logo isranews

logo small 2

ไขปมข้อสังเกต ธปท. ‘โรงสีข้าว’จ.อุตรดิตถ์ กู้ ธพว.480 ล.-ชำระค่าหุ้น 60 ล.จริง?

อีกเคส ลูกหนี้ ธพว.!ไขปมข้อสังเกต ธปท.กรณีปล่อยกู้ บ.สิริวัฒนาฯ โรงสีข้าว จ.อุตรดิตถ์ 480 ล้าน ระบุอาจไม่ตรงวัตถุประสงค์ ‘ชะลอเลิกจ้างแรงงาน’ ตั้งข้อสงสัยได้ตรวจสอบเงื่อนไข‘ชำระค่าหุ้นเพิ่มทุน’จริงหรือไม่? 

PIC siriwattt 22 11 58 1

สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานก่อนหน้านี้ว่า ลูกหนี้ NPL รายใหญ่ 20 อันดับแรก ของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เกิดจากการปล่อยสินเชื่อในช่วงปี 2552-2555 จำนวน 17 ราย ปี 2546 ปี 2548 และปี 2557 ปีละ 1 ราย ในจำนวนนี้บางรายถูกตั้งข้อสังเกตในกระบวนการอนุมัติสินเชื่อ ได้แก่

กรณี ห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) ดรอปอินน์ ลูกหนี้ NPL อันดับ 4 วงเงิน 199 ล้านบาท
กรณี บริษัท ไรซิง (ไทยแลนด์ จำกัด) วงเงิน 195 ล้านบาท NPL อันดับ 5
กรณี ห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) โรงสี ป.น่ำเฮง ลูกหนี้ NPL อันดับที่ 7 วงเงิน 159 ล้านบาท
กรณี หจก.โรงสีข้าวจงเจริญ วงเงิน 125 ล้านบาท NPL อันดับ 12
กรณี บริษัท โรงพิมพ์ประสานมิตร ลูกหนี้ NPL อันดับ 6 จำนวน 180 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน กรณีการปล่อยกู้ บริษัท เอสคอม พลัส (ไทยแลนด์) จำกัด เพื่อซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างโครงการแก่งกระจานคันทรีคลับ แอนด์ รีสอร์ท ซึ่งเป็นโครงการที่มีปัญหาหยุดดำเนินการจากบริษัท เพชรไทยพัฒนา จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแม่ รวมยอดหนี้ 347.5 ล้านบาท ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตั้งข้อสังเกตระบุว่า เป็นการให้สินเชื่อเพื่อซื้อโครงการที่มีปัญหาหยุดดำเนินการจากบริษัทแม่เพื่อมาดำเนินการต่อ มีความเป็นไปได้ยากที่โครงการจะประสบผลสำเร็จ จัดอยู่ในกลุ่มลูกหนี้ที่มีความเสี่ยง

กรณีการให้สินเชื่อกรณี บริษัท เซาท์ซีรีสอร์ท จำกัด ยอดหนี้ 194.4 ล้านบาท ซึ่ง ธปท.ได้ตั้งข้อสังเกตในประเด็นการวิเคราะห์สินเชื่ออาจไม่รัดกุมเพียงพอ (อ่านประกอบ: ‘เอกสาร’ขาดความน่าเชื่อถือ!กรณี ธพว. ปล่อยกู้ รร.ภูเก็ตนักธุรกิจใหญ่ 194 ล.)

ลองมาดูกรณี บริษัท สิริวัฒนาธัญกิจ จำกัด ผู้ประกอบการโรงสีข้าวใน จ.อุตรดิตถ์ ยอดหนี้ 466.4 ล้านบาท กันบ้าง

ธปท.ตั้งข้อสังเกตว่า การให้สินเชื่อโครงการสินเชื่อเพื่อชะลอการเลิกจ้างแรงงานของลูกหนี้อาจไม่เป็นตามวัตถุประสงค์ กล่าวคือ

