เอกชนหรือไม่?

คราวนี้ มาดูการอนุมัติสินเชื่อ ให้แก่ บริษัท โฟลว์ ริเวอร์ โฮมเทล จำกัด ผู้ประกอบการโรงแรมใน จ.มุกดาหาร

ลูกหนี้รายนี้มียอดหนี้ 102 ล้านบาท ธพว.อนุมัติวงเงินสินเชื่อเพื่อชำระหนี้และไถ่ถอนหลักประกันจากสถาบันการเงินอื่น 47 ล้านบาท และให้สินเชื่อเพิ่มเพื่อเป็นค่าก่อสร้างโรงแรมใหม่ 65 ล้านบาท หนังสือค้ำประกัน 0.5 ล้านบาท โดยมีอสังหาริมทรัพย์ราคาประเมิน 158.6 ล้านบาท จำนองเป็นประกันวงเงินรวม 112.5 ล้านบาท ก่อนการเบิกเงินกู้กำหนดเงื่อนไขให้ลูกหนี้ต้องเพิ่มทุนจดทะเบียนและชำระเต็มมูลค่าอีกจำนวน 50 ล้านบาท เป็นเงินทุนทั้งสิ้น 100 ล้านบาท

กรณีนี้ ธปท.ได้ตรวจสอบและตั้งข้อสังเกตว่า การตรวจสอบการปฏิบัติตามเงื่อนไขในการเพิ่มทุน ธนาคารตรวจสอบเพียงเอกสารการจดทะเบียนเพิ่มทุน ไม่มีการตรวจสอบว่ามีการชำระเงินค่าหุ้นเพิ่มทุนจริง หากไม่รวมการเพิ่มทุนดังกล่าวประมาณการ D/E Ratio (อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น) ณ สิ้นปี 2553 จะเท่ากับ 3.40 เท่า สูงกว่าแนวทางการบริหารความเสี่ยงเครดิตสำหรับกลุ่มธุรกิจโรงแรมที่กำหนดไว้ไม่เกิน 2.5 เท่า

กรณีดังกล่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า บริษัท โฟลว์ ริเวอร์ โฮมเทล จำกัด จดทะเบียน 21 ตุลาคม 2547 ทุน 1 ล้านบาท ที่ตั้งเลขที่ 28 ถนนมุกดาหาร-ดอนตาล ตำบลศรีบุญเรือง อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร นายกริช ปิติกุลตัง ถือหุ้นใหญ่ และเป็นกรรมการ

picf2

picf1

17 เมษายน 2551 จดทะเบียนเพิ่มทุน 49 ล้านบาท เป็น 50 ล้านบาท

8 พฤศจิกายน 2553 จดทะเบียนเพิ่มทุนอีก 50 ล้านบาท เป็น 100 ล้านบาท

ในการจดทะเบียนเพิ่มทุนครั้งล่าสุดดังกล่าว เพิ่มในสัดส่วนของผู้ถือหุ้น 4 คน

1. น.ส.วรรณพร ปิติกุลตัง จำนวน 8 ล้านบาท ( 800,000 หุ้น)
2.นางธิดา ปิติกุลตัง 8 ล้านบาท ( 800,000 หุ้น)
3.นายกริช ปิติกุลตัง 26 ล้านบาท (2.6 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท)
4.นายกฤษดา ปิติกุลตัง 8 ล้านบาท ( 800,000 หุ้น)

โดยมีเอกสาร ‘ใบสำคัญรับชำระเงินค่าหุ้น’ ลงวันที่ 7 พ.ย.53 เป็นหลักฐานต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนจังหวัดมุกดาหาร ทั้งหมดระบุว่าชำระค่าหุ้นเป็น ‘เงินสด’ โดยมี นายกริช ปิติกุลตัง กรรมการบริษัทฯ เป็นผู้รับเงิน (ดูเอกสาร)

picf3

pic5

picf6

picf9

บริษัทฯแจ้งงบการเงิน ปี 2553 รายได้ 12,886,026 บาท กำไรสุทธิ 143,117 บาท ปี 2554 รายได้ 9,538,814 บาท กำไรสุทธิ 153,373 บาท หลังจากนั้นขาดทุนติดต่อกัน ล่าสุดรอบ ปี 2557 แจ้งมีรายได้ 26,641,069 บาท ขาดทุนสุทธิ 3,656,736 บาท สินทรัพย์ 203,792,209 บาท หนี้สิน 117,806,605 บาท ขาดทุนสะสม 14,014,396 บาท

