ย้อนหลักฐาน "สตง."มัดระบายแป้งมันฯ จีทูจีเก๊? ยุคครม."อภิสิทธิ์" 1.4 พันล.
“...จากข้อเท็จจริงดังกล่าว เห็นได้ว่า บริษัท China Marine ฯ ไม่ได้มีเจตนาที่จะซื้อแป้งมันสำปะหลังไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน ประกอบกับไม่มีการใช้เงินทุนในการซื้อที่นำมาจากจีน หรือ บริษัท China Marineฯ อย่างแท้จริง ซึ่งผิดปกติวิสัยในลักษณะการเจรจาซื้อขายระหว่างรัฐต่อรัฐ..."
เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีกล่าวหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี กับพวกรวม 45 ราย กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น กรณีซื้อขายมันสำปะหลังแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) กับ China Marine Shipping Agency Lianyungang Co., Ltd มีนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานอนุกรรมการ
โดยระบุว่า กรณีนี้ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน (สตง.) ร่วมกับพนักงานสอบสวน กองบังคับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการองค์กรตามรัฐธรรมนูญและติดตามการบริหารงบประมาณ วุฒิสภา ส่งเรื่องมาให้กับ ป.ป.ช. เป็นผู้ตรวจสอบ
สรุปพฤติการณ์ความผิดว่า การซื้อขายแป้งมันสำปะหลังกับบริษัท China Marine Shipping Agency Lianyungang Co., Ltd ขายในราคาต่ำกว่าเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
รวมถึงบริษัท China Marine ยังไม่ได้รับการมอบอำนาจจากประเทศจีน และวัตถุประสงค์ของบริษัทไม่ใช่การซื้อขายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร จึงถือว่าไม่ใช่บริษัทที่มีอำนาจลงนามทำสัญญาในนามของประเทศจีนแต่อย่างใด
นอกจากนี้ยังมีการ “โอนสิทธิ” ดังกล่าวไปให้กับบริษัทเอกชนประเทศไทย เข้ามาดำเนินการซื้อขายแป้งมันสำปะหลังแทนอีกด้วย
การทำสัญญาซื้อขายมันฯ ดังกล่าว จึงส่อเข้าข่ายการเป็นจีทูจี "เก๊"?
ทั้งนี้ เพื่อให้สาธารณชน ได้รับทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้ประมวลข้อสรุปผลการสอบสวนคดีนี้ ของ สตง. ที่ ป.ป.ช. นำไปใช้เป็นข้อมูลตั้งต้นในการไต่สวนคดีมาให้เห็นภาพแบบชัดๆ ดังนี้
พฤติการณ์
ในรายงานผลการสอบสวนกรณีการซื้อขายแป้งมันสำปะหลัง ระหว่าง กรมการค้าต่างประเทศ กับ บริษัท China Marine Shipping Agency Lianyungang Co.,Ltd ตัวแทนจากจีน จำนวน 1.4 แสนตัน วงเงินรวม 1,460 ล้านบาท ในยุคที่นางพรทิวา นาคาศัย ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชน์ เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2553 ที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นำส่งไปให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์เพื่อรับทราบ และสั่งดำเนินคดีทางอาญาและวินัย กับ นาย มนัส สร้อยพลอย ในขณะที่ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ
สตง. ได้ตรวจสอบพบข้อมูลสำคัญหลายประการที่บ่งชี้ว่าการทำสัญญาซื้อขายสินค้าดังกล่าว ไม่ได้เป็นการซื้อขายสินค้าในรูปแบบรัฐต่อรัฐ หรือ จีทูจี ดังต่อไปนี้
1. บริษัท China Marine Shipping Agency Lianyungang Co.,Ltd ไม่มีหนังสือมอบอำนาจจากรัฐบาลจีน ในการทำสัญญาซื้อขายแป้งมันสำปะหลังกับรัฐบาลไทย
2. วัตถุประสงค์ในใบอนุญาตประกอบธุรกิจของ บริษัท China Marineฯ พบว่า มีการกำหนดขอบเขตทางธุรกิจที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินกิจการคือ เป็นตัวแทนธุรกิจทางเรือ ณ ท่าเรือ Lianyungang มิใช่การซื้อขายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรแต่อย่างใด
3. ภายหลังจากที่ บริษัท China Marineฯ ทำสัญญากับกรมการค้าต่างประเทศ เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2553 รุ่งขึ้นหรือวันที่ 9 กรกฎาคม 2553 บริษัท China Marineฯ ได้มอบอำนาจให้บริษัทเอกชนไทย จำนวน 3 ราย เป็นผู้รับมอบแป้งมันสำปะหลังจากองค์การคลังสินค้า (อคส.) แทน
4. จากการสอบปากกรรมการผู้จัดการบริษัทเอกชนไทยทั้ง 3 ราย ได้ข้อเท็จจริงตรงกันว่า ทั้ง 3 บริษัท ได้ซื้อแป้งมันสำปะหลังจาก บริษัท China Marineฯ โดยนำเงินตามสัดส่วนของแต่ละบริษัทจ่ายให้แก่ บริษัท China Marine ฯ เพื่อนำไปจ่ายให้กรมการค้าต่างประเทศ เป็นค่าซื้อแป้งมันสำปะหลัง จากนั้น บริษัท China Marine ฯ ได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้ทั้ง 3 บริษัท นำไปใช้เป็นหลักฐานเพื่อรับแป้งมันจาก อคส.