ธพว.อนุมัติสินเชื่อโครงการสินเชื่อชะลอการเลิกจ้างแรงงานเพื่อชำระหนี้และการไถ่ถอนประกันจากสถาบันการเงินอื่น 376 ล้านบาท และให้สินเชื่อเพิ่มเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน 121 ล้านบาท หนังสือค้ำประกัน 3 ล้านบาท โดยมีอสังหาริมทรัพย์และเครื่องจักรราคาประเมิน 441.9 ล้านบาท จำนองเป็นประกันวงเงินรวม 480 ล้านบาท ก่อนการเบิกเงินกู้กำหนดเงื่อนไขให้ลูกหนี้ต้องเพิ่มทุนจดทะเบียนและชำระเต็มมูลค่าอีกจำนวน 60 ล้านบาท เป็นทุนทั้งสิน 120 ล้านบาท

ธปท.ตั้ง ข้อสังเกตว่า

1.การอนุมัติสินเชื่อโครงการสินเชื่อชะลอการเลิกจ้างแรงงาน เพื่อให้ลูกหนี้ชำระหนี้และไถ่ถอนหลักประกันจากสถาบันการเงินอื่น และให้สินเชื่อเพิ่มเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน อาจพิจารณาได้ว่าลูกหนี้ไม่มีปัญหาการเลิกจ้างแรงงาน ซึ่งอาจไม่สอดคล้องตามวัตถุประสงค์เพื่อชะลอการเลิกจ้างแรงงาน

2.การตรวจสอบการปฏิบัติตามเงื่อนไขในการเพิ่มทุน ธนาคารตรวจสอบเพียงเอกสารการจดทะเบียนเพิ่มทุน ไม่มีการตรวจสอบว่ามีการชำระเงินค่าหุ้นเพิ่มทุนจริง หากไม่รวมการเพิ่มทุนดังกล่าว ประมาณการ D/E Ratio ( อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น) ปี 2553 จะเท่ากับ 6.59 เท่า สูงกว่าแนวทางการบริหารความเสี่ยงเครดิตสำหรับกลุ่มธุรกิจโรงสีที่กำหนดไว้ไม่เกิน 3 เท่า

จากการตรวจสอบข้อมูลกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพบว่า บริษัท สิริวัฒนาธัญกิจ จำกัด จดทะเบียนวันที่ 27 ตุลาคม 2546 ทุนเริ่มแรก 1 ล้านบาท ประกอบธุรกิจโรงสี ตั้งเลขที่ 121 หมู่ที่ 4 ตำบลวังแดง อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์ มีนายปกรณ์ วิชิตพันธุ ถือ 4,998 หุ้น และ นางอนงค์ วิชิตพันธุ์ ถือ 4,997 หุ้น และเป็นกรรมการ (ทั้งหมด 10,000 หุ้นมูลค่าหุ้นละ 100 บาท)

หลังจากนั้นจดทะเบียนเพิ่มทุน 4 ครั้ง

15 มีนาคม 2547 เพิ่มเป็น 30 ล้านบาท
26 มิถุนายน 2549 เพิ่มเป็น 50 ล้านบาท
27 กุมภาพันธ์ 2550 เพิ่มเป็น 60 ล้านบาท

ล่าสุด 2 กรกฎาคม 2553 เพิ่มเป็น 120 ล้านบาท

บริษัทฯ แจ้งงบการเงินต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ผลประกอบการ

ปี 2553 รายได้ 732,901,149 บาท กำไรสุทธิ 3,930,971 บาท
ปี 2554 รายได้ 597,947,604 บาท กำไรสุทธิ 8,137,937 บาท
ปี 2555 รายได้ 436,145,098 บาท กำไรสุทธิ 1,737,690 บาท
ปี 2556 รายได้ 553,892,069 บาท กำไรสุทธิ 5,185,780 บาท
ปี 2557 รายได้ 509,586,399 บาท กำไรสุทธิ 3,359,663 บาท สินทรัพย์ 538,376,824 บาท หนี้สิน 389,599,640 บาท กำไรสะสม 28,777,183. บาท