จากการตรวจสอบพบว่านายกริชทำธุรกิจอื่นอย่างน้อย 6 แห่ง เลิกกิจการแล้ว 5 แห่ง กิจการที่ยังเปิดดำเนินการคือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด เวสเตอร์ไทย 2006 นำเข้าและส่งออกรถจักรยานไฟฟ้าและรถสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า จดทะเบียนวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2549 ทุน 2 แสนบาท ที่ตั้ง 28 ถนนมุกดาหาร-ดอนตาล ตำบลศรีบุญเรือง อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร

ประเด็นการจดทะเบียนเพิ่มทุน 50 ล้านบาท ด้วย ‘เงินสด’ (ก่อนกู้เงิน)โดยมีเอกสาร ‘ใบสำคัญรับชำระเงินค่าหุ้น’ น่าจะเป็นที่มาของ ข้อสังเกตของ ธปท.ที่ระบุว่า

“การตรวจสอบการปฏิบัติตามเงื่อนไขในการเพิ่มทุน ธนาคารตรวจสอบเพียงเอกสารการจดทะเบียนเพิ่มทุน ไม่มีการตรวจสอบว่ามีการชำระเงินค่าหุ้นเพิ่มทุนจริง”

อีกนัยหนึ่งก็คือ ลูกหนี้รายนี้ เพิ่มทุนจริงหรือไม่ ก่อนปล่อยสินเชื่อ 102 ล้าน?

เป็นอีกหนึ่งกรณีที่ ธพว.ต้องทำให้กระจ่าง

อ่านประกอบ:

เปิดเบื้องหลัง!ขายหนี้ NPL 694 ล. ธพว. ให้ บ.เครือศรีสวัสดิ์ 202 ล.
ไขปมข้อสังเกต ธปท. ‘โรงสีข้าว’จ.อุตรดิตถ์ กู้ ธพว.480 ล.-ชำระค่าหุ้น 60 ล.จริง?

‘เอกสาร’ขาดความน่าเชื่อถือ!กรณี ธพว. ปล่อยกู้ รร.ภูเก็ตนักธุรกิจใหญ่ 194 ล.

เปิดไส้ใน ธพว.ปล่อยกู้ 347.5 ล. ซื้อที่ดินโครงการปัญหา‘แก่งกระจาน’บ.นักธุรกิจดัง

ค้างจ่ายภาษีอื้อ!สรรพากรบี้ รร.เกาะพะงัน ลูกหนี้ NPL ธพว. 199 ล. -สาวสึก‘ผู้ถือหุ้น’

ปล่อยกู้ซื้อที่ดินเปล่า ‘โรงพิมพ์ประสานมิตร’ NPL ธพว. 180 ล. -ศาลสั่งล้มละลาย

ใช้เงินสด 30.2 ล. เพิ่มทุนก่อนกู้! ปริศนา โรงสี จ.ชัยนาท ลูกหนี้ NPL ธพว.159 ล.

เพิ่มทุน 50 ล.ด้วยเงินสด!ปริศนา โรงแรมเกาะพะงัน ลูกหนี้ NPL ธพว.199 ล.

แฟ้มลับ ธปท.กรณี ธพว.ปล่อยกู้ ร.ร. นานาชาติ ก่อนติด NPL อันดับหนึ่ง359 ล.

เปิดชื่อ 20 ลูกหนี้ NPL รายใหญ่ ธพว.โรงสีอื้อ 6 แห่ง-ยอดรวม 2.7 หมื่นล้าน

ปิดตำนาน 22 ปี“โรงพิมพ์ประสานมิตร”ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์-ขาดทุนสะสม 7 ล้าน