5. เมื่อได้รับแป้งมันสำปะหลัง จาก อคส. บริษัทเอกชนไทยทั้ง 3 ราย จะนำสินค้ากลับมาที่โรงงานของตนและนำเข้าสู่กระบวนการปรับปรุงคุณภาพ จากนั้นนำไปบรรจุถุงใหม่ และส่งออกในนามของแต่ละบริษัทเอง โดยตามกระบวนการผลิตและส่งออก ไม่สามารถแยกได้ว่าแป้งมันใดเป็นแป้งมันที่มีอยู่แล้วของบริษัท หรือเป็นแป้งที่ได้มาจากอคส. เนื่องจากแป้งมันที่ได้รับมาถือเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทแล้ว และค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการขนส่ง ส่งออกและปรับปรุงคุณภาพแป้งมัน แต่ละบริษัทจะเป็นผู้รับผิดชอบในส่วนของตน
“จากข้อเท็จจริงดังกล่าว เห็นได้ว่า บริษัท China Marine ฯ ไม่ได้มีเจตนาที่จะซื้อแป้งมันสำปะหลังไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน ประกอบกับไม่มีการใช้เงินทุนในการซื้อที่นำมาจากจีน หรือ บริษัท China Marineฯ อย่างแท้จริง ซึ่งผิดปกติวิสัยในลักษณะการเจรจาซื้อขายระหว่างรัฐต่อรัฐ"
"ดังนั้น เมื่อพิจารณาประกอบกับการที่ บริษัท China Marine ฯ ไม่มีหนังสือมอบอำนาจจากรัฐบาลจีน และมิได้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการซื้อขายแป้งมันสำปะหลังหรือสินค้าเกษตร พฤติการณ์จึงน่าเชื่อว่า การซื้อขายแป้งมันสำปะหลังระหว่างกรมการค้าต่างประเทศกับ บริษัท China Marineฯ มิใช่การซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ แต่เป็นเพียงการกระทำในลักษณะที่กล่าวอ้างการดำเนินการแบบรัฐต่อรัฐ เพื่อเข้าทำสัญญากับรัฐโดไม่ต้องมีการประมูล” รายงานผลการสอบสวน สตง.ระบุ
เอกชนไทย
สำหรับบริษัทเอกชนไทย 3 ราย ที่ปรากฎชื่อเป็นผู้รับมอบซื้อแป้งมันฯ แทน บริษัท China Marineฯ คือ บริษัท ชัยภูมิ สตาร์ซ จำกัด , บริษัท เอเชีย ฟรุคโตส และบริษัท สงวนวงษ์ อุตสาหกรรม จำกัด
สำนักข่าวอิศรา เคยตรวจสอบพบว่า บริษัท ชัยภูมิ สตาร์ซ จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2544 มีทุน 300 ล้านบาท ตั้งอยู่เลขที่ 50 หมู่ที่ 11 ถนนชัยภูมิ-สีคิ้ว ตำบลละหาน อำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ แจ้งประกอบธุรกิจขายแป้งมันสำปะหลังและผลพลอยได้ - ส่งออก,ผู้ผลิต
ปรากฎชื่อ นาง อัมพร แซ่เฮง เป็นกรรมการผู้มีอำนาจและผู้ถือหุ้นใหญ่
บริษัท สงวนวงษ์อุตสาหกรรม จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2517 มีทุน 140 ล้านบาท ตั้งอยู่เลขที่ 120 หมู่ที่ 4 ถนนราชสีมา-โชคชัย ตำบลหนองบัวศาลา อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา แจ้งประกอบธุรกิจ ผลิตแป้งมันสำปะหลังและแป้งแปรรูป - ผู้ผลิต