จากการตรวจสอบพบว่า ในการเพิ่มทุนจาก 60 ล้านบาท เป็น 120 ล้านบาท เมื่อ 2 กรกฎาคม 2553 (เพิ่ม 60 ล้านบาท) เป็นการเพิ่มทุนโดย นายปกรณ์ วิชิตพันธุ์ และ นางอนงค์ วิชิตพันธุ์ คนละ 300,000 หุ้น หรือ 30 ล้านบาท นายปกรณ์ยื่นจดทะเบียนต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดอุตรดิตถ์ รับรองความถูกต้องของเอกสารการจดทะเบียนเพิ่มทุน

และมี‘ใบสำคัญรับเงินค่าหุ้น’ ของบริษัท สิริวัฒนาธัญกิจ จำกัด เป็นหลักฐาน ระบุว่า ทั้งสองคนได้ชำระเป็น ‘เงินสด’ โดยมี นายปกรณ์ ลงชื่อเป็นผู้รับเงินในฐานะกรรมการ บริษัท สิริวัฒนาธัญกิจ จำกัด (ดูเอกสาร)

PIC เปดตวสรวฒ 1

PIC เปดตวสรวฒ 2

PIC เปดตวสรวฒ 3

เท่ากับ นายปกรณ์ใช้ 'เงินสด' จำนวน 60 ล้านบาท ชำระค่าหุ้นเพิ่มทุน โดยมีตัวนายปกรณ์เองเป็นผู้รับเงินในฐานะกรรมการบริษัทฯ 

กรณีนี้หรือไม่? ที่เป็นข้อสังเกตของ ธปท. ในข้อ 2 ที่ระบุว่า การตรวจสอบการปฏิบัติตามเงื่อนไขในการเพิ่มทุน ธนาคารตรวจสอบเพียงเอกสารการจดทะเบียนเพิ่มทุน “ไม่มีการตรวจสอบว่ามีการชำระเงินค่าหุ้นเพิ่มทุนจริง”?

สำหรับ นายปกรณ์ วิชิตพันธุ์ กรรมการบริษัทดังกล่าวฯ เป็นเจ้าของธุรกิจอีก 2 แห่งใน อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์ ชื่อ บริษัท สิริวัฒนาทรัค ทรานสปอร์ต จำกัด ขนส่ง และ บริษัท สิริวัฒน์ไรซ์เอ็กซ์พอร์ต จำกัด จำหน่ายและส่งออกข้าว 

อ่านประกอบ :
‘เอกสาร’ขาดความน่าเชื่อถือ!กรณี ธพว. ปล่อยกู้ รร.ภูเก็ตนักธุรกิจใหญ่ 194 ล.

เปิดไส้ใน ธพว.ปล่อยกู้ 347.5 ล. ซื้อที่ดินโครงการปัญหา‘แก่งกระจาน’บ.นักธุรกิจดัง

ค้างจ่ายภาษีอื้อ!สรรพากรบี้ รร.เกาะพะงัน ลูกหนี้ NPL ธพว. 199 ล. -สาวสึก‘ผู้ถือหุ้น’

ปล่อยกู้ซื้อที่ดินเปล่า ‘โรงพิมพ์ประสานมิตร’ NPL ธพว. 180 ล. -ศาลสั่งล้มละลาย

ใช้เงินสด 30.2 ล. เพิ่มทุนก่อนกู้! ปริศนา โรงสี จ.ชัยนาท ลูกหนี้ NPL ธพว.159 ล.

เพิ่มทุน 50 ล.ด้วยเงินสด!ปริศนา โรงแรมเกาะพะงัน ลูกหนี้ NPL ธพว.199 ล.

แฟ้มลับ ธปท.กรณี ธพว.ปล่อยกู้ ร.ร. นานาชาติ ก่อนติด NPL อันดับหนึ่ง359 ล.

เปิดชื่อ 20 ลูกหนี้ NPL รายใหญ่ ธพว.โรงสีอื้อ 6 แห่ง-ยอดรวม 2.7 หมื่นล้าน

ปิดตำนาน 22 ปี“โรงพิมพ์ประสานมิตร”ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์-ขาดทุนสะสม 7 ล้าน