ปรากฎชื่อ นาย ทศพล ตันติวงษ์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจและผู้ถือหุ้นใหญ่
บริษัท เอเซีย ฟรุคโตส จำกัด แจ้งจดทะเบียนเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2539 มีทุน 175 ล้านบาท ตั้งอยู่เลขที่ 9/5 ถนนเดโช แขวงสุริยวงศ์ เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร แจ้งประกอบธุรกิจผลิต-ส่งออกแป้งมันสำปะหลัง/แป้งโมดิไฟด์ เช่าโกดัง - ส่งออก,ผู้ผลิต
ปรากฎชื่อนาง ศิริวรรณ ทรัพย์ส่งแสง เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ นาย พงศ์ภัค ทรัพย์ส่งแสง ถือหุ้นใหญ่
ทั้งนี้ สตง.ระบุในรายงานการสอบสวนว่า จากการเชิญกรรมการผู้จัดการของบริษัททั้ง 3 พร้อม หลักฐาน คือ หลักฐานการส่งออกแป้งมัน และแคชเชียร์เช็คการจ่ายเงินให้แก่ บริษัท China Marine ฯ ได้ข้อเท็จจริงตรงกันว่า ทั้ง 3 บริษัท ได้ซื้อแป้งมันสำปะหลังจาก บริษัท China Marine ฯ โดยนำเงินตามสัดส่วนของแต่ละบริษัท จ่ายให้แก่ บริษัท China Marine ฯ เพื่อนำไปจ่ายให้กับกรมการค้าต่างประเทศเป็นค่าซื้อแป้งมันสำปะหลัง
จากนั้น บริษัท China Marine ฯ ได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้ทั้ง 3 บริษัท นำไปใช้เป็นหลักฐานเพื่อรับแป้งมันจากอคส. และเมื่อได้รับสินค้าแล้ว บริษัทแต่ละแห่งจะนำสินค้ากลับมาที่โรงงานเพื่อเข้าสู่กระบวนการปรับปรุงคุณภาพจากนั้นนำไปบรรจุถุงใหม่และส่งออกในนามของแต่ละบริษัทเอง
ขณะที่ค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการขนส่ง ส่งออก และปรับปรุงคุณภาพแปง้มัน แต่ละบริษัทจะเป็นผู้รับผิดชอบในส่วนของตนเอง ไม่เกี่ยวข้องกับ บริษัท China Marine ฯ แต่อย่างใด
การซื้อขายแป้งมัน ระหว่าง บริษัท China Marine ฯ และ กรมการค้าต่างประเทศ จึงไม่ใช่การทำสัญญาซื้อขายแป้งมัน แบบจีทูจี ตามที่มีการกล่าวอ้าง
ล่าสุด คณะอนุกรรมการไต่สวนที่มีนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานอนุกรรมการ และนายภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นอนุกรรมการ ได้ส่งหนังสือแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบแล้ว
ส่วนผลการไต่สวนที่จะออกมา จะซ้ำรอยเหมือนการระบายข้าวจีทูจี ในยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หรือไม่
อีกไม่นานสังคมไทยคงได้รับทราบคำตอบที่ชัดเจน !!
อ่านประกอบ :
เปิดชื่อครบ! “ครม.อภิสิทธิ์-ขรก.ระดับสูง”ป.ป.ช.ลุยสอบขายมันจีทูจีส่อเก๊?
ป.ป.ช.ตั้งอนุฯลุยสอบยก ครม.อภิสิทธิ์ ปมขายมันจีทูจีให้ บ.จีนมิชอบ